สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
Islamic Republic of Iran
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูด 24-40 องศาเหนือและระหว่างเส้นลองจิจูด 44-64 องศาตะวันออกในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออกรวมทั้งตั้งอยู่บนชายฝั่งของอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบทางทะเลที่สำคัญที่สุดของโลก (ประมาณ 40% ของการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั่วโลก) มีพื้นที่ 1,648,195 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก และใหญ่ประมาณ 3.2 เท่าของไทย มีชายแดนทางบกยาว 5,894 กม. และมีชายฝั่งทะเลยาว 2,440 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอาร์เมเนีย (44 กม.) อาเซอร์ไบจาน (689 กม.) เติร์กเมนิสถาน (1,148 กม.) และทะเลสาบแคสเปียนยาว 740 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับอัฟกานิสถาน (921 กม.) และปากีสถาน (959 กม.)
ทิศใต้ ติดกับอ่าวเปอร์เซีย และอ่าวโอมาน โดยมีชายฝั่งยาว 1,700 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับตุรกี (534 กม.) และอิรัก (1,599 กม.)
ภูมิประเทศ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูเขามากที่สุดในโลก พื้นที่กว่า 95% เป็นเทือกเขาสูงและที่ราบสูง ภาคตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีภูเขามากที่สุด เทือกเขาสำคัญ ได้แก่ คอเคซัส ซากรอซ และอัลบอร์ซ โดยยอดเขา Damavand (สูง 5,610 ม. หรือ 18,406 ฟุต) ในเทือกเขาอัลบอร์ซ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอิหร่านและเขตยูเรเซีย ภาคกลางเป็นที่ราบสูงผืนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งประเทศต่อเนื่องเข้าไปถึงอัฟกานิสถานและปากีสถาน ภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ได้แก่ ทะเลทราย Dasht-e Kavir ซึ่งเป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน และทะเลทราย Dasht-e Lut ภาคเหนือปกคลุมด้วยพื้นที่ป่าฝนหนาแน่นที่เรียกว่า Shomal กับที่ราบชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียน ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบตั้งแต่ปากแม่น้ำ Shatt al-Arab (อิหร่านเรียกว่า Arvand Rud) บริเวณพรมแดนอิรัก-อิหร่าน ลงมาตามแนวชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ช่องแคบฮอร์มุซ และทะเลโอมาน
วันชาติ 11 ก.พ. (วันฉลองชัยชนะการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านเมื่อปี 2522)
นายอิบรอฮีม เราะอีซี
(His Excellency Ebrahim Raisi)
ประชากร 85,888,910 คน (ประมาณการ ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร ประชากรเป็นเปอร์เซีย 61% อาเซอรี 16% เคิร์ด 10% ลูร์ 6% บาลูช 2% อาหรับ 2% เติร์กเมน 2% และอื่น ๆ 1% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 24.11% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 70.02% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5.87% (ประมาณการปี 2563) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 74.5 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 73.71 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 76.48 ปี อัตราการเกิด 15.78 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.14 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.03% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ อิหร่านหรือเปอร์เซียในอดีตเริ่มก่อตั้งเป็นอาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาตั้งแต่ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล และพัฒนากลายเป็นจักรวรรดิเมื่อ 625 ปีก่อนคริสตกาล ศาสนาอิสลามเข้าสู่เปอร์เซียตั้งแต่ปี 1194 ส่วนเตหะรานได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์กอญัรตั้งแต่ปี 2338 มาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนชื่อประเทศจากเปอร์เซียเป็นอิหร่านซึ่งหมายถึง “ดินแดนของชาวอารยัน” มีขึ้นในรัชสมัยชาห์ เรซอ ปะห์ลาวี เมื่อปี 2478 กษัตริย์องค์สุดท้าย คือ ชาห์ มุฮัมมัด เรซอ ปะห์ลาวี ที่ปกครองประเทศแบบลุแก่อำนาจจนสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนและนำไปสู่การลุกฮือ ที่รู้จักทั่วไปว่า “การปฏิวัติอิสลาม” ภายใต้การนำของอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ มูซาวี โคมัยนี นักการศาสนาที่ได้รับความเคารพอย่างสูงซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส จนชาห์มุฮัมมัด ของอิหร่านต้องเสด็จฯ ไปลี้ภัยในต่างประเทศ เมื่อ 16 ม.ค.2522 และเสด็จสวรรคตที่อียิปต์เมื่อปี 2523 ขณะที่อายะตุลลอฮ์ โคมัยนีเดินทางกลับประเทศและเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามขึ้นเมื่อ 1 เม.ย.2522 โดยใช้บทบัญญัติของศาสนาอิสลาม (ชะรีอะฮ์) เป็นแนวทางปกครองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ ธ.ค.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2532)
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม (Islamic Republic) มีผู้นำสูงสุด (Rahbar) เป็นประมุขของรัฐทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน คือ อายะตุลลอฮ์ ซัยยิด อะลี ฮุซัยนี คอมะนะอี (อายุ 83 ปี/ปี 2565) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ มิ.ย.2532 มีประธานาธิบดี (Ra’is-e Jomhoor) เป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายอิบรอฮีม เราะอีซี (อายุ 62 ปี/ปี 2565) ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยแรก หลังจากชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 18 มิ.ย.2563 ด้วยคะแนนเสียงกว่า 18.02 ล้านคะแนน (72.4% ของผู้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง) และจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งใน มิ.ย.2568
รัฐธรรมนูญอิหร่านแบ่งอำนาจสูงสุดออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
ฝ่ายบริหาร : มีการจัดสรรอำนาจอย่างซับซ้อน ผู้นำสูงสุดเป็นประมุขของรัฐ มาจากการคัดเลือกโดยสภาผู้ชำนัญ (Assembly of Experts) วาระการดำรงตำแหน่งตลอดชีพ มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทุกเรื่อง รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลสำคัญหลายตำแหน่ง ขณะที่ประธานาธิบดีเป็นผู้นำรัฐบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 สมัย และดำรงตำแหน่งได้สูงสุดไม่เกิน 3 สมัย ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง ครม. โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา อำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดีเป็นของผู้นำสูงสุด
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาแบบสภาเดี่ยว คือ สภาที่ปรึกษาอิสลาม (Majles-e-Shura-ye-Eslami เรียกสั้น ๆ ว่า Majles) มีสมาชิก 290 คน ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและได้รับการรับรองจากสภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุด รอบแรกเมื่อ 21 ก.พ.2563 และรอบสองเมื่อ 11 ก.ย.2563 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมเมื่อ 17 เม.ย.2563 เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน ก.พ.2567 มีหน้าที่สำคัญ คือ การออกกฎหมาย การรับรองรายชื่อ ครม.ที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง การให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ การอนุมัติงบประมาณแผ่นดิน และ การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร
ฝ่ายตุลาการ : สภาตุลาการสูงสุด (High Council of the Judiciary) ซึ่งมีสมาชิก 4 คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำสูงสุด มีหน้าที่กำกับการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดนโยบายด้านกฎหมาย และมีอำนาจแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดและอัยการสูงสุด ระบบศาลของอิหร่านมีทั้งศาลที่พิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป (Public Courts) กับศาลปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Courts) ที่พิจารณาคดีอาญาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติและอุดมการณ์ปฏิวัติอิสลาม คำตัดสินของศาลปฏิวัติอิสลามถือเป็นที่สิ้นสุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษสำหรับนักการศาสนา (Special Clerical Court) ซึ่งเป็นอิสระจากระบบศาลข้างต้น มีหน้าที่พิจารณาคดีอาญาที่นักการศาสนาตกเป็นผู้ต้องหาโดยขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุด คำตัดสินของศาลนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรสำคัญอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ได้แก่
สภาผู้ชำนัญ (Assembly of Experts) สมาชิก 86 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี จัดประชุมอย่างน้อย 2 วันทุก 6 เดือน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้นำสูงสุดให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย อีกทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้นำสูงสุด แต่ไม่มีอำนาจคัดค้านการตัดสินใจของผู้นำสูงสุด ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 26 ก.พ.2559 ครั้งต่อไปใน ก.พ.2567
สภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (Guardian Council of the Constitution) สมาชิก 12 คน ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำสูงสุด 6 คน และอีก 6 คน เป็นผู้พิพากษาที่ประธานสภาตุลาการสูงสุดเสนอชื่อให้รัฐสภาพิจารณาคัดเลือก วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพิจารณาคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกระดับทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งเพื่อให้แน่ใจได้ว่า บุคคลเหล่านี้มีความภักดีต่ออุดมการณ์ปฏิวัติอิสลาม นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้งการออกกฎหมายบางฉบับให้รัฐสภานำกลับไปแก้ไขใหม่ได้ หากเห็นว่าขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักชะรีอะฮ์
สภาผู้ชี้ขาด (Expediency Discernment Council) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดองค์กรหนึ่ง สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำสูงสุด วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี สมาชิกสภาชุดปัจจุบันมี 28 คน ทำมีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านนโยบายแก่ผู้นำสูงสุด ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งไกล่เกลี่ยกรณีสภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญและรัฐสภามีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
พรรคการเมืองสำคัญ แบ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้แก่ 1) Combatant Clergy Association 2) Followers of the Guardianship of the Jurisprudent ของนายอะลี ลารีญานี อดีตประธานรัฐสภา 3) Front of Islamic Revolution Stability 4) Islamic Coalition Party 5) Militant Clerics Society 6) Islamic Iran Developers Coalition (Abadgaran) พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ของอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มัดดีเนญอด 7) United Front of Principlists 7) Broad Popular Coalition of Principalists ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมเคร่งจารีต และพรรคการเมืองฝ่ายปฏิรูป ได้แก่ 8) Council for Coordinating the Reforms Front แนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายปฏิรูปที่มีพรรค Islamic Iran Participation Front ของอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด คอตามี เป็นแกนนำ 9) Moderation and Development Party ของประธานาธิบดีฮะซัน รูฮานี 10) National Trust Party ของนายมะฮ์ดี กัรรูบี อดีตประธานรัฐสภา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม Green Path of the Hope ของนายมีร ฮอสเซน มูซาวี นักการเมืองสายปฏิรูป ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2552 ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่ม/พรรคการเมืองอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย
เศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง แต่การที่รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการควบคุมราคาสินค้าและอุดหนุนการผลิตสินค้าบางรายการ โดยปล่อยให้ภาคเอกชนมีบทบาทจำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การเกษตร การบริการ ทำให้เกิดการบิดเบือนของกลไกตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก นับตั้งแต่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันในประเทศเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสมัยอดีตประธานาธิบดีอะห์มัดดีเนญอด พยายามดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการลดการอุดหนุนราคาสินค้าประเภทอาหารและพลังงานเพื่อลดภาระของรัฐ หลังจากประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณ ปัญหาเงินเฟ้อและการว่างงานสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีรูฮานี ซึ่งได้รับเลือกตั้งต่อจากอดีตประธานาธิบดีอะห์มัดดีเนญอด เมื่อ มิ.ย.2556 และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อ พ.ค.2560 ดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ภาคการเงินและการธนาคาร สร้างบรรยากาศทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน ทั้งนี้ อิหร่านปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยระบบตลาดเพื่อหวังปูทางไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในอนาคต
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ : น้ำมันดิบมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 208,600 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 4 ของโลก) กำลังผลิตวันละ 1.985 ล้านบาร์เรล และส่งออกได้วันละประมาณ 404,500 บาร์เรล (ข้อมูลปี 2563 ของ OPEC) ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Iranian Oil Company-NIOC) ของรัฐบาลอิหร่าน มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับมากกว่าวันละ 4.5 ล้านบาร์เรล ภายในปี 2565 สำหรับก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว 34.07 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (มากเป็นอันดับ 2 ของโลก) กำลังผลิตวันละประมาณ 253,770 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งออกได้วันละ 12,670 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลปี 2563 ของ OPEC) นอกจากนี้ ยังมีแร่ธาตุสำคัญได้แก่ ถ่านหิน โครเมียม ทองแดง แร่เหล็ก ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี และกำมะถัน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รียาล (Rial)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 42,025 รียาล
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 1,268.77 รียาล (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 628,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของธนาคารโลก)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.5% (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 13,923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 12,730 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 39.3%
อัตราการว่างงาน : 10%
แรงงาน : 26.81 ล้านคน (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ได้เปรียบดุลการค้า 14,786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อปี 2563 ของ WTO)
มูลค่าการส่งออก : 54,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ พลาสติก สารเคมีอินทรีย์ เหล็กหล่อและเหล็กกล้า สินแร่ ผักและผลไม้ ปุ๋ย เกลือ กำมะถัน ปูนซีเมนต์ และทองแดง
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก ตุรกี เกาหลีใต้ อัฟกานิสถาน อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย โอมาน ไทย และอาเซอร์ไบจาน
มูลค่าการนำเข้า : 38,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรสำหรับภาคอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ ธัญพืช เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ เมล็ดพืชน้ำมัน อุปกรณ์ทางการแพทย์ สารเคมีอินทรีย์
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย ตุรกี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ รัสเซีย อิตาลี และสหราชอาณาจักร
การทหาร กองทัพอิหร่านมีขีดความสามารถมากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง อิหร่านใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารเมื่อปี 2563 ประมาณ 14,059 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.3% ของ GDP) นอกจากนี้ การที่อิหร่านต้องพัฒนาอาวุธขึ้นมาใช้งานเอง ในช่วงที่ต้องเผชิญมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติ (UN) และประเทศมหาอำนาจตะวันตก ส่งผลให้อุตสาหกรรมทางทหารของอิหร่านมีความก้าวหน้าและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอิหร่านสามารถผลิตรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ อาวุธปล่อยนำวิถี เรือดำน้ำ เรือรบ เรือพิฆาตติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีระบบเรดาร์ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่ และอากาศยานไร้คนขับ (UAV หรือ Drone) ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมการบินของอิหร่าน (Iran Aviation Industries Organization) อ้างเมื่อ ธ.ค.2561 ว่าศักยภาพการผลิต UAV ของอิหร่านอยู่ในอันดับ 5 ของโลก ขณะเดียวกันอิหร่านยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่กองทัพมีขีดความสามารถในการทำสงครามบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (cyber-warfare)
ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง มีสิทธิ์ขาดเพียงผู้เดียวในการประกาศและยุติสงคราม รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น
1) กองทัพแห่งชาติ (Islamic Republic of Iran Regular Forces) หรือ Artesh อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพแห่งชาติ (General Headquarters of Armed Forces) ขณะที่กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบการวางแผนส่งกำลังบำรุงและจัดสรรงบประมาณให้เหล่าทัพต่าง ๆ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการบัญชาการปฏิบัติการในสนามรบ ทั้งนี้ กองทัพแห่งชาติมีกำลังพลทั้งสิ้น 350,000 นาย ประกอบด้วย
– ทบ. กำลังพลประจำการ 130,000 นาย กำลังพลสำรอง 220,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง (MBT) ที่ผลิตขึ้นเองรุ่น T-72S จำนวน 480 คัน รุ่น M-60A1 จำนวน 150 คัน รุ่น T-62 กว่า 75 คัน รุ่น Chieftain Mk3/Mk5 จำนวน 100 คัน (เป็นรถถังของสหราชอาณาจักร ที่ประจำการตั้งแต่สมัยชาห์) รุ่น T-54/T-55/Type-59/Safir-74 จำนวน 540 คัน รุ่น M47/M48 จำนวน 168 คัน (เป็นรถถังของสหรัฐฯ ที่ประจำการตั้งแต่สมัยชาห์) รุ่น Karrar (ใช้รุ่น T-90MS ของรัสเซียเป็นต้นแบบ) รุ่น Tiam (ใช้รุ่น M47/M48 ของสหรัฐฯ เป็นต้นแบบ) และรุ่น Zulfiqar (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) รถถังเบา (LT/TK) รุ่น Scorpion กว่า 80 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่น EE-9 Cascavel จำนวน 35 คัน ยานยนต์อเนกประสงค์หุ้มเกราะ (IFV) รุ่น BMP-1 จำนวน 210 คัน รุ่น BMP-2 จำนวน 400 คัน และรุ่น BMT-2 Cobra (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น Boragh จำนวน 140 คัน รุ่น M113 จำนวน 200 คัน รุ่น BTR-50/BTR-60 จำนวน 300 คัน และรุ่น Rakhsh (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) จรวดนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL) แบบ MANPATS รุ่น 9K11 Malyutka รุ่น 9K11 Fagot รุ่น 9K113 Konkurs รุ่น Saeqhe และรุ่น Toophan (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อต้านรถถัง (RCL) ขนาดต่าง ๆ กว่า 200 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและเครื่องยิงลูกระเบิด (ARTILLERY) จำนวนกว่า 6,798 กระบอก ขีปนาวุธและอาวุธปล่อยทางยุทธวิธีแบบพื้นสู่พื้น (SRBM) รุ่น CSS-8 รุ่น Shahin-1/Shahin-2 รุ่น Nazeat และรุ่น Oghab (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) เครื่องบินลำเลียง (TPT) เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี (ATK) และแบบลำเลียง (TPT) รุ่นต่าง ๆ กว่า 230 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจลาดตระเวนและสอดแนม รุ่น Mohajer 3/4 รุ่น Mohajer 2 รุ่น Shahed 129 และรุ่น Ababil (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) (พิสัยใกล้) รุ่น FM-80 (พิสัยไกล) รุ่น 9K36 Strela-3 รุ่น 9K32 Strela-2 รุ่น Misaq 1/Misaq 2 รุ่น 9K338 Igla-S และรุ่น HN-5A (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่วิถีราบ (GUNS) รุ่นและขนาดต่าง ๆ รวม 1,122 กระบอก ระเบิด/ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน (BOMBS) แบบ Laser- guided และแบบ Electro-optical guided รุ่น Qeam ที่อิหร่านผลิตขึ้นเอง (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– ทร. เป็นกองกำลังที่มีขนาดเล็กที่สุดในกองทัพแห่งชาติ กำลังพลประจำการ 18,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นนาวิกโยธินประมาณ 2,600 นาย แต่มีศักยภาพสูงที่จะก่อกวนเส้นทางขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำปราบเรือดำน้ำ (SSK) ชั้น Kilo จากรัสเซียจำนวน 3 ลำ เรือดำน้ำใกล้ฝั่ง (SSC) ชั้น Fateh จำนวน 1 ลำ เรือดำน้ำเล็ก (SSW/SSM) ชั้น Ghadir จำนวน 14 ลำ และชั้น Nahang จำนวน 1 ลำ เรือคอร์เวต (เรือรบผิวน้ำขนาดเล็กติดตั้งขีปนาวุธ) ชั้น Jamaran จำนวน 2 ลำ ชั้น Alvand จำนวน 3 ลำ และชั้น Bayandor จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ (PCFG) ชั้น Kaman มากกว่า 14 ลำ เรือตรวจการณ์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือ (PBG) ชั้น Hendijan จำนวน 3 ลำ ชั้น Kayvan จำนวน 3 ลำ และชั้น Parvin จำนวน 3 ลำ เรือตรวจการณ์โจมตีเร็ว (PBFT) แบบกึ่งดำน้ำ ชั้น Kajami จำนวน 3 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (PBF/PB) ชั้น MIL55 จำนวน 1 ลำ ชั้น C14 จำนวน 9 ลำ ชั้น Hendijan จำนวน 9 ลำ ชั้น MkII จำนวน 6 ลำ และชั้น MKIII จำนวน 10 ลำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดกลาง (LSM) ชั้น Farsi จำนวน 3 ลำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LST) ชั้น Hengam จำนวน 3 ลำ เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก (LSL/LSSL) ชั้น Fouque จำนวน 6 ลำ เรือระบายพลขนาดใหญ่ (LCU) ชั้น Liyan 110 จำนวน 1 ลำ และชั้นอื่น ๆ รวม 10 ลำ เรือสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และปฏิบัติการทางน้ำชั้นอื่น ๆ รวม 18 ลำ ระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำรุ่น C-701 Kosar รุ่น C-704 Nasr รุ่น C-802 Noor รุ่น C-802A Ghader และ รุ่น Ra’ad (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) นอกจากนี้ มีการประจำการเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตีและแบบลำเลียงรุ่นต่าง ๆ รวมประมาณ 46 เครื่อง ในหน่วยนาวิกโยธิน ทั้งนี้ เรือดำน้ำและเรือรบส่วนใหญ่เป็นยุทโธปกรณ์ที่อิหร่านพัฒนาและผลิตขึ้นใช้เอง
– ทอ. เป็นกองกำลังที่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะแม้มีกำลังพลถึง 18,000 นาย แต่มีเครื่องบินรบที่สามารถใช้การได้ประมาณ 333 เครื่อง ส่วนใหญ่เข้าประจำการตั้งแต่สมัยชาห์ ด้วยเหตุนี้อิหร่านจึงพยายามพัฒนาเครื่องบินขึ้นเองเพื่อทดแทนของเก่า รวมทั้งสั่งซื้อเครื่องบินรบรุ่น Su-30 MKM จำนวน 250 เครื่อง เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศรุ่น II-78 MKI จากรัสเซียจำนวน 20 เครื่อง และเครื่องบินขับไล่ J-10 จากจีนจำนวน 2 ฝูงบิน อากาศยานที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ (FTR) รุ่น F-5B จำนวน 20 เครื่องรุ่น F-5E/F มากกว่า 55 เครื่อง รุ่น F-7M จำนวน 24 เครื่อง รุ่น F-14 จำนวน 43 เครื่อง รุ่น MiG-29/U/UB จำนวน 35 เครื่อง รุ่น Azarakhsh มากกว่า 6 เครื่อง เครื่องบินขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FAG) รุ่น F-4D/E จำนวน 62 เครื่อง รุ่น F-1E จำนวน 10 เครื่อง รุ่น Saegheh มากกว่า 6 เครื่อง รุ่น Su-22M4 มากกว่า 7 เครื่อง และรุ่น Su-22UM-3K มากกว่า 3 เครื่อง เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน (ATK) รุ่น Su-24MK จำนวน 29 เครื่อง รุ่น Su-25K จำนวน 7 เครื่อง และรุ่น Su-25UBK จำนวน 3 เครื่อง เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ (ASW) รุ่น P-3F Orion จำนวน 3 เครื่องเครื่องบินขับไล่และลาดตระเวน (ISR) รุ่น RF-4E Phantom มากกว่า 6 เครื่อง เครื่องบินลำเลียงและลาดตระเวน (TKR/TPT) รุ่นต่าง ๆ รวม 119 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่น Bell 412 จำนวน 2 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (MRH/TPT) รุ่นต่าง ๆ กว่า 36 เครื่อง ขีปนาวุธ/อาวุธปล่อยนำวิถี แบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น PL-24 รุ่น PL-4 รุ่น R-60 รุ่น R-73 รุ่น AIM-9J รุ่น R-27 รุ่น AIM-7E-2 และรุ่น AIM-54 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธ/อาวุธปล่อยนำวิถี แบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น AGM-65A รุ่น Kh-25 รุ่น Kh-25ML และรุ่น Kh-29L/T (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธ/อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น C-801K และ ขีปนาวุธต่อต้านเรดาร์ (ARM) รุ่น Kh-58 และระเบิด/ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน (BOMBS) แบบ Electro-optical guided รุ่น GBU-87/B ที่อิหร่านผลิตขึ้นเอง (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ เป็นกองกำลังที่แยกตัวออกมาจาก ทอ. มีกำลังพล 12,000 นาย ประจำการขีปนาวุธสำคัญ ได้แก่ ขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยไกล รุ่น S-200 Angara จำนวน 10 ลูก รุ่น S-300PMU2 จำนวน 32 ลูก รุ่น Bavar-373 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) พิสัยกลาง รุ่น MIM-23B มากกว่า 150 ลูก รุ่น S-75 จำนวน 45 ลูก รุ่น Talash (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) พิสัยใกล้ รุ่น FM-80 จำนวน 250 ลูก รุ่น 9K331 จำนวน 29 ลูก เครื่องยิงขีปนาวุธนำวิถีด้วยอินฟาเรด (Point-defence) รุ่น Rapier จำนวน 30 เครื่อง และรุ่น Misaq (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รุ่น ZU-23-2 และรุ่น GDF-002 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
2) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps-IRGC) หรือ Pasdaran ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุด มีกำลังพลมากกว่า 190,000 นาย ประกอบด้วย
– ทบ.ของ IRGC กำลังพลกว่า 150,000 นาย ภารกิจหลัก คือ การต่อต้านการก่อความไม่สงบภายในประเทศ ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์
– ทร.ของ IRGC กำลังพล 20,000 นาย ในจำนวนนี้รวมนาวิกโยธินประมาณ 5,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือโจมตีเร็วขนาดเล็กชั้นต่าง ๆ จำนวน 1,500 ลำ เครื่องบินรุ่น Bavar-2 ที่ผลิตเอง เฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 จากจีน อาวุธปล่อยต่อต้านเรือรุ่น C-701 Kosar รุ่น C-704 Nasr และรุ่น C-802 ที่ผลิตเอง และรุ่น HY-2 จากจีน แต่ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน เรือตรวจการณ์ชั้นต่าง ๆ รวม 126 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก ลำเลียงพลและยุทโธปกรณ์ และเรือสนับสนุนกำลังพล ชั้นต่าง ๆ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียงมากกว่า 5 ลำ
– ทอ.ของ IRGC มีกำลังพลในประจำการประมาณ 15,000 นาย แต่มียุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินรุ่น Sukhoi Su-25 จำนวน 10 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจลาดตระเวนและสอดแนมที่อิหร่านผลิตขึ้นเองรุ่น Ababil รุ่น Mohajer I/II/III/VI และรุ่น Shahed 129 ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังขีปนาวุธ (Missile Force) อยู่ในกำกับ และมีขีปนาวุธที่ผลิตเอง ได้แก่ ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลาง แบบพื้นสู่พื้น (MRBM) ระยะยิงไกลกว่า 1,000 กม. หลายรุ่น เช่น รุ่น Shahab-3 รุ่น Ghadr-1 รุ่น Emad-1 รุ่น Sajjil-2 ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากถึง 50 ลูก ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ แบบพื้นสู่พื้น (SRBM) ระยะยิงไกล 300-1,000 กม. หลายรุ่น เช่น รุ่น Fateh 110 รุ่น Khalij Fars รุ่น Shahab-1/-2 และรุ่น Zelzal ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากถึง 100 ลูก จรวดร่อน (GLCM) รุ่น Quds-1 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยกลาง รุ่น Khordad เครื่องยิงขีปนาวุธนำวิถีด้วยอินฟาเรด (Point-defence) รุ่น Misaq (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และระเบิด/ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน (BOMBS) แบบ Laser- guided และแบบ Electro-optical guided รุ่น Sadid ที่อิหร่านผลิตขึ้นเอง (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– กองกำลังปฏิบัติการพิเศษหรือ Qods Force (ตั้งชื่อตามนครอัลกุดส์หรือเยรูซาเลมที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล) เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่างประเทศ คาดว่ามีกำลังพลในประจำการประมาณ 5,000-15,000 นาย
– กองกำลังอาสาสมัครทหารพราน (Basij Force) ซึ่งอิหร่านอ้างว่ามีสมาชิกมากถึง 12.6 ล้านนาย แต่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีกำลังพลประจำการอยู่ที่ 600,000 นาย และอาจเรียกระดมพลในกรณีที่เกิดเหตุจำเป็นได้อีก 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีกองกำลังป้องกันชายแดนประมาณ 40,000-60,000 คน
ปัญหาด้านความมั่นคง
นับจากอิหร่านเปลี่ยนแปลงการปกครอง (การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน) เมื่อปี 2522 อิหร่านเผชิญกับปัญหาท้าทายรอบด้านที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ได้แก่
- 1. ความหวาดระแวงจากรัฐอาหรับเพื่อนบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐกษัตริย์รอบอ่าวอาหรับเคยสนับสนุนอิรักให้เข้ารุกรานจังหวัดคูซิสถานของอิหร่านเมื่อ 22 ก.ย.2523 จนกลายเป็นชนวนสงครามอิรัก-อิหร่าน ที่ยืดเยื้อถึง 8 ปี เพื่อตอบโต้การดำเนินนโยบายส่งออกการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม แม้อิรักกับอิหร่านจะยุติสงครามด้วยการทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 20 ส.ค.2531 แต่ความหวาดระแวงของรัฐกษัตริย์รอบอ่าวอาหรับยังคงดำรงอยู่ เนื่องจากกังวลว่าอิหร่านจะใช้อิทธิพลผ่านชุมชนมุสลิมชีอะฮ์ก่อเหตุวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในประเทศของตน
- 2. ความขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่ออิหร่านหลังเกิดเหตุนักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน เมื่อ 4 พ.ย.2522 และจับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เป็นตัวประกันไว้ 444 วัน ส่วนความขัดแย้งในประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านที่ยืดเยื้อมานานถึง 13 ปี ผ่อนคลายนับจากอิหร่านกับ P5+1 (สมาชิกถาวร UNSC และเยอรมนี) บรรลุแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อยุติปัญหาเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน (Joint Comprehensive Plan of Action-JCPOA) เมื่อปี 2558 และนำไปสู่การที่มหาอำนาจตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและภาคพลังงานของอิหร่านนับตั้งแต่ ม.ค.2559 แต่การที่อิหร่านไม่ยอมยุติการดำเนินโครงการพัฒนาขีปนาวุธและยังถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังคงบังคับใช้มาตรการลงโทษอิหร่านฝ่ายเดียวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีปนาวุธ การก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งในประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน กลับมาตึงเครียดและทวีความรุนแรงอีก นับจากรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวฝ่ายเดียวจาก JCPOA เมื่อ 9 พ.ค.2561 และนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ กลับมาบังคับใช้เพื่อกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และการขยายอิทธิพลในภูมิภาค
- 3. การพยายามก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มติดอาวุธ เห็นได้จากเหตุโจมตีรัฐสภาและสุสานอิหม่ามโคมัยนี ในกรุงเตหะรานเมื่อ 7 มิ.ย.2560 (มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 คน) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการก่อการร้ายของกลุ่ม Islamic State (IS) และถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่ม IS ประสบความสำเร็จในการก่อเหตุโจมตีในอิหร่าน ขณะเดียวกันอิหร่านยังเผชิญกับความพยายามก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มญุนดุลลอฮ์ หรือ People’s Resistance Movement of Iran (PRMI) ที่ต่อสู้ด้วยแนวทางรุนแรงเพื่อเรียกร้องสิทธิของมุสลิมซุนนีในอิหร่าน กลุ่ม al-Ahvaziya ซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดนและเคลื่อนไหวในจังหวัดคูซิสถานทางภาคใต้ของอิหร่าน โดยอ้างเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงในพิธีสวนสนามในเมืองอะห์วาซ ทางภาคใต้ของอิหร่านเมื่อ 22 ก.ย.2561 (มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน) กลุ่ม People’s Free Life Party of Kurdistan (PJAK) กลุ่มชาตินิยมชาวเคิร์ด ซึ่งต้องการสถาปนารัฐของชาวเคิร์ด และกลุ่ม Mujahedin-e-Khalq Organization (MEK หรือ MKO) ที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมมาร์กซิสต์ ซึ่งต้องการโค่นล้มระบอบสาธารณรัฐอิสลาม โดยกลุ่ม PJAK และกลุ่ม MKO ใช้ปฏิบัติการข้ามพรมแดนจากที่มั่นในภาคเหนือของอิรักเข้ามาลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญ โจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร และลอบสังหารบุคคลสำคัญ
ความสัมพันธ์ไทย–อิหร่าน
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-อิหร่าน ย้อนหลังไปไกลกว่า 400 ปี นับแต่การมาถึงของเฉกอะห์มัด กุมมี ชาวอิหร่านจากเมืองกุมที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2086 เพื่อเผยแผ่ศาสนาอิสลามและส่งเสริมการค้าจนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาบวรราชนายกและจุฬาราชมนตรี ส่วนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อ 9 พ.ย.2498 และไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งหรือแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน เฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 2522 ไทยเลือกดำเนินนโยบายเป็นตัวของตัวเองด้วยการไม่คว่ำบาตรอิหร่านตามสหรัฐฯ ทำให้อิหร่านซาบซึ้งน้ำใจและนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนไทยเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในช่วงที่อิหร่านดำรงตำแหน่งประธาน OIC ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเมือง เและวัฒนธรรมเป็นหลัก ผ่านการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) ไทย-อิหร่าน ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิชาการ การเกษตร และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐ ที่มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของแต่ละฝ่ายเป็นประธานร่วม (ฝ่ายไทยคือ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ หรือ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายอิหร่านคือ รมว.กระทรวงพาณิชย์) การประชุมล่าสุด ครั้งที่ 10 มีขึ้นที่กรุงเตหะราน ระหว่าง 6-8 ก.พ.2561 และการประชุม Political Consultations (PC) ระหว่างไทย-อิหร่าน ที่มีผู้แทนระดับอธิบดีกรมประจำกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละฝ่ายเป็นประธานร่วม (ฝ่ายไทยคือ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ฝ่ายอิหร่านคือ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก) การประชุมล่าสุด ครั้งที่ 4 ฝ่ายอิหร่านเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อ 27 ก.ค.2564
การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างสองฝ่ายที่สำคัญในระยะหลัง ได้แก่ การเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่าง 2-3 ก.พ.2559 การเยือนอิหร่านของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้แทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีฮะซัน รูฮานี เมื่อ 6 ส.ค.2560 ขณะที่นายมุฮัมมัด ญะวาด เซาะรีฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน (ตำแหน่งในขณะนั้น) เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 9-11 มี.ค.2559 และประธานาธิบดีรูฮานี ซึ่งเยือนไทยระหว่าง 8-10 ต.ค.2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Summit) ครั้งที่ 2 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีรูฮานีครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee-JTC) ครั้งที่ 1 เมื่อ 10 ต.ค.2559 มีผู้แทนระดับ รมว. แต่ละฝ่ายเป็นประธานร่วม (ฝ่ายไทยคือ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายอิหร่านคือ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้า) การเยือนไทยของนาย Mohammad Bagher Nobakht รองประธานาธิบดีอิหร่าน เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UN Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-UNESCAP) สมัยที่ 74 ระหว่าง 14-16 พ.ค.2561 และการเยือนไทยของนาง Masoumeh Ebtekar รองประธานาธิบดีอิหร่านด้านกิจการสตรีและครอบครัว เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-UNESCAP) ระดับรัฐมนตรีแห่งภูมิภาคเอเชียแปชิฟิก ที่ไทย ระหว่าง 26-27 พ.ย.2562
มูลค่าการค้าไทย-อิหร่าน เมื่อปี 2563 อยู่ที่ 237.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,394.93 ล้านบาท) ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 415.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,967.90 ล้านบาท) โดยเมื่อปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 133.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,144.74 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 103.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,250.20 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 29.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (894.54 ล้านบาท) ขณะที่มูลค่าการค้าเมื่อห้วง ม.ค.-ก.ย.2564 อยู่ที่ 220.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,914.21 ล้านบาท) ไทยส่งออกมูลค่า 116.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,631.41 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 104.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,282.80 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 11.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (348.60 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกของไทย เมื่อปี 2563 ได้แก่ ยางพารา รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตาข่ายจับปลา ข้าว เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่ม หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เซรามิก สินค้านำเข้าจากอิหร่านเมื่อปี 2563 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เชื้อเพลิงอื่น ๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
ด้านการท่องเที่ยว อิหร่านเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทยในตะวันออกกลางต่อเนื่องหลายปี นักท่องเที่ยวชาวอิหร่านส่วนใหญ่สนใจบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ โดยเมื่อปี 2562 มีชาวอิหร่านเดินทางมาไทยรวม 61,544 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอิหร่านที่ขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทท่องเที่ยวรวม 52,433 คน อย่างไรก็ดี ห้วงปี 2563 ทั่วโลก รวมทั้งไทยดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ห้วงปี 2563 มีชาวอิหร่านเดินทางมาไทย ลดลงอยู่ที่ 7,681 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวอิหร่านเดินทางมาไทย รวม 1,040 คน
สำหรับชาวไทย เมื่อ ม.ค.2563 มีชาวไทยพำนักอยู่ในอิหร่านประมาณ 300 คน เป็นเแรงงานภาคการประมงในพื้นที่ภาคใต้ของอิหร่านประมาณ 100 คน นักเรียนและนักศึกษาประมาณ 180 คน ที่เหลือเป็นพนักงานนวดสปา และคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ ส่วนการลงทุนของไทยในอิหร่าน ได้แก่ โครงการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับญี่ปุ่นและอิหร่าน และโครงการฟาร์มเลี้ยงกุ้งและปลา รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจับปลาและแปรรูปปลาป่นสำหรับทำอาหารสัตว์ในอิหร่าน ระหว่างบริษัท พี.ที.อินเตอร์มารีน จำกัด (บริษัทในเครือพรานทะเล) ของไทยกับบริษัท Qeshm Aquaculture Industrial และบริษัท Qeshm Fish Process ของอิหร่าน
หลังจากได้รับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ อิหร่านแสดงความประสงค์ให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ อีกทั้งต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ส่วนในภาคพลังงาน อิหร่านแสดงความประสงค์ให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กลับเข้าไปลงทุนในอิหร่านครอบคลุมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงก๊าซธรรมชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ ปทต.สผ. ถอนการลงทุนสำรวจและขุดเจาะน้ำมันแปลง Saveh (ได้รับสัมปทานเมื่อปี 2547) ตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากปัญหาด้านกายภาพของแหล่งน้ำมันที่ยากต่อการขุดเจาะ โดยเมื่อปลายปี 2559 ปตท.สผ.ได้ยื่นข้อเสนอแก่บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) เพื่อขอเข้าไปสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมัน 3 แห่งในอิหร่าน โดยเฉพาะแปลงน้ำมัน Changuleh ติดชายแดนอิรักที่คาดว่ามีปริมาณน้ำมันสำรอง 7,000 ล้านบาร์เรล แต่ไม่ได้รับเลือก นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเมื่อห้วงปี 2559 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการค้าทวิภาคีให้ขยายตัวถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 และผลักดันการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement-PTA) เพื่อเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน
ข้อตกลงสำคัญ : สนธิสัญญาทางไมตรี (เมื่อ 2 ก.พ.2510) ความตกลงทางการค้า (12 พ.ย.2512) ความตกลงทางวัฒนธรรม (11 ก.ย.2519) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ (12 ส.ค.2533) ข้อตกลงว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (6 ก.ค.2542) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (25 เม.ย.2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (23 เม.ย.2556) ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยีระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสภาพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติอิหร่าน หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุและวัคซีน ระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสถาบันพาสเตอร์แห่งประเทศอิหร่าน และหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างบริษัท ซินนาเจน แห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย (3 ก.พ.2559) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับศาลบัญชีสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (25 ก.ค.2560)
- 1. ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ในประเด็นการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ที่ยังตึงเครียดต่อเนื่อง นับจากสหรัฐฯ ถอนตัวจาก JCPOA ฝ่ายเดียวเมื่อ 9 พ.ค.2561 และนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านกลับมาบังคับใช้ ขณะที่อิหร่านตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการกลับไปดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ที่เข้าข่ายละเมิดเงื่อนไขใน JCPOA เมื่อปี 2558 ที่สำคัญคือ การผลิตและเก็บสำรองยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในปริมาณที่เกินขีดจำกัด JCPOA กำหนดไว้ อีกทั้งยังลอบโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยใช้กลุ่มติดอาวุธ (Proxy) ที่อิหร่านหนุนหลัง เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่พยายามเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้อิหร่านยอมรับเงื่อนไขใหม่ในการเจรจาฟื้นฟู JCPOA แลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ จะทยอยยุติมาตรการคว่ำบาตร เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ต้องการให้อิหร่านยุติการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธ ยุติขยายอิทธิพลผ่าน Proxy ในภูมิภาค และการให้ประเทศในภูมิภาคที่เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม เข้าร่วมเป็นภาคีคู่เจรจา JCPOA หรือ JCPOA Plus
- 2. เสถียรภาพของรัฐบาลอิหร่านชุดใหม่ภายใต้การบริหารของนายอิบรอฮีม เราะอีซี ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ หลังจากรัฐบาลอิหร่านชุดเดิมประสบปัญหาการชุมนุมประท้วงของชาวอิหร่านในกรุงเตหะรานและอีกหลายเมือง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งค่าครองชีพและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมในรัฐสภาอิหร่าน เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเพื่อรับมือและตอบโต้สหรัฐฯ ที่นำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกลับมาบังคับใช้กับอิหร่านอีก เฉพาะอย่างยิ่งการคว่ำบาตรภาคพลังงานของอิหร่านที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และการคว่ำบาตรภาคการเงินและธนาคารที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะภาคเอกชน EU และสหรัฐฯ หลายราย ตัดสินใจระงับการทำธุรกิจและถอนการลงทุนจากอิหร่าน เนื่องจากกังวลกับมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ
- ท่าทีต่อความขัดแย้งที่เป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียและพันมิตรอาหรับในภูมิภาค ได้แก่
3.1 ความขัดแย้งในซีเรียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักและเขตอิทธิพลอิหร่านที่ยังไม่ยุติ และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งในซีเรีย ที่อิหร่าน รัสเซีย และตุรกี ร่วมมือกันผลักดันการเจรจาดังกล่าวทั้งในกรอบ Astana Talks และ Sochi Talks ตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่การเจรจายังไม่บรรลุผล
3.2 การสู้รบระหว่างรัฐบาลเยเมนกับกลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษีในภาคเหนือของเยเมน ที่ยังไม่ยุติและตึงเครียดมากขึ้น โดยประเทศรัฐรอบอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียเชื่อว่าอิหร่านพยายามขยายเขตอิทธิพลเข้าไปในเยเมน ด้วยการสนับสนุนกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีให้ทำรัฐประหารและใช้ความรุนแรงยึดครองกรุงซานาและเมืองสำคัญต่าง ๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
- ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงอิหร่าน ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งนี้ นับตั้งแต่อิหร่านพบผู้ป่วยโรค COVID-19 สองรายแรกภายในประเทศ เมื่อ 19 ก.พ.2563 จนถึง 31 ต.ค.2564 มีผู้ป่วยโรค COVID-19 ในอิหร่าน รวม 5,924,638 ราย และเสียชีวิต 126,303 คน (มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศตะวันออกกลาง อันดับ 3 ของประเทศเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก)