เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
Hong Kong Special Administrative Region of the People’s Republic of China-HKSAR
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน ประกอบด้วย เกาะฮ่องกง เกาะลันเตา เกาลูน และ New Territories และเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะฮ่องกงกับเกาลูน 262 เกาะ มีอ่าววิคตอเรียกั้นระหว่างเกาะฮ่องกงและเกาลูน พื้นที่ประมาณ 1,106.66 ตร.กม. ความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 5,000 กม. จากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 5,500 กม. มีพรมแดนยาว 22,117 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงและห่างจากมาเก๊า 60 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศใต้ ติดกับทะเลจีนใต้
ภูมิประเทศ เกาะฮ่องกงมีขนาด 80.30 ตร.กม. เกาลูนมีขนาด 46.71 ตร.กม. และ New Territories และเกาะอื่น ๆ มีขนาดรวม 969.62 ตร.กม. เป็นแนวเขาทอดตัวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ทิศใต้ที่ต่อจากจีน ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเขาไม่เหมาะสำหรับการเกษตร ฮ่องกงมีแม่น้ำมากกว่า 200 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำที่สั้นและไม่มีชื่อ แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ Shing Mun, Lam Tsuen และ Tuen Mun
ภูมิอากาศ อยู่ในเขตกึ่งเขตร้อน ฤดูร้อน (พ.ค.-ก.ย.) ฤดูมรสุม (ก.ค.-ก.ย.) ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-กลาง พ.ค.) ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-ธ.ค.) และฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุด 31 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย/ปี 2,398 มม.
วันชาติ 1 ต.ค. (วันชาติจีน)
จอห์น ลี คา-ชิว
John Lee Ka-chiu
(หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง)
ประชากร 7.49 ล้านคน (ส.ค.2566) ความหนาแน่น 7,135/ตร.กม. ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน 92% เชื้อสายอื่น 8% อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ทั้งนี้ ชาวฮ่องกงมีอายุขัยเฉลี่ย 85.16 ปี (ปี 2565) ซึ่งสูงที่สุดในโลก สัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 33.33% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ฮ่องกงมีอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 0.9% เมื่อปี 2565 จึงออกมาตรการส่งเสริมการมีบุตรเมื่อ ต.ค.2566 โดยจะให้เงินอุดหนุน 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อทารก 1 คน แก่ผู้ปกครองที่เป็นผู้พำนักถาวรในฮ่องกง มีผลจนถึงปี 2569
ศาสนา ไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่นับถือพุทธนิกายมหายาน และลัทธิเต๋า
ภาษา จีนและอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาจีนกว่างตง 88.9% ภาษาจีนกลาง 1.9% ภาษาจีนท้องถิ่น 3.1% ภาษาอังกฤษ 4.3% และภาษาอื่น ๆ 1.9%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 93.5% (ปี 2566) ระบบการศึกษาของฮ่องกงได้รับการวางรากฐานจากการปกครองของสหราชอาณาจักร ที่ให้ความสำคัญกับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทักษะการอ่าน กฎหมายกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย คือ ระดับประถมศึกษา 6 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษามากกว่า 100 แห่งเริ่มใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน
การก่อตั้ง หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เมื่อปี 2385 จีนส่งมอบเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ และหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2403 จีนส่งมอบเกาลูนให้แก่อังกฤษตามอนุสัญญากรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ จีนให้อังกฤษเช่าพื้นที่ New Territories และเกาะโดยรอบ 235 เกาะเป็นเวลา 99 ปี นับตั้งแต่ 1 ก.ค.2441 ภายหลังสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในฮ่องกงจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ชาวจีนในฮ่องกงลดลงเหลือ 650,000 คนจาก 1.9 ล้านคน ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จากปัญหาขาดแคลนอาหาร จากนั้นอังกฤษกลับมาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ชาวจีนอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานตามเดิม และในปี 2513 ฮ่องกงเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคเอเชีย หรือ “เสือของเอเชีย” ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
จีนและอังกฤษเริ่มเจรจาร่วมกันถึงอนาคตของฮ่องกง และออกแถลงการณ์ร่วม Sino-British Joint Declaration ว่าด้วยการส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนใน 1 ก.ค.2540 ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ
สองระบบ” (One country, Two systems) และจีนอนุมัติกฎหมายพื้นฐานหรือ Basic Law ให้แก่ฮ่องกงเมื่อปี 2533 เพื่อเป็นธรรมนูญสูงสุดในการบริหารฮ่องกง
การเมือง ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน ตามที่ระบุในกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ฮ่องกงคืนสู่การปกครองของจีนเมื่อปี 2540 กฎหมายนี้ระบุให้ฮ่องกงธำรงไว้ซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมเป็นระยะเวลาอีก 50 ปี (ปี 2540-2590) ภายใต้หลักการนี้ จีนให้อิสระแก่ฮ่องกงในการบริหารบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ ยกเว้นด้านการต่างประเทศและด้านการทหาร
ฮ่องกงมีตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกจากคณะกรรมการเลือกตั้ง และได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลจีน มีหน้าที่ในการบริหารประเทศ การแก้ไขกฎหมายพื้นฐาน การลงนามในกฎหมายหรืองบประมาณ การประกาศใช้กฎหมาย
การกำหนดนโยบาย 2) คณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ 21 คน และไม่เป็นทางการ 16 คน โดยคัดเลือกจากข้าราชการอาวุโส สมาชิกสภานิติบัญญัติ และบุคคลสาธารณะ
มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและให้คำปรึกษาด้านการบริหารประเทศแก่หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 3) สภานิติบัญญัติ มีสมาชิก 90 คน (เดิมมี 70 คน) ในจำนวนนี้มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง 40 คน ได้รับการเลือกตั้งตามท้องที่ 20 คน และคัดเลือกตามความเหมาะสมจากสาขาอาชีพต่าง ๆ
อีก 30 คน สภานิติบัญญัติมีหน้าที่พิจารณาและร่างกฎหมาย อภิปรายในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ อนุมัติงบประมาณและร่างกฎหมาย และถอดถอนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา 4) สภาเขตฮ่องกง มีสมาชิก 479 คน (มาจากการเลือกตั้ง 452 ที่นั่ง และสมาชิกโดยตำแหน่ง 27 ที่นั่ง) ใน 18 พื้นที่
มีหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ วัฒนธรรมของชุมชน และให้คำแนะนำรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน และ 5) ผู้พิพากษาเป็นองค์กรอิสระจากสภานิติบัญญัติและคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยฮ่องกงใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี
เศรษฐกิจ ฮ่องกงเป็น 1 ในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ที่ภาคการบริการคิดเป็น 94% ของ GDP และเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับ 10 ของโลก (ปี 2565) โดยมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับ
ทำการค้ากับต่างประเทศ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะและล้อมรอบด้วยทะเล นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทั้งในเรื่องความโปร่งใสและมาตรการที่
เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และมีการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับจีนในระดับสูง ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน กับทั้งเป็นจุดเชื่อมระหว่างตลาดจีนกับตลาดโลกภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งสถาบัน Fraser Institute ของแคนาดาจัดอันดับให้ฮ่องกงมีเศรษฐกิจเสรีเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2566 รองจากสิงคโปร์ (คะแนนห่าง 0.01) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจฮ่องกงตกลงจากอันดับ 1 นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดอันดับเมื่อปี 2513 เป็นผลมาจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น ข้อจำกัดในการจ้างแรงงานต่างชาติ ประกอบกับความพยายามควบคุมภาคเอกชน ที่ส่งผลให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจของฮ่องกงลงลด
แม้ฮ่องกงประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง แต่นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายการเคลื่อนย้ายทุนและการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยเสรี ตลอดจนศักยภาพและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของฮ่องกง ซึ่งมีระบบการคลังที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ฮ่องกงมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 421,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สิ้น ก.ค.2566) ระบบธนาคารยังมีเงินทุนสูงด้วยอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Adequacy Ratio) ที่ 21% และเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงิน (Liquidity Coverage Ratio) อยู่ที่ 170% ในไตรมาสที่ 2/2566 บ่งชี้ว่าฮ่องกงยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เชื่อมกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Linked Exchange Rate System-LERS)
ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเป็นหลักประกันให้ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงยังมีเสถียรภาพที่อัตราแลกเปลี่ยน 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ฮ่องกงได้กำหนดแผนดึงดูดชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงทำงานในฮ่องกง โดยบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติคือ มีรายได้เฉลี่ย 2.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อปี หรือผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ใน 100 ของโลกในสาขาใดสาขาหนึ่ง และมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปี ชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงดังกล่าวจะสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์สำหรับการอยู่อาศัยและยื่นสมัครเป็นผู้พำนักถาวรได้ กับทั้งจะพัฒนา Headquarters Economy เพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง และจะอำนวย
ความสะดวกให้กับบริษัทต่างชาติในการเจาะตลาดจีน โดยให้พนักงานบริษัทที่เป็นชาวต่างชาติสามารถยื่นขอรับการตรวจลงตราที่ศูนย์ให้บริการวีซ่าจีนในฮ่องกงประเภทเข้าออกจีนหลายครั้ง เพื่อให้เอื้อต่อ
การเดินทางไปทำธุรกิจที่จีน
ภาพรวมเศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 2/2566 แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 1/2566 ที่ 2.9% เนื่องจากภาคการส่งออกที่อ่อนแอและมีการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนลดลง ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าฮ่องกงระหว่าง ม.ค.-พ.ค.2566 คิดเป็น 40% ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่วนการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 8.5% ในไตรมาสที่ 2/2566 แต่การส่งออกสินค้าลดลง 15.3% จากปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลฮ่องกงปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 จาก 3.5-5.5% เป็น 4-5% ขณะที่สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office-AMRO) คาดการณ์เมื่อ ก.ย.2566 ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงจะฟื้นตัวที่ 4.7% ในปี 2566 ก่อนจะลดลงเหลือ 3.3% ในปี 2567
ภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของ GDP ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผักสด
สัตว์ปีก เนื้อหมู ปลา
ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของ GDP อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การค้า การขนส่ง การบริการการเงิน การท่องเที่ยว การท่องเที่ยว และอิเล็กทรอนิกส์
ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 92.3% ของ GDP ได้แก่ การเงิน การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีทางการเงิน
สกุลเงิน : ดอลลาร์ฮ่องกง อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ฮ่องกง : 7.82 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง : 4.63 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 183,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-มิ.ย.2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.5% (เม.ย.-มิ.ย.2566)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 6,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไตรมาสที่ 2/2566)
ดุลการค้า : ขาดดุล 8,253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 49,464 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
แรงงาน : 3,708,000 คน (ห้วง พ.ค.-ก.ค.2566)
อัตราการว่างงาน : 2.8% (ห้วง ก.ค.-ก.ย.2566)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 1.9% (ปี 2566)
มูลค่าการส่งออก : 48,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2566)
สินค้าส่งออกสำคัญ : อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องเสียงและโทรคมนาคม เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ (ก.ย.2566)
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเก๊า (ก.ย.2566)
มูลค่าการนำเข้า : 56,862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2566)
สินค้านำเข้าสำคัญ : เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเบ็ดเตล็ด อาหารและสัตว์มีชีวิต (ก.ย.2566)
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ (ก.ย.2566)
การทหาร ฮ่องกงไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง แต่มีกองกำลังของกองทัพจีนประจำการประมาณ 10,000-12,000 นาย อย่างไรก็ดี ฮ่องกงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ครอบคลุมทั้งดับเพลิง จับกุมคนร้าย ตรวจคนเข้าเมือง และให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน โครงสร้างตำรวจฮ่องกงอยู่ภายใต้การควบคุมของ
ผู้บัญชาการตำรวจ 1 นาย และรองผู้บัญชาการตำรวจ 2 นาย ซึ่งแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบด้านปฏิบัติการและการจัดการกองกำลัง
โครงสร้างตำรวจฮ่องกงแบ่งเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายอาชญากรรมและความมั่นคง ฝ่ายกำลังพลและการฝึกซ้อม ฝ่ายการจัดการ และฝ่ายการเงินและการวางแผน ซึ่งกระจายทั่วพื้นที่สำคัญ 6 แห่ง คือ เกาะฮ่องกง เกาลูนตะวันออก เกาลูนตะวันตก New Territories เหนือ New Territories ใต้ และทะเล นอกจากนี้ ฮ่องกงมีตำรวจทะเล 114 นาย ซึ่งมีภารกิจลาดตระเวนพื้นที่ทางน้ำ 1,641 กม. รอบฮ่องกงและเกาะขนาดเล็กจำนวน 261 แห่ง โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเฝ้าระวังทางชายฝั่ง ระบบเรดาห์ และบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เพื่อรักษาความปลอดภัยการขนส่งนานาชาติและความปลอดภัยของท่าเรือโดยสำนักงานตำรวจฮ่องกงจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มอัตรากำลังร้อยละ 14 ระหว่างปี 2565-2566 กับทั้งเพิ่มงบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์และยานพาหนะปราบจลาจลเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564-2565
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ฮ่องกงจะเร่งผลักดันกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) มาตรา 23 ให้แล้วเสร็จในปี 2567 กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ฮ่องกงต้องร่างกฎหมายของตนเอง เพื่อป้องกันการกระทำใด ๆ ที่เป็นการกบฏ การแบ่งแยกดินแดน การปลุกระดม การโค่นล้มรัฐบาลกลาง การจารกรรมข้อมูลลับของรัฐ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฮ่องกงขององค์กร/หน่วยงานต่างชาติ และการที่หน่วยงานท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 7 ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับปี 2563 ที่จีนร่าง ซึ่งระบุให้ฮ่องกงออกกฎหมายปกป้องความมั่นคงมาตรา 23 โดยเร็ว ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายทั้งสองฉบับจะไม่
ทับซ้อนกัน แต่เป็นการเสริมประสิทธิภาพให้กับกฎหมายความมั่นคงปี 2563 โดยกฎหมายมาตรา 23
มีจุดประสงค์เพื่อให้บริษัทและองค์กรท้องถิ่นยกระดับการคุ้มครองโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ อย่างไรก็ดี ความพยายามผ่านกฎหมายมาตรา 23 ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2546 ล้มเหลวหลังจาก
ชาวฮ่องกง 500,000 คนออกมาชุมนุมต่อต้าน
การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติปี 2563 เป็นผลให้สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮ่องกง 11 คน เมื่อปี 2563 ที่สำคัญคือ นางแครี่ แลม และนายจอห์น ลี ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย และทำให้สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2566 ไม่เชิญนายจอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ พ.ย.2566 แต่ฮ่องกงยังสามารถส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้
2) ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในฮ่องกงทวีความรุนแรงขึ้น โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุด 10% ของฮ่องกงมีรายได้ 2,300 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเกือบ 60 เท่าของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่สุด ซึ่งได้มีรายได้ 132,600 ดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 34.3 เท่าเมื่อปี 2562 และมีประชาชนมากกว่า 1,360,000 คนตกอยู่ในสภาวะความยากจนในไตรมาสที่ 1/2566 ขณะที่ค่ากลางรายได้ครัวเรือน (Median Household Income) อยู่ที่ 29,500 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับห้วงก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ช่องว่างของความมั่งคั่งสะท้อนว่า แม้ฮ่องกงจะกลับสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาด แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีรายได้สูงกับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่ง
ความไม่เท่าเทียมของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงงานทักษะต่ำสูญเสียงานที่ถูกเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้นจากการระบาดของโรค COVID-19
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคงภายใน เช่น กลุ่มชุมนุมประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยและความเชื่อมโยงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในไทย และการเคลื่อนไหวของแกนนำสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงในต่างประเทศ
2) การสนับสนุนประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง จากชาติตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
3) การออกกฎหมายพื้นฐานมาตรา 23 ในปี 2567 ซึ่งสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2563
4) การพัฒนาและผลกระทบทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินของโลก จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
5) การบูรณาการเศรษฐกิจฮ่องกงกับเศรษฐกิจจีน ภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ
6) นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับไทย อาทิ การพัฒนา Smart City การเชื่อมโยง
ในภูมิภาคภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) การขยายความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area (GBA)
ความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง
ฮ่องกงจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ ก.พ.2562 ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกง กับทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการไปลงทุนในฮ่องกง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือ GBA กรอบความร่วมมือในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และ BRI
ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 และตลาดส่งออกอันดับที่ 8 ของไทยระหว่าง ม.ค.-ส.ค.2566 โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงลดลง 5.47% หรือมูลค่า 8,633 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากฮ่องกงลดลง 3.7% หรือมูลค่า 6,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุลการค้า 4,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปฮ่องกง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว และผลไม้สด
ข้อตกลงที่สำคัญ อนุสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนไทย-ฮ่องกง (ปี 2548) ความตกลงการค้าเสรีฮ่องกง-อาเซียน (ปี 2562) ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปี 2562)
นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นรม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเยือนฮ่องกงเมื่อ 9 ต.ค.2566 และได้พบหารือกับนายจอห์น ลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย ก่อนหน้านี้ นายอัลเจอร์นอน เหยา ผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้านพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง เข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้า Think Business, Think Hong Kong ที่กรุงเทพฯ เมื่อ
13-14 ก.ค.2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการค้าสินค้าและบริการ การระดมเงินทุน การค้า และ
การเปิดตลาดไปสู่สากล และร่วมเปิดห้างสรรพสินค้า Big C สาขาแรกในฮ่องกง เมื่อ ก.ย.2566