สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
Democratic Republic of Timor-Leste
เมืองหลวง ดิลี
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนหมู่เกาะซุนดาน้อย (Lesser Sundar) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ดินแดน 3 ส่วน โดยดินแดนส่วนแรกเป็นเกาะติมอร์ด้านตะวันออก ส่วนที่สองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะติมอร์เรียกว่าเขต Oecussi-Ambeno และส่วนที่สาม ประกอบด้วย หมู่เกาะ 2 แห่ง คือ หมู่เกาะ Palau Atauro และ Pulau Jaco ในทะเลอราฟูรา มีพื้นที่ประมาณ 14,874 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบอุมไบ (Ombai Strait) และช่องแคบเวตาร์ (Wetar Strait)
ทิศใต้ ติดกับทะเลติมอร์
ทิศตะวันตก ติดกับ จ.ติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย
ทิศตะวันออก ติดกับ จ.นูซาเติงการาตะวันออกของอินโดนีเซีย
ภูมิประเทศ มีที่ราบชายฝั่งและตอนกลางเป็นภูเขาสูงจำนวนมาก
วันชาติ 20 พ.ค.
นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา
(José Ramos-Horta)
(ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต)
ประชากร 1,476,042 คน (ปี 2566) มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจาก Malayo-Polynesian และ Melanesian/Papuan มีชนกลุ่มน้อยชาวจีน อัตราส่วนประชากรจำแนกตาม อายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 39.05% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 56.61% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.34% อายุขัยโดยเฉลี่ย 70.21 ปี เพศชาย 68.56 ปี เพศหญิง 71.98 ปี (ปี 2566)
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 97.6% นิกายโปรเตสแตนต์ 2% อิสลาม 0.2% และอื่น ๆ 0.2%
ภาษา ภาษาเตตุมและโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษเป็นภาษาติดต่องาน และมีภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 32 ภาษาที่ใช้กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ เตตุม (Tetum) กาโลเล (Galole) มัมแบ (Mambae) และเกมัก (Kemak)
การศึกษา รัฐบาลติมอร์–เลสเตมีเป้าหมายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยพัฒนาระบบการศึกษาทั้งด้านการบริหาร โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ระหว่างปี 2554-2573 ขณะที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDevelopment Programme–UNDP) สนับสนุนความช่วยเหลือด้านการวางแผนและพัฒนาระบบการศึกษา ระบบการศึกษาของติมอร์-เลสเตแบ่งเป็น ระดับก่อนประถมศึกษา 2 ปี ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษา 3 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี อัตราการรู้หนังสือ 70% (ปี 2563)งบประมาณด้านการศึกษา 3% ของ GDP (ปี2564)
การก่อตั้งประเทศ เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และได้ประกาศอิสรภาพจากโปรตุเกสเมื่อ 28 พ.ย.2518 หลังจากนั้นเพียง 9 วันก็ถูกอินโดนีเซียยึดครองและผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซียเมื่อปี 2519 ต่อมามีการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช โดยมีนายโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา และนายซานานา กุสเมา เป็นผู้นำ จนกระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้มีการลงประชามติเมื่อ 30 ส.ค.2542 โดยชาวติมอร์ตะวันออกกว่า 80% ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช หลังจากนั้นเกิดการต่อสู้ภายในประเทศและมีเหตุรุนแรงระหว่างกลุ่มทหารที่นิยมอินโดนีเซียกับกลุ่มที่เรียกร้องเอกราช ทำให้ UN จัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor-Leste หรือ INTERFET) เข้าไปรักษาสันติภาพเมื่อ 15 ก.ย.2542 จากนั้นสถานการณ์ จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติและประกาศเอกราชเมื่อ 20 พ.ค.2545 ใช้ชื่อว่าติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส
การเมือง
ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมาย ยุบสภา และประกาศการเลือกตั้งใหม่ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา รับตำแหน่งเมื่อ พ.ค.2565 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดจัดใน เม.ย.2570
ฝ่ายบริหาร : นรม. เป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภา นรม.คนปัจจุบัน ได้แก่ นายซานานา กุสเมา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ก.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำนวน 65 ที่นั่ง วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ผลการเลือกตั้งเมื่อ 23 พ.ค.2566 พรรค CNRT ชนะการเลือกตั้งจำนวน 31 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค Democratic Party (PD) จำนวน 6 ที่นั่ง พรรคอื่น ๆ ได้แก่ พรรค Revolutionary Front for an Independent East Timor (FRETILIN) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า จำนวน 19 ที่นั่ง พรรค KHUNTO จำนวน 5 ที่นั่ง และพรรค PLP จำนวน 4 ที่นั่ง การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในปี 2571
ฝ่ายตุลาการ : รัฐธรรมนูญติมอร์-เลสเตระบุว่า ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติ ศาลอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนศาลฎีกา เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรด้านกฎหมายและงบประมาณในการพัฒนาระบบศาล
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรคการเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ พรรค National Congress for Timorese Reconstruction (CNRT) พรรคFrente Revolucionária do Timor-Leste Independente (Fretilin) พรรค People’s Liberation Party (PLP) พรรค Partido Democrático (PD) และพรรค Khunto
การทหารกองทัพติมอร์-เลสเต (Forças de Defesa de Timor Leste or Falintil-FDTL หรือ F-FDTL) มีกำลังพล 2,280 นาย ไม่มีกำลังสำรอง แบ่งเป็น ทบ. 2,200 นาย และ ทร. 80 นาย งบประมาณทางทหาร ในปี 2565 จำนวน 44.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์สำคัญ : อาวุธส่วนใหญ่เป็นอาวุธประจำกาย อาทิ ปืนไรเฟิล M16 จำนวน 1,560 กระบอก ปืนไรเฟิล Sniper 8 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด M203 75 เครื่อง เรือตรวจการณ์ 7 ลำ ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากจีน บราซิล และสหรัฐฯ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น ADB, ARF, CPLP, FAO, G-77, ILO, IMF,Interpol, UN, UNCTAD, UNESCO และ WHO
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ติมอร์-เลสเตจัดตั้งศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ ตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาติมอร์-เลสเต ระหว่างปี 2554-2573
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยาน 4 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติดิลี (Presidente Nicolau Lobato Airport) หรือ Comoro Airport เป็นสนามบินหลัก และท่าอากาศยานอื่น ๆ อีก 3 แห่ง มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 8 แห่ง และท่าเรือดิลี ซึ่งเป็นท่าเรือโดยสารและขนส่งที่สำคัญของประเทศ ถนนมีความยาว 6,040 กม.โทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน 1,900 เลขหมาย (ปี 2564) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1.4 ล้านเลขหมาย (ปี 2564) รหัสโทรศัพท์ +670 สถานีวิทยุแห่งชาติ 1 สถานี สถานีวิทยุของโบสถ์คริสต์ 2 สถานี สถานีวิทยุชุมชน 20 สถานี สถานีวิทยุ FM 2-3 สถานี และสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสถานีที่มีการโฆษณาเพื่อการค้า 1 สถานี ออกอากาศเฉพาะในกรุงดิลี จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 507,000 คน (ปี 2564) หนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาล 3 ฉบับ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หลายฉบับ สื่อออนไลน์เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2549 แต่มีข้อจำกัดในการให้บริการนอกพื้นที่กรุงดิลี
การเดินทาง สายการบินไทย ไม่มีเที่ยวบินตรงไปดิลี ต้องใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์-ดิลี หรือ กรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ จ.บาหลี อินโดนีเซีย เพื่อต่อเครื่องบินไปท่าอากาศยานนานาชาติดิลี เวลาที่ดิลีเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชม. นักท่องเที่ยวไทยต้องขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เว็บไซต์ท่องเที่ยวติมอร์-เลสเต www.mtci-timorleste.com/en/
ความสัมพันธ์ไทยกับติมอร์-เลสเต
ไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์-เลสเต เมื่อ 20 พ.ค.2545 ต่อจากจีนและนอร์เวย์ นอกจากนี้ ไทยเป็นหนึ่งในชาติหลักที่ส่งทหารเข้าไปร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติช่วงหลังการลงประชามติระหว่างปี 2542-2545ถึง 1,600 คน
ไทยมีโครงการด้านการพัฒนาและความร่วมมือด้านการศึกษากับติมอร์–เลสเตหลายโครงการ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สร้างโรงเรียน 6 แห่ง พร้อมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านต้นแบบ 3 แห่ง โดยมีการอบรมบุคลากรในไทย โครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ส่งอาสาสมัครไทยเข้าไปทำงานในโครงการหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในวาระครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต การมอบทุนการศึกษาบัณฑิตศึกษา20 ทุน โดยเน้นด้านการค้าความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคาทอลิก โดยส่ง นศ.มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ด้านการค้า ปี 2565 ติมอร์–เลสเตเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทยในอาเซียน อันดับ 129 ในตลาดโลก มูลค่าการค้า 1,788 ล้านบาท ไทยส่งออก 511 ล้านบาท และนำเข้า 1,277 ล้านบาท ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 766 ล้านบาท และห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,291ล้านบาท ไทยส่งออก 1,290.53 ล้านบาท และนำเข้า 357,207 บาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,290.17 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้าเกษตรกรรม สินค้านำเข้าจากติมอร์-เลสเต : น้ำมันดิบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบข้อตกลงสำคัญ : ไทยและติมอร์-เลสเตจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการเมื่อ พ.ค.2560 ส่วนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ติมอร์-เลสเตต้องการให้ไทยสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเกษตร ประมง การพัฒนาแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชาเมื่อปี 2565 เห็นชอบในหลักการให้รับติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกประเทศที่ 11 โดยในช่วงแรกจะอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ อาเซียนได้วางแผนการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ในการช่วยเตรียมพร้อมก่อนเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ นับเป็นความสำเร็จ หลังจากยื่นสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน เมื่อปี 2554
การพัฒนาแหล่งพลังงานหรือรายได้แทนแหล่งน้ำมันบายู–อูนดัน ซึ่งอาจจะหมดลงในปี2566 โดยรายได้จากการขายน้ำมันจะนำเข้าสู่กองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นที่มาหลักของงบประมาณประจำปีของรัฐบาล
การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต โดยเหยื่อการค้ามนุษย์มีทั้งเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย เกิดขึ้นในรูปแบบของการล่อลวง เอาเปรียบ ลักพาตัว หรือซื้อตัวมาจากครอบครัว โดยบุคคลเหล่านี้จะถูกบังคับใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง และเหมืองแร่ บางส่วนถูกนำไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านหรือตามสถานที่ก่อสร้างในสภาพเยี่ยงทาส และบางส่วนถูกขายไปเพื่อบริการทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น การค้ายาเสพติด โรคติดต่อร้ายแรง หรืออาชญากรรมข้ามชาติส่งผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้เยาว์ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ
เศรษฐกิจ ติมอร์-เลสเตพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 95% ของรายได้ทั้งหมด ติมอร์–เลสเตลงนามข้อตกลงกับออสเตรเลียเมื่อ มี.ค.2561 เรื่องการแบ่งปันรายได้จากแหล่งพลังงาน Greater Sunrise เพื่อทดแทนรายได้จากแหล่งน้ำมันบายู-อูนดัน ซึ่งอาจจะหมดลงในปี 2566 แต่โครงการไม่มีความคืบหน้า เพราะยังไม่บรรลุข้อตกลงว่า จะวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อนำไปแปรรูปที่ติมอร์-เลสเต หรือส่งไปยังเมืองดาร์วินของออสเตรเลียที่มีความพร้อมในการแปรรูป ขณะที่รัฐบาลพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมุ่งส่งเสริมการส่งออกเมล็ดกาแฟ การท่องเที่ยว และการเกษตร แต่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงตลาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารโลกจัดให้ติมอร์-เลสเตเป็นประเทศที่ไม่มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
สกุลเงิน : ยังไม่มีสกุลเงินของตนเอง ปัจจุบัน ใช้ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และรูเปียะฮ์ของอินโดนีเซีย
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 3,160ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -17.5%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,793 ดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : 1,137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ กาแฟ ผัก และเศษเหล็ก
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ไต้หวัน และมาเลเซีย
มูลค่าการนำเข้า : 786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ปิโตรเลียมกลั่น รถยนต์ ปูนซีเมนต์ รถส่งของ และรถจักรยานยนต์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ