ไต้หวัน
Republic of China
เมืองหลวง ไทเป
ที่ตั้ง เป็นเกาะในทะเลจีนใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตรงข้ามมณฑลฝูเจี้ยน บริเวณเส้นละติจูดที่ 25 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 121 องศาตะวันออก มีช่องแคบไต้หวันซึ่งกว้างประมาณ 130 กม. ยาว 220 กม. คั่นอยู่พรมแดน ด้านเหนือใกล้ญี่ปุ่น ทางใต้ใกล้ฟิลิปปินส์ ตะวันออกคือ มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ เกาะไต้หวันมีความยาวจากเหนือ-ใต้ ประมาณ 400 กม. และกว้างสุดจากตะวันออก-ตะวันตก 145 กม.
อาณาเขต ประกอบด้วย หมู่เกาะไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู หมู่เกาะคินเหมินและมัตสุ (หม่าจู) พื้นที่รวมประมาณ36,000 ตร.กม. ใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์
ภูมิประเทศ 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นภูเขาที่ลาดลง เป็นที่ราบทางตะวันตก โดยมีเทือกเขาขนาดใหญ่และขนาดกลางทอดตัวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ของตัวเกาะ ยอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหยกหรือยูซันสูง 3,952 ม. มีแม่น้ำสายสั้น ๆ และไหลเชี่ยว มีพื้นที่เพาะปลูก 24%
ภูมิอากาศ สภาพอากาศเป็นกึ่งโซนร้อน ฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ย 25-28 องศาเซลเซียส อากาศโดยทั่วไปทางตอนใต้ร้อนกว่าทางตอนเหนือ ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากเฉลี่ย 2,580 มม.ต่อปี บริเวณที่มีฝนตกชุกคือ บริเวณตอนเหนือของเกาะ และยังต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหวเสมอ
วันชาติ 10 ต.ค.
น.ส.ไช่ อิงเหวิน
Tsai Ing-wen
(ประธานาธิบดีไต้หวัน)
นายไล่ ชิงเต๋อ
Lai Ching-te
(รองประธานาธิบดี)
ประชากร 23.26 ล้านคน (ปี 2565) เป็นชาวไต้หวัน 84% จีนแผ่น ดินใหญ่ 14% ชาวเขา/พื้นเมือง 2%ชาวไต้หวันมีอายุขัยเฉลี่ย 79.84 ปี โดยอัตราการเกิดของไต้หวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจะเผชิญปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกภายในปี 2578 โดยอัตราการเกิดอยู่ที่ 138,986 คนเมื่อปี 2565 ลดลง 14,834 คนจากปี 2564 ขณะที่อัตราผู้สูงอายุของไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะมากกว่า 20% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดภายในปี 2568
ศาสนา ผสมผสานระหว่างพุทธขงจื่อและเต๋า 93% คริสต์ 4.5% และอื่น ๆ 2.5%
ภาษา ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ ภาษาท้องถิ่นคือ ไต้หวันและฮักกา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือของประชาชน 99.1% จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา 88% ไต้หวันปฏิรูประบบการศึกษาในช่วงทศวรรษ 2000 (ปี 2543-2552) เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา และการศึกษาทางการช่างเป็นมหาวิทยาลัย ไต้หวันมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 137 แห่ง และวิทยาลัยวิชาชีพ 12 แห่ง มี Academy Sinica หรือบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของไต้หวัน
มีสถาบันต่าง ๆ ในสังกัด 24 แห่ง และศูนย์วิจัย 3 แห่งใน 3 สาขา ได้แก่ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีววิทยา และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยของไต้หวันมีจำนวน
เกินอุปสงค์และมีการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาของไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยจะลดลงเฉลี่ย 3,400 คนต่อปีในห้วง 16 ปีข้างหน้า เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ และคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 150,000 คนภายในปี 2581
การก่อตั้งประเทศ หลังจากกองทัพของ พล.อ. เจียงไคเช็คพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ชาวจีนประมาณ 2 ล้านคน อพยพไปตั้งถิ่นฐานในไต้หวันเมื่อ ต.ค.2492
การเมือง ประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำกองทัพ และเป็นตัวแทนของชาติในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ มีอำนาจสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำสภาบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกเป็นสมัยที่ 2
โครงสร้างการปกครองรัฐธรรมนูญไต้หวันแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 5 สภา (The Five Yuans) ได้แก่ 1) สภาบริหาร (The Executive Yuan) 2) สภานิติบัญญัติ (The Legislative Yuan) 3) สภาตุลาการ (The Judicial Yuan) 4) สภาตรวจสอบและคัดเลือก (The Examination Yuan) และ 5) สภาควบคุม (The Control Yuan) ทั้ง 5 สภามีอำนาจการบริหารประเทศสูงสุด
สภาบริหาร : (The Executive Yuan หรือคณะรัฐมนตรี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับผิดชอบการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล มีการจัดองค์กรย่อย 3 ระดับ ภายใต้สภาบริหาร คือ 1) คณะมนตรีสภาบริหาร (ExecutiveYuan Council) คือ คณะรัฐมนตรี 2) องค์การบริหาร (Executive Organizations) คือ กระทรวงและคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง 3) หน่วยงานขึ้นตรง (Subordinate Departments) รวมไปถึงสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสถิติ กรมประชาสัมพันธ์คณะกรรมาธิการพิเศษอื่น ๆ และคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจ
สภานิติบัญญัติ : (The Legislative Yuan) เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของสภาบริหาร ผู้แทนของสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี สภานิติบัญญัติมีสมัยประชุมปีละ 2 ครั้ง และมีอำนาจในการออกกฎหมายทั่วไป การรับรองคำสั่งฉุกเฉิน การตรวจสอบร่างรัฐบัญญัติงบประมาณและการตรวจสอบรายงานทางบัญชี การรับรองรัฐบัญญัติที่ออกโดยกฎอัยการศึก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สภาตุลาการ : (The Judicial Yuan) ดูแลระบบตุลาการของประเทศ ทั้งนี้ ระบบตุลาการของไต้หวันมีศาลชั้นต้น (The District Court) ศาลอุทธรณ์ (The High Court) และศาลฎีกา (The Supreme Court) สภาตุลาการเป็นองค์กรด้านตุลาการสูงสุดของประเทศ โดยควบคุมกระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลฝ่ายบริหาร และคณะกรรมาธิการระเบียบวินัยข้าราชการ สภาตุลาการมีประธาน รองประธาน และตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาควบคุม
สภาตรวจสอบและคัดเลือก : (The Examination Yuan) ดูแลและจัดระบบกิจการพลเรือนรับผิดชอบในการสอบสวน การแต่งตั้ง การคัดเลือก การใช้จ่ายเงินของข้าราชการในสังกัดของรัฐบาล
สภาควบคุม : (The Control Yuan) เป็นฝ่ายควบคุมสูงสุดของชาติ มีสิทธิในการให้ความคิดเห็น การพิจารณาความผิดของข้าราชการ การตักเตือน การลงโทษ และการตรวจสอบบัญชี สภาควบคุมมีอำนาจในการถอดถอน จนท.ของรัฐ
เศรษฐกิจ ไต้หวันมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และปิโตรเคมี เศรษฐกิจไต้หวันมีจุดแข็งสำคัญจากนโยบายทางการเงินระดับมหภาค สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลที่โปร่งใส และมีเงินสำรองระหว่างประเทศ 554,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 6 ของโลกเมื่อสิ้นปี 2565 ถัดจากจีน ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และอินเดีย ขณะที่นโยบายของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมนโยบาย New Southbound เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้มากขึ้น
การที่เศรษฐกิจไต้หวันพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่อุปสงค์ทั่วโลกลดลง และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ประกอบกับไต้หวันมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอัตราการเกิดต่ำ การเพิ่มสูงขึ้นของผู้สูงอายุและอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ไต้หวันมีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคต และการลดลงของอุปสงค์และรายได้จากการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ ธนาคารกลางไต้หวันปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เป็น 1.46% เมื่อ ก.ย.2566 จากเดิม 1.72% เนื่องจากภาคการส่งออกของไต้หวันหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 12 โดยห้วง ม.ค.-ส.ค.2566 ลดลง 7.3% เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานเมื่อ ต.ค.2566 ปรับลดคาดการณ์
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันปี 2566 เหลือ 0.8% ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของ COVID-19
สกุลเงิน : ดอลลาร์ไต้หวัน อัตราแลกเปลี่ยน 32.39 ดอลลาร์ไต้หวัน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ
1 ดอลลาร์ไต้หวัน : 1.13 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 761,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.43% (ปี 2565)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 101,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
ดุลการค้า : เกินดุล 68,989 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 32,811 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
แรงงาน : 11.85 ล้านคน (ปี 2565)
อัตราการว่างงาน : 3.42% (ส.ค.2566)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 2.93% (ก.ย.2566)
มูลค่าการส่งออก : 479,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้าส่งออกสำคัญ : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ปิโตรเคมี ยานยนต์และส่วนประกอบ เรือ อุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สาย จอแสดงผลแบบแบน เหล็ก พลาสติก คอมพิวเตอร์
คู่ค้าส่งออกสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้
มูลค่าการนำเข้า : 427,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมัน เซมิคอนดักเตอร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เหล็ก คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สาย ยานยนต์ สารเคมี สิ่งทอ
คู่ค้านำเข้าสำคัญ : จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ อาเซียน และตะวันออกกลาง
การทหาร
กองทัพไต้หวันมีกำลังพลทั้งหมด 1,681,500 นาย กองปฏิบัติหน้าที่ 170,000 นาย กองกำลังทหารสำรอง 1,500,000 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 11,500 นาย ในปี 2567 ครม.ไต้หวันเสนองบประมาณทางการทหาร 19,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 2566 ซึ่งคิดเป็น 15% ของรายจ่ายของรัฐบาลทั้งหมด เพื่อจัดยุทโธปกรณ์ใหม่และพัฒนากองทัพไต้หวันให้ทันสมัย โดยค่าใช้จ่ายทางทหารของไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2% ของ GDP เมื่อปี 2560 เป็น 2.5% ของ GDP ในปี 2567
ทบ.กำลังพล 100,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถังหลัก 1,012 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 272 กระบอก และปืนใหญ่แบบลากจูง 1,760 กระบอก
ทร.กำลังพล 40,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือลาดตระเวน 43 ลำ เรือฟริเกต 22 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ และเรือคอร์เวต 2 ลำ
ทอ.กำลังพล 35,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ 285 ลำ เฮลิคอปเตอร์จู่โจม 91 ลำ เครื่องบินขนส่ง 19 ลำ และเครื่องบินสำหรับภารกิจพิเศษ 19 ลำ
ไต้หวันลงนามข้อตกลงทางการทหารกับสหรัฐฯ มูลค่า 77,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อ
ต.ค.2565 เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2565-2570
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงของไต้หวัน ได้แก่ ภัยคุกคามทางทะเล จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ไต้หวันเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ADB, APEC, BCIE, ICC, IOC, ITUC, PGEC, PECC, WFTU และ WTO ขณะนี้ไต้หวันสมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership-CPTPP) เมื่อ 22 ก.ย.2564 และอยู่ระหว่างการรอผลการรับสมัคร
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไต้หวันมีความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนและทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก ทำให้ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก และจำนวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรต่าง ๆ เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น อีกทั้งมีขีดความสามารถในการแข่งขันอันดับที่ 6 ของโลกในปี 2566 จากทั้งหมด 64 เขตเศรษฐกิจ บทบาทสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ คือ การให้คำปรึกษาและจัดหาสิ่งจูงใจในการลงทุน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนสำหรับการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเกือบ 100 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย เฉพาะอย่างยิ่งสถาบันวิจัยเทคโนโลยี (Industrial Technology Research Institute-ITRI) ที่ได้รับการยกย่องในการเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ไต้หวันมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทั้งงานวิจัยและการพัฒนาใน 7 สาขาหลัก คือ อุตสาหกรรมชีวภาพและเภสัชกรรม อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย อุตสาหกรรมการทหาร การพัฒนาให้เมืองเถาหยวนเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี เกษตรกรรมแนวใหม่ และเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์กับประเทศในภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2560 มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนในด้านการทำน้ำสะอาด ระบบสาธาณสุขอัจฉริยะ การรักษาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นโอกาสให้แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไต้หวัน และยังส่งเสริมให้นักวิจัยไต้หวันทำการวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค ไต้หวันหวังว่าจะนำผลลัพธ์จากการวิจัยร่วมกันข้างต้นไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการป้องกันภัยพิบัติ อุปกรณ์และบริการทางการแพทย์ และการเกษตรอัจฉริยะ
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 37 แห่ง ใช้การได้ดี 35 แห่ง ท่าอากาศยานสำคัญ คือ
ท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถาหยวน (เดิมชื่อท่าอากาศยานนานาชาติเจียงไคเช็ค) เส้นทางรถไฟ 1,597 กม. เส้นทางถนน 42,520 กม. มีระบบการขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและมีรถไฟความเร็วสูง การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน 13.77 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์เคลื่อนที่29.68 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ 886
ใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด โทรทัศน์ 75 ช่อง สถานีวิทยุ 170 สถานี ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 20.60ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .tw
การเดินทาง สายการบินไทยที่บินตรงจากกรุงเทพฯ-ไต้หวันเฉลี่ยสัปดาห์ละ 48 เที่ยว ได้แก่ ไชน่าแอร์ไลน์ (สายการบินประจำชาติของไต้หวัน) สตาร์แอร์ อีวีเอแอร์ และไทเกอร์แอร์ ระยะเวลาในการบิน 3 ชม. 45 นาที เวลาที่ไต้หวันเร็วกว่าไทย 1 ชม. ไต้หวันประกาศขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยออกไปอีก 1 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามส่งเสริมนโยบาย New Southbound โดยมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2566-31 ก.ค.2567 และนักท่องเที่ยวไทยสามารถพำนักในไต้หวันได้ไม่เกิน 14 วัน
สถานะของไต้หวันในประชาคมโลก จีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และมีนโยบายรวมไต้หวัน
เข้ากับจีนเหมือนฮ่องกงและมาเก๊า (ปัจจุบันเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนหลังจากสหราชอาณาจักรและโปรตุเกสส่งมอบคืนให้จีนเมื่อปี 2540 และปี 2542 ตามลำดับ) จึงกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนต้องยึดมั่น “นโยบายจีนเดียว” คือ ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทำให้ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ในโลก 12 ประเทศ (เบลีซ เฮติ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ กัวเตมาลา ปารากวัย เซนต์ลูเซีย เอสวาตินี นครรัฐวาติกัน ปาเลา ตูวาลู และหมู่เกาะมาร์แชลล์) โดยฮอนดูรัสยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อ มี.ค.2566 และเปลี่ยนไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันประเทศที่มีสถานทูตประจำอยู่ในไทเป ได้แก่ เบลีซ กัวเตมาลา เฮติ นิการากัว ปารากวัย เอสวาตินี หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา และนครรัฐวาติกัน ขณะที่ไต้หวันไม่มี สอท.ในไทย โดยทางปฏิบัติ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) ทำหน้าที่ประสานงานด้านการค้าและเศรษฐกิจ
ไต้หวันมีข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ ไต้หวันลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี (free-trade agreement-FTA) กับปานามา (ปี 2546)กัวเตมาลา (ปี 2549) เอลซัลวาดอร์และฮอนดูรัส (ปี 2550) แต่ไต้หวันประกาศระงับ FTA กับเอลซัลวาดอร์ตั้งแต่ 15 พ.ค.2566 หลังจากเอลซัลวาดอร์ละเมิดข้อตกลงด้วยการยกเลิก FTA แต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อ พ.ย.2565 ขณะที่ FTA กับปานามายังมีผลบังคับใช้ แม้ว่าปานามาจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อ มิ.ย.2560 นอกจากนี้ ไต้หวันยังลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน (Economic Cooperation Framework Agreement-ECFA) (ปี 2553) และความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Agreement-ECA) กับนิวซีแลนด์ (ปี 2556) สิงคโปร์ (ปี 2556) ปารากวัย (ปี 2562) เอสวาตีนี (ปี 2562) หมู่เกาะมาร์แชลล์ (ปี 2563) และเบลีซ (ปี 2563)
ไต้หวันกับสหรัฐฯ ลงนามความตกลงการค้าฉบับแรกเมื่อ 1 มิ.ย.2566 ภายใต้ข้อริเริ่มการค้าระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21 (Taiwan-U.S. 21st Century Trade Initiative) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการตรวจสอบด้านศุลกากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ กำหนดมาตรการต่อต้านการทุจริตที่ครอบคลุม และการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไต้หวันและสหรัฐฯ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันในด้านการทหาร โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้ Taiwan Travel Act ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความตึงเครียดในภูมิภาค
2) ไต้หวันพยายามเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย New Southbound ที่มุ่งขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
3) การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการกระจายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 5 นาโนเมตร ในโรงงานผลิตในรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มการผลิตเต็มรูปแบบในปี 2567
ความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน
ไทยยึดหลักการจีนเดียวในการดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวัน ทำให้รัฐบาลไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ยังมีความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ วิชาการ และสังคม ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ Joint Economic Cooperation between Chinese National, Association of Industry & Commerce (CNAIC) และ Federation of Thai Industries (FTI) (ม.ค.2532)
การค้าทวิภาคี ม.ค.-ก.ย.2566 ไต้หวันเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทย มูลค่าการค้ารวม 15,006.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.14% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าไต้หวัน 7,879.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าจากไต้หวัน 11,443.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 26.18%) ไทยส่งออกไปไต้หวัน 3,563.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 1.93%) สินค้านำเข้าของไทยที่สำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สำหรับการลงทุน ไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีการลงทุนในไต้หวันสูงสุดในห้วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 86.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนในอุตสาหกรรม Professional, Scientific and Technical Servicesมากที่สุด 59.89% ของการลงทุนจากไทยทั้งหมด ขณะที่ไต้หวันเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) สำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยยื่นขอลงทุนภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยมากกว่า 30 โครงการ มูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทในห้วง 8 เดือนแรกของปี 2566
การท่องเที่ยว ประเทศไทยและคนไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวไต้หวันในทุกระดับ เนื่องจาก
ความใกล้ชิดด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และค่าครองชีพใกล้เคียงกัน ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญของไต้หวัน โดยเมื่อ ม.ค.-ก.ค.2566 ชาวไต้หวันเดินทางมาท่องเที่ยวไทย 418,000 คน เพิ่มขึ้น 87% จากห้วงเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่วนชาวไทยเดินทางไปไต้หวันแล้ว 217,000 คน ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ไต้หวันคาดหวังให้นักท่องเที่ยวไทยเยือนไต้หวันอย่างน้อย 200,000 คนภายในปี 2566
แรงงาน ไต้หวันเป็นตลาดแรงงานสำคัญอันดับ 1 ของไทยในปี 2565-2566 มีแรงงานไทยในไต้หวัน 66,976 คน และส่งเงินกลับไทยประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน
ด้านวิชาการ ไทยและไต้หวันมีความร่วมมือด้านวิชาการครอบคลุมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สาธารณสุขชุมชน และการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises-SMEs) ความตกลงสำคัญ ได้แก่ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนและ ความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2542)ความตกลงระหว่างสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย เพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและ การป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2555) ส่งผลให้นักธุรกิจ นักลงทุนไทยและไต้หวันได้รับประโยชน์จากการที่ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนในส่วนของรายได้จากการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยและไต้หวัน