สาธารณรัฐฝรั่งเศส
French Republic
เมืองหลวง ปารีส
ที่ตั้ง ทางตะวันตกของทวีปยุโรป ติดทะเล 2 ด้าน คือด้านตะวันตกติดกับอ่าวบิสเคย์และช่องแคบอังกฤษ ด้านใต้ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยอยู่ระหว่างอิตาลีและสเปน ถูกขนานนามตามรูปทรงของประเทศว่าแผ่นดินหกเหลี่ยม มีพื้นที่ 643,801 ตร.กม. (รวมดินแดนโพ้นทะเล) เฉพาะในยุโรป 551,500 ตร.กม. (ขนาดใกล้เคียงกับไทยแต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย) ขนาดใหญ่อันดับที่ 44 ของโลกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก (มีพื้นที่หนึ่งในห้าของประเทศในสหภาพยุโรป)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบอังกฤษ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก
ทิศตะวันออก ติดกับเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศใต้ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันดอร์รา และสเปน
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบทางเหนือและตะวันตกเป็นเนินเขา ส่วนที่เหลือเป็นเทือกเขาสูง คือเทือกเขาพีเรนีสทางใต้และเทือกเขาแอลป์ทางตะวันออก มีจุดสูงสุดในทวีปยุโรปตะวันตก คือ ยอดเขามงบล็อง (Mont Blanc) บนเทือกเขาแอลป์บริเวณชายแดนฝรั่งเศส และอิตาลี
ภูมิอากาศ โดยทั่วไปอากาศเย็นในฤดูหนาว และอบอุ่นในฤดูร้อน บริเวณทางใต้ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีอากาศอบอุ่นกว่า บางครั้งอากาศหนาวแห้งด้วยอิทธิพลของลมเหนือ (Mistral) ที่พัดจากทางเหนือสู่ทางใต้
ศาสนา รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพการนับถือศาสนาและไม่กำหนดศาสนาประจำชาติ แต่อาจแบ่งเป็นศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (47%) อิสลาม (4%) พุทธ (2%) คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (2%) คริสต์นิกายออทอดอกซ์ (1%) ยิว (1%) ศาสนาอื่น ๆ (1%) ไม่นับถือศาสนา (33%) ไม่ระบุข้อมูล (9%)
ภาษา ภาษาราชการ ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส
การศึกษา งบประมาณด้านการศึกษา 5.5% ของ GDP
วันชาติ 14 ก.ค. ของทุกปี (บางประเทศเรียกว่าวันบัสตีย์ หรือ Bastille Day) วันดังกล่าวถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่างานเฉลิมฉลองแห่งชาติ (La Fête Nationale) หรือเรียกโดยทั่วไป Le quatorze juillet แปลว่า วันที่ 14 ก.ค. เป็นการรำลึกถึงวันเฉลิมฉลองแห่งสหพันธรัฐ (Fête de la Fédération) เมื่อปี 2333 ซึ่งตรงกับวันครบรอบหนึ่งปีการทลายคุกบัสตีย์ เมื่อ 14 ก.ค.2532 ในวันนี้จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ มีการเดินขบวนสวนสนาม การกล่าวปราศรัย การแสดงดนตรี และการจุดพลุ
นายเอ็มมานูเอล มาครง
Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron
(ประธานาธิบดีฝรั่งเศส)
ประชากร 68,521,974 ล้านคน (ต.ค.2566)
รายละเอียดประชากร
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่ให้จัดรวบรวมข้อมูลประชาชนด้วยการแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว ทำให้ไม่มีการสำรวจตัวเลขดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศส ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ เนื่องจากประวัติศาสตร์และการอพยพจากประเทศอาณานิคม เช่น ชาวเคลต์สลาฟแอฟริกาเหนือ อินโดจีน ชนกลุ่มน้อยบาสก์ ลาติน ส่วนอาณาเขตโพ้นทะเลของฝรั่งเศสเป็นคนผิวดำ ผิวขาวลูกครึ่งระหว่างผิวขาวกับผิวดำ (Mulatto) อินเดีย จีน
อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 18.04% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 60.53% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 21.42% อายุขัยเฉลี่ย 82.79 ปี เพศชาย 79.75 ปี เพศหญิง 85.97 ปี อัตราการเกิด 11.56 คนต่อประชากร 1,000 คนอัตราการตาย 9.51 คนต่อประชากร 1,000 คน
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยใช้ระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่า 50%) หากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ให้นำผู้สมัครที่ได้ลำดับ 1 และ 2 มาเลือกตั้งในรอบที่สอง มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเอ็มมานูเอล มาครง สังกัดพรรค La République En Marche! หรือ Republic on the Move (REM) ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 1 เมื่อ 14 พ.ค.2560 และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ 7 พ.ค.2565 ภายหลังชนะคู่แข่ง คือ นาง Marie Le Pen จากพรรค National Rally แนวคิดขวาจัด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีแต่งตั้ง นรม. และ ครม. โดยต้องมีเสียงรับรองจากรัฐสภา นรม.มีบทบาทเป็นหัวหน้ารัฐบาล นรม.คนปัจจุบัน คือ นาง Élisabeth Borne (ดำรงตำแหน่ง 16 พ.ค.2565)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา ได้แก่ 1) วุฒิสภา สมาชิก 348 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมณฑลโพ้นทะเลและชุมชนฝรั่งเศสในต่างประเทศ มีวาระ 6 ปี โดยจัดให้มีการเลือกตั้งกึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร สมาชิก 577 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงวาระ 5 ปี ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 12 และ 19 มิ.ย.2565 พรรคที่ได้สัดส่วนที่นั่งในสภามากที่สุด ได้แก่ 1) พรรค Ensemble (ENS) ได้ 245 ที่นั่ง 2) พรรค New Ecologic and Social People’s Union (NUPES) ได้ 131 ที่นั่ง 3) พรรค National Rally (RN) ได้ 89 ที่นั่ง และ 4) พรรค Union of the Right and Centre (UDC) ได้ 64 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดในปี 2570
วุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างจำกัด กรณีที่ทั้งสองสภาไม่สามารถตกลงกันได้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจชี้ขาดและอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม. โดยปกติสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงของรัฐบาลและสามารถกำหนด การตัดสินใจของรัฐบาลได้
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย 1) ศาลฎีกา (Supreme Court of Appeals or Cour de Cassation)คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยคณะกรรมการตุลาการ (Conseil Supérieur de la Magistrature) เป็นผู้เสนอรายชื่อ 2) ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Council or Conseil Constitutionnel) ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ท่านละ 3 คน และ 3) ศาลทั่วไป (Council of State or Conseil d’État)
การแบ่งเขตการปกครองประกอบด้วย 13 แคว้น (Région) กับ 96 จังหวัด (Département) ส่วนดินแดนโพ้นทะเลมีจำนวน 5 แคว้น ได้แก่ แคว้น Guadeloupe และแคว้น Martinique ในทะเลแคริบเบียนมหาสมุทรแอตแลนติกภูมิภาคอเมริกากลาง แคว้น Guyane หรือ French Guiana มหาสมุทรแอตแลนติกภูมิภาคอเมริกาใต้ แคว้น Mayotte และแคว้น Réunion ในมหาสมุทรอินเดียภูมิภาคแอฟริกาใต้กับอีก 5 จังหวัด (แคว้นละ 1 จังหวัด) นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีดินแดนโพ้นทะเลในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เขตปกครองโพ้นทะเล (Collectivités d’outre-mer-COM) ได้แก่ French Polynesia, Saint Pierre and Miquelon, Wallis and Futuna, Saint Martin และ Saint Bartelemy ดินแดนที่มีสถานะเป็นอาณานิคมพิเศษ (Collectivité sui generis) ได้แก่ Nouvelle Calédonie (มีสถานะเป็นชุมชน) Clipperton และ French Southern and Antarctic Territories
พรรคการเมืองสำคัญ : 1) พรรค La République En Marche! หรือ Republic on the Move (REM) กลุ่มแนวคิดการเมืองสายกลางก่อตั้งโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน 2) พรรค Democratic Movement หรือ MoDEM พรรคการเมืองสายกลางและเป็นพันธมิตรกับพรรค REM 3) พรรค Les Républicains หรือ Republican แนวคิดการเมืองขวากลาง และ 4) พรรค National Rally แนวขวาจัด
กลุ่มกดดันทางการเมือง : กลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ได้แก่ CFDT (สหภาพแรงงานที่มีแนวคิดซ้ายมีสมาชิกประมาณ 875,000 คน) CFE-CGC (สหภาพสำหรับผู้ทำงานในสำนักงาน/บริษัทมีสมาชิกประมาณ 140,000 คน) CFTC (สหภาพแรงงานเอกชนก่อตั้งโดยกลุ่มคนงานที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีสมาชิกประมาณ 142,000 คน) CGT (สหภาพแรงงานเก่าแก่ มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ มีสมาชิกประมาณ 710,000 คน) FO (สหภาพแรงงานภาคเอกชนมีสมาชิกประมาณ 300,000 คน) และ MEDEF (แนวร่วมรัฐวิสาหกิจของฝรั่งเศสมีสมาชิกประมาณ 750,000 คน) นอกจากนี้ ยังมีสหภาพแรงงานในดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสด้วย
เศรษฐกิจ มีขนาดเศรษฐกิจปี 2566 ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษและอินเดีย และอันดับ 3 ในยุโรป รองจากเยอรมนี และสหราชอาณาจักร
ผลผลิตการเกษตร : ข้าวสาลี ข้าวโพด ธัญญพืช มันฝรั่ง องุ่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์นม และปลา
อุตสาหกรรมหลัก : การบิน เกษตรแปรรูป เคมีภัณฑ์ สินค้าแฟชั่น เวชภัณฑ์ ยานยนต์ โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเหล็ก
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (EUR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.06 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.43 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 3,050,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 46,320 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 30.40 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 7.4%
อัตราเงินเฟ้อ : 4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 37,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 53,862.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รถยนต์และยานพาหนะ พาหนะขนส่ง เครื่องจักรไฟฟห้า เภสัชภัณฑ์ เครื่องบิน ชิ้นส่วนบอลลูนและเครื่องบิน เครื่องยนต์ไอพ่น ชิ้นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางและประทินโฉม เลนส์ กระเป๋า ยาปราบศัตรูพืช ไวน์และสุรา แป้งสาลี น้ำมันปิโตรเลียม
มูลค่าการนำเข้า : 62,553.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : รถยนต์และพาหนะขนส่ง เครื่องจักรและชิ้นส่วน น้ำมันดิบ เภสัชภัณฑ์ พลาสติกและชิ้นส่วนเลนส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องเรือน เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม
คู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี อีตาลี สหรัฐฯ เบลเยี่ยม สเปน เนเธอร์แลนด์ และจีน
การทหาร มีความสำคัญในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC และครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย) กองทัพติดตั้งยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าทันสมัยติดอันดับของโลก นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2562 ฝรั่งเศสเริ่มแสดงบทบาทด้านอวกาศเพิ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการป้องกันอวกาศ สังกัดกองทัพอากาศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยปกป้องดูแลและรักษาความปลอดภัยดาวเทียมสัญชาติฝรั่งเศสที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ
กองทัพฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 4 เหล่า ได้แก่ ทบ. ทร. ทอ. และ กกล.สารวัตรทหาร ซึ่งประกอบด้วย กกล.ตำรวจแห่งชาติ (National Gendarmerie) ปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารประจำการในพื้นที่ชนบทและเป็นเสมือนสารวัตรทหารของกองทัพฝรั่งเศส
ระบบการเกณฑ์ทหารเป็นไปโดยสมัครใจสำหรับทั้งบุรุษและสตรีที่มีอายุ 18-25 ปี ไม่มีระบบการบังคับเกณฑ์ทหารแต่มีข้อผูกพันต้องประจำการในกองทัพ 12 เดือน โดยสตรีปฏิบัติงานในหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการ
มีกำลังพลประจำการรวม 203,250 นาย (แยกเป็น ทบ. 114,700 นาย ทร. 34,700 นาย ทอ. 40,450 นาย จนท.อื่น ๆ 13,400 นาย และ กกล.สารวัตรทหารที่ประจำการ 100,500 นาย) นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรอง 41,050 นาย (แยกเป็น ทบ. 24,900 นาย ทร. 6,250 นาย ทอ. 5,750 นาย จนท.อื่น ๆ 4,150 นาย และ กกล.สารวัตรทหารสำรอง 30,300 นาย) งบประมาณทางทหาร 1.9% ของ GDP
ฝรั่งเศสเป็น 1 ใน 2 ประเทศมหาอำนาจในยุโรปที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง (นอกเหนือจาก
สหราชอาณาจักร) โดยฝรั่งเศสครอบครองอาวุธนิวเคลียรจำนวน 290 หัวรบ หรือเปนอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย) ซึ่งหัวรบดังกล่าวสามารถยิงจากเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่ที่คาบสมุทรในแคว้นทางตะวันตกของฝรั่งเศสหรือปล่อยจากเครื่องบินรบได้ ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 ฝรั่งเศสใช้งบประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างและรักษาศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ และฝรั่งเศสยังเปนประเทศส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียรที่สำคัญของโลกด้วย
สถานการณ์ด้านความมั่นคง
1) การก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง กลุ่มแนวคิดขวาจัด และองค์กรก่อการร้าย ฝรั่งเศสยังคงตกเป็นเป้าการก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (ประมาณ 5 ล้านคน) และนับถือศาสนายิว (ประมาณ 500,000 คน) มากที่สุดในยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายบางประการของรัฐบาลฝรั่งเศสมักถูกโจมตีจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามว่า เป็นการเพ่งเล็งชาวมุสลิมโดยเฉพาะและเลือกปฏิบัติ เช่น การห้ามนักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบหรือชุดอาบายะห์ในสถานศึกษาของรัฐ การจัดตั้งหน่วยงาน The Forum of Islam เพื่อทำหน้าที่แนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมุสลิมในฝรั่งเศส และป้องกันไม่ให้มุสลิมเข้าไปเกี่ยวพันกับแนวคิดรุนแรง เป็นต้น
2) การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง ภายหลังกลุ่มฮะมาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอล เมื่อ 7 ต.ค.2566 มีการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศมากกว่า 100 ครั้ง
3) ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์และการก่อการร้ายทางไซเบอร์
4) การขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไทยและฝรั่งเศสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 15 ส.ค.2399 โดยลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีการพาณิชย์และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ปี 2432 ไทยตั้งสำนักงานและแต่งตั้งอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และยกฐานะขึ้นเป็น สอท. เมื่อปี 2492 ทั้งนี้ ไทยและฝรั่งเศสมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับฝั่งไทย เมื่อปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ในขณะนั้นนำคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจชั้นนำเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 22-26 มิ.ย.2561 จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เยือนฝรั่งเศสอีกครั้งในปีเดียวกัน เมื่อ 11-12 พ.ย.2561 เพื่อเข้าร่วมพิธีวันรำลึกการครบรอบ 100 ปี การยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ทางด้านฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC) ในฐานะแขกของเจ้าภาพ (รัฐบาลไทย) เมื่อ 18-19 พ.ย.2565
ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยไทยและฝรั่งเศสเคยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ระหว่างปี 2547-2551 และฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2553-2557 เป็นกรอบที่ต่อยอดความร่วมมือในสาขาที่สองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งวางรากฐานความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ (Comprehensive Partnership) โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นต้องทบทวนความสัมพันธ์และความร่วมมือ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพื่อกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในอนาคต
ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนการจัดทำและทบทวนร่าง Roadmap ไทย-ฝรั่งเศส เป็นระยะ โดยแผน Roadmap ดังกล่าวมุ่งรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคีในทุกมิติ อีกทั้งยังเน้นความเป็นรูปธรรมและเห็นผล เพื่อนำไปสู่การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในปี 2567 โดย Roadmap จะวางแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนใน 3 เสาหลัก บนพื้นฐานของความมั่นคง ความมั่งคั่ง และยั่งยืน ได้แก่ 1) หุ้นส่วนด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Partnership) 2) หุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (Economic Partnership) และ 3) หุ้นส่วนระดับประชาชน (People’s Partnership)/หุ้นส่วนในสาขาที่มีประโยชน์ร่วมกัน (Sectoral Partnership)
ปัจจุบัน ไทยและฝรั่งเศสอยู่ระหว่างดำเนินตามแผน Roadmap สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2565-2567 โดยจะมีการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญภายใต้ Roadmap ดังกล่าว เช่น การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยเฉพาะการจัดตั้งกลไกการเจรจา 2+2 (กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม) ความร่วมมือในภูมิภาคและกรอบความร่วมต่าง ๆ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) อาเซียน-ฝรั่งเศส และอาเซียน-EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
ด้านเศรษฐกิจ เมื่อปี 2566 ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 25 ของไทย และอันดับ 5 ของไทยใน EU มูลค่าการค้าไทย-ฝรั่งเศส ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 อยู่ที่ 131,553 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 49,878 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 81,675 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 31,797 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เลนส์ สินค้านำเข้าสำคัญจากฝรั่งเศส ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง
ด้านการลงทุน เมื่อปี 2564 ฝรั่งเศสได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยจำนวน 15 โครงการมูลค่า 2,328 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสเดินทางมาไทย 385,173 คน
จำนวนคนไทยในฝรั่งเศส ห้วง ต.ค.2565-มี.ค.2566 มีประมาณ 21,825 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (27 ธ.ค.2517) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยบริการเดินอากาศ (7 เม.ย.2518) ซึ่งมีการทบทวนเป็นระยะ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (16 ก.ย.2520) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (16 ก.ย.2520) อนุสัญญาความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา (โอนตัวนักโทษ) (26 มี.ค.2526) ความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับเมืองนีซ (13 ธ.ค.2532) คณะทำงานร่วมทางการค้าไทย-ฝรั่งเศส (17 ก.พ.2538) อนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาไทย-ฝรั่งเศส (11 ก.ย.2540) บันทึกความเข้าใจในการก่อตั้ง French-Thai Business Council (14 พ.ย.2540) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศสด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม (30 พ.ย.2541) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (28 มิ.ย.2541) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและการวิจัยไทย-ฝรั่งเศส (23 เม.ย.2542) ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ (27 ม.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงทางทหารระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศส (26 เม.ย.2543) บันทึกความเข้าใจระหว่าง BOI กับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของฝรั่งเศส (UBIFRANCE) (18 ก.พ.2549) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไทย-ฝรั่งเศส (18 ก.พ.2549) ความตกลงจัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาในประเทศไทย (18 ก.พ.2549) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการพำนักระยะสั้นแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต (21 มิ.ย.2553) ข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 2553-2557 (19 ต.ค.2553) ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ความตกลงด้านการศึกษา บันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความตกลงด้านความเป็นหุ้นส่วนระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซียน (ก.พ.2556) อนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทย-ฝรั่งเศส (18 มิ.ย.2556)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านยาสัตว์ (11 ก.ย.2558) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทางวิชาการด้านยางพารา ฉบับที่ 3 (19 ม.ค.2560) ความตกลงสัญญาดาวเทียม THEOS 2 ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GISTDA) กับบริษัท Airbus Defense & Space (15 มิ.ย.2561) ข้อตกลงร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กระทรวงคมนาคม กับกลุ่มบริษัทด้านระบบรางชั้นนำจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท Egis Rail Thailand จำกัด 2) บริษัท Bombardier Transportation Signal (Thailand) จำกัดในเครือบริษัท Alstom 3) บริษัท VOSSLOH COGIFER S.A. 4) บริษัท Systra MVA (Thailand) จำกัด และ 5) บริษัท POMA SAS (15 ธ.ค.2565) และความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับการพำนักระยะสั้นแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ (15 ก.ย.2566)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2567 ที่กรุงปารีส ระหว่าง 26 ก.ค.-18 ก.ย.2567 รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องเผชิญปัจจัยท้าทาย ทั้งจากการใช้งบประมาณจำนวนมากท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การจ้างงานในช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน และมาตรการ รปภ. ในห้วงที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศยังคงตกเป็นเป้าก่อเหตุของกลุ่มหัวรุนแรงและองค์กรก่อการร้าย ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสคาดว่า จะมีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30,000 คน เดินทางไปฝรั่งเศสในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ
2) การชุมนุมประท้วง นับตั้งแต่ปี 2565 มีการจัดการชุมนุมในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ชุมนุมประท้วงคัดค้านการปฏิรูประบบบำนาญ รวมถึงการชุมนุมประท้วงหรือสนับสนุนอิสราเอลและปาเลสไตน์ ภายหลังกลุ่มฮะมาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อ 7 ต.ค.2566 แม้จะมีการปราบปรามการชุมนุมอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่หากยังไม่เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2567 รัฐบาลฝรั่งเศสจะยังคงต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงต่อไป และอาจต้องเฝ้าระวังการชุมนุมที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีปัจจัยอื่น ๆ เกื้อหนุน
3) นโยบายด้านการต่างประเทศ ฝรั่งเศสพยายามแสดงบทบาทเป็นผู้นำของสหภาพยุโรป (EU) พร้อมกับแสวงหาพันธมิตรนอกภูมิภาค โดยเฉพาะการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แต่ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ รวมถึงการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ ฝรั่งเศสจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังต้องห่วงกังวลเกี่ยวกับประเทศอดีตอาณานิคมในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในแอฟริกา มีการก่อรัฐประหารและขับไล่กองทัพ/นักการทูตฝรั่งเศสออกจากประเทศ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่มาลี ไนเจอร์ บูกินาร์ฟาโซ