สาธารณรัฐประชาชนจีน
People’s Republic of China
เมืองหลวง ปักกิ่ง
ที่ตั้ง ทิศตะวันออกของทวีปเอเชีย บริเวณริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือระหว่างเส้นละติจูด 4-53 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูด 73-35 องศาตะวันออก พื้นที่ประมาณ 9,597,000 ตร.กม. (1 ใน 4 ของทวีปเอเชีย) ความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 5,000 กม. จากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 5,500 กม. มีพรมแดนยาว 22,117 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และมองโกเลีย
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับเกาหลีเหนือและทะเลเหลือง
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนตะวันออก
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก ติดกับอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับอินเดีย เนปาล และภูฏาน
ทิศใต้ ติดกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม
ภูมิประเทศ 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบสูง โดยแบ่งเป็นเขตภูเขา 33% ที่ราบสูง 26% ที่ราบลุ่ม 19% และเนินเขา 10% ลักษณะภูมิประเทศเหมือนขั้นบันไดจากที่ราบชิงไห่-ทิเบตทางตะวันตกความสูง 4,000 ม. ขึ้นไปลาดลงทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูงที่มีความสูง 1,000-2,000 ม. มีเทือกเขากั้นก่อนลดลงเป็นพื้นที่ที่มีความสูงระหว่าง 500-1,000 ม. และกลายเป็นที่ราบด้านตะวันออกจนถึงชายฝั่งและไหล่ทวีป เทือกเขาสำคัญ ได้แก่เทือกเขาหิมาลัย (พรมแดนระหว่างจีน อินเดีย และเนปาล) เทือกเขาคุนหลุน และเทือกเขาเทียนซาน มีแม่น้ำ ลำคลองมากกว่า 1,500 สาย ที่สำคัญ คือ แม่น้ำแยงซี (ยาวที่สุดในจีน) แม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำเฮยหลงเจียง และแม่น้ำจูเจียง นอกจากนี้ จีนยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง แม่น้ำแดง แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพรหมบุตร
วันชาติ 1 ต.ค.
นายสี จิ้นผิง Xi Jinping
(ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง)
ประชากร 1,425,671,352 คน (ปี 2566) เป็นชาวฮั่น 91.5% จ้วง 1.3% หุย 0.8% แมนจู 0.8% อุยกูร์ 0.7% ทิเบต 0.5% และอื่น ๆ 4.4 % อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 16.48% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 69.4% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 14.11% ประชากรจีนมีอายุเฉลี่ย 78 ปี (ปี 2566) ทั้งนี้ เมื่อ 1 ม.ค.2559 รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนมีลูกได้ 2 คน แทนนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2522 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index-HDI) ของจีนเมื่อปี 2564 อยู่ในอันดับ 79 จาก 191 ประเทศ สำหรับเมืองที่มีประชากรหนาแน่น 5 อันดับแรก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน กวางโจ่ว และเซินเจิ้น
ศาสนา จีนไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่มีชาวจีนที่นับถือศาสนาประมาณ 200 ล้านคน ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน 18.2% ศาสนาคริสต์ 5.1% ศาสนาอิสลาม 1.8%
ภาษา จีนกลางเป็นภาษาราชการ และใช้อักษรโรมันสะกดเทียบภาษาจีนกลางที่เรียกว่า Pinyin ภาษาท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ภาษากวางตุ้ง แคะ และฮกเกี้ยน
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.83% (ปี 2564) โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาจากนโยบาย “พัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และการศึกษา” ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นอุดมศึกษา และการศึกษาผู้ใหญ่ กฎหมายกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาฟรีในระบบโรงเรียนอย่างน้อย 9 ปี
การก่อตั้งประเทศ มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานับพันปี แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความวุ่นวายในประเทศ ความอดอยาก การพ่ายแพ้ทางทหาร และการยึดครองของต่างชาติ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยประธานเหมาเจ๋อตุงรบชนะกองทัพของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยจอมพลเจียงไคเช็ค และสถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 1 ต.ค.2492 ต่อมาเมื่อปี 2521 นายเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นที่ 2 ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมาเจ๋อตุงดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ จนทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมาเติบโตในเกณฑ์สูงและรวดเร็ว รวมทั้งส่งผลให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจีนดีขึ้น
การเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้กำหนดนโยบายทุกด้าน รัฐบาลและสภาประชาชนแห่งชาติมีหน้าที่ทำตามมติและนโยบายที่พรรคกำหนดเท่านั้น โครงสร้างทางการเมืองที่สำคัญของจีน คือ 1) พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกอบด้วย สมัชชาพรรค คณะกรรมการกลาง คณะกรรมาธิการทหารกลาง คณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยคณะกรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการประจำกรมการเมือง และเลขาธิการพรรค 2) สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรสูงสุดในการใช้อำนาจรัฐ มาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนระดับท้องถิ่นต่าง ๆ มีอำนาจทั้งด้านนิติบัญญัติและการเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี 3) ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ 4) คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของประเทศซึ่งบริหารงานตามมติของสภาประชาชนแห่งชาติ 5) คณะกรรมาธิการทหารกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายระดับสูงของกองทัพจีน 6) สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน เป็นองค์กรแนวร่วมที่ประกอบด้วย ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคประชาธิปไตยต่าง ๆ ผู้แทนชนกลุ่มน้อย ตลอดจนผู้รักชาติจากไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และชาวจีนโพ้นทะเล และ 7) ศาลประชาชนเป็นองค์กรสูงสุดในการพิพากษาและควบคุมตรวจสอบงานพิพากษาของศาลระดับท้องถิ่น
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีมูลค่ารวมมากกว่า 100 ล้านล้านหยวน ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงผันผวน โดยมีมูลค่า GDP รวมประมาณ 17.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดนับตั้งแต่จีนมี GDP เกิน 100 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับปี 2564 สะท้อนว่า จีนยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีและมีประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยมีกลุ่มทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นตัวแสดงหลักท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยภายในจีนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว
ในปี 2566 แม้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว แต่คงขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดไว้ 5% โดยห้วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 GDP จีนขยายตัว 5.2% เฉพาะไตรมาส 3 ขยายตัว 4.9% ลดลงจาก ไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 6.3% โดยได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศและความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก คาดว่า GDP จีนอาจลดลงเหลือ 4.5% ในปี 2567 สอดคล้องกับการประเมินของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และธนาคารโลกที่คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวลดลงและ GDP จีนจะอยู่ที่ประมาณ 4.5-4.6% ในปี 2567
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนมีมูลค่า 3.115 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ ก.ย.2566 ลดลง 0.7% จาก 3.160 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ ส.ค.2566 เนื่องจากความผันผวนของสกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สำนักงานกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งชาติของจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนมีความยืดหยุ่นสูงและมีศักยภาพในการพัฒนา ปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกในระยะยาวยังไม่เปลี่ยนแปลง และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพพื้นฐานของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
ปริมาณทองคำสำรองของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีทองคำสำรองอยู่ที่ 69.62 ล้านออนซ์ เมื่อสิ้น ส.ค.2566 กับทั้งจีนยังคงเป็นแหล่งเงินทุนต่างประเทศที่สำคัญอันดับ 3 ของโลก ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ (Outbound Direct Investment-ODI) ของจีนห้วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ไม่รวมภาคการเงิน) มีมูลค่ารวม 91,968 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 นอกจากนี้ ODI ในหลายสาขายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อาทิ การลงทุนด้านการค้าส่งและค้าปลีก ภาคการผลิต สินเชื่อ และการบริการ โดยมูลค่าการลงทุนของจีนในต่างประเทศผ่านกรอบ Belt and Road Initiative (BRI) มีมูลค่า 22,548 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.7% มูลค่าโครงการสัญญาในต่างประเทศที่แล้วเสร็จมูลค่า 140,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2% ขณะที่การลงทุนของวิสาหกิจจีนในประเทศตามเส้นทาง BRI มีมูลค่า 85,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 จีนยังมีบทบาทอย่างมากต่อประเทศที่เข้าไปลงทุน ทั้งด้านรายได้และการจ้างงาน
จีนแสดงบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมการค้าเสรีในระดับโลก โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Zones-FTZs) ใหม่เพิ่มอีก 3 แห่งที่กรุงปักกิ่ง มณฑลหูหนาน และมณฑลอันหุย รวมทั้งขยาย FTZs ในมณฑลเจ้อเจียง โดยจะมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการบริการใน FTZs กรุงปักกิ่ง (พื้นที่ 119.68 ตร.กม.) เป็นต้นแบบให้กับ FTZs ทั่วประเทศ ส่วน FTZs ที่มณฑลหูหนานจะมุ่งการปรับปรุงการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและในกรอบ BRI และ FTZs ที่มณฑลอันหุยจะมุ่งกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์ และอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ สำหรับ FTZs ที่มณฑลเจ้อเจียง จะมุ่งการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ และศูนย์กลางจัดส่งและคลังสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
จีนมีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาระบบเงินหยวนดิจิทัลอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มโครงการนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในหลายพื้นที่ ธนาคารกลางจีนกำหนดนโยบายกำกับดูแลโครงการนำร่องดังกล่าว และเมื่อปี 2566 ทางการจีนจัดทำแผนขับเคลื่อนและกำหนดระยะเวลาการพัฒนาและเสริมสร้างความก้าวหน้าด้านดิจิทัลของจีน (digital China) ถึงปี 2578 โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (โดยเฉพาะเครือข่ายระบบ 5G และระบบประมวลผล) ภายในประเทศให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านนวัตกรรมดิจิทัลภายในปี 2568 และเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกด้านดิจิทัลภายในปี 2578 เพื่อนำระบบดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการพัฒนาในทุกภาคส่วน
นโยบายขจัดความยากจนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งผลให้จีนส่งเสริมการอพยพประชาชน ไปตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต โดยจีนบรรลุเป้าหมายตามแผนงานอพยพประชาชน 100 ล้านคนไปตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองภายในปี 2563 ซึ่งเป็นแผนงานที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยเมื่อปี 2562 มีประชาชนมีทะเบียนบ้านเป็นผู้อาศัยในเขตเมือง 44.38% เพิ่มขึ้นจาก 35.93% เมื่อปี 2556 ก่อนหน้านี้ ระบบทะเบียนบ้านของจีนตั้งแต่ปี 2493 มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการอพยพไปอาศัยในเขตเมือง แต่นโยบายใหม่ดังกล่าวได้ผ่อนผันกฎเกณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอพยพไปอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น
ปี 2566 จีนตั้งเป้าสร้างงานเพิ่ม 12 ล้านตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและฟื้นฟูธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการของจีน ยังผลักดันโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยภายในประเทศ โดยสามารถสร้างงานใหม่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้ประมาณ 2.53 ล้านตำแหน่ง กับทั้งนำเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมความสุขและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประชาชนจีนและสกัดหลุมพรางการพัฒนา คือ กับดักรายได้ปานกลาง และนำประเทศไปสู่การเป็นชาติที่มีรายได้สูง
รัฐบาลจีนจะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีงานทำมากขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น รักษารายได้ประชากรให้อยู่ในระดับเดียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเบื้องต้น ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาระดับสูงต่อเนื่อง กับจะส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมมวลชนอย่างกว้างขวาง และจัดโครงการออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงจะผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาพประชาชนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ จะยังเร่งกำหนดมาตรการเพื่อประกันการยังชีพของผู้สูงอายุ และปรับระบบการให้บริการผู้สูงอายุให้สมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งจะปรับปรุงระบบประกันสังคมถ้วนหน้าให้สมดุล เป็นธรรม เป็นเอกภาพ และยั่งยืน
ปัญหาสังคมผู้สูงวัยเป็นความท้าทายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน โดยประชากรสูงวัยของจีนจะเพิ่มเป็น 300 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 400 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างประชากรจีนให้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับกลาง โดยเมื่อสิ้นปี 2562 ประชากรจีนที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า คิดเป็น 12.57% ของประชากรทั้งหมดของจีน และจะเพิ่มเป็น 17.8% ในอีก 30 ปี ขณะที่รายงานของมหาวิทยาลัยชิงหัวระบุว่า ประชากรจีนจะลดจำนวนลงอย่างมากในปี 2593 โดยคาดว่า จะลดลงเหลือต่ำกว่า 800 ล้านคนภายในปี 2643 หรือจาก 19% เป็น 7% ของประชากรโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 40-50 ปี ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์และสุขภาพด้อยกว่าประชากรวัยหนุ่มสาว
ภาคการเกษตรคิดเป็น 7.3% ของ GDP ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วลิสง ชา ผลไม้ และปศุสัตว์
ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 39.9% ของ GDP อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ การผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาวุธ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง
ภาคบริการคิดเป็น 52.8% ของ GDP
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน สินแร่เหล็ก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปรอท ยูเรเนียม และพลังงานน้ำ
สกุลเงิน : หยวน อัตราแลกเปลี่ยน 7.30 หยวน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 หยวน : 4.95 บาท (ต.ค.2566)
ธนาคารกลางของจีนประกาศเมื่อ 11 ส.ค.2558 ให้กำหนดอัตราอ้างอิงในแต่ละวัน เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนกับดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น-ลดลงไม่เกิน 2% จากอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลาตลาดปิด ในวันก่อนหน้า
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 20.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.2% (ปี 2565)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 146,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้า : เกินดุล 163,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 12,606 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
แรงงาน : 733.5 ล้านคน (ปี 2565)
อัตราการว่างงานในเขตเมือง : 5 %
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 0.7%
มูลค่าการส่งออก : 2,520,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
สินค้าส่งออกสำคัญ : โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์รวม รถยนต์ แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ เยอรมนี
มูลค่าการนำเข้า : 1,890,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมันดิบ วงจรอิเล็กทรอนิกส์รวม แร่เหล็ก ทองคำ ก๊าซปิโตรเลียม
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล
การทหาร พรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army-PLA) ผ่านคณะกรรมาธิการทหารกลาง ซึ่งมีเลขาธิการพรรคเป็นประธาน และผ่านกรมการเมืองของกองทัพมีกองกำลังประจำการขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2,035,000 นาย (ปี 2565)
1) กองทัพบก แบ่งเป็น 18 กรม กอง และหน่วยปฏิบัติการผสมที่แยกเป็นอิสระ โดยมีกำลังพลประมาณ 965,000 นาย ขีปนาวุธข้ามทวีป 140 ลูก ยานเกราะ 3,860 คัน รถถัง 6,740 คัน ปืนใหญ่ 13,420 กระบอก
2) กองทัพเรือ มีกองเรือหลัก ประกอบด้วย กองเรือทะเลเหนือ กองเรือทะเลตะวันออก และ กองเรือทะเลใต้ โดยมีกำลังพลประมาณ 260,000 นาย เรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ เรือดำน้ำติดขีปนาวุปโจมตี 57 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก 4 ลำ เรือฟริเกต/เรือพิฆาต 82 ลำ และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธ 40 ลำ
3) กองทัพอากาศ มีหน่วยบัญชาการกองทัพอากาศ ทั้ง 5 เขตยุทธศาสตร์ (Strategic Zone) มีกำลังพลประมาณ 395,000 นาย เครื่องบินขับไล่ 1,700 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิด 162 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 1,966 ลำ เฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดใหญ่/กลาง 383 ลำ ยานบินไร้คนขับ 15 ลำ และดาวเทียม 77 ดวง
4) กองกำลังขีปนาวุธ (Rocket Force) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการป้องปราม ทางยุทธศาสตร์ และพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โดยประจำการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือพิสัยกลาง (Dongfeng-26) มีกำลังพลประมาณ 120,000 นาย
5) กองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์ (Strategic Support Force) มีภารกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อวกาศ โครงสร้างพื้นฐาน และอิเล็กทรอนิกส์ มีกำลังพลประมาณ 145,000 นาย
6) กองกำลังตำรวจติดอาวุธ (Armed Police Force) มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ คุ้มครองบุคคลและสถานที่สำคัญ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย และร่วมกับกองทัพในยามสงคราม ทั้งนี้ กองทัพจีนสั่งการให้กองกำลังรักษาชายฝั่ง (Coast Guard) ซึ่งรับผิดชอบกิจการทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเป็นหน่วยงานภายใต้กองกำลังติดอาวุธตั้งแต่ ก.ค.2561 เป็นต้นไป มีกำลังพล 500,000 นาย
7) กองกำลังสำรอง (Reserve Force) มีหน้าที่จัดเตรียมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติภารกิจในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัจจุบัน กองทัพจีน
มีกองกำลังสำรองประมาณ 510,000 นาย และมีแผนลดกองกำลังสำรองลง 300,000 นาย ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเพิ่มกองกำลังในกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังขีปนาวุธ ตลอดจนปรับให้สอดคล้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นสงครามข้อมูลข่าวสารและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
จีนจัดตั้งฐานทัพที่จิบูติ เป็นฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกของจีน ประกอบด้วย ท่าเรือและ สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ มีทหารเรือประจำการประมาณ 26,000 นาย (ปี 2561) และวางแผนขยายเป็น 100,000 นาย โดยมีภารกิจสำคัญคือ การสนับสนุนการต่อต้านโจรสลัด การสร้างสันติภาพ การอพยพพลเรือน การปกป้องเส้นทางเดินทางทางทะเล การรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม นอกจากนี้ จีนยังส่งกองกำลังร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติประมาณ 2,500 นาย
งบประมาณทางทหารปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 7.2% มูลค่า 1.55 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 225,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 7.1% เมื่อปี 2565 ที่จัดสรรงบประมาณทางทหารไว้ที่ 1.45 ล้านล้านหยวน การเพิ่มงบประมาณทางทหารของจีนอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5% ของมูลค่า GDP ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 2% ของมูลค่า GDP เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามภายนอก ซึ่งจีนเน้นย้ำว่ากองทัพจำเป็นต้องฝึกฝนและเตรียมความพร้อมทางทหารมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการสู้รบในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับภารกิจทางทหารในทุกด้าน ซึ่งนักวิเคราะห์จีนเห็นว่า การเพิ่มงบประมาณทางทหารดังกล่าวจะเป็นหลักประกันว่า โครงการพัฒนาที่สำคัญของกองทัพจะไม่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 โดยจีนยังคงมุ่งพัฒนากองทัพให้ทันสมัย เพื่อปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ตามเป้าหมายกองทัพที่จะครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งกองทัพจีนในปี 2570
นโยบายทางทหารของจีนมุ่งเน้นการป้องกันประเทศเชิงรุกควบคู่กับหลักการพัฒนาอย่างสันติ โดยมุ่งเน้น 1) การพัฒนาทางทหารอย่างสันติ และการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร มีเป้าหมายเพื่อป้องกันตนเอง 2) สร้างกลไกความมั่นคงร่วมกันกับนานาประเทศ และกลไกความเชื่อมั่นทางทหารที่มีความยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ทั่วโลก 3) สนับสนุนและเข้าร่วมการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และส่งเสริมความร่วมมือกับกองทัพต่างชาติ ทั้งนี้ จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทหาร และจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายกำลังและการป้องกันชายฝั่งตะวันออกถึงแนวเขตทะเลลึก (Blue Water Navy Capability)
ยุทธศาสตร์การป้องกันเชิงรุกในสถานการณ์ใหม่ จีนให้ความสำคัญกับการเอาชนะสงครามข่าวสาร การจัดการกับปัญหาทางทะเล การควบคุมภาวะวิกฤตและการปกป้องอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดนและความมั่นคง นอกจากนั้น จีนให้ความสำคัญกับภารกิจในอวกาศและไซเบอร์มากขึ้น โดยจีนสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในอวกาศอย่างสันติ คัดค้านการแข่งขันสะสมอาวุธ และขยายความร่วมมือด้านอวกาศกับต่างประเทศ ส่วนด้านไซเบอร์ จีนมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการป้องกันสงครามอิเล็กทรอนิกส์และกองกำลังไซเบอร์ การป้องกันทางไซเบอร์ การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านไซเบอร์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ทางไซเบอร์ ทั้งนี้ จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม ด้วยการสร้างสถาบันวิจัยด้านควอนตัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อประยุกต์ใช้กับกองทัพจีน โดยเฉพาะการถอดรหัสลับและการสำรวจใต้ทะเลลึกของเรือดำน้ำ
จีนตั้งเป้าหมายจะเป็นกองทัพยุคใหม่ที่ทันสมัยภายในปี 2578 และยกระดับกองทัพจีนให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลกภายในกลางศตวรรษที่ 21 (ปี 2583-2593) โดยมุ่งการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนายุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาในกองทัพมากขึ้น ด้วยการรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 120 คน มาทำงานให้แก่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทหารของจีน (Chinese Academy of Military Science) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และเทคโนโลยีควอนตัม สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน Type 002 ที่จะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2558 จะแล้วเสร็จในครึ่งแรกของปี 2564 ล่าช้าจากกำหนดเดิมเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรค COVID-19 นอกจากนี้ จีนยังได้ทำพิธีวางกระดูกงูเพื่อต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 โดยทั้ง 2 ลำต่อโดยอู่ต่อเรือเจียงหนานในนครเซี่ยงไฮ้ ขณะเดียวกัน จีนวางแผนจะให้อู่ต่อเรือ ต้าเหลียนต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 5 ซึ่งจะเป็นลำแรกที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบัน จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 2 ลำ ได้แก่ เรือเหลียวหนิง (ซื้อเรือเก่าจากยูเครนมาปรับปรุง) และเรือชานตง (เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนต่อเอง) โดยยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนตั้งเป้าหมายว่า จะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำภายในปี 2578 เพื่อปฏิบัติภารกิจในทะเลเหลือง ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออกแห่งละ 2 ลำ
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงหลักของจีน คือ ภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม แบ่งเป็นภัยคุกคามภายในประเทศ ได้แก่ 1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากจีน ทั้งฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน และเขตปกครองตนเองซินเจียง 2) กลุ่มลัทธิฝ่าหลุนกง ซึ่งจีนถือเป็นลัทธิผิดกฎหมาย และ 3) ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติและโรคระบาด สำหรับภัยคุกคามจากภายนอก ได้แก่ 1) การละเมิดน่านน้ำและน่านฟ้าของจีน 2) นโยบายสกัดกั้นจีนในทุกมิติของสหรัฐฯ 3) การขยายบทบาททางทหารของญี่ปุ่น 4) ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และ 5) สถานการณ์วุ่นวายในตะวันออกกลาง รวมทั้งความไม่สงบในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ของจีนในต่างประเทศ ซึ่งอาจได้รับความเสี่ยงจากกลุ่มก่อการร้าย โจรสลัด และความไม่สงบในภูมิภาค
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ADB, AfDB, APEC, APT, ARF, ASEAN (คู่เจรจา), Arctic Council, BIS, BRICS, CDB, CICA, EAS, FAO, FATF, G-20,
G-24 (observer), G-5, G-77, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IOM, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IPU, ISO, ITSO, ITU, LAIA, MIGA, MINURSO, MINUSMA, MONUC, NAM (observer), NSG, OAS, OPCW, Pacific Alliance, PCA, PIF, SAARC, SCO, SICA, UN, UN Security Council (สมาชิกถาวร), UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNIFIL, UNITAR, UNMIL, UNMIS, UNMIT, UNOCI, UNTSO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO และ ZC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จีนมีแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเป็นแผนระยะ 10 ปีเพื่อยกระดับการผลิตที่เน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพด้วยนวัตกรรม โดยพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง 10 ประเภท ดังนี้ 1) อุตสาหกรรมสารสนเทศ 2) Numerical Control Robot และหุ่นยนต์ 3) อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอวกาศ 4) อุตสาหกรรมการต่อเรือขั้นสูง 5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ 6) อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ 7) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงานใหม่ 8) อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ 9) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ และ 10) เครื่องจักรการเกษตร ทั้งนี้ จีนมีเป้าหมายจะเป็นมหาอำนาจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลกภายในปี 2592 และมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ 5 ปี (ปี 2559-2563) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพในการแข่งขันและอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมขีดความสามารถทางนวัตกรรมให้อยู่ในระดับชั้นนำ 15 อันดับแรกของโลก
จีนจัดทำยุทธศาสตร์ China Standards 2035 ซึ่งเป็นแผนส่งเสริมให้จีนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยียุคใหม่ เช่น โครงข่ายโทรคมนาคม ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ปัจจุบันจีนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศค่อนข้างน้อย ทั้งที่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ระดับโลก
จีนมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ปล่อยดาวเทียมสื่อสารดวงแรกได้ (ปี 2527) เป็นประเทศที่ 3 ของโลกต่อจากรัสเซียและสหรัฐฯ ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ (ปี 2546) ปล่อยดาวเทียมเพื่อศึกษาเรื่องสสารมืด (dark matter satellite) (ธ.ค.2558) ดาวเทียมแรงโน้มถ่วงต่ำ (เม.ย.2559) ส่งดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศ (ส.ค.2559) ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์ขึ้นสู่ วงโคจร (มิ.ย.2560) นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาโครงการ BeiDou (BeiDou Navigation Satellite System-BDS) หรือ COMPASS ซึ่งเป็นระบบบอกตำแหน่งบนพื้นโลก เพื่อลดการพึ่งพาระบบ GPS ของสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติ โดยจีนประสบผลสำเร็จในการปล่อยจรวด Long March-3B ส่งดาวเทียม BeiDou ดวงที่ 55 ซึ่งเป็นดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทาง BeiDou ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ มิ.ย.2563 จากสถานีมณฑลเสฉวน ส่งผลให้ระบบดาวเทียมนำทางดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในระดับโลก ทัดเทียมกับระบบ GPS ของสหรัฐฯ GLONASS ของรัสเซีย และ Galileo ของสหภาพยุโรป
ปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 20 ปี การบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยจีนส่งยานอวกาศเสินโจว-5 พร้อมนักบินอวกาศเป็นครั้งแรก (เป็นประเทศที่ 3 ของโลก) เมื่อ ต.ค.2546 ส่งนักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2551 ยานอวกาศเสินโจว-8 เชื่อมต่อกับห้องปฏิบัติการอวกาศ เทียนกง-1 สำเร็จเมื่อ พ.ย.2554 ยานอวกาศเสินโจว-9 ประสบความสำเร็จในการส่ง ทั้งนักบินอวกาศและเครื่องอุปกรณ์ไป-กลับจากภาคพื้นสู่ยานอวกาศที่บินในวงโคจรเป็นครั้งแรกเมื่อ มิ.ย.2555 และเมื่อปี 2556 จีนประสบความสำเร็จในการบินอวกาศเชิงประยุกต์ โดยส่งนักบินอวกาศด้วยยานอวกาศเสินโจว-10 ไปทำงานในห้องปฏิบัติการอวกาศแห่งแรกของจีน และยานเสินโจว-13 ส่งนักบินอวกาศจีนปฏิบัติงานในอวกาศนาน 6 เดือนเมื่อ ต.ค.2564 และส่งยานเสินโจว-14 พร้อมนักบินอวกาศ เพื่อผลัดเปลี่ยนภารกิจกับคณะก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ย.2565 ซึ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมที่สถานีอวกาศของจีนจะมีนักบินอวกาศประจำการระยะยาว ทั้งนี้ จีนได้ส่งนักบินอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจรวม 30 ครั้ง และมีนักบินอวกาศจากหลายประเทศสมัครเข้าร่วมปฏิบัติงานที่สถานีอวกาศเทียนกงของจีนแล้ว ทั้งนี้ จีนมีแผนสร้างสถานีอวกาศเพื่อยกระดับความเจริญก้าวหน้าทางอวกาศ โดยมีเป้าหมายจะเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศในปี 2573
เทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ จีนส่งดาวเทียม Long March-3B เข้าสู่วงโคจรเมื่อ 17 ต.ค.2562 เพื่อทดสอบเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Multi-Band และความเร็วสูง และพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 5G (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด 10 กิกะไบต์/วินาที) ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบระบบ โดยจีนตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานเทคโนโลยี 5G รายใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2568 ปัจจุบัน จีนมีสถานีฐาน 5G 2.937 ล้านสถานี และผู้ใช้งานโทรศัพท์ระบบ 5G จำนวน 676 ล้านราย (มิ.ย.2566)
เทคโนโลยีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ จีนประสบปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่หลายแห่ง จึงกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษอย่างเข้มงวด เช่น การควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซไอเสียจากโรงงานเหล็ก และโรงงานถ่านหิน การติดตั้งดาวเทียมสำรวจระยะไกล การใช้อากาศยานไร้คนขับตรวจจับการปล่อยก๊าซไอเสียประมาณ 1,000 แห่ง ใน 25 เมืองใหญ่ เพื่อสังเกตทิศทางการแพร่กระจายของ PM 2.5 และแหล่งมลพิษอื่น ๆ การกำหนดแผนปฏิบัติการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลในประเทศภายในปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรของจีน โดยมีเป้าหมายจะเป็นประเทศที่มีการใช้เชื้อเพลิง เอทานอลมากที่สุดในโลกภายในปี 2568 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามสนธิสัญญาปารีส
การขนส่งและโทรคมนาคม ทางบกจีนพัฒนาถนนระยะทาง 4,577,300 กม. ขยายสัดส่วนเส้นทางถนนกว้างขึ้นและครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาค ทางรถไฟระยะทาง 191,270 กม. มีรถไฟความเร็วสูงสาย ตอ.-ตต. 8 เส้นทาง และสายเหนือ-ใต้ 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 35,300 กม. (ส.ค.2566) คิดเป็น 60% ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของโลก และครอบคลุม 95% ของเมืองที่มีประชากรเกิน 500,000 คนในจีน โดยคาดว่าจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 38,000 กม. ในปี 2568 ปัจจุบัน จีนมุ่งเน้นการส่งออกรถไฟความเร็วสูงไปยังต่างประเทศ ส่วนทางน้ำมีการปรับปรุงเส้นทางขนส่งทางน้ำหลายแห่ง เช่น การเดินเรือน้ำลึกปากแม่น้ำแยงซีระยะที่ 3 เส้นทางเดินเรือออกทะเลที่ปากแม่น้ำจูเจียง และการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ 180 แห่ง ที่รองรับเรือขนาด 10,000 ตัน ทางอากาศมีสนามบินพาณิชย์ 210 แห่ง เมืองท่าสำคัญ อาทิ Dalian, Ningbo, Qingdao, Qinhuangdao, Shanghai, Shenzhen และ Tianjin ด้านโทรคมนาคมมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1,524.33 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์พื้นฐาน 206.624 ล้านเลขหมาย และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกถึง 1.079 ล้านคน (ส.ค.2566) หรือ 76% ของจำนวนประชากร รหัสอินเทอร์เน็ต คือ .cn
การเดินทาง กรุงเทพ-กรุงปักกิ่ง ระยะเวลาในการบิน 4 ชม. 35 นาที สายการบินของไทยที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ การบินไทย สายการบินของจีนที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ Air China, Hainan Airlines และ Shanghai Airlines สายการบินต่างชาติที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ Ural Airlines เวลาเร็วกว่าไทย 1 ชม.
การเข้าเมืองที่กรุงปักกิ่ง
– ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาต้องขอรับการตรวจลงตราจาก สอท./สกญ.จีนในประเภทที่ถูกต้อง
– ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการเดินทางเข้าจีนได้ไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา
– ผู้ที่เดินทางผ่านจีนไปประเทศที่ 3 ไม่จำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตรา หากรอเปลี่ยนเครื่องบิน ไม่เกิน 24 ชม.
การเดินทาง : กรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ ระยะเวลาในการบิน 4 ชม. 20 นาที สายการบินของไทยที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย สายการบินของจีนที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ China Eastern Airlines, Shanghai Airlines, Junyao Airlines และ Spring Airlines
การเข้าเมืองที่เซี่ยงไฮ้
– ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทยสามารถเดินทางเข้าจีนได้เป็นเวลา 30 วัน โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา หากถือหนังสือเดินทางธรรมดาจะต้องขอรับการตรวจลงตราที่ สอท. หรือ สกญ.จีนในไทยก่อน
การเดินทาง : กรุงเทพฯ-คุนหมิงระยะเวลาในการบิน 2 ชม. 10 นาที สายการบินของไทยที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย สายการบินของจีนที่มีเที่ยวบินตรง ได้แก่ China Eastern Airlines, Shandong Airlines และ Lucky Air
การเข้าเมืองที่คุนหมิง
– คนไทยที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาควรขอรับการตรวจลงตราก่อนที่จะเดินทางเข้าจีนที่ สอท.จีน/กรุงเทพฯ สกญ.จีน/เชียงใหม่ หรือที่สงขลา (อำเภอหาดใหญ่) การขอรับการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ใช้เวลาดำเนินการ 3 วันทำการ สำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางราชการและทูตได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา โดยสามารถอยู่ในจีนได้ไม่เกิน 30 วัน
– การขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) ที่สนามบินคุนหมิงยังไม่สะดวก มีกระบวนการขั้นตอนยุ่งยากและต้องดำเนินการล่วงหน้าประมาณ 4-5 วันก่อนเดินทาง ขณะที่ด่าน ตม. เซินเจิ้น จีนได้ยกเลิกการตรวจลงตราให้ไทยเมื่อ ส.ค.2559 ส่วนที่ด่านสากลบ่อหาร เขตการปกครองตนเองสิบสองปันนา สามารถขอรับการตรวจลงตราได้ตามปกติ
ความสัมพันธ์ไทย-จีน
นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ก.ค.2518 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคีในรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ที่ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การลงทุน การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การทหารที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีในหลายระดับ ในระดับสูง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 1 ต.ค.2562 ในฐานะที่ทรงสร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือ กับจีน และ ในระดับรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ระหว่าง 26-27 เม.ย.2562 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างกันของ BRI กับเส้นทางรถไฟไทย-จีน และ Greater Bay Area กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor-EEC) นอกจากนี้ ไทย-จีน-ลาว ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ร่วมกัน รวมทั้งไทยสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคกับจีน ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity-MPAC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy-ACMECS) กับจีน
ปี 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นรม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ระหว่าง 17-18 ต.ค.2566 ทั้งสองฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านและมิตรภาพที่ดี สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยยึดผลประโยชน์หลักของทั้งสองฝ่าย จะอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในสาขาต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด 5G และจะร่วมมือกันปราบปรามการพนันออนไลน์ การฉ้อโกงทางโทรศัพท์ ส่งผู้หลบหนีคดีทุจริตกลับประเทศ และเรียกคืนรายได้ผิดกฎหมายของอาชญากร กับทั้งมีการลงนามในเอกสารความร่วมมือหลายฉบับในประเด็นการเพิ่มความร่วมมือภายใต้กรอบความริเริ่มแถบและเส้นทาง การต่างประเทศ เศรษฐกิจดิจิทัล ศุลกากร ภาพยนตร์ และวัฒนธรรม
ในห้วง มค.-ก.ย.2566 จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 78,916 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.3% การส่งออกมีมูลค่า 26,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.26% การนำเข้ามีมูลค่า 52,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.82% สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปจีน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง อัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมาไทย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
ด้านการท่องเที่ยว ห้วง ม.ค.-ต.ค.2566 นักท่องเที่ยวจีนยังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากเป็นอันดับ 2
ประมาณ 2,403,226 คน โดยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังไทยยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้นักท่องเที่ยวจีน ตั้งแต่ 25 ก.ย.2566 ถึง 29 ก.พ.2567 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในไทยยังคงตัว เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวด้วยตนเองและการใช้จ่ายเชิงคุณภาพมากขึ้น
ข้อตกลงที่สำคัญ ข้อตกลงทางการค้า (31 มี.ค.2521) พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-จีน (9 พ.ย.2521) ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (12 มี.ค.2528) ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย1-จีน (28 ส.ค.2544) ความตกลง เร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ไทย-จีน (18 มิ.ย.2546) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (18 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ (ต.ค.2546)
ข้อตกลงของภาคเอกชน ที่สำคัญได้แก่ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (27 ส.ค.2536) ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและวิชาการระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้ามณฑลเหอเป่ย (28 มี.ค.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-จีน และสภาธุรกิจจีน-ไทย (28 ส.ค.2544) แผนปฏิบัติการร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 2 (ปี 2555-2559) การขยายความร่วมมือภายใต้ทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า (ปี 2555)
ปี 2556 การลงนามความตกลงภาครัฐ 6 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วย Governmental Cooperation Project on the Infrastructure Development in Thailand in Connection with Agricultural Products Payment 2) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือ ภายใต้โครงการหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน 3) แผนปฏิบัติการ 5 ปีสำหรับความร่วมมือทางทะเลไทย-จีน 4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา 5) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน และ 6) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยและธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน
ปี 2557 ความร่วมมือ 4 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย 2) ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท 3) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน และ 4) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด (Bank of China Limited) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ
ปี 2558 และปี 2559 บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทััลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับภาคเอกชนจีน 5 ฉบับ เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ 1) บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย และเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง 2) บันทึกข้อตกลงเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 3) ความร่วมมือในการพัฒนาสนามทดสอบและพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงต้น 4) ความร่วมมือพหุภาคีในการพัฒนา EEC Startup Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และ 5) ความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันไอโอทีและดิจิทัลพาร์คประเทศไทย บันทึกความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน
ปี 2562 และปี 2563 การลงนามสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
ปี 2565 รัฐบาลไทยและจีนประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงผู้นำจีนเยือนไทย จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2565-2569) 2) แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ 5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปี 2566 ที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน 2) พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านการสัตวแพทย์และการปกป้องพืช 3) เอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ 4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคงภายใน เช่น ผลต่อเนื่องจากการแต่งตั้งและโยกย้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง การต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองตนเองซินเจียงและทิเบต ปัญหาการเมืองและสังคมในฮ่องกง
2) สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากความตึงเครียดจีน-สหรัฐฯ ผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับต่างประเทศ สถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง การแก้ไขปัญหาความยากจน
3) บทบาทของจีนด้านการเมืองระหว่างประเทศในฐานะของผู้ไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายภูมิภาค อาทิ คาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
4) ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้
5) การผลักดันความร่วมมือรอบด้านผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ของจีน
6) ความสัมพันธ์จีนกับมหาอำนาจอื่น เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย สหภาพยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย
7) ยุทธศาสตร์และการเป็นมหาอำนาจทางทะเลของจีน โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ ทั้งทางบกและทางทะเล BRI การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ
8) การขยายอิทธิพลทางการทหารของจีน
9) การแข่งขันอิทธิพลกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกา และภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
10) ปัญหาความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน
11) การขยาย Soft power ของจีนในภูมิภาคต่าง ๆ
12) การแก้ไขกฎหมายที่อาจกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน