สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland
เมืองหลวง กรุงลอนดอน
ที่ตั้ง เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป มีพื้นที่ 243,610 ตร.กม. ลักษณะของประเทศมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมฐานแคบ (ไม่รวมไอร์แลนด์เหนือ)
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับทะเลเหนือ
ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดกับช่องแคบอังกฤษ
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก สำหรับแคว้น ไอร์แลนด์เหนือ มีพื้นที่ภาคพื้นดินติดกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์และมีทะเล ไอริชกั้นระหว่างแผ่นดินใหญ่สหราชอาณาจักรกับแผ่นดิน ไอร์แลนด์เหนือ
ภูมิประเทศ ลักษณะของประเทศเป็นเกาะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) บริเตนใหญ่ (Great Britain) ได้แก่ เกาะส่วนที่เป็นแคว้นอังกฤษเวลส์และสกอตแลนด์ และ 2) ไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย หมู่เกาะเล็ก ๆ ประมาณ 5,500 เกาะโดยรอบ เช่น หมู่เกาะ Hebrides หมู่เกาะ Orkney และ Shetland หมู่เกาะ Wight หมู่เกาะ Scilly และหมู่เกาะ Anglesey
ภูมิอากาศ ค่อนข้างอบอุ่นมี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) อุณหภูมิเฉลี่ย 10-15 องศาเซลเซียส มีฝนตกบ่อยครั้ง ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) อุณหภูมิเฉลี่ย 20-28 องศาเซลเซียส มีฝนตกประปราย ช่วงกลางวันจะยาวกว่าช่วงกลางคืน ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) อุณหภูมิเฉลี่ย 15-17 องศาเซลเซียส มีฝนตกบ่อยครั้ง และฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย -5 ถึง 7 องศาเซลเซียส มีหมอกและหิมะตกมากทางตอนเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ อากาศจะอบอุ่นกว่าภาคอื่นและมีฝนตกบ่อยครั้ง ช่วงเวลากลางวันสั้น
ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์หลากหลายนิกาย ได้แก่ แองกลิคัน โรมันคาทอลิค เพรสไบทีเรียน เมทอดิสต์ 59.5% อิสลาม 4.4% ฮินดู 1.3% ซิกข์ 0.8% อื่น ๆ 2% ไม่ระบุ 7.2% ไม่นับถือศาสนา 25.7%
ภาษาประจำชาติ ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ มีภาษาถิ่นที่ใช้ตามภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ภาษาสกอต ภาษาเวลส์ ภาษาไอริช
การศึกษา งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา 4.2% ของ GDP
วันชาติ วันเสาร์ที่ 2 ของ มิ.ย.
นายริชี ซูแน็ก
(Rishi Sunak)
(นรม.สหราชอาณาจักร)
ประชากร 67,736,802 คน (ต.ค.2566) เพิ่มขึ้น 0.34%
รายละเอียดประชากร
ผิวขาว 87.7% เอเชีย 9.3% ผิวสี 4% ผสม 2.9% อื่น ๆ 2.1%
อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 16.91% วัยทำงาน (15-64 ปี) 64.03% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 19.06% อายุขัยเฉลี่ย 82 ปี เพศชาย 80 ปี เพศหญิง 84 ปี อัตราการเกิด 11 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 9 คนต่อประชากร 1,000 คน
การก่อตั้งประเทศ/วันชาติ สหราชอาณาจักรมีชื่อเต็มว่า สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นประเทศที่มีบทบาทนำด้านการเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและความก้าวหน้าทางวรรณคดีและวิทยาศาสตร์จากการที่สหราชอาณาจักรมีดินแดนที่ประกอบขึ้นจากอดีตดินแดนอิสระ 4 แห่ง ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ การรวมตัวเป็นอาณาจักรเช่นปัจจุบันจึงใช้เวลานับ 1,000 ปี โดยอังกฤษและเวลส์รวมตัวกับสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2250 และเรียกว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (United Kingdom of Great Britain) ต่อมาเมื่อปี 2344 ก็ได้ผนวกดินแดนทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์และจัดตั้งเป็นสหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland) การรวมตัวดังกล่าวก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างมากจากชาวไอริชชาตินิยม ในที่สุดชาวไอริชก็สามารถสถาปนารัฐเสรีไอร์แลนด์ (Irish Free State) ขึ้นเมื่อปี 2464 ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตเกือบทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์ ยกเว้น 6 มณฑลทางตอนเหนือ การสถาปนาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกตัวเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ของไอร์แลนด์เมื่อปี 2480 ไอร์แลนด์ใต้จัดตั้งเป็นรัฐเอกราชมีชื่อเรียกว่า แอรา (Eire) และเมื่อปี 2492 ได้เปลี่ยนชื่อจากแอราเป็นไอร์แลนด์ และมีสถานภาพเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ อีกทั้งไม่สังกัดในเครือจักรภพ (Commonwealths of Nations) อีกต่อไป อย่างไรก็ดี 6 มณฑลทางตอนเหนือในเขตอัลสเตอร์ (Ulster) หรือไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) มิได้รวมตัวกับสาธารณรัฐ และยังคงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ โดยมีชื่อเรียกรวมกันใหม่ว่า สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ในสมัยศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักรได้แผ่ขยายอิทธิพลและมีเมืองขึ้นครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของโลก แต่หลังจากประเทศได้รับความเสียหายจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และการแยกตัวเป็นเอกราชของไอร์แลนด์ใต้ อิทธิพลของสหราชอาณาจักรได้ลดทอนลงอย่างมาก
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) มีระบบการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ รัฐบาลกลางเป็นผู้ดูแลงานหลักเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และการป้องกันประเทศ ทั้งนี้ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ กษัตริย์ทรงครองราชย์โดยความยินยอมพร้อมใจของรัฐสภา ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ทรงเป็นประมุขของประเทศและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพของชาติ
ฝ่ายบริหาร : นรม.เป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้แต่งตั้ง ครม. ปัจจุบัน นายริชี ซูแน็ก เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และ นรม. ในปี 2567 นายริชี ซูแน็ก จะยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ได้แก่
1) การออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit ภายหลังสหราชอาณาจักรออกจาก EU อย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ก.พ.2563 ทำให้ประสบปัญหาเรื่องข้อตกลงเกี่ยวการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศสมาชิก EU เฉพาะอย่างยิ่งการตรวจลงตราบริเวณชายแดนไอร์แลนด์เหนือและข้อพิพาทประมงกับฝรั่งเศส เบื้องต้นแม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่ หรือแผนงานวินด์เซอร์ (Windsor Framework) กับ EU ได้ แต่สหราอาณาจักรยังคงต้องขอความเห็นชอบจากทุกฝ่าย รวมถึงจากไอร์แลนด์เหนือ และออกมาตรการรองรับอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะเวลาในการดำเนินการหลายปี ขณะที่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ และฝรั่งเศสยืนยันจะดำเนินการทางกฎหมายใน ม.ค.2567
2) เศรษฐกิจและงบประมาณ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ขณะเดียวกัน นโยบายด้านงบประมาณบางประการไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของสมาชิกพรรครัฐบาลบางส่วน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค
3) นายริชี ซูแน็ก เคยให้คำมั่นเมื่อรับตำแหน่ง นรม. ว่า จะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหา 5 ประการภายในปี 2566 คือ ลดอัตราเงินเฟ้อครึ่งหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ลดหนี้ การลดเวลารอใช้บริการสุขภาพแห่งชาติ และหยุดเรือเล็กข้ามช่องแคบ แต่จนถึงปัจจุบันคำมั่นสัญญายังไม่บรรลุผล และอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา และเป็นภาระผูกพันต่อเนื่องในปี 2567
4) ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของรัฐบาล นายริชี ซูแน็ก เคยถูกโจมตีเรื่องการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ภริยาถูกโจมตีเรื่องการใช้กฎหมายเอื้อประโยชน์ส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของความเชื่อมั่นของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภา ได้แก่ สภาสูง (House of Lords) 618 ที่นั่ง และสภาผู้แทนราษฎร 650 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งวาระ 5 ปี พรรคอนุรักษ์นิยมเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว สัดส่วนการครองที่นั่งในสภาของพรรคอนุรักษ์นิยม ปัจจุบันอยู่ที่ 351 ที่นั่ง จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแรงงานมี 199 ที่นั่ง พรรคชาตินิยมสกอต (Scottish Nationalist Party-SNP) 43 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat) 15 ที่นั่ง พรรค Independence 16 ที่นั่ง พรรค Democratic Unionist Party (DUP) 8 ที่นั่ง และพรรคอื่น ๆ 18 ที่นั่ง ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดใน ม.ค.2568
ฝ่ายตุลาการ : สภาสูงทำหน้าที่เป็นศาลอุทธรณ์สูงสุด และมีศาลสูงของอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรค ที่สำคัญได้แก่ พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) หรือ พรรคขุนนาง (Tory Party/Tories) พรรคแรงงาน (Labour) พรรคชาตินิยมสกอต (Scottish Nationalist Party-SNP) และพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมผสานกับการจัดระบบรัฐสวัสดิการ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ มีนโยบายเศรษฐกิจมุ่งให้บรรลุถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและมีเสถียรภาพ ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โอกาสการจ้างงานสูง อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่เผชิญผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลง นอกจากนี้ ภายหลัง Brexit ทำให้สหราชอาณาจักรยังมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการกับประเทศสมาชิก EU รวมถึงแรงงานจาก EU ยังประสบปัญหาในการขอวีซ่าเพื่อเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้สหราชอาณาจักรประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ พลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์ ปศุสัตว์ ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ผลผลิตการเกษตร : นม ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ชูการ์บีท มันฝรั่ง ผักกาดก้านขาว ข้าวโอ๊ต สัตว์ปีก เนื้อหมู และเนื้อวัว
อุตสาหกรรมหลัก : อุปกรณ์เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อัตโนมัติ อุปกรณ์สำหรับการเดินเส้นทางรถไฟ การต่อเรือ อากาศยาน ยานยนต์และชิ้นส่วนต่าง ๆ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสาร โลหะ เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การผลิตอาหาร สิ่งทอ เสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ : ถ่านหิน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี ทองคำ ดีบุก หินปูน ยิปซัม ปูนขาว ทราย ซิลิกา และหินชนวน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1 GBP : 1.21 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 1 GBP : 44.10 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 3,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0.5%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 48,901 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 36,670,000 คน
อัตราการว่างงาน : 4.2%
อัตราเงินเฟ้อ : 6.7% (ต.ค.2566)
ดุลบัญชีเดินสะพัด: ขาดดุล 121,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 36,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : โลหะมีค่า น้ำมันดิบ เครื่องจักร ยาและเวชภัณฑ์ รถยนต์
มูลค่าการนำเข้า : 55,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : รถยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ แก๊ส โลหะนอกกลุ่มเหล็ก น้ำมันดิบ
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน และฝรั่งเศส
การทหาร งบประมาณด้านการทหารปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 2.1% ของ GDP มีกำลังพล 134,530 นาย (ทบ. 75,710 นาย ทร. 25,640 นาย และ ทอ. 33,180 นาย) กำลังพลสำรอง 55,640 นาย
สถานการณ์ด้านความมั่นคง
1) ปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มแนวคิดขวาจัด รวมถึงการจัดการกับพลเมืองสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมกับกลุ่ม Islamic State (IS) และต้องการเดินทางกลับประเทศ
2) ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์และการก่อการร้ายทางไซเบอร์
3) ภัยคุกคามจากรัสเซียและจีน โดยเฉพาะการจารกรรมข้อมูลข่าวสาร
4) การขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 เม.ย.2398 ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่นและแน่นแฟ้นทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ การเยือนครั้งล่าสุดของฝ่ายไทย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ระหว่าง 4-7 พ.ค.2566 ฝ่ายสหราชอาณาจักร เซอร์ เกรเฮม เบรดี้ (Sir Graham Brady) สมาชิกสภาสามัญ พรรคอนุรักษ์นิยม/ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร-ไทย (All-Party Parliamentary Group: APPG) เดินทางเยือนไทย เมื่อ 18 ก.ย.2566 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยกับรัฐสภาสหราชอาณาจักร โดยได้เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนายภูมิธรรม เวชยชัย รอง นรม.
ด้านการค้า เมื่อปี 2566 สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 22 ของไทย และอันดับ 4 ของไทยในยุโรปรองจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ มูลค่าการค้าไทย-สหราชอาณาจักร ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 อยู่ที่ 177,417 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 109,169 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 68,248 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 40,922 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอากาศยาน อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม น้ำแร่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม ยานพาหนะ และเครื่องมือการแพทย์
ด้านการท่องเที่ยว ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางมาไทยรวม 563,235 คน เพิ่มขึ้นกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2565 ที่ 231,351 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของยุโรป รองจากรัสเซีย ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1) สายการบินประเภทเที่ยวบินต่อเครื่อง (indirect flight) เพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปยังประเทศไทย 2) การยกเลิกมาตรการคัดกรองการเดินทาง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมีความมั่นใจและตัดสินใจกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และ 3) ประเทศไทยยังมีความโดดเด่นในเรื่องของความคุ้มค่าของราคา
จำนวนคนไทยในสหราชอาณาจักร ห้วง ต.ค.2565-มี.ค.2566 ประมาณ 49,388 คน
ด้านการศึกษา มีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในทุกระดับ โดย British Council (ประเทศไทย) เป็นหน่วยงานหลักของสหราชอาณาจักรที่ประสานโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาต่าง ๆ กับหน่วยราชการของไทย
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยการบริการทางอากาศ (10 พ.ย.2493 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 28 ต.ค.2520 และ มิ.ย.2522) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (28 พ.ย.2521) อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (18 ก.พ.2524) ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (22 ม.ค.2533) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุง (30 มี.ค.2536) การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (10 ก.ย.2540)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การจัดการความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU หลังจาก Brexit โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้าและหลักการเคลื่อนย้ายเสรีของพลเรือน เงินทุน สินค้า และแรงงาน
2) การคลี่คลายปัญหาความแตกแยกภายในประเทศ โดยเฉพาะสกอตแลนด์ที่ต้องการจัดลงประชามติรอบใหม่เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร และการฟื้นตัวของกลุ่มหัวรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ
3) การเป็นเป้าหมายก่อการร้ายโดยกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาและกลุ่มขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์
4) บทบาทของสหราชอาณาจักรในเวทีการเมืองและการค้าระหว่างประเทศหลังจาก Brexit รวมถึงบทบาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง
5) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และบทบาทการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณและยุทโธปกรณ์แก่ยูเครน
6) การสร้างบทบาทนำของสหราชอาณาจักรในประเด็นสิทธิมนุษยชนและการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
7) เสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และแนวโน้มการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรใน ม.ค.2568