ก
สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน
Islamic Republic of Afghanistan
เมืองหลวง กรุงคาบูล
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียใต้ ค่อนไปทางเอเชียกลาง บริเวณเส้นละติจูดที่ 33 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 65องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 652,230 ตร.กม. ไม่มีทางออกทะเล เป็นจุดเชื่อมต่อเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ทำให้มีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ และได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจมาโดยตลอด
อาณาเขต ความยาวของเส้นพรมแดนทั้งหมด 5,987 กม.
ทิศเหนือ ติดกับทาจิกิสถาน (1,357 กม.) เติร์กเมนิสถาน (804 กม.) และอุซเบกิสถาน (144 กม.)
ทิศใต้ และตะวันออก ติดกับปากีสถาน (2,670 กม.)
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับจีน (91 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับอิหร่าน (921 กม.)
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ แหล่งน้ำธรรมชาติ
มีจำกัด ส่วนใหญ่รับน้ำจากแหล่งน้ำที่มีต้นทางในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งน้ำที่เกิดจากหิมะละลาย การขาดการพัฒนาระบบชลประทานทำให้ไม่สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และส่งผลให้อัฟกานิสถานต้องประสบปัญหาภัยแล้ง
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ แหล่งน้ำธรรมชาติ
มีจำกัด ส่วนใหญ่รับน้ำจากแหล่งน้ำที่มีต้นทางในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งน้ำที่เกิดจากหิมะละลาย การขาดการพัฒนาระบบชลประทานทำให้ไม่สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และส่งผลให้อัฟกานิสถานต้องประสบปัญหาภัยแล้ง
ภูมิอากาศ แล้งและกึ่งแล้ง มี 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ระหว่าง มี.ค.-พ.ค. อาจมีฝนและหิมะละลายฤดูร้อน ระหว่าง มิ.ย.-ส.ค. อากาศร้อน โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ บางพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ยกเว้นพื้นที่แถบภูเขา อากาศไม่ร้อนจัด และเย็นในตอนกลางคืน ฤดูใบไม้ร่วง ระหว่าง ก.ย.-พ.ย. และฤดูหนาว ระหว่าง ธ.ค.-ก.พ. อากาศหนาวจัด และมีหิมะปกคลุมเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บางพื้นที่ติดลบ 15-20 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อย คือ แผ่นดินไหว และภัยแล้ง
ศาสนา อิสลาม นิกายซุนนี 84.7-89.7% นิกายชีอะฮ์ 10-15% และอื่น ๆ 0.3%
ภาษา ภาษาราชการ ได้แก่ อัฟกันเปอร์เซียหรือดารี 77% ปัสโต 48% และภาษาอื่น ๆ ได้แก่ เติร์ก 3% และภาษาถิ่นอีกประมาณ 30 ภาษา 4%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 38.2% ชาย 52% หญิง 24.2% อย่างไรก็ดี แม้จะมีปัญหาด้านการศึกษา เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรทางการศึกษา ปัญหาความมั่นคงภายใน และค่านิยมทางวัฒนธรรม แต่ชาวอัฟกันที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกและเขียนได้ โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund-UNICEF) ประเมินว่า มีผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษากว่า80% ผู้ชายประมาณ 50%
รัฐบาลตอลิบันยังไม่อนุญาตให้นักเรียนและนักศึกษาหญิงที่เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับมหาวิทยาลัยเข้าเรียนตามปกติทุกแห่ง โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายชารีอะฮ์ อย่างไรก็ตาม อัฟกานิสถานมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษามากกว่า 40 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดสำคัญ เช่น Kabul University, American University of Afghanistan, Kandahar University, Herat University, Balkh University, Nangarhar University และKhost University
วันชาติ 19 ส.ค. (ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2462)
นาย Muhammad Hassan Akhund
Mullah Muhammad Hassan Akhund
(รักษาการ นายกรัฐมนตรี)
ประชากร 39,232,003 คน (ต.ค.2566) ประกอบด้วย เชื้อสายปัชตุนหรือปาทาน 42% ทาจิก 27% ฮาซารา9% อุซเบก 9% ไอมัก 4% และอื่น ๆ 4% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 39.8% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 57.35% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.85% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 65.98 ปี ชาย 64.5 ปี หญิง 67.6 ปี อัตราการเกิด 34.79 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 12.08 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 2.26%
การก่อตั้งประเทศ อัฟกานิสถานตั้งขึ้นจากการเข้าไปยึดครองพื้นที่ของชนเผ่าปาทานเมื่อศตวรรษที่ 18 โดยมีการจัดตั้งราชวงศ์ปกครอง ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกันดาฮาร์ ก่อนจะย้ายไปยังคาบูลในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อัฟกานิสถานกลายเป็นรัฐกันชนในการแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพโซเวียต ก่อนจะได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 19 ส.ค.2462 มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐบาล จนกระทั่งมีการยึดอำนาจปกครองเมื่อปี 2516
ต่อมา สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2522 ทำให้เกิดขบวนการมุญาฮิดีน ต่อต้านสหภาพโซเวียต โดยการสนับสนุนของสหรัฐฯ และปากีสถาน ทำให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกไปเมื่อปี 2532 แต่อัฟกานิสถานยังประสบปัญหาสงครามกลางเมือง เนื่องจากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่งกลุ่มตอลิบัน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาในปากีสถาน สามารถยึดครองคาบูลและขึ้นปกครองประเทศเมื่อปี 2539 ก่อนจะถูกโค่นล้มจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ เมื่อปี 2544 และเป็นการเริ่มต้นการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยครั้งใหม่ในอัฟกานิสถาน โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศตะวันตกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร
การเมือง ปกครองแบบรัฐอิสลาม (Islamic Emirate) คล้ายคลึงกับโครงสร้างสายการบังคับบัญชาของกลุ่มตอลิบัน รวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง ส่วนการปกครองท้องถิ่นแบ่งเขตการปกครองเป็น 34 จังหวัด
ฝ่ายบริหาร : นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน (ยังไม่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง) มีคณะรัฐมนตรีจำนวน 33 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มตอลิบัน
ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ : รัฐบาลตอลิบันยกเลิกระบบการปกครองแบบรัฐสภาและใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะฮ์) ปกครองประเทศ โดยรัฐบาลตอลิบันแต่งตั้งนาย Molavi Abdul Hakim Sharae ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมายโดยใช้หลักกฎหมายอิสลาม รวมทั้งแต่งตั้ง ผู้พิพากษาพิจารณาคดีความตามหลักกฎหมายอิสลาม นอกจากนี้ รัฐบาลตอลิบันให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ทำงานต่อไปร่วมกับผู้แทนของกลุ่มตอลิบัน
พรรคการเมือง : ยังไม่มีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง หลังจากกลุ่มตอลิบันยึดอำนาจการปกครอง และแต่งตั้งคณะรัฐบาลบริหารประเทศ
เศรษฐกิจ
อัฟกานิสถานประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2544 หลังจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรโค่นล้มรัฐบาลตอลิบันในขณะนั้น เนื่องจากเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่มตอลิบันกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ สนับสนุน นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการทุจริต และภัยจากการก่อความไม่สงบ การก่อการร้าย ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัย น้ำสะอาด ไฟฟ้า และการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข
ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอัฟกานิสถานมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเพียงเล็กน้อย ทำให้ต้องพึ่งพางบประมาณจากสหรัฐฯ และประเทศผู้บริจาค 80% ของงบประมาณทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของกลุ่มตอลิบันเมื่อ 15 ส.ค.2564 สหรัฐฯ ได้อายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถานจำนวน 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกระงับการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของอัฟกานิสถาน ทำให้รัฐบาลตอลิบันประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ ทั้งการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่และการดูแลประชาชน
ปีงบประมาณ 21 ธ.ค.-20 ธ.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : อัฟกานี (Afghani/AFN)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 75.26 อัฟกานี
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 2.06 อัฟกานี (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
(ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.7%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 410 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 9,695,409 คน
อัตราการว่างงาน : 20%
อัตราเงินเฟ้อ : 18.34%
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวสาลี ผลไม้ ถั่ว ขนสัตว์ เนื้อแกะ และหนังแกะ
ผลผลิตอุตสาหกรรม : สิ่งทอ สบู่ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ปุ๋ย เสื้อผ้า อาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ น้ำแร่ ซีเมนต์ พรมทอมือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และทองแดง
ดุลบัญชีเดินสะพัด : –
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 6,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 691.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ผลไม้ ถั่ว พรมทอมือ ผ้าขนสัตว์ ผ้าฝ้าย หนังสัตว์ อัญมณี และยาสมุนไพร
คู่ค้าสำคัญ : อินเดีย และปากีสถาน
มูลค่าการนำเข้า : 7,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
คู่ค้าสำคัญ : จีน อิหร่าน ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และมาเลเซีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็กกล้า และอัญมณี
การทหาร รัฐบาลตอลิบันแต่งตั้งนาย Mohammad Yaqoob ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการ รมว.กระทรวง กลาโหม เมื่อ 7 ก.ย.64 โดยสมาชิกตอลิบันบางส่วนทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งในเมืองหลวงและเมืองสำคัญทั่วประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลตอลิบันมีแผนจะรับทหารประจำการจำนวน 150,000 นาย โดยเปิดโอกาสให้อดีตทหารประจำการในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยสมัครคัดเลือกด้วย
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ปัญหาการก่อการร้ายและแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม โดยกลุ่มก่อการร้าย
ที่ก่อเหตุอย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถานและเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐบาลตอลิบัน ได้แก่ กลุ่ม Islamic State Khorasan Province (ISKP) นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะฮ์บางส่วนอาศัยอยู่ในอัฟกานิสถาน รวมทั้งสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลตอลิบัน อาทิ กลุ่ม Islamic Movement of Uzbekistan (IMU) กลุ่ม The East Turkestan Islamic Movement (ETIM)/ Turkistan Islamic Party (TIP)
2) ปัญหายาเสพติด เฉพาะอย่างยิ่งฝิ่นมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลตอลิบันมีนโยบายห้ามเกษตรกรชาวอัฟกันปลูกฝิ่น และจัดตั้งกระทรวงแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยข้อมูลของบริษัท Alcis ซึ่งศึกษาและนำเสนอข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ ระบุว่า นโยบายห้ามการปลูกฝิ่นของผู้นำสูงสุดตอลิบันส่งผลให้พื้นที่ปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานลดลงร้อยละ 85 โดยลดลงเหลือต่ำกว่า 30,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) ในปี 2566 จากจำนวนมากกว่า 210,000 เฮกตาร์ เมื่อปี 2565 ทั้งนี้ พื้นที่หลักที่มีการปลูกฝิ่นลดลง ได้แก่ จังหวัด Helmand จังหวัด Farah และจังหวัด Nimroz
3) ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหว โดยแผ่นดินไหวในอัฟกานิสถานเกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง เมื่อ ต.ค.2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คน ทั้งนี้ รัฐบาลตอลิบันขาดแคลนงบประมาณและไม่มีศักยภาพที่จะดูแลผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั้งการมอบเงินบริจาคและการส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยชาวอัฟกัน
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือ ทั้งในฐานะสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ รวม 48 แห่ง/กลุ่ม ที่สำคัญ เช่น SAARC, OIC, IOM, ADB, UNESCO และ UNHCR เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มตอลิบันยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานเมื่อ 15 ส.ค.2564 แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะรัฐบาลจากประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้การเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต้องสิ้นสุดลง
การขนส่งและโทรคมนาคม อัฟกานิสถานมีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ Hamid Karzai International Airport ในคาบูล Kandahar International Airport ในกันดาฮาร์ Mazar-e Sharif International Airport ในมะซารีชะรีฟ และ Herat International Airport ในเฮราต และมีฐานทัพอากาศ 3 แห่ง โดยมีสายการบิน Ariana Afghan เป็นสายการบินแห่งชาติที่ให้บริการทั้งเส้นทางการบินในประเทศและต่างประเทศ เส้นทางการบินระหว่างประเทศมีปลายทางที่ดูไบ อังการา อิสตันบูล ญิดดะฮ์ และมอสโก ส่วนสายการบินในประเทศอื่น ๆ ได้แก่ Kam Air, East Horizon Airways และ Safi Airways ระบบรถไฟที่ให้บริการในปัจจุบันมี 3 เส้นทาง เชื่อมต่อกับเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และอี๋วู่ มณฑลเจ้อเจียงของจีน และจะขยายเส้นทางเชื่อมกับอิหร่านและปากีสถาน การเดินทางในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่จะใช้รถประจำทางและรถยนต์ เส้นทางถนน ระยะทาง 42,150 กม. ด้านโทรคมนาคม อัฟกานิสถานมีหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 114,192 เลขหมาย (ปี 2559) โทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 21.6 ล้านเลขหมาย (ปี 2559) รหัสโทรศัพท์ +93 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 3,531,770 คน (ปี 2559) รหัสอินเทอร์เน็ต คือ .af
การเดินทาง ไม่มีเที่ยวบินตรงจากไทยไปอัฟกานิสถาน แต่สามารถเปลี่ยนเครื่องบิน เพื่อต่อไปยังอัฟกานิสถานได้ที่อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน โดยมีสายการบิน เช่น Turkish Airlines เอมิเรตส์แอร์ไลน์ และอินเดียแอร์ให้บริการเส้นทางเมืองหลวงของดินแดนสหภาพเดลี-คาบูล 24 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางดูไบ-คาบูล 48 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นักท่องเที่ยวไทยทุกคนที่เดินทางไปอัฟกานิสถานต้องขอรับการตรวจลงตรา แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) อัฟกานิสถาน ณ กรุงเทพฯ ดังนั้น นักท่องเที่ยวจำเป็นต้อง 1) ส่งหนังสือเดินทางราชการผ่านกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอรับการตรวจลงตราจาก สอท.อัฟกานิสถาน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และ 2) ขอรับการตรวจลงตราด้วยตนเองที่ สอท.อัฟกานิสถาน ณ ดูไบ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอัฟกานิสถานยังมีอันตรายสูงจากการสู้รบรุนแรงในหลายพื้นที่ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เวลาที่อัฟกานิสถานช้ากว่าไทย 2 ชม. 30 นาที
ความสัมพันธ์ไทย-อัฟกานิสถาน
ไทยฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอัฟกานิสถานหลังการโค่นล้มกลุ่มตอลิบันเมื่อปี 2544 หลังจากที่เคยยุติความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วงที่สหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2522 โดยดำเนินความสัมพันธ์ผ่านเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือระดับทวิภาคี เช่น ความช่วยเหลือเพื่อการบรรเทาทุกข์ การจัดการ-ฝึกอบรม และการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน นอกจากนี้ ไทยยังเคยส่งทหารช่างไปช่วยซ่อมแซมสนามบินบากรัมของอัฟกานิสถาน เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูบูรณะและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่าง เม.ย.-ก.ย.2546 สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอัฟกานิสถานยังมีไม่มาก เนื่องจากความไม่พร้อมของอัฟกานิสถาน ปัจจุบัน ยังไม่มี สอท.ไทยในอัฟกานิสถาน แต่ได้แต่งตั้งให้ สอท.ไทยในปากีสถาน มีเขตอาณาครอบคลุมถึงอัฟกานิสถาน และให้ ออท.ไทย/ปากีสถาน ดำรงตำแหน่ง ออท.ไทย/อัฟกานิสถาน ด้วย ขณะที่อัฟกานิสถานแต่งตั้งให้ ออท.อัฟกานิสถาน/ญี่ปุ่น เป็น ออท.อัฟกานิสถาน/ไทย ด้วยอีกตำแหน่ง
อัฟกานิสถานเป็นคู่ค้าลำดับที่ 163 ของไทยเมื่อปี 2561 และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล และภูฏาน ส่วนการค้าระหว่างประเทศของไทยกับอัฟกานิสถานเมื่อปี 2561 มีมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 627.3 ล้านบาท) ลดลง 23.53% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 20.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปอัฟกานิสถาน ได้แก่ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอัฟกานิสถาน ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
ทั้งนี้ อัฟกานิสถานยังไม่มีโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และยังไม่มีโครงการร่วมลงทุนของไทยในอัฟกานิสถาน ขณะที่ยังไม่มีคนไทยเดินทางไปอัฟกานิสถาน รวมถึงไม่ปรากฏข้อมูลคนไทยในอัฟกานิสถาน ซึ่งคาดว่ามีคนไทยน้อยมากหรือไม่มีเลย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
กลุ่มตอลิบันยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานเมื่อ 15 ส.ค.2564 และประกาศแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศเมื่อ 7 ก.ย.2564 อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่มีประเทศใดรับรองสถานะรัฐบาลของกลุ่มตอลิบัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ประกาศอายัดทรัพย์สินของอัฟกานิสถานจำนวน 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ IMF และธนาคารโลกระงับการเข้าถึงเงินกู้ ทำให้รัฐบาลตอลิบันประสบปัญหาการบริหารประเทศ ขาดงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่และใช้จ่ายสำหรับดูแลประชาชน
สหรัฐฯ UN และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอัฟกานิสถานตามหลัก
สิทธิมนุษยชนต่อไป ทั้งนี้ อัฟกานิสถานภายใต้การบริหารของรัฐบาลตอลิบันต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในประเทศจากกลุ่มก่อการร้าย Islamic State Khorasan Province (ISKP) ที่เป็นศัตรูสำคัญของกลุ่มตอลิบัน และก่อเหตุโจมตีบ่อยครั้งตั้งแต่กลุ่มตอลิบันประกาศจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
การบริหารประเทศของรัฐบาลตอลิบัน ภายใต้การปกครองแบบรัฐอิสลาม โดยใช้หลักกฎหมายอิสลามบริหารประเทศอีกครั้ง เป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในอดีต (ห้วงปี 2539-2544) กลุ่มตอลิบันปกครองอัฟกานิสถานแบบแนวคิดสุดโต่ง ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนอย่างรุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งสตรีและเยาวชน รวมทั้งชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ทั้งนี้ หลังการประกาศจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ กลุ่มตอลิบันประกาศจะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะเคารพสิทธิสตรี เยาวชน และชนกลุ่มน้อยมากขึ้น เพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญและจับตามองอย่างใกล้ชิด ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดรับรองสถานะรัฐบาลของกลุ่มตอลิบัน
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับปากีสถานกรณีเส้นแบ่งเขตแดน (Durand Line) เป็นประเด็นท้าทายของรัฐบาลตอลิบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับปากีสถาน นอกจากนี้ การที่รัฐบาลตอลิบันไม่สามารถโน้มน้าวให้กลุ่ม Tehrik-e Taliban Pakistan (TTP) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ยุติการก่อเหตุโจมตีต่อผลประโยชน์ปากีสถานได้ จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับปากีสถานที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอัฟกานิสถาน