สาธารณรัฐสิงคโปร์
Republic of Singapore
เมืองหลวง สิงคโปร์
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณปลายสุดของแหลมมลายู ตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร
ไปทางทิศเหนือ 137 กม. พื้นที่สิงคโปร์เมื่อปี 2563 มีขนาด 728.6 ตร.กม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2562 ที่มีพื้นที่ 725.7 ตร.กม. จากการถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากร รัฐบาลมีแผนขยายพื้นที่เป็น 766 ตร.กม.ภายในปี 2573 ระยะทางจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาว 50 กม. และทิศเหนือจรดทิศใต้ยาว 27 กม. ชายฝั่งยาว 193 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบยะโฮร์ ห่างจากรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย 1 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนใต้ ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ 1,770 กม. และห่างจาก จ.กาลิมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย 586 กม.
ทิศใต้ ติดกับช่องแคบมะละกา ห่างจากเกาะเรียวของอินโดนีเซีย 125 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับช่องแคบยะโฮร์ ห่างจากรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย 3 กม.
ภูมิประเทศ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 1 เกาะ คือ เกาะสิงคโปร์ หรือ Pulau Ujong ในภาษามาเลย์ และเกาะเล็ก ๆ อีก 62 เกาะ แต่อาจยุบรวมเป็นเกาะใหญ่ภายในอนาคต เหมือนกับเกาะจูร่งทางตอนใต้ของสิงคโปร์ ส่วนตอนกลางของประเทศเป็นเขตหินแกรนิต ภูมิประเทศสูง ๆ ต่ำ ๆ และเป็นเนินเขา จุดสูงสุดอยู่ที่ยอดเขาบูกิตติมา (163.63 ม. หรือ 537 ฟุต)
วันชาติ 9 ส.ค.
นายลี เซียน ลุง
Lee Hsien Loong
(นรม.สิงคโปร์)
ธาร์แมน แชนมูการัตนม
Tharman Shanmugaratnam
(ประธานาธิบดีสิงคโปร์)
ประชากร 5.92 ล้านคน (ปี 2566) มีอัตราเพิ่มขึ้น 5.0% ถือสัญชาติสิงคโปร์ 3.61 ล้านคน ผู้มีถิ่นพำนักถาวร 540,000 คน และผู้พำนักชั่วคราว 1.77 ล้านคน อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 14.82% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 71.49% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 13.7% อายุขัยโดยเฉลี่ย 86.51 ปี เพศชาย 83.82 ปี เพศหญิง 89.34 ปี (ปี 2566) ความหนาแน่นของประชากร 7,688 คนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. สิงคโปร์เป็นสังคมพหุเชื้อชาติประกอบด้วยชาวจีน (74.2%) มาเลย์ (13.7%) อินเดีย (8.9%) และอื่น ๆ (3.2%)
ศาสนา พุทธนิกายมหายาน 31.1% คริสต์ 18.9% อิสลาม 15.6% ลัทธิเต๋า 8.8% ฮินดู 5% อื่น ๆ 0.6% และไม่นับถือศาสนา 20%
ภาษา ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ มาเลย์ อังกฤษ จีนกลาง และทมิฬ
การศึกษา สิงคโปร์มีนโยบายให้การศึกษาแก่เด็กทุกคนและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาความถนัดและศักยภาพของตนเอง อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์มีความสามารถทางภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาแม่ (ภาษาจีน มาเลย์ ทมิฬ) ระบบการศึกษาภาคบังคับ 10 ปี แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษา 4 ปี อัตราการรู้หนังสือ 97.6% งบประมาณด้านการศึกษา 2.2% ของ GDP
การก่อตั้งประเทศ
สิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2375 และถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2496 สหราชอาณาจักรทบทวนรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์และร่างใหม่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สิงคโปร์ปกครองตนเองมากขึ้น ทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อปี 2498 และได้รับสิทธิในการดูแลกิจการภายในของตนเองอย่างเต็มที่เมื่อปี 2501 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2502 พรรคกิจประชาชนได้รับชัยชนะ นายลี กวน ยิว ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคดำรงตำแหน่ง นรม. หลังจากนั้นจึงร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อขับไล่จักรวรรดินิยมสหราชอาณาจักรจนประสบความสำเร็จ ต่อมาทั้งสองฝ่ายเกิดความแตกแยกกัน และสิงคโปร์ได้รวมตัวกับมาเลเซีย ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ เป็นสหพันธรัฐมาลายาเมื่อ 1 ก.ย. 2505 และขอแยกตัวจากมาเลเซียเมื่อ 9 ส.ค. 2508
การเมือง ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบรัฐสภาเดียว ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประมุขแห่งรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าฝ่ายบริหาร การเมืองสิงคโปร์มีเสถียรภาพ โดยพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party-PAP) ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลมาโดยตลอดนับตั้งแต่แยกตัวจากมาเลเซีย ทั้งนี้ อำนาจอธิปไตยของสิงคโปร์ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : นรม.มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบรัฐสภาเดียว แบ่งเป็น 1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำนวน 93 ที่นั่ง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี 2) สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามคำแนะนำของคณะกรรมการคัดเลือก วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี 6 เดือน ตามรัฐธรรมนูญไม่เกิน 9 คน และ 3) สมาชิกฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 15%
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้นและศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ศาลชั้นต้น ประกอบด้วยศาลเขต ศาลแขวง และศาลเยาวชน ส่วนศาลฎีกาประกอบด้วยศาลสูงและศาลอุทธรณ์ที่รับพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีศาลที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการบริหารกฎหมายอิสลามที่เรียกว่าศาลศาสนาอิสลาม เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับครอบครัวของมุสลิมในสิงคโปร์
เศรษฐกิจ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (ปี 2560-2570) ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้นวัตกรรม ด้านกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2566 จากเดิม 0.5-2.5% เป็น 0.5-1.5% เนื่องจากปัจจัย ได้แก่ 1) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและพลังงาน 2) ความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงิน 3) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน 4) การลดลงของตลาดแรงงานที่กระทบต่อการบริโภคส่วนบุคคล และ 5) อุปสงค์จากสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของสิงคโปร์ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2566 โดยเฉพาะตลาดการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามชิป อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยว การบิน ภาคบันเทิง ตลอดจนบริการอาหารและเครื่องดื่มของสิงคโปร์ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการกลับมาเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ประเมินว่า การปรับตัวลงของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าใหญ่ของสิงคโปร์ เช่น สหรัฐฯ จีน และกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อราคาสินค้านำเข้าของสิงคโปร์ การพัฒนาทักษะแรงงานโดยให้ความสำคัญกับการวิจัย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และการเป็นแรงงานฝีมือขั้นสูง รวมถึงพยายามผลักดันให้ SMEs ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงด้านการทำธุรกิจกับต่างประเทศ และอุตสาหกรรมผลิตขั้นสูงภายในปี 2573
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) 77,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.0% จากปี 2565
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.37 ดอลลาร์สิงคโปร์
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ : 26.50 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 466,79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.6%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 90,239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 82,807 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 296,628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประชากรวัยทำงาน : 3.9 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 2.1%
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : 1,365,403 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 54,531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 709,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : เครื่องยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ขนส่ง เครื่องมือขนถ่ายวัสดุ ผลิตภัณฑ์เคมี สินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์ เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ฮ่องกง และสหภาพยุโรป (EU)
มูลค่าการนำเข้า : 655,436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิงและแร่ธาตุที่เป็นเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี สินค้าอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ EU และไต้หวัน
คู่ค้าสำคัญ 5 อันดับในกลุ่มอาเซียน : มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
การทหาร กองทัพสิงคโปร์ ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. ขึ้นตรงต่อ ผบ.ทสส. และ รมว.กระทรวงกลาโหม ชายสิงคโปร์อายุ 18-20 ปี ทุกคนจะต้องเข้ารับการฝึกและประจำการในกองทัพเป็นเวลา 2 ปี และเป็นกำลังพลสำรองจนถึงอายุ 40 ปี กำลังทหาร 51,000 นาย แบ่งเป็น ทบ. 45,000 นาย ทร. 4,000 นาย และ ทอ. 6,000 นาย กำลังพลสำรอง 7,400 นาย กองทัพสิงคโปร์ทันสมัยและมีแสนยานุภาพสูงในภูมิภาค ยุทโธปกรณ์สำคัญ อาทิ ถ.หลัก 96 คัน ถ.เบา 372 คัน ถ.รบทหารราบ 622 คัน ถ.ลำเลียงหุ้มเกราะ 1,655 คัน เรือดำน้ำชั้น Challenger 2 ลำ เรือดำน้ำชั้น Archer 2 ลำ เรือรบหลัก 12 ลำ (เรือฟริเกตชั้น Formidable ที่ติดอาวุธปล่อยนำวิถี Harpoon 2 ลำ Sylver 1 ลำ Aster 1 ลำ ตอร์ปิโด 2 ลำ) เรือตรวจการณ์และลาดตระเวน 26 ลำ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 4 ลำ เรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 4 ลำ บ.รบ 105 เครื่อง (บ.F-16C/D จำนวน 60 เครื่อง บ.F-15SG จำนวน 40 เครื่อง และ บ.F-50 จำนวน 5 เครื่อง) และเตรียมรับมอบ บ.F-35 จำนวน 12 เครื่อง ในปี 2569 จัดสรรงบประมาณด้านการทหารในปี 2566 จำนวน 13,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจาก ปี 2565 คิดเป็น 10.1%) ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศให้สามารถส่งกองกำลังเข้าไปใช้พื้นที่สำหรับฝึกทางทหาร ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฝรั่งเศส คูเวต ไต้หวัน ไทย และสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการนำอาวุธและเทคโนโลยีชั้นสูงมาประจำการในกองทัพ และจัดตั้งเหล่าทัพใหม่รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Digital and Intelligence Service-DIS)
ความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์
ไทย-สิงคโปร์มีความสัมพันธ์ที่ดีมาตั้งแต่ก่อนสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์เมื่อ 9 มี.ค.2413 ก่อนเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร และเสด็จฯ เยือนครั้งที่ 2 ระหว่าง 16-23 มี.ค.2414 โดยพระราชทานรูปปั้นช้างสำริดแก่สิงคโปร์ ซึ่งได้เชิญไปประดิษฐานบนแท่นอนุสาวรีย์ด้านหน้าอาคาร The Arts House ด้วย จากนั้นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 20 ก.ย.2508 และมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง
กลไกความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ 1) การหารือระหว่าง นรม.อย่างไม่เป็นทางการ (Leader’s Retreat) 2) การประชุม Political Consultations ในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งริเริ่มครั้งแรกเมื่อ ส.ค.2563 3) ความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทย-สิงคโปร์ 4) Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ก.พ.2545 เป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และ 4) ความร่วมมือด้านการทหาร ที่ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยกองทัพสิงคโปร์ต้องพึ่งพาไทยในการใช้พื้นที่และน่านฟ้าเพื่อการฝึกซ้อมรบ
การเยือนระดับผู้นำ นายเศรษฐา ทวีสิน นรม.เยือนสิงคโปร์เมื่อ 12 ต.ค.2566 พบหารือกับนายลี เซียน ลุง นรม.สิงคโปร์ และนายธาร์มาน ชันมุการัตนัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งด้านเศรษฐกิจใหม่ เฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดจนการกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน การเงิน และความมั่นคงด้านอาหาร
ด้านการค้าสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในอาเซียนรองจากมาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในโลก ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2565 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 642,279 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 287,504 ล้านบาท การส่งออก 354,775 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 67,271 ล้านบาท ส่วนในห้วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.2566) สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย มูลค่าการค้ารวม 469,262 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 47,043 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
สิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 5 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยเมื่อปี 2565 รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน มูลค่าเงินลงทุน 44,286 ล้านบาท คิดเป็น 75.6% ของเงินลงทุนจากอาเซียนทั้งหมด
ธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์และธนาคารแห่งประเทศไทย ริเริ่มการใช้ระบบโอนเงินระหว่างสองประเทศแบบ real-time เมื่อ 29 เม.ย.2564 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน PayNow ของสิงคโปร์ และ PromptPay ของไทย โดยนับเป็นการเชื่อมโยงระบบ การโอนระหว่างประเทศแบบทันทีที่ถูกพัฒนาเป็นครั้งแรกในโลก
นักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางมาไทยเมื่อปี 2565 จำนวน 614,627 คน มากเป็นลำดับที่ 3 รองจากมาเลเซียและอินเดีย โดยฟื้นตัวจากปี 2564 ถึง 53% ขณะที่ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางเข้าไทยมากเป็นลำดับที่ 7 จำนวน 710,793 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (15 ก.ย.2518) บันทึกความเข้าใจด้านยานยนต์ (27 ส.ค 2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (27 ส.ค.2546) บันทึกความเข้าใจด้านธุรกิจและการลงทุน (27 ส.ค.2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (27 ส.ค.2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์ (27 ส.ค.2546) บันทึกความเข้าใจการฝึกบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศระหว่าง ทอ.ไทยกับสิงคโปร์ (24 พ.ย.2546) บันทึกความเข้าใจการเข้าร่วมการฝึก Cobra Gold กองทัพไทย-สิงคโปร์ (22 ก.พ.2548) บันทึกความเข้าใจการสนับสนุนด้านการฝึกและการส่งกำลังบำรุง ทอ.ไทย-สิงคโปร์ (12 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจการจัดทำความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (23 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจการฝึกของกองทัพสิงคโปร์ในไทย ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2550-2553) (16 ก.ค.2555) บันทึกความเข้าใจการเว้นการเก็บภาษีซ้อน บันทึกความเข้าใจการท่องเที่ยวทางเรือ บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรม (11 มิ.ย.2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (31 พ.ค.2559) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างกองทัพเรือ (14 พ.ค.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (11 ก.ค2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรระหว่างสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์กับสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (21 ส.ค.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านธุรกิจประกันภัย (26 ก.ย.2562) ความร่วมมือการโอนเงินระหว่างไทย-สิงคโปร์แบบ real-time (29 เม.ย.2564)
29 เม.ย. 2564)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การเตรียมเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง หลังจากนายลอเรนซ์ หว่อง ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นรอง นรม. ลำดับที่ 1 และ รมว.กระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 ของพรรคกิจประชาชน (PAP) และถูกวางตัวเป็นผู้นำคนใหม่ต่อจาก นรม.ลี เซียน ลุง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นายหว่องนำพรรค PAP ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2568 และทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปอย่างสมบูรณ์และชอบธรรม
ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศของสิงคโปร์หลังการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤต COVID-19 ท่ามกลางประเด็นความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตเงินเฟ้อ การแข่งขันอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยกำหนดแผนพัฒนาประเทศระยะยาวของสิงคโปร์ เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว อาทิ แผนพัฒนาเมืองใหม่ในเขต Paya Lebar การดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหมายเลข 5 ในท่าอากาศยานชางงี และท่าเรือ Tuas Port ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมของคนเก่งระดับโลก และการชูกรอบแนวคิดเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตลอดจนแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยภาครัฐ และแนวทางรับมือกับสังคมสูงวัยต่าง ๆ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ และการเพิ่มเงินสมทบกองทุนวัยเกษียณสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อเพิ่มเงินออมเมื่อเกษียณ