สาธารณรัฐคาซัคสถาน
Republic of Kazakhstan
เมืองหลวง กรุงอัสตานา (Astana) ซึ่งเปลี่ยนจาก นูร์–ซุลตัน (Nur-Sultan) กลับมาใช้ชื่อเดิมเมื่อ 17 ก.ย. 2565
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียกับอุซเบกิซสถาน พื้นที่ 2,724,900 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) รองจากรัสเซีย (ใหญ่ประมาณ 5 เท่าของไทย) แบ่งเป็นพื้นดิน 2,699,700 ตร.กม. และพื้นน้ำ 25,200 ตร.กม. มีพรมแดนทางบกยาว 13,364 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ติดรัสเซีย
ทิศตะวันออก ติดจีน
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดคีร์กีซสถาน
ทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ติดเติร์กเมนิสถานและอุซเบกิสถาน
ทิศตะวันตก จรดทะเลแคสเปียนยาว 1,894 กม.
ภูมิประเทศ เป็นประเทศไม่ติดทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่แผ่จากแม่น้ำวอลกาทางตะวันตกไปถึงเทือกเขาอัลไตทางตะวันออก และมีที่ราบไซบีเรียทางเหนือ โอเอซิสและทะเลทรายทางใต้
ภูมิอากาศ แบบภาคพื้นทวีป ฤดูหนาว หนาวจัดอาจถึง -45 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน ร้อนจัดและแห้งแล้งอาจมากกว่า 35 องศาเซลเซียส
ศาสนา อิสลาม 70.2% (ส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี) คริสต์ 26.2% (ส่วนใหญ่นับถือนิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์) อื่น ๆ 0.2% ผู้ไม่นับถือศาสนาใด 2.8% และไม่ระบุ 0.5%
ภาษา คาซัค (Qazaq) เป็นภาษาราชการ (ภาษาพูด) 83.1% สามภาษา (คาซัค รัสเซีย อังกฤษ) 22.3% ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง (นิยมใช้ด้านธุรกิจและการสื่อสารระหว่างต่าง ชาติพันธุ์ และ เป็นภาษาพูด) 94.4%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.8%
วันชาติ 16 ธ.ค. (ปี 2534) วันแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียต
นายคาซีม-โยมาร์ต โตคาเยฟ
Kassym-Jomart Kemelyevich Tokayev
(ประธานาธิบดีคาซัคสถาน)
ประชากร 19,543,464 คน (ก.ย.2566) ประกอบด้วย ชาวคาซัค (Qazaq) 69.2% รัสเซีย 17.9% อุซเบก3.3% อุยกูร์ 1.5% ยูเครน 1.3% ตาตาร์ 1% และอื่น ๆ 5.3%
รายละเอียดประชากร อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 29.67% อายุ 15-64 ปี 62.29% และมากกว่า 65 ปี 8.24% อายุขัยเฉลี่ย 72.8 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 67.73 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 77.56 ปี อัตราการเกิด 14.92/1,000 คน อัตราการตาย 8.05/1,000 คน อัตราการเพิ่มประชากร 0.73%
การก่อตั้งประเทศ ชาวคาซัคเป็นเชื้อชาติผสมระหว่างชนเผ่าชาวเตอร์กิชและชาวมองโกล ต่อมารัสเซียเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ในศตวรรษที่ 18 และคาซัคสถานกลายเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2479 และเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 16 ธ.ค.2534
การเมือง
ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด นรม.เป็นหัวหน้ารัฐบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 แคว้น (provinces) และ 3 เมือง มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 28 ม.ค.2536 และจัดการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ ส.ค.2538 ต่อมาปรับแก้ไขอย่างน้อย 6 ครั้ง ได้แก่ ปี 2541 ปี 2550 ปี 2554 ปี 2560 ปี 2562 และปี 2565 เป็นการแก้ไขครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อปฏิรูปประเทศที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 31 ข้อ และเพิ่มอีก 2 ข้อ จาก 98 ข้อ ทั้งนี้ ผลการลงประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 5 มิ.ย.2565 มีผู้เห็นชอบกว่า 77.18% ของผู้มาใช้สิทธิ 6,163,516 คน จากผู้มีสิทธิ 11 ล้านคน
ประธานาธิบดีนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถานคนแรก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2533 ประกาศลาออกเมื่อ 19 มี.ค.2562 พร้อมแต่งตั้งนายคาซึม-โจมาร์ท โทคาเยฟ ประธานรัฐสภา (ในขณะนั้น) รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี มีผลตั้งแต่ 20 มี.ค.2562ก่อนจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคาซัคสถานเมื่อ 9 เม.ย.2562 เลื่อนขึ้นจากกำหนดเดิมใน เม.ย.2563 ซึ่งนายโทคาเยฟได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคาซัคสถานคนใหม่(ประธานาธิบดีคนที่ 2) ด้วยคะแนนเสียง 70.96% โดยเข้าพิธีรับตำแหน่งเมื่อ 12 มิ.ย.2562 พร้อมกับแต่งตั้งนางดาริกา นาซาร์บาเยฟ บุตรสาวคนโตของอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญในคาซัคสถานที่นำสู่การปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีโทคาเยฟ และลดอำนาจอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟอย่างเด่นชัด เกิดขึ้นภายหลังความไม่สงบในคาซัคสถาน เมื่อ ม.ค.2565 (January tragedy) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหาร การเมืองและกฎหมาย รวมถึงการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง และการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ มีการเลื่อนจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีคาซัคสถานให้เร็วขึ้นจากเดิมกำหนดจัดปี 2567 เป็น 20 พ.ย.2565 ซึ่งนายคาซึม-โจมาร์ท โทคาเยฟ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 81.31%โดยเป็นการเลือกตั้งภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 5 ปี เป็น 7 ปี
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจแต่งตั้งและปลด นรม. โดย
ความเห็นชอบของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ระยะเวลา 7 ปี (เมื่อ ต.ค.2565)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา คือ 1) สภาผู้แทนราษฎร (Mazhilis) มีสมาชิก 98 ที่นั่ง (69 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 29 ที่นั่งมาจากการเลือกของสมัชชาประชาชนคาซัคสถาน ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของประธานาธิบดี) วาระ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 19 มี.ค.2566 พรรค Nur Otan ของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟชนะด้วยคะแนนเสียง 53.9 (มี ส.ส. 62 คน) พรรค Auvl 10.9% (มี ส.ส. 8 คน)พรรค Respublica 8.6% (มี ส.ส. 6 คน) พรรค Ak Zhol 8.4% (มี ส.ส. 6 คน) พรรค QHP 6.8% (มี ส.ส. 5 คน) พรรค NSDP 5.2% (มี ส.ส. 4 คน) พรรค Baytak 2.3% และพรรค Against all 3.9% 2) วุฒิสภา(Senate) มีสมาชิก 50 ที่นั่ง (ประธานาธิบดีแต่งตั้ง 10 ที่นั่ง และสภาท้องถิ่นแต่งตั้ง 40 ที่นั่ง) วาระ 6 ปี โดยสมาชิกกึ่งหนึ่งต้องเลือกตั้งใหม่ ทุก 3 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 14 ม.ค.2566
ฝ่ายตุลาการ : แบ่งเป็น ศาลสูง ได้แก่ ศาลฎีกา (44 คน) และศาลรัฐธรรมนูญ (7 คน) ประธานาธิบดีเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาตามคำแนะนำของคณะตุลาการศาลฎีกา และผ่านการรับรองจากวุฒิสภา ปกติผู้พิพากษาศาลฎีกาปฏิบัติงานได้ถึงอายุ 65 ปี แต่ขยายเวลาได้ถึงอายุ 70 ปี ส่วนผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี นอกจากนี้ ยังมีศาลอื่น ๆ ได้แก่ ศาลประจำภูมิภาคและศาลท้องถิ่น ทั้งนี้ ระบบศาลของคาซัคสถานใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายโรมัน–เยอรมันในทางทฤษฎี และอิทธิพลจากรัสเซียในทางปฏิบัติ Judicial branch
พรรคการเมือง : Amanat (เปลี่ยนเมื่อ เม.ย.2565 เดิมชื่อ Nur Otan (NO) หรือ Light-Fatherland) เป็นพรรครัฐบาล ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ ได้แก่ Ak Zhol (Bright Path), People’s Party of Kazakhstan (QKHP) (ชื่อเดิม Communist Party of Kazakhstan, Auyl People’s Patriotic Democratic Party (Auyl) และ Adal
เศรษฐกิจ
คาซัคสถานมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง มีทรัพยากรที่สำคัญจำนวนมาก เช่น น้ำมันดิบ โดยมีน้ำมันสำรอง 1.8% ของปริมาณน้ำมันโลก มีปริมาณก๊าซธรรมชาติและยูเรเนียมเป็นอันดับต้นของโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งแร่โครเมียม เหล็ก ทองคำ และทองแดง นอกจากนี้มี ถ่านหิน แมงกานีส นิกเกิล โคบอลต์ โมลิบดินัม ตะกั่ว สังกะสี บอกไซต์ และทอง
คาซัคสถานมีขีดความสามารถทางการเกษตรเพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่สำหรับการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ ทำให้เป็นผู้ส่งออกธัญพืชอันดับ 10 ของโลก ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี นม มันฝรั่ง ข้าวบาร์เลย์ แตงโม เมล็ดลินซีด หัวหอม ข้าวโพดหวาน เมล็ดทานตะวัน อุตสาหกรรมในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน (น้ำมัน) ถ่านหิน เหล็ก สินแร่ต่าง ๆ เช่น แมงกานีส โครเมียม ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง ไททาเนียม บอกไซต์ ทองและเงิน เหล็กและเหล็กกล้า รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร มอเตอร์ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง
เศรษฐกิจของคาซัคสถานพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันที่เป็นรายได้หลักของประเทศ (คาซัคสถานส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่งหลายเส้นทาง อาทิ ท่อส่งน้ำมันจากแปลง Tengiz ทางตะวันตกของคาซัคสถานไปยังเมืองท่า Novorossiysk ริมทะเลดำของรัสเซีย เปิดใช้เมื่อปี 2543 ท่อส่งน้ำมันไปจีนตั้งแต่ปลายปี 2548 และเริ่มส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่ง Baku-Tbilisi-Ceyhan ระหว่างอาเซอร์ไบจาน–จอร์เจีย–ตุรกี เมื่อปี 2551 เพื่อลดการพึ่งพารัสเซียในการส่งออกน้ำมัน และบรรลุข้อตกลงการส่งออกน้ำมันกับบริษัททรานส์เนฟต์ของรัสเซีย รวมถึงการชำระเงินค่าผ่านแดน ที่ทำให้คาซัคสถานส่งน้ำมันผ่านท่อน้ำมันทางตอนเหนือของ Druzhba ซึ่งผ่านรัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์ ไปยังเยอรมนีเมื่อ ก.พ.2566) อย่างไรก็ดี การพึ่งพารายได้จากภาคพลังงานเป็นหลัก ทำให้สภาพเศรษฐกิจของคาซัคสถานมีความเสี่ยงตามความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก คาซัคสถานจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายการพัฒนาเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศปี 2593 (ค.ศ. 2050) ตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ใกล้เมืองอัลมาตี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ คาซัคสถานยังวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรภายในประเทศที่เรียกว่า “Agribusiness Plan 2020” เพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการนำเข้าสินค้าเกษตรให้เหลือ 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33%
แผนพัฒนาโครงการแห่งชาติที่ประกาศเมื่อปี 2564 กำหนดเป้าหมายระยะกลางถึงปี 2568 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 15.9 ล้านล้านเทงจาคาซัคสถาน มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 5% มุ่งการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมและนวัตกรรม ศูนย์กลางด้านปิโตรเคมีและพลังงาน อุตสาหกรรมด้านธรณีวิทยา และการส่งออกที่ไม่ใช่พลังงาน พร้อมตั้งเป้าหมายการเป็นประเทศ “Open economy” และพัฒนาจากอันดับที่ 93 (ปี2561) สู่อันดับ 55 ในปี 2568 และธนาคารแห่งชาติคาซัคสถานกำหนดยุทธศาสตร์นโยบายทางการเงิน 2573 (Monetary Policy Strategy 2030) ที่เผยแพร่เมื่อ 9 มี.ค.2564 มุ่งเน้น 3 เป้าหมาย ได้แก่ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับนโยบายทางการเงิน พัฒนาตลาดการเงิน และเสริมสร้างรากฐานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กระจายการส่งออกและลดการพึ่งพาการนำเข้า และการเพิ่มวินัยทางการคลัง) ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 อัตราเงินเฟ้อของคาซัคสถานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งจากราคาอาหารและค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 8.7% (ก.พ.2565) เป็น 20.7% (ม.ค.2566) และอัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 3.3% เมื่อ 2565 เป็น 4.6% ในปี 2566
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Kazakhstani Tenge (KZT) หรือเทงจาคาซัคสถาน
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 478.85 KZT : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 100 เทงจา (KZT) = 7.63 บาท (ณ 20 ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 259,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566 โดย IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.1% (ไตรมาสแรกของปี 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 12,968.43 ดอลลาร์สหรัฐ (2566)
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ค.2566) (สถิติระหว่างปี 2564-2565 สูงสุดอยู่ที่ 33,100 และต่ำสุดอยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แรงงาน : 9.6 ล้านคน โดยเป็นลูกจ้างประมาณ 6.9 ล้านคน และเป็นเจ้าของธุรกิจประมาณ 2.2 ล้านคน (ไตรมาสที่ 2 ขอปี 2566)
อัตราการว่างงาน : 4.9% (ธ.ค.2565)
อัตราเงินเฟ้อ : 20.7% (ม.ค.2566)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : 35,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
มูลค่าการส่งออก : 74,684.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้าส่งออก : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อิตาลี จีน เนเธอร์แลนด์ ตุรกี เกาหลีใต้ (ไทยอันดับที่ 73)
มูลค่าการนำเข้า : 31,439.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้านำเข้า : เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และส่วนประกอบ แทรกเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม พลาสติก อุปกรณ์ทัศนศาสตร์/การแพทย์ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า อากาศยานและส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ถัก เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ไม่ได้ถัก
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ตุรกี เกาหลีใต้ (ไทยอันดับที่ 21) (ปี 2565)
ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่เหล็กแมงกานีส โครเมียม นิกเกิล โคบอลต์ ทองแดง โมลิบดินัม ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง บอกไซต์ ทอง ยูเรเนียม
การทหารและความมั่นคง
การทหาร :
การจัดกำลังทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ของคาซัคสถานส่วนใหญ่ตกทอดมา ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต จัดตั้ง กห.คาซัคสถาน เมื่อปี 2535 มีการปรับปรุงและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่เข้าประจำการต่อเนื่อง โดยการนำเข้าจากรัสเซียกว่า 80% เข้าเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization-CSTO) ตั้งแต่ปี 2537 และได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยพร้อมรบ (Rapid reaction force) ของ CSTO นอกจากนี้ คาซัคสถานเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace) ของเนโตเมื่อปี 2538
คาซัคสถานมีความร่วมมือทางทหารใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยให้สัตยาบันข้อตกลงจัดตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศร่วมระหว่างกันเมื่อ พ.ค.2557 และร่วมฝึกรบในกรอบขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization-SCO) และ CSTO รัสเซียสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์และการป้องกันทางอากาศแก่คาซัคสถาน เช่น เฮลิคอปเตอร์ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และรถหุ้มเกราะ ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างเหล่าทัพยังล่าช้า การประจำการกำลังพลส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก เกือบทั้งหมดอยู่ที่อัลมาตี ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง คาซัคสถานมีกำลังทางทหารใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอุซเบกิสถาน
คาซัคสถานประกาศหลักนิยมทางทหารฉบับแก้ไขเมื่อ 12 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ 29 ก.ย.2560 บ่งชี้การรวมศูนย์อำนาจด้านความมั่นคง โดยอ้างผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในคาซัคสถานห้วง ม.ค.2565 โดยมุ่งเน้นหลักนิยมทางทหาร เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ คาซัคสถานพยายามยกระดับหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึง
การเปลี่ยนแปลงองค์กร อาทิ การจัดตั้งหน่วยรักษาความมั่นคงใหม่ การเสริมสมรรถนะหน่วยงานที่มีอยู่ จัดตั้งกองกำลังพิเศษเพิ่มเติม การเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันชายแดนและปฏิรูปกองทัพให้มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น และขยายภารกิจกองทัพด้านการป้องกันทางไซเบอร์
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
กำลังพลรวม : ปี 2566 จำนวน 39,000 นาย งบประมาณด้านการทหารปี 2565 ประมาณ 1,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 10-20%
ทบ. 20,000 นาย แบ่งเป็น 4 มณฑลทหาร ได้แก่ อัสตานา ตะวันออก ตะวันตก และใต้ ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.หลัก (MBT) T-72BA 350 คัน ยานลาดตระเวน (RECCE) 100 คัน (รุ่น BRDM-2 40 คัน และ BRM-1 60 คัน) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) 413 คัน(รุ่น BMP-2, BTR-80A) ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ แบบ APC 340 คัน (รุ่น MT-LB, BTR-3E, BTR-80 และ Arlan) แบบ AUV ไม่ต่ำกว่า 17 คัน (รุ่น Cobra; SandCat) รถลากจูงสะเทินน้ำสะเทินบกอเนกประสงค์รุ่น MT-LB เครื่องปล่อยขีปนาวุธ MSL ไม่ต่ำกว่า 3 ระบบ (รุ่น SPBMP-T; HMMWV, MANPATS 9K111 Fago) ปืนต่อต้านรถถังลำกล้องขนาด 11 มม. 68 คัน (รุ่น MT-12/T-12) ปืนใหญ่ 490 กระบอก (แบบ SP, TOWED, GUN/MOR, MRL, MOR) อาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น Tochka (SS-21 Scarab) 12 ชุด
ทร. 3,000 นาย มีเรือลาดตระเวนและเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 14 ลำ (แบบ PCGM, PCC, PBF, PB) เรือขุดทุ่นระเบิด 1 ลำ (รุ่น Alatau) เรือสำรวจ 1 ลำ (รุ่น Zhaik) และยานรบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก 70 คัน (รุ่น BTR-82A)
ทอ. 12,000 นาย มี บ.รบ รวม 120 เครื่อง เป็น บ.ขับไล่ 45 เครื่อง (แบบ MiG-29 Fulcrum 12 เครื่อง MiG-29UB Fulcrum 2 เครื่อง และ MiG-31/MiG-31BM Foxhound 31 เครื่อง) บ.ขับไล่/โจมตีภาคพื้นดิน 61 เครื่อง (แบบ MiG-27 Flogger D, MiG-23UB Flogger C, Su-27 Flanker, Su-27UB Flanker และ Su-30SM) และ บ.โจมตี14 เครื่อง (แบบ Su-25 Frogfoot และ Su-25UB Frogfoot) บ.ลาดตระเวน/สอดแนมแบบ An-30 Clank 1 เครื่อง บ.ขนส่ง 19 เครื่อง และ บ.ฝึก 19 เครื่อง (แบบ L-39 Albatros และ Z-242L) ส่วน ฮ.โจมตี 32 เครื่อง (แบบ Mi-24V Hind และ Mi-35M Hind) ฮ.อเนกประสงค์ 26 เครื่อง (แบบ Mi-17V-5 Hip 20 เครื่อง และ Mi-171Sh Hip 6 เครื่อง) ฮ.ขนส่ง 16 เครื่อง (แบบMi-26 Halo 4 เครื่อง Bell-205 (UH-1H Iroquois) 4 เครื่อง และ H145 จำนวน 8 เครื่อง) อากาศยานไร้คนขับขนาดใหญ่ 2 ลำ (รุ่น Wing Loong พัฒนาโดยจีน) ระบบต่อต้านอากาศยานจากพื้นสู่อากาศไม่ต่ำกว่า 43 ระบบ (ระยะไกล รุ่น S-200, S-300, S-300PS กลาง รุ่น 2K11 Krug, S-75M Volkhov ใกล้ รุ่น 2K12 Kub, S-125 Neva, 9K35 Strela-10) ระบบอากาศสู่อากาศ ระบบจรวดนำวิถี (รุ่น R-60, R-73) ระบบนำทางเรดาห์ (รุ่น R-27, R-33, R-77) ระบบอากาศสู่พื้น (รุ่น Kh-23, Kh-25, Kh-27, Kh-29, Kh-58)
กำลังกึ่งทหาร 31,500 นาย แบ่งเป็นกองกำลังรักษาความมั่นคงประมาณ 20,000 นาย กองกำลังรักษาความปลอดภัยรัฐบาลประมาณ 2,500 นาย และกองกำลังรักษาชายแดนประมาณ 9,000 นาย โดยมี บ. 6 เครื่อง (รุ่น An-26 Curl, An-74T, An74TK, SSJ-100) ฮ. 15 เครื่อง (รุ่น Mi-171, Mi171Sh) มีเรือลาดตระเวนและเรือตรวจการณ์ 25 ลำ (รุ่น Almaty, Sardar, Zhuk, Aibar, FC-19, Saygak) นอกจากนี้ ยังส่งทหารร่วมกับสหประชาชาติประจำในซาฮาราตะวันตก (MINURSO) และเลบานอน (UNIFIL) และร่วมกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปประจำในยูเครนและมอลโดวา
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาภายในประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ บ่งชี้จากความไม่สงบภายในคาซัคสถาน ระหว่าง 2-11 ม.ค.2565 ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี รัฐบาลคาซัคสถานดำเนินคดีและจับกุมผู้ประท้วง
อย่างน้อย 9,900 คน โดยใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 217 คน (รวมทั้ง ฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ก่อเหตุ) สำหรับต้นเหตุการประท้วงเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลที่ขึ้นราคาก๊าซ LPG ในประเทศ เมื่อ 1 ม.ค.2565 อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโทคาเยฟ ใช้เป็นข้ออ้างในการลดอิทธิพลอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ พร้อมดำเนินคดีกับนาย Karim Massimov ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Committee) ข้อหากบฏ และนำสู่การปฏิรูปประเทศ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคงใหม่ให้สามารถถ่วงดุลกันมากขึ้น
ภัยคุกคามส่วนใหญ่มาจากการแพร่ขยายแนวคิดสุดโต่งทางศาสนาและกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะ
กลุ่ม Islamic State (IS) เนื่องจากมีชาวคาซัคไปร่วมกับกลุ่ม IS ที่ซีเรียและอิรัก ซึ่งทางการคาซัคสถานกังวลว่า กลุ่มคนเหล่านี้อาจนำแนวคิดนิยมความรุนแรงกลับมาเผยแพร่และก่อเหตุในคาซัคสถาน จึงพยายาม
สกัดกั้นการก่อเหตุด้วยการจับกุมผู้จัดหาสมาชิกและเผยแพร่แนวคิด และผู้เดินทางไปร่วมรบ โดยใช้วิธีการทางกฎหมาย และการใช้กำลังหากขัดขวาง/ต่อสู้ เช่น คาซัคสถานออกกฎหมายตัดสิทธิความเป็นพลเมืองสำหรับประชาชนที่ทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและความมั่นคงแห่งชาติ (จัดหา เข้าร่วม กระทำการที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์สำคัญของชาติ หรือวางแผนสังหารประธานาธิบดี) เมื่อ 11 ก.ค.2560 ตลอดจนวางแผน
เพิ่มงบประมาณ เพื่อใช้ในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะในห้วงความขัดแย้งในอิสราเอล-ฮะมาส
ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่ 7 ต.ค.2566 ที่ทำให้แนวคิดการก่อการร้ายกลับมาขยายตัวอีกครั้งในยุโรป และอาจลุกลามไปในภูมิภาคอื่น ซึ่งคาซัคสถานยังคงต้องเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในกลุ่มเอเชียกลางที่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
การที่คาซัคสถานไม่มีทางออกสู่ทะเลทำให้เผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศที่นำมาสู่ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท ปัญหาสภาพอากาศในเมืองใหญ่ และปัญหาด้านสังคมอื่น ๆ ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ADB, CICA, CIS, CSTO, EAEU, EAPC, EBRD, ECO, EAEU, EITI (compliant country), FAO, GCTU, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (NGOs), ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, INYERPOL, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, MIGA, NAM (ผู้สังเกตการณ์), NSG, OAS (ผู้สังเกตการณ์), OIC, OPCW, OSCE, OTS, PFP, SCO, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO และ WTO
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยาน 96 แห่ง เส้นทางรถไฟระยะทาง 16,634 กม. ถนนระยะทาง 96,167 กม. ท่อขนส่ง condensate (ก๊าซธรรมชาติ) 658 กม. ท่อขนส่งก๊าซยาว15,429 กม. ท่อขนส่งน้ำมัน 8,020 กม. ท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปยาว 1,095 กม. และท่อขนส่งน้ำยาว 1,975 กม. ด้านโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐาน 2,997,400 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 24,323,000 เลขหมาย จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 17,290,751 คน (ปี 2564) รหัสอินเทอร์เน็ต .kz สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ได้แก่ Kcell and Activ, Beeline, Tele2 และ Altel
การเดินทาง ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีเที่ยวบินตรงของสายการบินแอร์อัสตานา ระหว่างกรุงเทพฯ–นูร์–สุลตาน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และกรุงเทพฯ–อัลมาตี 5 ครั้งต่อสัปดาห์ (ฤดูหนาวเพิ่มอีก 2 ครั้งต่อสัปดาห์) ใช้เวลาบินประมาณ 7-8 ชม. โดยมีนักท่องเที่ยวชาวคาซัคเยือนไทยเฉลี่ยปีละ 60,000-70,000 คนต่อปี หลังปี 2565 รวมถึงหลังจากยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางคาซัคสถานให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่ ก.ย.2566 มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเพิ่มขึ้น 430.09% ปัจจุบันมีสายการบินจากคาซัคสถานไปไทย ได้แก่ Air Astana และ Cathay Pacific ซึ่งมีการเพิ่มเที่ยวบิน ได้แก่ อัลมาตี-กรุงเทพฯ อัลมาตี-ภูเก็ต อัลมาตี-ระยอง และอัลมาตี-เกาะสมุย
ความสัมพันธ์ไทย-คาซัคสถาน
ด้านการทูต ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคาซัคสถานเมื่อ 6 ก.ค.2535 ไทยมี สอท. ณ อัสตานา และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี ส่วนคาซัคสถานมี สอท. ที่กรุงเทพฯ และ
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำ จ.ชลบุรี ครม.อนุมัติการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำกรุงเทพฯ เมื่อ 11 พ.ค.2559 และแต่งตั้งนายกำพล ศุภรสหัสรังสี ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำ จ.ชลบุรี (โดยมีเขตกงสุลครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด) ส่วนกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งนางสาวไอกุล สุลตาโนวา (Miss Aigul Sultanova) เป็น Trade Representative ณ อัสตานา คาซัคสถาน เริ่มปฏิบัติภารกิจเมื่อ 15 ธ.ค.2559 เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการ และส่งเสริมการลงทุนของไทยในคาซัคสถาน สถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถาน จ.ภูเก็ต เริ่มเปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 โดยมีนายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกประจำ จ.ภูเก็ต
ด้านการเมือง ไทยและคาซัคสถานมีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันหลายครั้ง โดยประธานาธิบดีคาซัคสถานเยือนไทย เมื่อปี 2536 และ นรม.ไทยเยือนคาซัคสถาน เพื่อร่วมประชุมสุดยอด CICA ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ คาซัคสถานสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นสมาชิก CICA ซึ่งเป็นกรอบการประชุมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียที่คาซัคสถานริเริ่มขึ้น โดยไทยเข้าเป็นสมาชิก CICA เมื่อ ต.ค.2547 สำหรับการประชุมผู้นำCICA ครั้งล่าสุด ระหว่าง 12-13 ต.ค.2565 ที่กรุงอัสตานา คาซัคสถาน นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมโดยมีการออกแถลงการณ์ร่วม Astana Statement of CICA Transformation ระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงไทย เมื่อ 13 ต.ค.2565 ซึ่งมุ่งยกระดับกรอบการประชุม CICAให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ อีกทั้ง มีการหารือทวิภาคีกับนาย Adil Tursynov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคาซัคสถาน นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนคาซัคสถานเข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD) โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์รับคาซัคสถานเข้าเป็นสมาชิกระหว่างการประชุมรัฐมนตรี ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 21 มิ.ย.2546 และคาซัคสถานขอรับการสนับสนุนจากไทยในการสมัครเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum (ARF)
ไทยและคาซัคสถานมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย–คาซัคสถาน (Joint Commission for Bilateral Cooperation-JC) เป็นเวทีในการทบทวน ติดตาม และผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในมิติต่าง ๆ มีการประชุมร่วมกันมาแล้ว 3 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 ระหว่าง 21-22 ต.ค.2545 ที่อัสตานา ครั้งที่ 2 ระหว่าง 21-22 มิ.ย.2555 ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ 3 ระหว่าง 21-22 มิ.ย.2560 ที่อัสตานา ซึ่งครบรอบ 25 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ส่วนกิจกรรมครบรอบ 30 ปี เมื่อปี 2565 มีการจัดกิจกรรมโครงการแข่งชกมวยไทยระหว่างนักมวยชาวไทยกับนักมวยคาซัคสถาน โครงการเทศกาลภาพยนตร์ไทยในภูมิภาคเอเชียกลาง และโครงการจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจคาซัคสถาน
ด้านเศรษฐกิจ คาซัคสถานเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในเอเชียกลางของไทย การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ห้วง ม.ค.-มิ.ย.2566 มีมูลค่า 112.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปี 2565 ที่มีมูลค่า 28.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 47.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 64.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกของไทยไปคาซัคสถาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่วนสินค้านำเข้าจากคาซัคสถาน ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์นั่ง ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ไทยลงทุนทางตรงในคาซัคสถานปี 2561 มีมูลค่า 0.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2562 มูลค่า 1.30ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาซัคสถานลงทุนในไทยปี 2565 มีมูลค่า 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยกเว้นการตรวจ ลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนัก ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่ 25 ก.ย.2566 ถึง 29 ก.พ.2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับคาซัคสถาน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย–คาซัคสถาน (21 ก.ค.2536) โดยมีการประชุมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย–คาซัคสถาน (3 พ.ค.2539) โดยผลการเจรจาการบินระหว่างผู้แทนเมื่อ 7 ส.ค.2561 ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ตกลงปรับปรุงสิทธิการบิน และข้อบทเพื่อเพิ่มโอกาสการบินระหว่างกัน ความตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมคาซัคสถาน (29 ส.ค.2546) พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย–คาซัคสถาน (20 ต.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องเมืองพัทยาและเมืองชิมเคนท์ (ปี 2545) ความตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอัสตานาและกรุงเทพฯ (บ้านพี่เมืองน้อง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านข้าราชการพลเรือนไทย–คาซัคสถาน (ปี 2547) ไทยและคาซัคสถานลงนามข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ (ก.ค.2560) และการลงนามความร่วมมือโครงการก่อสร้างสายส่งก๊าซระยะที่ 5 (เฟส 2 ระยะทางยาว 200 กม.) ระหว่าง บมจ.ปตท. กับ บจ.KazStroyService ของคาซัคสถาน เมื่อ 27 มิ.ย.2561
รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงในการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union-EAEU) เมื่อปี 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของประเทศสมาชิก บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซียว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (14 พ.ย.2561) บันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (19 พ.ศ.2561) โดยที่ผ่านมามีการจัดการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซียครั้งที่ 1 เมื่อ 4 มิ.ย.2562
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การพัฒนาประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งด้านนโยบายต่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจ ในห้วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคาซึม-โจมาร์ท โทคาเยฟ สมัยที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลา 7 ปี
2) การแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศต่อการรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งอิสราเอล-กลุ่มฮะมาส ซึ่งเข้มข้นขึ้น ทั้งในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศเอเชียกลางและมีนโยบายมุสลิมสายกลาง
3) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีอุซเบกิสถานเป็นคู่เปรียบเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง
4) การรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับรัสเซีย จีน สหรัฐฯ และประเทศในยุโรป รวมถึงระดับพหุภาคี อาทิ บทบาทในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union-EAEU) ร่วมกับรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน กรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่ม 5 ประเทศเอเชียกลาง กับสหรัฐฯ USA and 5 Central Asian Foreign Ministers หรือ C5+1 (สหรัฐฯ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน)