สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
Islamic Republic of Pakistan
เมืองหลวง อิสลามาบัด
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณเส้นละติจูดที่ 33 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 70 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 796,095 ตร.กม.
อาณาเขต พรมแดนทางบกระยะทาง 7,257 กม. และพรมแดนทางทะเลติดกับทะเลอาหรับระยะทาง 1,046 กม.
ทิศเหนือ ติดกับจีน (438 กม.)
ทิศใต้ ติดกับทะเลอาหรับ (1,046 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอินเดีย (3,190 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับอิหร่าน (959 กม.) และอัฟกานิสถาน (2,670 กม.) กับอิหร่าน (921 กม.)
ภูมิประเทศ ทางเหนือและตะวันตกเป็นที่ราบสูง ส่วนทางตะวันออกและใต้เป็นที่ราบและที่ราบลุ่ม ปากีสถานมียอดเขาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ K2 หรือยอดเขา Godwin Austen (8,611 ม.)
วันชาติ 23 มี.ค. (วันประกาศเป็นสาธารณรัฐ 23 มี.ค.2499)
เชห์บาซ ชารีฟ
Shehbaz Sharif
(นรม.ปากีสถาน)
ประชากร 247,653,551 (ต.ค.2566) ประกอบด้วย เชื้อสายปัญจาบี 44.7% ปัชตุนหรือปาทาน 15.4% สินธี 14.1% Saraiki (แตกแขนงมาจากปัญจาบ) 8.4% โมฮาจีร์ 7.6% บาโลช 3.6% และอื่น ๆ 6.3% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 34.82% วัยรุ่นถึงกลางคน (15-64 ปี) 60.83% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.35% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 67.79 ปี ชาย 66.8 ปี หญิง 68.9 ปี อัตราการเกิด 26.01 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.94 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.91%
ศาสนา อิสลาม 96.5% (ซุนนี 85-90% ชีอะฮ์ 10-15%) ที่เหลือ ได้แก่ ฮินดู คริสต์ ซิกข์ และพุทธ
ภาษา ภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในการติดต่อธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีภาษาท้องถิ่นตามชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ ปัญจาบี 38.8% สินธี 14.6% ปัสโต 18.2% บาโลจิ 3% และภาษาถิ่นอื่น ๆ 2.4%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 58% ชาย 69.3% หญิง 46.5% เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถอ่านออกเขียนได้ มีมหาวิทยาลัยประมาณ 130 แห่ง เป็นของรัฐบาล 71 แห่ง และเอกชน 59 แห่ง โรงเรียนอาชีวศึกษา 730 แห่ง แบ่งระดับการศึกษาเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา
มีโรงเรียนสอนศาสนาทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนที่มีฐานะยากจน เนื่องจากผู้เรียนไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเล่าเรียน ที่พัก และค่าอาหาร อย่างไรก็ดี โรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งมักถูกโจมตีว่า เป็นแหล่งจัดหาสมาชิกใหม่ของกลุ่มก่อการร้าย
การก่อตั้งประเทศ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ก่อนได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ต่อมาได้ประกาศแยกดินแดนออกจากอินเดียเมื่อ 14 ส.ค.2490 ในช่วงแรก ปากีสถานมีพื้นที่ทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย จนกระทั่งปี 2514 เกิดสงครามกลางเมืองในพื้นที่ปากีสถานตะวันออก จนนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศและจัดตั้งเป็นบังกลาเทศในปัจจุบัน
การเมือง ปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และ นรม.เป็น
ผู้บริหารประเทศ แบ่งเขตการบริหารเป็น 4 แคว้น ได้แก่ แคว้นบาลูจิสถาน แคว้นปัญจาบ แคว้นสินธ์ และแคว้นไคเบอร์-ปัคตุนควา ส่วนพื้นที่ชนเผ่า แบ่งเป็น 7 เขต ได้แก่ Bajaur, Mohmand, Khyber, Orakzai, Kurram, North Waziristan และ South Waziristan รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นไคเบอร์-ปัคตุนควา นอกจากนี้ พื้นที่แคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานครอบครอง แบ่งเขตบริหารเป็น 2 เขต ได้แก่ Azad Kashmir และ Gilgit-Baltistan
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นผู้นำทางพิธีการ มาจากการสรรหาโดยสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาแห่งรัฐ มีวาระ 5 ปี ทำหน้าที่แต่งตั้ง ครม. โดยผ่านความเห็นชอบจาก นรม. ส่วน นรม. เป็นผู้บริหารประเทศ มาจากการสรรหาของสมาชิกสภาแห่งรัฐ ปัจจุบัน นาย อาริฟ-อูร-เราะฮ์มาน อัลวี เป็นประธานาธิบดี ส่วน นรม.เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้แทนของ
พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Anwaarul Haq Kakar สมาชิกวุฒิสภาจากแคว้นบาลูจิสถาน (สังกัดพรรค Balochistan Awami Party-BAP) ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง นรม.รักษาการ เมื่อ 12 ส.ค.2566 และได้เข้าพิธีสาบานตนเมื่อ
14 ส.ค.2566 เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในห้วงต้นปี 2567 ภายหลังจาก นรม.Shehbaz Sharif ประกาศยุบสภาเมื่อ 9 ส.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา 1) วุฒิสภา มีสมาชิก 104 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและโดยอ้อม วาระ 6 ปี โดยจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใหม่ครึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร
มีสมาชิก 342 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 272 คน (สำรองสำหรับสตรี 60 คน และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม 10 คน) วาระ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาล ประกอบด้วย ศาลสูงสุด ศาลอิสลาม ศาลสูง (มีในทุกรัฐและ
ที่อิสลามาบัด) ศาลท้องถิ่นและศาลเฉพาะด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ศาลคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ศาลคดียาเสพติด และศาลคดีการก่อการร้าย ศาลอิสลามมีอำนาจในการตรวจสอบและตัดสินว่ากฎหมายใด
ขัดกับหลักอิสลาม และรัฐบาลก็จำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักอิสลาม
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) Pakistan Muslim League-Nawaz (PML-N) เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน 2) Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) พรรคฝ่ายค้าน 3) Pakistan Peoples Party (PPP) 4) Muttahida Qaumi Movement (MQM) หรือ United National Movement 5) Pakistan Muslim League Quaid-i Azam (PML-Q) 6) Jamist-i Ulema-i Islam Fazl-urRehman (JUI-F) และ 7) Awami National Party (ANP)
เศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอุทกภัยครั้งร้ายแรง ทำให้ปากีสถานจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ปากีสถานเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ที่อยู่อาศัย ท่าเรือ และสนามบินในปากีสถานขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ปัญหาการเมือง ปัญหาความไม่สงบจากการก่อการร้าย และภัยธรรมชาติยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของปากีสถาน ส่งผลให้ปากีสถานยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศกำลังพัฒนา โดยประชากรมีรายได้ต่ำและว่างงานในอัตราที่สูง
ปีงบประมาณ 1 ก.ค.-30 มิ.ย.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปากีสถานรูปี (Pakistani Rupee/PKR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 275.45 ปากีสถานรูปี
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 7.54 ปากีสถานรูปี (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 389,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.5%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,716.43 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 73,780,029 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 7%
อัตราเงินเฟ้อ : 27.4%
ผลผลิตทางการเกษตร : ฝ้าย ข้าวสาลี ข้าว อ้อย ผลไม้ ผัก นม เนื้อวัว เนื้อแกะ และไข่
ผลผลิตอุตสาหกรรม : สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย อาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกระดาษ ปุ๋ย และกุ้ง
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 26,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : สิ่งทอ (เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน ผ้าฝ้ายและเส้นด้าย) ข้าว เครื่องหนัง เครื่องกีฬา เคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม และพรม
ประเทศคู่ค้า : สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน เยอรมนี อัฟกานิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสเปน
มูลค่าการนำเข้า : 105,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : น้ำมันปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องจักร พลาสติก อุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่งน้ำมัน กระดาษและกระดาษแข็ง เหล็กและเหล็กกล้า และชา
ประเทศคู่ค้า : จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ปิโตรเลียม (มีจำกัด) ถ่านหินคุณภาพต่ำ เหล็กกล้า ทองแดง ก๊าซธรรมชาติ เกลือ และหินปูน
การทหาร กองทัพปากีสถานมีกำลังพล 630,000 นาย แบ่งเป็น ทบ. ทอ. และ ทร. มีหน่วย National Command Authority ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารกำลังพล ควบคุมดูแลการพัฒนานิวเคลียร์ และองค์กรทางยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังสำรองอีก 150,000 นาย ประกอบด้วย หน่วยยามชายฝั่ง กองกำลังส่วนหน้า หน่วยป้องกันภัยทางทะเล หน่วยปฏิบัติการจู่โจม และหน่วยรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
ทบ. มีกำลังพล 550,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถังหลักอย่างน้อย 2,496 คัน
รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 1,605 คัน ปืนใหญ่อย่างน้อย 4,472 กระบอก บ.รบ 102 เครื่อง และ ฮ. 278 เครื่อง
ทร. มีกำลังพล 30,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นกองการบินทหารเรือ 2,000 นาย และ
นาวิกโยธิน 3,200 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำ 8 ลำ เรือฟริเกต 9 ลำ เรือตรวจการณ์ 17 ลำ และเรือลำเลียง 17 ลำ
ทอ. มีกำลังพล 50,000 นาย มีหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ หน่วยจู่โจม หน่วยต่อต้านสงครามภาคพื้น หน่วยปฏิบัติการค้นหาและบรรเทาสาธารณภัย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ บ.รบ 425 เครื่อง บ.ขับไล่ 190 เครื่อง และ บ.ลำเลียง 33 เครื่อง
นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติในอินเดียและปากีสถาน (United Nations Military Observer Group in India and Pakistan-UNMOGIP) อีก 43 นาย จาก 10 ประเทศ (มีทหารไทย 4 นาย) และปากีสถานส่งกำลังพลกว่า 7,120 นาย เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN)
งบประมาณทางทหาร 11,204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ปัญหาก่อการร้าย โดยกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามสำคัญ อาทิ กลุ่ม Tehrik-e Taliban Pakistan (TTP) ซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดนแคว้นไคเบอร์-ปัคตุนควา เพื่อปกครองตนเอง กลุ่ม Balochistan Liberation Army (BLA) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้น Balochistan ที่มุ่งก่อเหตุโจมตีรัฐบาลปากีสถานและผลประโยชน์จีนในปากีสถาน เฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนที่ทำงานในปากีสถาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลปากีสถานร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลจีน
2) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ ปัญหาค้ายาเสพติด เฉพาะอย่างยิ่งเฮโรอีนที่มีแหล่งผลิตในอัฟกานิสถาน ปัญหาขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ค้าแรงงาน การจัดทำหนังสือเดินทาง และเอกสารปลอม
3) ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน เมื่อปี 2565 ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 1 ล้านหลังคาเรือนได้รับความเสียหาย และเสียชีวิต 1,739 คน สาเหตุสำคัญเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูเขาน้ำแข็งละลาย และฝนตกหนักต่อเนื่อง
4) ปัญหาการช่วงชิงอำนาจระหว่างพรรคการเมืองสำคัญ 2 พรรค ได้แก่ พรรค Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) นำโดยนายอิมราน ข่าน อดีต นรม. กับ พรรค Pakistan Muslim League-Nawaz (PML-N) จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงบ่อยครั้ง หลายครั้งเกิดความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน
ไทยและปากีสถานสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 11 ต.ค.2494 ปัจจุบัน ไทยมี สอท. ณ อิสลามาบัด และ สกญ. ณ การาจี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลแคว้นสินธ์และแคว้นบาลูจิสถาน ไทยกับปากีสถานเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยไทยสนับสนุนปากีสถานในการปรับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาเต็มรูปแบบของอาเซียน ส่วนปากีสถานเคยช่วยคัดค้านไม่ให้นำปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าสู่ที่ประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation-OIC) ทำให้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกยกระดับเป็นปัญหาสากล รวมทั้งไม่เคยแสดงความคิดเชิงลบต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกเหนือจากกรอบของ OIC
ความสัมพันธ์ในเชิงการค้า ปากีสถานให้ความสำคัญกับไทยตามยุทธศาสตร์มองตะวันออก (Look East Policy) เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ส่วนไทยให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและมีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยเมื่อ ม.ค.-ต.ค.2566 การค้าทั้งสองฝ่ายมีมูลค่า 519.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 307.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออกไปปากีสถานมูลค่า 413.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากปากีสถานมูลค่า 105.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกจากไทยไปปากีสถาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากปากีสถาน ได้แก่ น้ำมันดิบ สัตว์น้ำและอาหารทะเลแช่แข็ง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลม และสุรา
ไทยกับปากีสถานมีเป้าหมายจะลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งเชิงนโยบายด้านการผลักดันให้เกิดความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) ไทย-ปากีสถาน และการขยายเครือข่ายเพื่อเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจระหว่างภาคเอกชน ๒ ฝ่ายให้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับปากีสถานยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่า จะสามารถเจรจาสำเร็จในปี 2567
ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน ปัจจุบันมีหลายภาคธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในปากีสถาน ได้แก่ บริษัทไทยยูรีเทน เคมิคอล อินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังปากีสถาน อาทิ บริษัทมาลีสามพราน บริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท และบริษัทซัมมิท ฟุตแวร์ (รองเท้าตรา Aerosoft) เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนปากีสถานได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand-BOI) จํานวน 4 ราย ในสาขาการผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และพรม
ปัจจุบัน มีคนไทยในปากีสถานประมาณ 1,198 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่สมรสกับชาวปากีสถาน 663 คน และนักศึกษาไทยในปากีสถาน 453 คน กำลังศึกษาอยู่ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และในโรงเรียนสอนศาสนา ทั้งยังมีการจัดตั้งสมาคมนักเรียนไทยในปากีสถาน ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า คนไทยให้ความสนใจไปศึกษาต่อในปากีสถานเพิ่มขึ้น
ข้อตกลงระหว่างไทยกับปากีสถาน ที่สำคัญได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ
(ปี 2499) พิธีสารแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
(ปี 2501) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2523) ความตกลงทางการค้า (ปี 2527) ความตกลงทางวัฒนธรรม (ปี 2534) บันทึก
ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง BOI ไทย-ปากีสถาน (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการส่งกำลังบำรุง (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจ
ว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่น ๆ (ปี 2547) พิธีสารว่าด้วยการปรึกษาและความร่วมมือระหว่างกระทรวง
การต่างประเทศไทยกับปากีสถาน (ปี 2547) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการโอนตัวผู้กระทำความผิดและการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ปี 2550) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างไทยกับปากีสถาน (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการค้าระหว่างไทยกับปากีสถาน (ปี 2556) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้ง
สภาธุรกิจร่วมระหว่างไทยกับปากีสถาน (ปี 2556)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
รัฐบาลปากีสถานจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในห้วงสัปดาห์สุดท้ายของ ม.ค.2567 ภายหลังรัฐบาลของนาย Shehbaz Sharif ประกาศยุบสภาเมื่อ 9 ส.ค.2566 และนาย Anwaar ul Haq Kakar สมาชิกวุฒิสภาจากแคว้นบาลูจิสถาน (สังกัดพรรค Balochistan Awami Party-BAP) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรักษาการ นรม.ปากีสถานอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ส.ค.2566 โดยการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรค Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) ของนายอิมราน ข่าน อดีต นรม. ที่พ้นตำแหน่งจากมติไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร กับพรรค Pakistan Muslim League-Nawaz (PML-N) ของนาย Shehbaz Sharif เริ่มรุนแรง นับตั้งแต่นาย Shehbaz ดำรงตำแหน่ง นรม. แทนนายอิมราน เมื่อ เม.ย.2565 โดยนายอิมรานและพรรค PTI จัดชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจนถึงพฤษภาคม 2566 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด และกล่าวหาพรรค PML-N ว่า บริหารประเทศล้มเหลว เฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ขณะที่สมาชิกพรรค PML-N ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ
การเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายอิมรานเป็นเวลา 5 ปี
การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Tehrik-e Taliban Pakistan (TTP) ยังไม่มีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากสมาชิกกลุ่ม TTP มีศักยภาพในการก่อเหตุสูง นอกจากนี้ รัฐบาลปากีสถานยังไม่มีท่าทีต้องการเจรจากับกลุ่ม TTP อีกครั้ง แต่ใช้วิธีกดดันรัฐบาลตอลิบันให้ยับยั้ง
การก่อเหตุของสมาชิกกลุ่ม TTP ซึ่งก่อเหตุโจมตีผลประโยชน์ของรัฐบาลปากีสถานอย่างต่อเนื่องในห้วงที่ผ่านมา โดยประกาศจะเนรเทศผู้อพยพชาวอัฟกันที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายประมาณ 1.1 ล้านคนออกนอกปากีสถานภายใน 1 พ.ย.2566 นอกจากนี้ ปากีสถานยังเสี่ยงจะเผชิญภัยคุกคามการก่อการร้ายจากกลุ่ม Islamic State (IS) มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มตอลิบันปราบปรามสมาชิกกลุ่ม Islamic State Khorasan Province (ISKP) ในอัฟกานิสถาน (เครือข่ายย่อยของกลุ่ม IS) ทำให้สมาชิกกลุ่ม ISKP บางส่วนหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในปากีสถานและอาจก่อเหตุต่อผลประโยชน์ของปากีสถานได้
ด้านต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศของปากีสถานมุ่งเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทุกประเทศ โดยเน้นการให้ความสำคัญกับจีนในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกผ่านการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor-CPEC) ร่วมกัน ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่อินเดียและสหรัฐฯ ว่า อาจเป็นภัยคุกคามอินเดียและสหรัฐฯ ในด้านยุทธศาสตร์การเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอินเดียไม่ราบรื่น เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อินเดียประกาศยกเลิกมาตรา 370 และข้อกำหนด 35a ในรัฐธรรมนูญ โดยปรับโครงสร้างเขตปกครองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir-J&K) ออกเป็น 2 ดินแดนสหภาพ