สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
Republic of the Philippines
เมืองหลวง มะนิลา
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 7,107 หมู่เกาะ พื้นที่ประมาณ 300,000 ตร.กม. (3 ใน 5 ของไทย) แบ่งเป็น 3 พื้นที่สำคัญ : ตอนเหนือเกาะลูซอน (Luzon) รวมมะนิลา ตอนกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) รวมหมู่เกาะปาลาวันและมินโดโร และตอนใต้ เกาะมินดาเนา (Mindanao) และหมู่เกาะ Sulu ฟิลิปปินส์มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 36,289 กม. หรือมีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก ฟิลิปปินส์อยู่ในเขต Pacific’s Ring of Fire ซึ่งเป็นเขตแผ่นดินไหวรุนแรงและแนวภูเขาไฟ (ทั้งประเทศมี 106 ลูก)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และช่องแคบ Bash
ทิศใต้ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลฟิลิปปินส์
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลเซเลเบสและทะเลซูลู
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้)
ภูมิประเทศ หมู่เกาะต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์แบ่งเป็น 3 ภาค : ภาคเหนือ เกาะลูซอนใหญ่ที่สุด มีที่ราบ
2 แห่งคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคากายันและที่ราบมะนิลา ตอนกลางเกาะเป็นที่ราบใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นที่ตั้งเมืองหลวงมะนิลา ภาคกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ ประกอบด้วย เกาะมินโดโร มาสตาเบ ซามาร์ ปาไน เนกรอสเซบู โปโซล และเลเต ภาคใต้ เกาะมินดาเนา มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากเกาะลูซอน ภูเขาสูงที่สุด : ภูเขาอาโป บนเกาะมินดาเนา ความสูง 9,692 ฟุต และภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอีก 21 ลูก ในจำนวนนี้เป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นมาก 6 ลูก : มายอน ตาอาล บูลูซาน พินาตูโบ คาลาอัน และฮิบอค
วันชาติ 12 มิ.ย.
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์
Ferdinand Marcos Jr.
(ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์)
ประชากร 116.4 ล้านคน (ต.ค.2566) มากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และมากเป็นอันดับ 13 ของโลก มีประมาณ 180 ชาติพันธุ์ แบ่งเป็น ตากาล็อก 24.4% วิสายาส์ 11.4% ซีบูเอโน 9.9% อิลโลคาโน 8.8% ฮีลีไกโนน 8.4% บีโคล 6.8% วารี 4% ชาติพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ 26.1% ชาติพันธุ์ต่างชาติ 0.1% อัตราการเพิ่มขึ้น 1.6% อัตราสวนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ป 30.49% อายุ 15-64 ป 64.06% อายุ 65 ปขึ้นไป 5.45% อายุขัยเฉลี่ย 70.48 ป ชาย 66.97 ป หญิง 74.15 ปี
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 79.5% คริสต์อื่น ๆ 6.1% อิสลาม 6% ศาสนาอื่น ๆ 7.4% และไม่นับถือศาสนา 0.1%
ภาษา ฟิลิปิโนและอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่มีภาษาท้องถิ่นมากกว่า 170 ภาษา เกือบทั้งหมดเป็นตระกูลภาษาย่อยมาลาโย-โปลินีเซียนตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีภาษาต่างประเทศ ที่ใช้กันมากในฟิลิปปินส์อีก 8 ภาษา ได้แก่ สเปน จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว อินโดนีเซีย ชินด์ปัญจาบ เกาหลี อาหรับ ชาวฟิลิปปินส์ยังใช้ภาษาที่เรียกว่า ทากรีส (Tagalog + English) คือการพูดภาษาตากาล็อกผสมกับภาษาอังกฤษในประโยคสนทนา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 96.3% งบประมาณด้านการศึกษา 3.6%ของ GDP (2565) การศึกษาภาคบังคับ 6 ปี สาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาที่นักศึกษาประสงค์เข้าเรียนมากที่สุด คือ วิศวกรรมการบินและอวกาศ การบริหารธุรกิจ วิศวกรรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ แพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์
การก่อตั้งประเทศ
ชนเผ่าแรกที่อพยพเข้ามาในฟิลิปปินส์ คือ เผ่าปิกมี่ ซึ่งเป็นพวกหาของป่าและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาชนเผ่ามาเลย์อพยพเข้ามาและนำวัฒนธรรมอิสลามมาสู่ฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นนายเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสำรวจพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อปี 2064 และตั้งชื่อว่า “ฟิลิปปินส์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมของสเปนนานถึง 327 ปี ชาวฟิลิปปินส์พยายามต่อสู้กับสเปนจนได้รับเอกราชเมื่อ 12 มิ.ย.2411 และตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่มีผลสมบูรณ์เพราะสเปนแพ้สงครามและยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ เมื่อ 10 ธ.ค.2411 ฟิลิปปินส์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯ เมื่อปี 2445 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 4 ก.ค.2489 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จำกัดให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 9 พ.ค.2565 นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ชนะการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2565-2571
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง ครม. และ ออท. รวมทั้งควบคุมฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แต่ไม่มีอำนาจยุบสภา
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ให้ความเห็นชอบงบประมาณและภาษี รวมถึงพิจารณาการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระไม่เกิน 6 ปี และไม่เกิน 2 สมัย โดยมีการเลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีสมาชิก 316 คน (253 คน มาจาก การเลือกตั้งโดยตรง และอีก 63 คนมาจากการเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อจากตัวแทนสาขาอาชีพต่าง ๆ) มีวาระ 3 ปี และไม่เกิน 3 สมัย
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีระดับเทศบาลและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court) ในเขตปกครองตนเองบังสาโมโรเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับชาวฟิลิปปินส์มุสลิมในพื้นที่โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ศาลฎีกา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกา 14 คน ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและผ่านการลงมติจากรัฐสภา โดยมีหน้าที่พิจารณาคดีการเมือง คดีอุทธรณ์ คดีฎีกา รวมถึงคดีที่มีความสำคัญระดับประเทศ เช่น การสั่งปลดประธานาธิบดี หรือการระงับการประกาศใช้กฎอัยการศึก
องค์กรอิสระ : คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบการประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
พรรคการเมืองสำคัญ : ระบบพรรคการเมืองของฟิลิปปินส์เปลี่ยนไปเป็นระบบหลายพรรค หลังจากเหตุการณ์โค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เมื่อปี 2529 พรรคการเมืองในฟิลิปปินส์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาภายในพรรค สมาชิกพรรคขาดความจงรักภักดีต่อพรรค ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง สมาชิกพรรคค่อนข้างมีอิสระมากในการเลือกพรรคและเปลี่ยนพรรคที่สังกัด การหาเสียงของแต่ละพรรคจะชูนโยบายที่เป็นจุดเด่น หาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์และใช้อิทธิพลทางการเมือง พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Lakas-CMD พรรค Party-list Coalition Foundation พรรค PDP-Laban พรรค National Unity Party และพรรค Nacionalista Party
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด สภาพเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพคล้ายกับไทย ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดคือภาคบริการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบทางการค้าและการลงทุน ในเรื่องที่ตั้งมีเส้นทางการค้าระหว่างทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก มีตลาดการบริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมาก ขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 4-6% ต่อปี แรงงานในประเทศมีคุณภาพและมีอัตราค่าจ้างในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ฟิลิปปินส์ยังมีธุรกิจบริการบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing-BPO) ที่โดดเด่น ได้แก่ การบริการข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ซึ่งมีปัจจัยจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและมีสำเนียงการใช้ภาษาอังกฤษที่ฟังง่ายกว่าคู่แข่งทางธุรกิจอย่างอินเดีย ต้นทุนการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา มีราคาต่ำกว่าประเทศที่เป็นฐานการผลิตในหลายประเทศ
การส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศได้รับความสนใจจากชาวฟิลิปปินส์มาก เนื่องจากได้ค่าตอบแทนสูงและรัฐบาลสนับสนุน โดยสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศที่นิยมไปทำงาน ได้แก่ สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และอิสราเอล สาขาอาชีพที่นิยม ได้แก่ แม่บ้าน ก่อสร้างและโยธา การบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ปิโตรเคมี วิศวกร แพทย์ พยาบาล ลูกเรือ และอาชีพที่ใช้ทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ทั้งจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความเครียดจากการทำงานหนัก การห่างจากครอบครัว และการแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสตรีมักเจอปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายจากนายจ้าง การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของนายจ้าง การได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม และการเอาเปรียบแรงงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ห่วงกังวลต่อสวัสดิภาพของแรงงาน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงรุกได้ สำหรับในไทยมีครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ 25% ของครูต่างชาติทั้งหมด เพราะมีอัตราค่าจ้างถูกกว่าครูเจ้าของภาษาชาวตะวันตก ทำให้มีการร้องเรียนเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกับครูสัญชาติอื่น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เปโซฟิลิปปินส์ (PHP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 56.81 เปโซ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 1.57 เปโซ (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ ปี 2565
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 404,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : ขยายตัวอยู่ที่ 7.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,498.5 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 47 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 5.4%
อัตราเงินเฟ้อ : 5.8%
การค้าระหว่างประเทศ : 216,198.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 58,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 78,978 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 47,810.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2566)
สินค้าส่งออก : เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่ (นิกเกิล ทองแดง) สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การแพทย์ ถ่านหิน ข้าว มะพร้าว ข้าวโพด อ้อย กล้วยหอม มะม่วง สับปะรด และการประมง
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย
มูลค่าการนำเข้า : 137,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 84,116.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2566)
สินค้านำเข้า : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็ก เครื่องจักรอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ อาหารสัตว์ ข้าวสาลี ข้าว
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และไทย
ทรัพยากรธรรมชาติ : นิกเกิล ทองแดง ทองคำ โครเมียม ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล เป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
การทหาร กองทัพฟิลิปปินส์ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการกองทัพ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้บัญชาการกองทัพ และเสนาธิการกองทัพคือ ผบ.ทสส. ซึ่งรับผิดชอบด้านยุทธการในนามประธานาธิบดี ผบ.ทสส.คนปัจจุบันคือ พล.อ. Bartolome Vicente Bacarro (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 8 ส.ค.2565)
งบประมาณด้านการทหาร : 1% ของ GDP ปี 2565 กำลังพลรวม 145,300 นาย แบ่งเป็น : ทบ. 103,200 นาย ทร. 24,500 นาย ทอ. 17,600 นาย กกล.อื่น ๆ ที่มิใช่ทหาร 12,300 นาย กกล.สำรอง 131,000 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทพื้นสู่พื้น 1 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทพื้นสู่อากาศ 1 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทอากาศสู่อากาศ 1 เครื่อง ถ.เบา Scorpion 7 คัน ถ.หลัก 54 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 387 คัน เรือฟริเกต 2 ลำ เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับ ทร. 58 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 2 ลำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ 4 ลำ เรือระบายพล 15 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 4 ลำ บ.FA-50PH 1 ฝูง บ.โจมตีภาคพื้นดิน 1 ฝูง บ.ลาดตระเวน 1 ฝูง บ.ค้นหาและกู้ภัย 4 ฝูง บ.ลำเลียง 4 ฝูง บ.ฝึกซ้อม 4 ฝูง อากาศยานไร้คนขับ 1 ฝูง ฮ.โจมตี 2 เครื่อง บ.ขับไล่ 39 เครื่อง บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยใกล้ AIM-9L Sidewinder 1 ลำ บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยปานกลาง AGM-65 Maverick 1 เครื่อง เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับหน่วยยามชายฝั่ง 80 ลำ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีแผนพัฒนาปรับปรุงกองทัพระยะ 15 ปี งบประมาณรวม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ Horizon I (ปี 2555-2560) Horizon II (ปี 2561-2565) และ Horizon III (ปี 2566-2572)
ความสัมพันธ์ไทย-ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ก.ย.2492 ในฐานะมิตรประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียนและเป็นแนวร่วมที่สนับสนุนบทบาทซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 75 ปี ในปี 2567 ความสัมพันธ์ทวิภาคีราบรื่นและใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการทหาร ส่วนด้านเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะพันธมิตรเชิงแข่งขันทั้งด้านการค้าและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ ปี 2565 ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของไทย และอันดับ 5 ในอาเซียน มีมูลค่ารวม 391,762 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 258,371 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 133,391 ล้านบาท ขณะที่การค้าห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีมูลค่า 276,244 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 117,830 ล้านบาท
สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล
สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ : น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ด้านการลงทุน โครงการของฟิลิปปินส์ที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อปี 2565 มีจำนวน 3 โครงการ มูลค่า 309 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว ชาวฟิลิปปินส์เดินทางมาท่องเที่ยวไทย เมื่อปี 2565 มากเป็นอันดับที่ 19 จำนวน 178,021 คน ในห้วง ม.ค.-ก.ย.66 มีจำนวน 332,462 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความช่วยเหลือทางทหาร (14 มี.ค.2490) ความตกลงว่าด้วยไมตรี-พาณิชย์-การเดินเรือ (14 มิ.ย.2492) บริการเดินอากาศ (27 เม.ย.2496) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (31 ก.ค.2505) ความตกลงว่าด้วยที่ดิน (21 พ.ค.2506) ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ฟิลิปปินส์ (22 ก.ค.2518) ความร่วมมือด้านการเกษตร (29 ส.ค.2522) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (16 มี.ค.2524) การเว้นการเก็บภาษีซ้อน (14 ก.ค.2525) ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (11 เม.ย.2526) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (24 ส.ค.2535) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (24 มี.ค.2536) การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (30 ก.ย.2538) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร (20 ส.ค.2540) ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (18 ธ.ค.2541) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมความร่วมมือทวิภาคี (24 ส.ค.2542) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดคราบน้ำมัน (23 พ.ย.2542) ความตกลงทางการค้า (27 พ.ย.2542) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา การเกษตร (30 พ.ค.2543) สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการโอนตัว ผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (12 ต.ค.2544) ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และจัดตั้งวิธีการดำเนินการในการสื่อสาร (5 พ.ย.2545) บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือด้านการเกษตร (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวไทย-ฟิลิปปินส์ (8 เม.ย.2553) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนครู (10 ก.พ.2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติด (20 ก.ย.2560) ไม่ต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวไทย-ฟิลิปปินส์ (ปี 2560-2561) เนื่องจากฟิลิปปินส์มีกฎหมาย การเปิดเสรีนำเข้าข้าว (Republic Act No. 11203) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อสารมวลชน (17 ม.ค.2562)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ยังคงเผชิญความท้าทายในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพลังงาน ความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
2) ฟิลิปปินส์ยังพยายามผลักดันกองทุนการลงทุนมหารลิกา (Maharlika Investment Fund-MIF) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกองทุนแรกของฟิลิปปินส์ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดการพึ่งพาการกู้ยืมจากต่างประเทศ และการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ดี ยังมีข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่ายถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของกองทุน
3) สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนนโยบายไปพึ่งพาสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงและทางทหารมากขึ้น ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงไม่คลี่คลาย จะเป็นปัจจัยให้ฟิลิปปินส์แสวงหาพันธมิตรใช้เป็นหลักประกันทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพื่อลดการพึ่งพาจีน
4) ฟิลิปปินส์ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงจากการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศ โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ กลุ่มคอมมิวนิสต์และกลุ่มก่อการร้ายในมินดาเนา เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf Group-ASG) ซึ่งประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่ม Islamic State (IS) กลุ่ม Maute กลุ่มนักรบเสรีภาพบังสาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters-BIFF) กลุ่ม Daulah Islamiyah-Hassan และกลุ่ม DI-Turaifie ส่วนใหญ่จะก่อเหตุวางระเบิดและลักพาตัวเรียกค่าไถ่
5) ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพในมินดาเนา หลังจากจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังสาโมโร (Bangsamoro in the Autonomous Region in Muslim Mindanao-BARMM) โดยมีกำหนดเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้กฎหมาย Bangsamoro Organic Law (BOL) ในปี 2568 ซึ่งเดิมกำหนดในปี 2565 แต่เลื่อนออกไปจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การยกร่างกฎหมายลำดับรองล่าช้า