สหรัฐอเมริกา
United States of America
เมืองหลวง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ที่ตั้ง อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 25-49 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 67-124 องศาตะวันตก มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากสหพันธรัฐรัสเซียและแคนาดา (ใหญ่กว่าไทยเกือบ 18-19 เท่า) มีพื้นที่ 9,631,420 ตร.กม. ชายฝั่งทะเลยาว 19,924 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับแคนาดา
ทิศใต้ ติดกับเม็กซิโก
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิประเทศ ภาคตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนในรัฐอะแลสกา รัฐเนวาดา และรัฐแคลิฟอร์เนีย ภาคกลางเป็นที่ราบระหว่างเทือกเขาสูงทางตะวันตกกับที่ราบสูงทางตะวันออกภาคเหนือ มีอาณาบริเวณกว้างขวางจากชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกไปจนถึงชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกภาคตะวันออก เป็นเขตหินเก่ามีเทือกเขาและที่ราบสูงจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบนิวฟาวแลนด์และลาบราดอร์ และเทือกเขาแอพพาลาเชียน
ภูมิอากาศสหรัฐฯ มี 4 ฤดู อุณหภูมิในแต่ละรัฐแตกต่างกัน พื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอบอุ่น แต่รัฐฮาวายและรัฐฟลอริดามีอากาศร้อนชื้น รัฐอะแลสกามีอากาศหนาวจัด บริเวณที่ราบฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีมีอากาศกึ่งแห้งแล้ง ส่วนบริเวณ Great Basin ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) อุณหภูมิ 9-23 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) อุณหภูมิ 20-34 องศาเซลเซียส ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) อุณหภูมิ 7-25 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) อุณหภูมิ -12 ถึง -8 องศาเซลเซียส
ศาสนา คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ 41.3% โรมันคาทอลิก 23.1% มอร์มอน 1.5% ยิว1.9% พุทธ 0.7% อิสลาม 0.6% ฮินดู 0.7% อื่น ๆ 3.5% และไม่นับถือศาสนา 26.8%
ภาษา ไม่มีภาษาประจำชาติ แต่ในทางปฏิบัติมีผู้ใช้ภาษาอังกฤษประมาณ 245 ล้านคน(78%) ภาษาสเปนประมาณ 42 ล้านคน (13.3%) ภาษาอินโด-ยูโรเปียน เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และฮินดี ประมาณ 12 ล้านคน (3.8%) ภาษาเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ประมาณ 11.2 ล้านคน (3.6%) และภาษาอื่น ๆ ประมาณ 3.9 ล้านคน (1.2%) ส่วนรัฐฮาวายกำหนดให้ภาษาอังกฤษและภาษาฮาวายเป็นภาษาทางการ
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือของประชากรวัยผู้ใหญ่ 79% ประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไปจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 35.7% (ปี 2565) การใช้จ่ายของรัฐบาลด้านการศึกษา ปีงบประมาณ 2566 เท่ากับ 271,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 มากกว่า 57% (366,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากต้องแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาที่ส่งเสริมความหลากหลายและโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม รวมถึงให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
วันชาติ 4 ก.ค. (ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 4 ก.ค.2319)
นายโจเซฟ โรบิเนต ไบเดน จูเนียร์
Joseph Robinette Biden Jr
(ประธานาธิบดีคนที่ 46)
ประชากร ประมาณ 334.2 ล้านคน (ม.ค.2566) มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย ประกอบด้วย คนผิวขาว 57.8% คนเชื้อสายลาติน 18.7% คนเชื้อสายแอฟริกา 12.1% และอื่น ๆ 11.4%
รัฐที่มีประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเทกซัส รัฐฟลอริดา นครนิวยอร์ก และรัฐเพนซิลเวเนีย
การก่อตั้งประเทศ เดิมเป็นดินแดนของชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนและฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม และเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรที่เข้ามาขยายอิทธิพลในทวีปอเมริกาและ ทำสงครามแย่งชิงอาณานิคมกับฝรั่งเศสและสเปนจนเกิดสงคราม 7 ปี (ระหว่างปี 2299-2306) ต่อมาได้แยกตัวออกจากการปกครองของสหราชอาณาจักร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างอาณานิคมกับ
สหราชอาณาจักร จนนำไปสู่การปฏิวัติและประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร โดยนายจอร์จ วอชิงตันเป็นผู้บัญชาการสู้รบและประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2319 ซึ่งต่อมานายจอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เมื่อ 4 มี.ค.2332
การเมือง
ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐตั้งแต่ 4 มี.ค.2332 และจากผลการเลือกตั้งเมื่อ
3 พ.ย.2563 ประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนปัจจุบันคือ นายโจเซฟ ไบเดน สังกัดพรรคเดโมแครต ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ 20 ม.ค.2564
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 538 คน ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของ พ.ย. ทุก4 ปี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย มีอำนาจในการร่างรัฐบัญญัติเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ยับยั้งรัฐบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ออกคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ทำหน้าที่ Commander-in-chief แต่งตั้งผู้พิพากษา ออท. และตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ระดับรองรัฐมนตรีขึ้นไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเป็นระบบ 2 สภา 1) วุฒิสภามีสมาชิก 100 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงรัฐละ 2 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ทุก 2 ปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวน 1 ใน 3 วุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอขอแต่งตั้ง รวมทั้ง ครม. และให้สัตยาบันสนธิสัญญา และ 2) สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละรัฐ เช่น ประชากร 575,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ปัจจุบัน มี ส.ส. 435 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ การกล่าวโทษเพื่อถอดถอนเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และวุฒิสภา
ฝ่ายตุลาการ : โครงสร้างศาลสหรัฐฯ เป็นระบบศาลคู่คือ ศาลของรัฐบาลกลางและศาลของรัฐศาลของรัฐบาลกลาง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ศาลชั้นต้นหรือประจำเขต ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาหรือศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะล้มเลิกกฎหมายใด ๆ และการกระทำของฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลของรัฐบาลกลางมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายและสนธิสัญญาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายทะเล คดีที่มีผลกระทบถึงเจ้าหน้าที่ทางการทูตของต่างประเทศในสหรัฐฯ ความขัดแย้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นคู่คดี และความขัดแย้งระหว่างรัฐหรือประชาชนของรัฐกับต่างประเทศ หรือประชาชนของรัฐต่างประเทศ ส่วนศาลของรัฐจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ แบ่งเป็น 3 ระดับ เช่นเดียวกับศาลของรัฐบาลกลางคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุดของรัฐ แต่อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานจะเป็นเรื่องภายในแต่ละรัฐ
องค์กรอิสระ : คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการกำกับการทำงานของธนาคารด้านอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการด้านการป้องกันแก้ไขข้อขัดแย้งแรงงาน และคณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์
พรรคการเมืองสำคัญ : ระบบหลายพรรค แต่มีพรรคใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ผลัดเปลี่ยนกันบริหารประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐ ส่วนพรรคการเมืองอื่นไม่มีบทบาททางการเมืองมากนัก
เศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร บริการด้านสารสนเทศ เช่น สื่อออนไลน์ โทรคมนาคม ภาพยนตร์ และดนตรี บริการที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กฎหมาย คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข ขณะที่อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ปศุสัตว์ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง ธัญพืช และสัตว์ปีก ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แร่ธาตุ เหล็ก ถ่านหิน ทองคำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ในปี 2566 สหรัฐฯ เผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ค่าเงินเฟ้อ และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงนโยบายด้านความมั่นคงที่มุ่งกีดกันทางเทคโนโลยีและลดการพึ่งพาจีน ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับดอกเบี้ยนโยบายที่สูงสุดในรอบ 22 ปี และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกสู่ระดับ 5.50-5.75% และจะคงระดับดังกล่าวไว้ก่อนจะปรับลดในช่วงปลายปี 2567 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาว ส่งผลต่อการส่งออก การลงทุนในภาคต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืม สินเชื่อ และการชำระหนี้สูงขึ้น รวมถึงวิกฤตการณ์ธนาคารจากกรณีการล้มละลายของสถาบันการเงินสหรัฐฯ 4 แห่ง (Silicon Valley Bank, Signature Bank, Silvergate Bank และ First Republic Bank) เมื่อ มี.ค.2566 เนื่องจากมูลค่าของธนบัตรที่ลงทุนไว้ปรับลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่องเมื่อเผชิญการแห่ถอนเงิน (bank run) จนต้องปิดตัวลง ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ยังปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของสหรัฐฯ ลงจากระดับ AAA เป็น AA+ เมื่อ ส.ค.2566 เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่รุนแรงในห้วงปลายปี 2566-ต้นปี 2567 จากมาตรฐานการคลังที่ถดถอย ทำให้ภาระหนี้สาธารณะและขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงการบั่นทอนความเชื่อมั่นในการบริหารการคลังซึ่งเกิดจากการใช้ประเด็นขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของตลาดแรงงานที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 2565 หลังการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ทำให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ดีเกินกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนวิกฤตโรคระบาด และเป็นอัตราขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังชะลอตัวลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอยลดลง (soft landing)
สกุลเงิน : ดอลลาร์สหรัฐ (USD) อัตราแลกเปลี่ยน 36.33 บาท : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 25.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.1% (ก.ย.2566)
หนี้สาธารณะ : 33.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
ดุลงบประมาณ : ขาดดุล 1.695 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 212,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มิ.ย.2566)
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 76,370 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
อัตราการว่างงาน : 3.8% (ก.ย.2566)
อัตราเงินเฟ้อ : 3.7% (ก.ย.2566)
ดุลการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ : ขาดดุล 945.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ : 3.01 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้าส่งออก : ยารักษาโรค เครื่องจักรอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ น้ำมันดิบ รถยนต์โดยสาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม อากาศยานพลเรือนและเครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุพลาสติก อุปกรณ์โทรคมนาคม และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์
มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ : 3.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้านำเข้า : ยารักษาโรค รถยนต์โดยสาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าในครัวเรือน ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ น้ำมันดิบ เครื่องนุ่งห่ม เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ สินค้าประมง และผลไม้
คู่ค้าสำคัญ : เม็กซิโก แคนาดา จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม สหราชอาณาจักร และอินเดีย
การทหาร สหรัฐฯ มีศักยภาพด้านการทหารอันดับ 1 ของโลก กองทัพสหรัฐฯ ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. หน่วยนาวิกโยธิน หน่วยยามฝั่ง และกองกำลังอวกาศ (ตั้งขึ้นเมื่อ ธ.ค.2562) จัดกำลังในรูปแบบกองบัญชาการร่วมตามภารกิจและสภาพภูมิรัฐศาสตร์ 10 แห่ง ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคอาร์กติกมากขึ้น ประธานาธิบดีเป็นCommander-in-chief รมว.กห.เป็นผู้บัญชาการฝ่ายพลเรือน รองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ
งบประมาณด้านการป้องกันประเทศ: 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14% ของงบประมาณทั้งหมดประจำปี 2566 แบ่งเป็น 1) งบประมาณ กห.สหรัฐฯ 816,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) งบประมาณวิจัยพัฒนาและจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 343,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3) งบประมาณสนับสนุนการป้องกันประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญทหาร การรักษาความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย การบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ การสอบสวนและบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือภัยพิบัติ และการรับมือกับโรค COVID-19 รวมถึงงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครน ตั้งแต่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เมื่อ ก.พ.2565 สหรัฐฯ ส่งมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนแล้วทั้งสิ้นกว่า 44,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
กำลังพลรวม 1,359,600 นาย : ทบ. 464,900 นาย ทร. 346,300 นาย ทอ. 325,100 นาย หน่วยนาวิกโยธิน 174,500 นาย หน่วยยามฝั่ง 40,350 นาย กองกำลังอวกาศ 8,400 นาย รวมถึงกำลังพลสำรอง 817,450 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ ยานเกราะโจมตี MBT 2,645 คัน ASLT ประมาณ 100 คัน RECCE1,745 คัน IFV 2,959 คัน APC 10,477 คัน และ AUV 21,516 คัน ยานเกราะทหารช่าง AEV 567 คัน ARV มากกว่า 1,274 คัน VLB 383 คัน MW มากกว่า 3 คัน และ NBC 234 คัน ระบบต่อต้านรถถังและโครงสร้างพื้นฐาน MSL 1,133 เครื่อง ปืนใหญ่ SP 689 กระบอก TOWED 1,267 กระบอก MRL 594 กระบอก และ MOR 2,507 กระบอก ระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่พื้น ATACMS 168 เครื่อง ยานสะเทินน้ำสะเทินบก LSL 7 ลำ LCT 34 ลำ และ LCM 36 ลำ บ.รบ ISR 46 เครื่อง SIGINT 2 เครื่อง ELINT 9 เครื่อง TPT 156 เครื่อง และ TRG 4 เครื่อง ฮ. ATK 740 เครื่อง SAR 356 เครื่อง และ TPT 2,768 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ CISR ประมาณ 180 เครื่อง และ ISR 236 เครื่อง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ SAM มากกว่า 1,187 เครื่อง ระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD 42 เครื่อง และระบบยิงขีปนาวุธจากอากาศ ASM
ทร. ได้แก่ เรือดำน้ำ SSBN ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ UGM-133A Trident D-5/D-5LE nuclear SLBM 14-20 ลำ เรือดำน้ำยุทธวิธี SSGN 51 ลำ และ SSN 2 ลำ เรือบรรทุก บ.รบ CVN 11 ลำ เรือลาดตระเวน CGHM 19 ลำ เรือพิฆาต DDGHM 42 ลำ และ DDGM 28 ลำ เรือฟริเกต FFGHM 6 ลำ และ FFHM 16 ลำ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง PCFG 5 ลำ และ PBF 84 ลำ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด MCO 8 ลำ เรือบัญชาการ LCC 2 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก LHA 2 ลำ LHD 7 ลำ LPD 12 ลำ และ LSD 10 ลำ เรือยกพลขึ้นบก LCU 32 ลำ LCM 8 ลำ LCP 33 ลำ และ LCAC 72 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง AFDL 1 ลำ AGOR 6 ลำ ARD 2 ลำ AX 1 ลำ ESB 2 ลำ และ UUV 1 ลำ บ.รบ FGA 704 เครื่อง ASW 126 เครื่อง EW158 เครื่อง ELINT 9 เครื่อง AEW&C 74 เครื่อง C2 16 เครื่อง TKR/TPT 3 เครื่องTPT 54 เครื่อง และ TRG 576 เครื่อง บ.ทิลท์โรเตอร์ TPT 27 เครื่อง ฮ. ASW 271 เครื่อง MRH 258 เครื่อง MCM 28 เครื่อง ISR 3 เครื่อง TPT 13 เครื่อง และ TRG 116 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ ISR 114 เครื่อง ระบบยิงขีปนาวุธจากอากาศ AAM IR IIR SARH ARH ASM AShM ARM และ ALCM และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ และ INS/GPS
ทอ. ได้แก่ ระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่พื้น ICBM ติดหัวรบนิวเคลียร์ LGM-30G Minuteman III 400 เครื่อง บ.รบ BBR 123 เครื่อง FTR 214 เครื่อง FGA 1,063 เครื่อง ATK 135 เครื่อง CSAR 16 เครื่อง EW 7 เครื่อง ISR 38 เครื่อง ELINT 22 เครื่อง AEW&C 31 เครื่อง C2 4 เครื่อง TKR/TPT 70 เครื่อง TPT 336 เครื่อง และ TRG 1,126 เครื่อง ฮ. MRH 4 เครื่อง CSAR 62 เครื่อง และ TPT 62 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ CISR 210 เครื่อง และ ISR 27 เครื่อง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ SAM ระบบยิงขีปนาวุธจากอากาศ AAM IR IIR SARH ARH ASM AShM ALCM ARM และ EW และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ INS/GPSและ Multi-mode
หน่วยนาวิกโยธิน ได้แก่ ยานเกราะโจมตี IFV 488 คัน APC 207 คัน AAV 1,360 คัน และ AUV 6,929 คัน ยานเกราะทหารช่าง AEV 42 คัน ARV 105 คัน MW 38 คัน และ VLB ประมาณ 30 คัน ระบบต่อต้านรถถังและโครงสร้างพื้นฐาน MSL 106 เครื่อง ปืนใหญ่ TOWED 812 กระบอก MRL 47 กระบอก และ MOR 600 กระบอก อากาศยานไร้คนขับ ISR 100 เครื่อง บ.รบ FGA 417 เครื่อง TKR/TPT 46 เครื่อง TPT 20เครื่อง และ TRG 3 เครื่อง บ.ทิลท์โรเตอร์ TPT 273 เครื่อง ฮ. ATK 134 เครื่อง และ TPT 288เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ CISR 2 เครื่อง ISR 40 เครื่อง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ SAM ระบบยิงขีปนาวุธจากอากาศ AAM IR IIR SARH ARH ASM AShM ARM LACM และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ และ INS/GPS
หน่วยยามฝั่ง ได้แก่ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง PSOH 23 ลำ PCO 62 ลำ PCC 12 ลำ PBF 174 ลำ และ PBI 63 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง ABU 52 ลำ AGB 12 ลำ และ AXS 1 ลำ บ.รบ SAR 44 เครื่อง TPT 16 เครื่อง และ ฮ. SAR 142 เครื่อง
กองกำลังอวกาศ ได้แก่ ดาวเทียมสื่อสาร 46 ดวง ดาวเทียมนำทาง 31 ดวง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา 6 ดวง ดาวเทียม ISR 17 ดวง ดาวเทียมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์และข่าวกรองทางสัญญาณ (ELINT/SIGINT) 27 ดวง ดาวเทียมเฝ้าระวังทางอวกาศ 6 ดวง ดาวเทียมเตือนภัย 8 ดวง และระบบต่อต้านการสื่อสารทางอวกาศ (Counter Communications System–CCS)
ปัญหาด้านความมั่นคง
สหรัฐฯ มุ่งปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติจากภัยคุกคามรูปแบบเก่าและใหม่ โดยให้ความสำคัญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้แก่ จีน ที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นความท้าทายระยะยาว และรัสเซียที่เป็นความท้าทายเฉพาะหน้า ซึ่งทั้งสองประเทศมีความเคลื่อนไหวที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงประจำปี 2565 ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศประจำปี 2565ยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติปี 2566 และยุทธศาสตร์การต่อต้านอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงปี 2566 ของสหรัฐฯ ที่มุ่งสกัดกั้นอิทธิพลของจีนและรัสเซียเป็นอันดับแรก รองลงมา ได้แก่ ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ อิหร่าน และการก่อการร้าย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับภัยคุกคามจากการแทรกแซงจากต่างชาติ การต่อต้านข่าวกรอง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ภัยคุกคามจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ภัยคุกคามด้านอวกาศ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ปัญหาผู้อพยพ โรคระบาด และความมั่นคงของมนุษย์ ขณะที่มาตุภูมิสหรัฐฯ เผชิญปัญหาการ ก่อการร้ายโดยกลุ่มนิยมความรุนแรงในประเทศ ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง สังคม และเชื้อชาติ หรือได้รับ แรงบันดาลใจจากกลุ่มก่อการร้ายสากล รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ปัญหาการ เสพยาเฟนทานิลเกินขนาดจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 66% ปัญหาอาชญากรรม เหตุกราดยิง การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยตำรวจ ปัญหาผู้อพยพและคนไร้บ้าน และการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ สหรัฐฯ เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ APEC, ADB, ARF, AfDB, Australia Group,BIS, BSEC, CBSS, CD, CERN, CICA, CP, EAPC, EBRD, FAO, FATF, G-20, G-5, G-7, G-8, G-10, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt, ICRM, IDA, IEA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILA, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOOM, ISO, ITSO, ITU, ITUC, MIGA, MINUSTAH, NAFTA, NATO, NEA, NSG, OAS, OECD, OPCW, OSCE, Paris Club, PCA, PIF, SAARC, SECI, SPC, UN, UNSC, UNCTAD, UNHCR, UNITAR, UNMIL, UNRWA, UNTSO, UPU, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO และ ZC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหรัฐฯ มุ่งรักษาความเป็นผู้นำโลกทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเพิ่มพูนศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาในสาขาทางการแพทย์ พลังงาน โทรคมนาคมและการสื่อสาร เทคโนโลยีอวกาศ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่และสร้างงานที่ดี รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตเทคโนโลยี โดยมุ่งรักษาฐานการผลิตและการลงทุนให้อยู่ในสหรัฐฯ โครงการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ การวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีด้านอวกาศ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากหินดินดาน (shale oil/gas)
การขนส่งและโทรคมนาคม สหรัฐฯ มีท่าอากาศยานมากที่สุดในโลก รวม 19,969 แห่ง(ปี 2565) เส้นทางรถไฟ 257,722 กม. ยาวที่สุดในโลก ถนน 6,803,479 กม. และเส้นทางคมนาคมทางน้ำรวมระยะทาง 41,009 กม. โดยเป็นเส้นทางพาณิชย์ 19,312 กม. ท่าเรือสำคัญ เช่น Laredo, Los Angeles, Houston, Newark, Savannah, Virginia และ Long Beach
การโทรคมนาคม : โทรศัพท์ให้บริการประมาณ 361 ล้านเลขหมาย (ปี 2566) โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน 312 ล้านเลขหมาย (ปี 2566) ระบบเครือข่าย 4G/LTE และ 5G ผู้ให้บริการสำคัญคือ Verizon, AT&T และ T-Mobile รหัสโทรศัพท์+1 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 92.4% ของประชากร (ปี 2566) จำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ 90% ของประชากร (ปี2566) รหัสอินเทอร์เน็ต .us เว็บไซต์การท่องเที่ยว : https://www.usa.gov
การเดินทาง บริษัทการบินไทยยกเลิกเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ–ลอสแองเจลิส ซึ่งมีระยะเวลาการบินประมาณ 16 ชม. และกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ซึ่งมีระยะเวลาการบินประมาณ 17 ชม. เมื่อ ต.ค.2558 และยังไม่มีการเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ–สหรัฐฯ ขณะที่สายการบินสหรัฐฯ มีเที่ยวบินมาไทย โดยต่อเครื่องที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยุโรป ได้แก่ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ อเมริกันแอร์ไลน์ และเดลตาแอร์ไลน์ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 22 ชม. ความต่างของเวลาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แตกต่างกันไปตาม 6 เขตเวลาของสหรัฐฯ ได้แก่ 1) Eastern Time Zone (ET) เช่น รัฐนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ช้ากว่าไทย 12 ชม. 2) Central TimeZone (CT) เช่น รัฐอิลลินอย และรัฐลุยเซียนา ช้ากว่าไทย 13 ชม. 3) Mountain Time Zone (MT) เช่น รัฐโคโลราโด และรัฐแอริโซนา ช้ากว่าไทย 14 ชม. 4) Pacific Time Zone (PT) เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐวอชิงตัน ช้ากว่าไทย 15 ชม. 5) Alaskan Time Zone รัฐอะแลสกา ช้ากว่าไทย 16 ชม. และ 6) Hawaii–Aleutian Time Zone รัฐฮาวาย และหมู่เกาะอะลูเชียน ช้ากว่าไทย 18 ชม. (การปรับเวลาในช่วง Daylight Saving Time (มี.ค.-พ.ย.) ทำให้เวลาที่ช้ากว่าไทยลดลง 1 ชม.)
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยลงนามในวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (Joint Vision Statement 2020 for the U.S.–Thai Defense Alliance) อีกทั้งไทยยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วน การดำรงบทบาทความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน การเป็นผู้นำ และส่งเสริมกลไกความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่ จนท.ระดับสูงของสหรัฐฯ เยือนไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นในปี 2567 ทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะติดตามสถานการณ์และพัฒนาการความมั่นคงภายในภูมิภาค และโลก เฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในเมียนมา ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือผ่านความริเริ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว และความริเริ่มใหม่ ในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี และห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ การเพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยี การกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยี 5G รวมถึงการจัดตั้งศูนย์มะเร็งวิทยาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ชลบุรี
ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ได้แก่ การที่สหรัฐฯ จะยังคงวิจารณ์ไทยกรณีปัญหาสิทธิแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้แรงงานเด็กและสัตว์ เพื่อกดดันไทยให้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย และเปิดตลาดให้สินค้าและการลงทุนจากสหรัฐฯ รวมทั้งประเด็นเศรษฐกิจและการค้า ที่สหรัฐฯ มีเป้าหมายลดการขาดดุลการค้ากับไทย สหรัฐฯ จึงใช้มาตรการฝ่ายเดียวเป็นเงื่อนไขในการกดดันไทยให้ปรับนโยบายการค้าที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference–GSP) ต่อสินค้าไทยบางรายการ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังวิจารณ์ไทยกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116 พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) รวมถึงการผลักดันผู้หนีภัยการสู้รบกลับไปเผชิญอันตรายในเมียนมา
การดำเนินนโยบายต่อภูมิภาคที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน การกดดันจีนในทุกมิติ และการแก้ไขสถานการณ์ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในเมียนมา อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน และภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จะทำให้สหรัฐฯ ขอความร่วมมือจากไทยในประเด็นนี้มากขึ้นทั้งทางทวิภาคีและในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายกดดันจีนและรัสเซียมากขึ้น ในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และสิทธิมนุษยชน ยังอาจส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม จากการที่สหรัฐฯ จะติดตามความสัมพันธ์ของไทยกับจีนและรัสเซีย รวมถึงกดดันไทยให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และนำเข้าอันดับ 3 ของไทย ปริมาณการค้ามูลค่า 49,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565) ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 18 ของสหรัฐฯ ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 38,995.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 10,654.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ 28,341 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์พลาสติก
ข้อตกลงสำคัญ : หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.1856 (ลงนามเมื่อ 20 มี.ค.2376) หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าและพิกัด ค.ศ.1856 (29 พ.ค.2399) สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ (13 พ.ย.2480) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค (19 ก.ย.2493) สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐฯ (29 พ.ค.2509) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ (28 ก.ย.2514) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (2 มิ.ย.2520) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (7 ธ.ค.2522) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (29 ต.ค.2525) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (14 ธ.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (13 เม.ย.2527) สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (19 มี.ค.2529) ปฏิญญาแห่งมิตรภาพเทศบาลนครอุดรธานี–นครรีโน รัฐเนวาดา (18 ธ.ค.2535) ประกาศสัมพันธภาพเทศบาลตำบลแหลมฉบัง–เมืองคาร์สันซิตี้ รัฐเนวาดา (26 ก.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (8 พ.ค.2539) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ (29 พ.ย.2539) ความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องที่ลงนามแล้ว ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่–นครซานราฟาเอล รัฐแคลิฟอร์เนีย (13 มี.ค.2533) เทศบาลเมืองภูเก็ต–เทศบาลนครลาสเวกัส (10 ก.พ.2540) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (30 ก.ย.2541) การสถาปนาความสัมพันธ์เทศบาลเมืองลำพูน–เทศบาลเมืองโอรินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย (14 ธ.ค.2541) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (14 ธ.ค.2544) ข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) (23 ต.ค.2545) บันทึกความตั้งใจตามโครงการติดตั้งศูนย์ข้อมูลบุคคล (11 มี.ค.2547) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ (6 ส.ค.2556) วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย พ.ศ.2563 (พ.ย.2562) กรอบแผนงานสนับสนุนวิสัยทัศน์ร่วม พ.ศ.2563 แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (ก.ค.2565)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรค COVID-19 รวมถึงเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีก โดยมุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการจ้างงาน รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ และลดการพึ่งพาจีนด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในภาคเทคโนโลยีอุบัติใหม่สำคัญ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีอวกาศ
สหรัฐฯ เผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งจากปัญหาผู้อพยพและคนไร้บ้าน ปัญหาการลักลอบและเสพยาเฟนทานิลเกินขนาด เหตุกราดยิง แนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งทางการเมือง อาทิ กระแสชาตินิยมขวาจัด ลัทธิเหยียดผิว ยกย่องคนผิวขาว เกลียดชังชาวเอเชีย ต่อต้านชาวยิว และเกลียดกลัวอิสลาม รวมถึงการก่อการร้ายที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งต่อมาตุภูมิและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ จากกลุ่มที่ไม่พอใจในนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้ อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังการเลือกตั้งกลางสมัยเมื่อ 8 พ.ย.2565 ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะและการไม่ผ่านงบประมาณเพื่อผลักดันให้เกิดภาวะการหยุดปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ (government shutdown) ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองระหว่างสองพรรค อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ใน พ.ย.2567 ซึ่งแนวนโยบายของสหรัฐฯ เฉพาะอย่างยิ่งการบริหารกิจการภายใน มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้องค์กรและสถาบันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ Morgan Stanley ประเมินสอดคล้องกันเมื่อปี 2565 ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวและถดถอย โดยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook-WEO) เมื่อ ต.ค.2566 ของ IMF ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.1% ในปี 2566 และ 1.5% ในปี 2567 ทั้งนี้ ระบบธนาคารของสหรัฐฯ มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น หลังเกิดวิกฤตการณ์ธนาคารเมื่อ มี.ค.2566 โดยมีการเพิ่มความเข้มงวดในการออกสินเชื่อที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อปรับลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจลดโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ Fed ยังคงนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% ตามเป้าหมายระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ต้นทุนในการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลง รวมถึงภาคการส่งออก ซึ่งค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว แต่การขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง หนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และ GDP ที่เติบโตน้อย อาจเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในห้วงต่อไป
ด้านนโยบายต่างประเทศ สหรัฐฯ ยังคงดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนในทุกมิติ การสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซีย อิหร่าน และการป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เพื่อรักษาบทบาทผู้นำอันดับ 1 ของโลก โดยใช้การกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรักษาอิทธิพลของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ และใช้เวทีระหว่างประเทศแสดงบทบาทการเป็นผู้กำหนดระเบียบโลก และสร้างมาตรฐานสากลซึ่งจะทำให้การแข่งขันของมหาอำนาจยังคงเข้มข้น อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐฯ จะเพิ่มมาตรการควบคุมเพื่อกีดกันทางเทคโนโลยี และผลักดันนโยบายย้ายฐานการผลิตและการลงทุนที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงออกจากจีน (de-risking) เพื่อลดการพึ่งพาจีน และป้องกันมิให้จีนใช้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ (economic coercion) เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงประโยชน์ทางการเมือง แต่จะยังคงรักษาช่องทางสื่อสารในระดับผู้นำ โดยมุ่งเน้นแข่งขันกับจีนอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดระดับความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร
สหรัฐฯ จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนหลักด้านความมั่นคงทั้งในและนอกภูมิภาค ได้แก่ กลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย) AUKUS (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย) กรอบความร่วมมือพันธมิตรในบลูแปซิฟิก (Partners in the Blue Pacific-PBP, สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร) กรอบการประชุมสหรัฐฯ-องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (U.S.-Pacific Islands Forum (PIF) Summit, สหรัฐฯ และ 18 ประเทศสมาชิกหมู่เกาะแปซิฟิก) กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong-FOM, สหรัฐฯ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโลกและการลงทุน (Partnership for Global Infrastructure and Investment–PGII) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก(Indo-Pacific Economic Framework-IPEF) รวมถึงความร่วมมือระดับทวิภาคีและไตรภาคีกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการป้องปรามจีนและภัยขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ (extended deterrence) สหรัฐฯ ยังเร่งผลักดันความร่วมมือในกรอบ IPEF ให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ พ.ย.2566 ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้สหรัฐฯ สนับสนุนกลไกความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ในการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค แต่ยังมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเชิงรุกกับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องในประเด็นการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนมากกว่า เฉพาะอย่างยิ่ง ฟิลิปปินส์ ซึ่งขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพในฟิลิปปินส์เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง เมื่อต้นปี 2566 และเวียดนาม ซึ่งยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านกับสหรัฐฯ เมื่อ ก.ย.2566 รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวและสกัดกั้นการขยายตัวของอิทธิพลจีนในภูมิภาค โดยในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหาร ปฏิบัติการซ้อมรบ และปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศ เพื่อค้ำประกันเสรีภาพและความมั่นคงทางทะเล ซึ่งมีนัยแสดงขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ การแข่งขันด้านการทหาร และป้องปรามจีน สหรัฐฯ มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ(Mekong-US partnership-MUSP) เพื่อคานอิทธิพลจีนที่ขยายตัวอย่างเข้มข้นในภูมิภาค
กรณีเมียนมา สหรัฐฯ ยังคงสร้างความเกี่ยวพันกับภูมิภาคโดยใช้เครื่องมือทั้งทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวเพื่อกดดันเมียนมา รวมทั้งเพิ่มความเกี่ยวพันกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government-NUG) กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และจัดตั้งสำนักงานกลุ่มในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตลอดจนโน้มน้าวประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และพันธมิตรสหรัฐฯ ในภูมิภาคร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้กลุ่มประเทศอาเซียนลดการพึ่งพาจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อปรับสมดุลทางอำนาจในภูมิภาค ซึ่งมีจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูงสุด