สาธารณรัฐเกาหลี
Republic of Korea
เมืองหลวง โซล ชื่อทางการนครพิเศษโซล (Seoul Special City) ซึ่งเป็นเขตพิเศษปกครองตนเอง
ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เชื่อมระหว่างจีน ญี่ปุ่น กับภาคพื้นตะวันออกไกลของรัสเซีย มีเส้นขนานที่ 38 แบ่งกั้นระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 33-43 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 124-131 องศาตะวันออก (รวมเกาหลีเหนือ) มีพื้นที่ประมาณ 100,032 ตร.กม. (ลำดับที่ 108 ของโลก) คิดเป็น 45% ของคาบสมุทรเกาหลี หรือ 1 ใน 5 ของประเทศไทย เวลาเร็วกว่าไทย 2 ชม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเกาหลีเหนือ
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลตะวันออก (หรือทะเลญี่ปุ่น)
ทิศใต้ ติดกับทะเลจีนตะวันออก
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลตะวันตก (หรือทะเลเหลือง)
ภูมิประเทศ คาบสมุทรเกาหลีแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ บริเวณเหนือเส้นขนานที่ 38 คือเกาหลีเหนือ ตอนใต้ คือ เกาหลีใต้ พื้นที่ 70% ของเกาหลีใต้เป็นเทือกเขาและหุบเขา เป็นประเทศที่มีเทือกเขามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทือกเขาตลอดชายฝั่งด้านตะวันออกมีความสูงชัน และทอดตัวลงสู่ทะเลตะวันออก ส่วนชายฝั่งทะเลทางใต้ และตะวันตก เทือกเขาค่อย ๆ ลาดลงสู่ที่ราบชายฝั่ง ทำให้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการปลูกข้าว ชายฝั่งทะเลทั้ง 3 ด้าน มีความยาวรวมกัน 2,413 กม. แม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำนักตง แม่น้ำฮัน และแม่น้ำคึม
วันชาติ 3 ต.ค.
นายยุน ซ็อก ย็อล
(Yoon Suk Yeol)
(ประธานาธิบดีเกาหลีใต้)
ประชากร 51,966,948 คน (ปี 2566) ส่วนใหญ่เชื้อสายเกาหลี อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 11.53% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 70.1% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 18.38% อัตราการเกิด 6.95 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 7.28 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.23% อายุขัยเฉลี่ยของชาวเกาหลีใต้ประมาณ 83.17 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 80.09 ปี เพศหญิง 86.42 ปี อัตราว่างงาน 2.0% แรงงาน 28.68 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริหารธุรกิจและบริการสาธารณะ รองลงมาเป็นภาคการท่องเที่ยวและการผลิต ส่วนภาคการเกษตรและประมงเป็นส่วนน้อย
การก่อตั้งประเทศ อาณาจักรแรกของเกาหลี คือ อาณาจักรโคโชซอน (โชซอนโบราณ) เป็นอาณาจักรโบราณก่อตั้งเมื่อ 2333 ปี ก่อนคริสต์ศักราช มีกษัตริย์ปกครอง โดยราชวงศ์โชซอนเป็นราชวงศ์สุดท้าย มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่สำคัญที่สุด คือ การยกย่องลัทธิขงจื๊อเป็นคติธรรมประจำชาติ การสร้างสรรค์งานด้านวรรณศิลป์ และการประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึลเมื่อปี 1986 ทำให้ยุคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมเกาหลี ตั้งแต่ปี 2453 เกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นเป็นเวลา 35 ปี จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อ 15 ส.ค.2488
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองประเทศที่เส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือตามข้อตกลง Potsdam เมื่อปี 2488 โดยให้อดีตสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ดูแลเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีเกิดขึ้นระหว่างปี 2493-2496 เมื่อเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้เมื่อ 25 มิ.ย.2493 มีการลงนามข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวเมื่อปี 2496 หลังจากสงครามเกาหลี เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่ง
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีอำนาจยุบสภา เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายได้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายยุน ซ็อก ย็อล ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 9 มี.ค.2565 และรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พ.ค.2565 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2570
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีแต่งตั้ง นรม. และ ครม. โดยความเห็นชอบของรัฐสภา นรม.เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในการบริหารประเทศและเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลรับฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการต่าง ๆ อาทิ สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีสภาเดียว สมาชิก 300 คน สส.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 253 คน ที่เหลือ 47 คน เป็นผู้แทนในระบบสัดส่วน วาระ 4 ปี โดย สส.เลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน รัฐสภามีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี โดยสมาชิกเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ และสมาชิก 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยให้ถือเป็นโมฆะ และมีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องของกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี นรม. และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย ตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร
พรรคการเมือง : ปี 2566 มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรค Democratic Party of Korea มี สส. 168 คน (56.38%) พรรค People Power Party มี สส. 111 คน (37.25%) และ สส.จากพรรคอื่น ๆ รวม 300 คน การเลือกตั้ง สส. ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 เม.ย.2563 และจะจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปใน 10 เม.ย.2567
เศรษฐกิจ เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 13 ของโลก และลำดับที่ 4 ของเอเชีย ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ (Bank of Korea-BOK) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2566 และ 2567 จะอยู่ที่ 1.4% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากภาคบริโภคและภาคส่งออกปรับตัวขึ้นเล็กน้อยห้วงภาวะทางเศรษฐกิจชะลอตัว และมีแนวโน้มเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยในต่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางที่กระทบราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นภายในประเทศ ขณะที่เกาหลีใต้มีศักยภาพทางการแข่งขันลำดับที่ 28 จากทั้งหมด 64 ประเทศ เมื่อปี 2566 ลดลงจากลำดับที่ 27 เมื่อปี 2565 จากการจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์
ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศยากจนและเกษตรกรรมจนเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง โดยเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตั้งแต่ปี 2539 เกาหลีใต้เคยประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แต่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถชำระคืนเงินกู้ IMF เต็มจำนวน 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนครบกำหนด 3 ปี
งบประมาณ (ม.ค.-ธ.ค.2567) : 656.9 ล้านล้านวอน (495,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.8% จากงบประมาณเดิมของปี 2566 จำนวน 638.7 ล้านล้านวอน งบประมาณปี 2567 เน้นส่งเสริมโครงสร้างทางการเงิน และจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ในภาคส่วนสาธารณสุข สวัสดิการ และการจ้างงาน รองลงมาเป็นการบริหารภาครัฐ การศึกษา การป้องกันประเทศ และอื่น ๆ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : วอน (won)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1,352.06 วอน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 37.52 วอน : 1 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.6%
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ : 423,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นลำดับที่ 9 ของโลก
อัตราเงินเฟ้อ : 3.6%
หนี้สาธารณะเกาหลีใต้ : 49.4% ของ GDP
รายได้ต่อหัวต่อปี : 32,254 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าแรงขั้นต่ำ : ปี 2566 ชม. ละ 9,620 วอน (7.12 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 9,160 วอน เมื่อปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2.5% เป็น ชม. ละ 9,860 วอน (7.29 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2567
มูลค่าการค้าของเกาหลีใต้ : ปี 2565 ส่งออกมูลค่า 683,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 66 ปี นำเข้ามูลค่า 731,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุล 47,784 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดส่งออกของเกาหลีใต้ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และฮ่องกง ส่วนตลาดนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : ปิโตรเคมี เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เรือ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก คอมพิวเตอร์
สินค้านำเข้าที่สำคัญ : น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เซมิคอนดักเตอร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ(ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก World Bank IMF และกระทรวงการเงินและการคลังของเกาหลีใต้)
การทหาร
ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง กห.เกาหลีใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณทางทหารปี 2567 มูลค่า 59.6 ล้านล้านวอน (45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4.5% จากปี 2566 ที่มูลค่า 57 ล้านล้านวอน (43,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยงบประมาณส่วนใหญ่นำไปปรับปรุงพื้นที่และซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ เพิ่มสวัสดิการให้กำลังทหารและทหารผ่านศึก พัฒนาขีดความสามารถด้านการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และส่งเสริมขีดความสามารถทางทหารเชิงรุกในยุทธศาสตร์ Three-Axis Defense System เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารขั้นสูงและขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นทั้งพิสัยและอานุภาพการโจมตี เช่น ขีปนาวุธนำวิถีรุ่น Hyunmoo-5 ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญในยุทธศาสตร์ข้างต้น
กองทัพเกาหลีใต้มีกำลังพลประมาณ 555,000 นาย ในจำนวนนี้เป็น ทบ. ประมาณ 420,000 นาย ประกอบด้วย กองทัพที่ 1 (First Republic of Korea Army-FROKA) รับผิดชอบพื้นที่ตอนเหนือและชายแดนด้านตะวันออก กองทัพที่ 2 (SROKA) รับผิดชอบพื้นที่ตอนใต้ และกองทัพที่ 3 (TROKA) มีขนาดกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากที่สุด รับผิดชอบพื้นที่ตอนเหนือ และชายแดนด้านตะวันตก รวมทั้งกรุงโซล
ทร. มีกำลังพล 70,000 นาย (นาวิกโยธิน 29,000 นาย) มีฐานทัพเรือ 9 แห่ง ที่ จินแฮ ทงแฮ
พย็องแท็ก อินชอน มกโพ โพฮัง ปูซาน เกาะเชจู และเกาะแบ็งนย็อง แบ่งเป็น 3 กองบัญชาการกองเรือยุทธการ ประกอบด้วย กองเรือภาคที่ 1 ที่ทงแฮ (1st Tonghae) รับผิดชอบทะเลญี่ปุ่น (ทะเลตะวันออก) กองเรือภาคที่ 2 ที่พย็องแท็ก (2nd Pyongtaek) รับผิดชอบทะเลเหลือง (ทะเลตะวันตก) และกองเรือภาคที่ 3 รับผิดชอบช่องแคบเกาหลี (ทะเลใต้) นอกจากนี้ ทร.เกาหลีใต้จะเน้นเสริมขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำ โดยเมื่อปี 2558 ทร.ยกฐานะหน่วยเรือดำน้ำเป็นกองบัญชาการเรือดำน้ำมีฐานะเทียบเท่ากองเรือภาค ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเรือดำน้ำ 19 ลำ และจะเริ่มนำเรือดำน้ำชั้นชังโบโก III ขนาด 3,000 ตัน ที่พัฒนาเองเข้าประจำการเพิ่มอีก 3 ลำ ในปี 2567 เพื่อเสริมขีดความสามารถในสงครามใต้น้ำรับมือกองเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือที่มีกว่า 70 ลำ
ทอ. มีกำลังพล 65,000 นาย โดยมี บ.รบประจำการจำนวน 602 เครื่อง อาทิ บ.รบ แบบ F-4E F-5E F-16C F-16D F-15K F-35A FA-50 และ บ.สนับสนุนอื่น ๆ อาทิ บ.ขนส่ง 38 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 49 เครื่อง และอากาศยานไร้คนขับประมาณ 15 เครื่อง นอกจากนี้ เกาหลีใต้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ อาทิ ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศพิสัยไกล (L-SAM) ขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศพิสัยกลาง Cheongung-II และระบบต่อต้านจรวดหรือระบบป้องกันขีปนาวุธระดับเพดานบินต่ำ (LAMD)
กองกำลังสำรอง (Reserve Forces) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 มีกำลังสำรองจำนวน 3.1 ล้านนาย ได้รับการฝึกเพื่อการป้องกันประเทศ และรักษาความมั่นคงภายใน เช่น การต่อต้านการแทรกซึม การก่อวินาศกรรมของฝ่ายตรงข้าม กำลังสำรองมีขีดความสามารถด้านการรบในยามสงคราม และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างหน่วยใหม่ หน่วยเสริมกำลัง และการทดแทนกำลังให้หน่วยรบ กฎหมายกำหนดให้ทหารที่ปลดประจำการต้องเป็นกำลังสำรองต่ออีก 8 ปี
กองกำลังทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (United States Forces Korea-USFK) เป็นสัญลักษณ์การเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ และเป็นส่วนสำคัญของการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและคาบสมุทรเกาหลี ผู้บัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ (United Nations Command-UNC) กำลังผสมสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ (Combined Force Command) คือ ผู้บัญชาการกองกำลังทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ที่มีกำลังพลประมาณ 30,400 นาย ประกอบด้วย 1) กองทัพบกสหรัฐฯ ที่ 8 (The 8th US Army-EUSA) กองพลทหารราบสหรัฐฯ ที่ 2 กองพลน้อยบินที่ 17 กองพลน้อยทหารม้าที่ 6 และกำลังสนับสนุนอื่น ๆ 2) กองกำลังทางเรือสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Naval Forces Korea) 3) กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Marine Forces Korea) 4) หน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ และ 5) กองกำลังทางอากาศสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Air Forces Korea) หน่วยบัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ ที่ 7 มีกำลัง 2 กองบิน
ปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาด้านความมั่นคงหลักของเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 3 ประการ 1) ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เนื่องจากทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม รวมถึงโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ขีดความสามารถในการทำสงครามทางคอมพิวเตอร์ และการยั่วยุทางทหารตามแนวพรมแดนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงหลักของเกาหลีใต้ 2) ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต๊อก หรือทาเคชิมะในภาษาญี่ปุ่น เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านความมั่นคงทางทหารและเศรษฐกิจ และทำให้กระแสชาตินิยมในเกาหลีใต้รุนแรงขึ้นในห้วงที่เกิดประเด็นขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ และ 3) ปัญหาการก่อการร้ายและก่ออาชญากรรม เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ทำให้กองกำลังพลเรือนและผลประโยชน์ของเกาหลีใต้ทั้งในและต่างประเทศมีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย เกาหลีใต้จึงเสริมการรับมือการก่อการร้ายด้วยการเริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อ มิ.ย.2559
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เกาหลีใต้เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มความร่วมมือหลายแห่ง อาทิ ADB, ACD, APEC, การประชุมในกรอบ ASEAN (ASEAN+3 ASEAN-ROK และ ARF), ASEM, Australia Group, EAS, FEALAC, IPEF, OECD, UN, WTO และ G-20
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนามาหลายทศวรรษ และตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 5 ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกภายในปี 2573 โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยแผนส่งเสริมเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์แห่งชาติ เมื่อ ต.ค.2565 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์ 12 ชนิด ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และหน้าจอ เซลล์ทุติยภูมิ (Secondary Cell) ในแบตเตอรี่ รูปแบบการเดินทางและขนส่งที่ล้ำสมัย พลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพล้ำสมัย เทคโนโลยีด้านอวกาศและทะเล เทคโนโลยีด้านไฮโดรเจน ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
การสื่อสารรูปแบบใหม่ อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและหุ่นยนต์ล้ำสมัย และเทคโนโลยีควอนตัม ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนของเกาหลีใต้ร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในตลาดโลก โดยรัฐบาลออกกฎหมายพิเศษเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์แห่งชาติ (Special Act on Fostering National Strategic Technologies) มีผลบังคับใช้เมื่อ ก.ย.2566 ซึ่งจะส่งเสริมระบบนิเวศที่เกื้อหนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้จัดสรรงบประมาณปี 2567 สำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ 25.9 ล้านล้านวอน (19,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 16% จากงบประมาณปี 2566 ที่ 31.1 ล้านล้านวอน สร้างความกังวลต่อสถาบันด้านวิจัยและพัฒนาของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะส่วนการวิจัยทั่วไปที่จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลลดลง โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเกาหลีใต้ (MSIT) ระบุว่า การปรับลดงบประมาณเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ท่าอากาศยานภายในประเทศ 15 แห่ง และลานจอด ฮ. รวม 466 แห่ง ที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เส้นทางรถไฟครอบคลุมและเชื่อมโยงทั่วประเทศเป็นระยะทาง 3,668 กม. มีเส้นทางรถไฟสำคัญ 3 สาย ได้แก่ 1) Gyeongbu Line เชื่อมโยงกรุงโซล-นครปูซาน 2) Honam Line เชื่อมโยงนครแทจ็อน-นครมกโป และ 3) Gangneung Line เชื่อมโยงกรุงโซล-จ.คังว็อน เป็นระบบรถไฟความเร็วสูง (KTX และ SRT) ส่วนรถไฟใต้ดินมีโครงข่ายเชื่อมโยงทั่วกรุงโซล และเมืองใกล้เคียงรวม 23 สาย ระบบการขนส่งทางรถยนต์ ได้แก่ รถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารด่วน
เทคโนโลยีด้านการโทรคมนาคมและสารสนเทศของเกาหลีใต้มีความก้าวหน้ามาก โดยเกาหลีใต้อยู่ระหว่างติดตั้งเครือข่าย Internet of Things (IoT) ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงโซล ควบคู่กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) หลายแห่งของเกาหลีใต้ ปัจจุบันการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้เป็นแบบ 5G และมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดที่ 119.58 เมกะบิตต่อวินาที บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ คือ SK Telecom และ KT นอกจากนี้ เกาหลีใต้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 6G โดยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศแรกในโลกที่จะให้บริการเครือข่ายนี้ภายในปี 2571 และคาดว่าจะปิดการให้บริการเครือข่าย 2G และ 3G ภายในปี 2568 รหัสโทรศัพท์ +82 รหัสอินเทอร์เน็ต .kr เว็บไซต์การท่องเที่ยว: https://english.visitkorea.or.kr และ https://www.kto.or.th
การเดินทาง สายการบินของไทยมีเที่ยวบินตรงระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิกับ
ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (BKK-ICN) คือ การบินไทย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ส่วนสายการบินของเกาหลีใต้ที่บินตรงมาไทย ได้แก่ โคเรียแอร์ เอเซียนาแอร์ไลนส์ เจจูแอร์ ทีเวย์ และแอร์ปูซาน ระยะทางประมาณ 3,728 กม. ระยะเวลาในการบินประมาณ 5 ชม. นักท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องยื่นขอรับการอนุมัติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ K-ETA โดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ที่เว็บไซต์ https://www.k-eta.go.kr หรือขอวีซ่าที่ สอท.เกาหลีใต้/กรุงเทพฯ ก่อนเดินทางเข้าเกาหลีใต้ ทั้งนี้ จนท.ตม.เกาหลีใต้เข้มงวดในการคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้หรือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ จะถูกปฏิเสธเข้าประเทศ ถูกกักตัวและถูกส่งกลับ
ความสัมพันธ์ไทย–เกาหลีใต้
ไทยและเกาหลีใต้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค.2501 และยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค.2503 มีความร่วมมือกันทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกหารือภาพรวมความร่วมมือ การประชุม Policy Consultation (PC) เป็นกลไกการหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อสนับสนุนและเสริมการหารือในกรอบ JC และความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN-ROK ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation) นอกจากนี้ ไทยกับเกาหลีใต้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาล และ รมต.อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการลงนามสนธิสัญญาและความตกลงความร่วมมือในหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์ แรงงาน วัฒนธรรม และการทหาร
เกาหลีใต้ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แสดงท่าทีหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายในประเทศของไทย ส่วนใหญ่เป็นการติดตามสถานการณ์ และรายงานในสื่อมวลชนภาคภาษาเกาหลี
ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงเริ่มต้นตั้งแต่ไทยส่งทหารเข้าร่วมกองบัญชาการสหประชาชาติ (United Nations Command-UNC) ในสงครามเกาหลี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศรู้สึกผูกพันกัน ปัจจุบัน ไทยยังคงส่งนายทหารติดต่อประจำ UNC และ จนท.หน่วยแยก ทบ.ไทยประจำกองร้อยทหารเกียรติยศ (Honour Guard Company) จำนวน 6 นาย เพื่อปฏิบัติหน้าที่เชิญธงไทยและ
ปฏิบัติหน้าที่ด้านพิธีการเกี่ยวกับสงครามเกาหลีใน UNC เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยยังคงยึดมั่นในพันธกรณี
ในการรักษาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี
ไทยและเกาหลีใต้ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงอื่น ๆ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างต่อเนื่อง และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี เช่น UN ASEAN และ ARF ซึ่งไทยสนับสนุนกระบวนการปรองดองเพื่อนำไปสู่การรวมประเทศของทั้งสองเกาหลี และสนับสนุนนโยบายการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจปี 2565 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย ขณะที่ไทยเป็น
คู่ค้าอันดับที่ 19 ของเกาหลีใต้ มูลค่าการค้ารวม 576,757 ล้านบาท โดยไทยนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่ารวม 355,305 ล้านบาท ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มูลค่ารวม 221,452 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ 133,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่าการขาดดุล 131,033 ล้านบาท ในห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มูลค่าการค้ารวม 390,440 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มูลค่า 160,114 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 230,325 ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
สินค้าส่งออกหลักของไทยไปเกาหลีใต้ ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช วงจรพิมพ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
ด้านการลงทุน โครงการลงทุนโดยตรงสุทธิจากเกาหลีใต้ในไทยปี 2565 ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand-BOI)
มีมูลค่ารวม 37,099 ล้านบาท จำนวน 33 โครงการ (ในจำนวนนี้ BOI อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน
25 โครงการ เงินลงทุน 5,309 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไฟฟ้า/เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ/เครื่องจักร เคมีภัณฑ์และกระดาษ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ด้านแรงงาน ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดโครงการอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติด้วยระบบใบอนุญาตทำงาน EPS (Employment Permit System) ซึ่งกระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้คัดเลือกประเทศที่สามารถส่งแรงงานไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ทั้งหมด 15 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อุซเบกิสถาน ปากีสถาน กัมพูชา จีน บังกลาเทศ เนปาล เมียนมา คีร์กีซสถาน และติมอร์-เลสเต) ไทยและเกาหลีใต้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ครั้งแรกเมื่อ 17 มิ.ย.2547
กระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติเมื่อ 2 ก.ค.2555 ผ่อนผันให้แรงงานที่ทำงานครบตามสัญญา 4 ปี 10 เดือน สามารถเดินทางกลับไปทำงานกับนายจ้างเดิมได้
หากได้รับการร้องขอจากนายจ้าง และลดระยะเวลาการกลับไปพำนักในประเทศของตนลงจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน รวมทั้งผ่อนผันให้แรงงานไม่ต้องสอบภาษาเกาหลีและไม่ต้องเข้ารับการอบรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการย้ายงานของแรงงานต่างชาติจากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5 ครั้ง (เดิมนับรวมการย้ายงานจากสถานประกอบการปิดกิจการ หรือนายจ้างละเมิดสัญญา) เป็นจะไม่นับการย้ายงานอันเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือมิได้เกิดจากความผิดของลูกจ้าง การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ยังสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญงาน
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอนุญาตให้แรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2565 จำนวน 5,671 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 3,019 คน และแรงงานไทยที่เดินทางกลับไปทำงานที่เกาหลีใต้ (Re-entry) เมื่อปี 2565 จำนวน 2,900 คน แรงงานไทยในเกาหลีใต้สะสม 15,140 คน (ข้อมูลเมื่อ ธ.ค.2565) ส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคก่อสร้าง และงานเกษตรและปศุสัตว์ ขณะเดียวกัน แรงงานไทยผิดกฎหมาย (ผีน้อย) ที่ยังพำนักในเกาหลีใต้คาดว่า ประมาณ 100,000 คน ซึ่งมีจำนวนลดลง เนื่องจากทางการเกาหลีใต้มีนโยบายผลักดันแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายออกประเทศ อาทิ เสนอโครงการรายงานตัวกลับประเทศแบบสมัครใจโดยไม่คาดโทษ ควบคู่กับมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นผู้มีแนวโน้มลักลอบทำงานผิดกฎหมายในกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง
ด้านการท่องเที่ยว ไทยกับเกาหลีใต้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในไทย และศูนย์วัฒนธรรมไทยในเกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมในระดับประชาชน รวมถึงความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ กำหนดให้ปี 2566-2567 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ (2023-2024 Korea-Thailand Mutual Visit Years) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาไทย เมื่อปี 2565 มีจำนวน 237,815 คน และห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 อยู่ที่ 1,192,986 คน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
ด้านความมั่นคง สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลียังคงมีพลวัตสูง เนื่องจากสองเกาหลีดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อกัน อีกทั้งเกาหลีเหนือออกกฎหมายเมื่อ ก.ย.2565 ย้ำสถานะการเป็นรัฐครอบครองนิวเคลียร์ และพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป เป็นอุปสรรคต่อการประชุมสุดยอดสองเกาหลี และการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ขณะที่เกาหลีใต้เสริมสร้างความสัมพันธ์ไตรภาคีกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะมาตรการขยายการป้องปรามภัยคุกคาม (Extended Deterrence) ของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและฝึกร่วมทางทหาร พร้อมกับใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ แต่ยังคงเปิดโอกาสสำหรับการทูตและการเจรจา
ด้านการทหาร เกาหลีใต้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการทางทหาร กรณีเกิดวิกฤตหรือสงครามเกาหลีครั้งใหม่ จากเดิมเน้นการตั้งรับรอกำลังเสริมจากสหรัฐฯ รวบรวมกำลังแล้วจึงโต้กลับ แต่ในแผนปฏิบัติการใหม่ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ อาจชิงโจมตีก่อน หากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือกำลังเตรียมโจมตีด้วยขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ตามยุทธศาสตร์ Three-Axis Defense System โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การชิงโจมตีเพื่อทำลายศูนย์บัญชาการทางสงครามและที่ตั้งทางนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ (Kill chain) 2) ระบบป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธ (Korea Air and Missile Defense System-KAMD) และ 3) การสังหารบุคคลสำคัญของเกาหลีเหนือ (Korea Massive Punishment and Retaliation-KMPR)