สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
Democratic People’s Republic of Korea-DPRK
เมืองหลวง เปียงยาง
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ บนภาคเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างเส้นละติจูดที่ 38-43 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 125-130 องศาตะวันออก พื้นที่ 120,538 ตร.กม. คิดเป็น 55% ของพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 98 ของโลก มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านยาว 1,973 กม. และแนวชายฝั่งทะเลยาว 2,495 กม. เวลาเกาหลีเหนือเร็วกว่าไทย 2 ชม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีนและภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลญี่ปุ่น (ทะเลตะวันออก)
ทิศใต้ ติดกับเกาหลีใต้โดยมีเส้นขนานที่ 38 และเขตปลอดทหาร
(Demilitarized Zone) ความกว้าง 4 กม. (ฝ่ายละ 2 กม.)
เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดกับจีนและทะเลเหลือง (ทะเลตะวันตก)
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบและพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก 17% ของพื้นที่ทั้งหมด (ที่มา: องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ตอนกลางของประเทศมีเทือกเขาใหญ่ ยอดที่สูงที่สุดคือยอดเขาแพ็กตู สูง 2,744 ม. จากระดับน้ำทะเล ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือมีเทือกเขาตาแบ็กทอดเป็นแนวยาว การที่เกาหลีเหนือมีแนวเทือกเขาที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลังและลาดเอียงไปทางตะวันตกทำให้บริเวณชายทะเลตะวันตกเป็นที่ราบแคบ ๆ มีแม่น้ำสายสั้น ๆ และไหลเชี่ยว แม่น้ำที่มีความยาวที่สุด คือ แม่น้ำอัมนก (790 กม.) เป็นที่ตั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับจีน แม่น้ำเทดองเป็นแม่น้ำที่มีสาขาคลุมบริเวณกว้างที่สุดจากตอนกลางของประเทศออกสู่ทะเลเหลือง
วันชาติ 9 ก.ย.
นายคิม จ็อง–อึน
Kim Jong – un
(ผู้นำสูงสุด)
ประชากร 26,072,217 คน (ปี 2566) มากเป็นลำดับที่ 55 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี มีชุมชนชาวจีนและชาวเกาหลีเชื้อสายญี่ปุ่นเล็กน้อย อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 20.24%วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 69.16% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 10.6% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 71.88 ปี เพศชายประมาณ 67.97 ปี เพศหญิงประมาณ 76.02 ปี อัตราการเกิด 14.06 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 9.66 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.33%
การก่อตั้งประเทศ ภายหลังคาบสมุทรเกาหลีได้รับอิสรภาพจากการยึดครองของญี่ปุ่น เกิดการแย่งชิงอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมในช่วงการจัดรูปแบบการปกครองประเทศเกาหลีใหม่ ขณะที่สหรัฐฯ เข้าครอบครองดินแดนตอนใต้ ส่วนอดีตสหภาพโซเวียตเข้าครอบครองดินแดนตอนเหนือ ทำให้คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน ต่อมาสหประชาชาติจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อ พ.ค.2491 โดย ผู้แทนเกาหลีฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่ร่างไว้และชิงประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ ก่อนเมื่อ 15 ส.ค.2491 ส่วนผู้แทนฝ่ายเหนือจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเวลา ต่อมา และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือ เกาหลีเหนือเมื่อ 9 ก.ย.2491 พร้อมกับเลือกนายคิมอิลซุงเป็นประธานาธิบดีคนแรก
การเมือง เคยปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของอดีตสหภาพโซเวียต และบนพื้นฐานของลัทธิจูเช่ (Juche-เน้นการพึ่งพาตนเอง) ซึ่งประธานาธิบดีคิม อิล-ซุง บัญญัติขึ้นเมื่อ 26 ธ.ค.2498 หลักการสำคัญคือ เอกราชทางการเมืองอย่างแท้จริง การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และการป้องกันประเทศด้วยตนเอง เมื่อ ก.ย.2541 มีการยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีโดยประกาศยกย่องประธานาธิบดีคิม อิล-ซุง เป็นประธานาธิบดีตลอดกาล (Eternal President) และให้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ (Chairman of the National Defense Commission-NDC) เป็นผู้นำสูงสุดตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข
เมื่อ เม.ย.2552 และยกเลิกการใช้คำว่า “คอมมิวนิสต์” ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ เพื่อปรับแนวทางการปกครองเป็นสังคมนิยมแบบเกาหลี
ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน คือ นายคิม จ็อง-อึน ซึ่งรับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากนายคิม จ็อง-อิล ผู้เป็นบิดา (อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือระหว่างปี 2540-2554) โดยหลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายคิม จ็อง-อิล เมื่อ 17 ธ.ค.2554 ที่ประชุมพรรคคนงานเกาหลีสมัยพิเศษเมื่อ 11 เม.ย.2555 แต่งตั้งนายคิม จ็อง-อึน บุตรชายคนที่ 3 ของนายคิม จ็อง-อิล ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการพรรคคนงาน” หรือ First Secretary of the Workers’ Party of Korea พร้อมมอบตำแหน่งเลขาธิการพรรคตลอดกาล (Eternal General Secretary) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายคิม จ็อง-อิล ต่อมาที่ประชุมสภาประชาชนสูงสุด (Supreme People’s Assembly-SPA) ครั้งที่ 12 สมัยที่ 5 เมื่อ 13 เม.ย.2555 ลงมติรับรองการแต่งตั้งนายคิม จ็อง-อึน เป็นเลขาธิการพรรคคนงาน และประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ (First Chairman of the National Defense Commission-NDC) หรือผู้นำสูงสุดของประเทศ ขณะที่ NDC เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศในการกำหนดนโยบาย และการควบคุมดูแลกิจการด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร นายคิม จ็อง-อึน ยังได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 30 ธ.ค.2554 ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Supreme Commander of the Korean People’s Army) หรือจอมทัพ
ในการประชุมสภาประชาชนสูงสุดเมื่อ 29 มิ.ย.2559 เกาหลีเหนือดำเนินการปรับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง โดยแต่งตั้งให้นายคิม จ็อง-อึน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการแห่งรัฐ (Chairman of the State Affairs Commission) ซึ่งคณะกรรมาธิการกิจการแห่งรัฐถือเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นแทนคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศเดิม
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ 13 เม.ย.2555 มีสาระสำคัญที่แตกต่างจากเดิม โดยนายคิม จ็อง-อึน กล่าวว่า เกาหลีเหนือเป็นรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นมหาอำนาจด้านการทหาร อันจะนำไปสู่การสร้างชาติ ที่แข็งแกร่ง และเจริญรุ่งเรือง ต่อมาเมื่อ ก.ค.2562 เกาหลีเหนือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายคิม จ็อง-อึน เป็นผู้แทนสูงสุดของชาวเกาหลี หมายถึงเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) และจอมทัพ (Commander-in-Chief) รับผิดชอบงานด้านการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ รวมถึงการแต่งตั้งและเรียกกลับเอกอัครราชทูต ก่อนหน้านี้ประธานสภาบริหารสูงสุดของสภาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ (President of the Presidium of the Supreme People’s Assembly) ถือเป็น Head of State (เพียงในนาม)
ในการประชุมสมัชชาพรรคคนงานเกาหลี ครั้งที่ 8 เมื่อ ม.ค.2564 นายคิม จ็อง-อึน ได้รับแต่งตั้งเป็น “เลขาธิการพรรคคนงานเกาหลี” (General Secretary) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าบิดาและปู่ รวมถึงมีการแต่งตั้งตำแหน่ง “เลขาธิการคนที่ 1” (First Secretary) มีอำนาจบริหารแทนนายคิม จ็อง-อึน ทางพฤตินัย แต่ยังไม่ระบุผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมรับร่างแก้ไขระเบียบเปลี่ยนระบบริหารงานภายในพรรคเป็นระบบเลขาธิการ (Secretariat) แทนระบบคณะกรรมาธิการบริหารนโยบาย (Executive Policy Council) เพื่อให้พรรคมีอำนาจสูงสุดในการบริหารงาน และจะจัดประชุมคณะกรรมาธิการทหารกลางเพื่อติดตามสถานการณ์ทันทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางทหาร รวมถึงกำหนดเวลาชัดเจนที่จะจัดประชุมสมัชชาพรรคคนงานเกาหลีทุก 5 ปี
ฝ่ายบริหาร : นายคิม จ็อง-อึน ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการแห่งรัฐ ประธานคณะกรรมการกลางประชาชน/องค์กรด้านบริหารที่กำหนดนโยบายของรัฐ และเลขาธิการพรรคคนงานเกาหลี
ฝ่ายนิติบัญญัติ : สภาบริหารสูงสุด (Presidium) ของสภาประชาชนสูงสุด (Supreme People’s Assembly-SPA) เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุด มีนายชเว รยง-แฮ เป็นประธานสภา Presidium ของ SPA รับผิดชอบงานด้านการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ สมาชิก SPA มีจำนวน 687 คน มาจากการเลือกตั้งที่เสนอชื่อโดยพรรคคนงานเกาหลี และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี การประชุม SPA ส่วนใหญ่จัดครั้งเดียวในช่วงต้น เม.ย. ของทุกปี หากมีกรณีเร่งด่วนจะจัดการประชุมวิสามัญในช่วง ก.ย.
ฝ่ายตุลาการ : หน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุด คือ ศาลกลาง (Central Court) แต่เดิมเรียกศาลสูงสุด (Supreme Court) รองลงไปเป็นศาลระดับกลาง มีศาลจังหวัด ศาลเมืองระดับล่าง คือ ศาลอำเภอ และศาลตำบล หน่วยงานอัยการกลางมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของอัยการทั่วประเทศ และทำหน้าที่เป็นอัยการแห่งรัฐ ตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และการปฏิบัติของประชาชน ไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย และอุดมการณ์ของชาติ
พรรคการเมือง : มีพรรคเดียว คือ พรรคคนงานเกาหลี มีบทบาทและอิทธิพลสูงสุดในการควบคุมหน่วยงานของรัฐบาลในการบริหารประเทศ สมาชิกพรรคมีมากกว่า 3 ล้านคน พรรคมีคณะกรรมการบริหาร 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการกลาง 2) คณะกรรมาธิการทหารกลาง และ 3) คณะกรรมาธิการตรวจสอบ
เศรษฐกิจ หลังจากนายคิม จ็อง-อึน ประสบความสำเร็จในการกระชับอำนาจทางการเมืองและการทหารในช่วง 3 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอย่างเป็นทางการ นายคิม จ็อง-อึน มีความมั่นใจจะเริ่มผลักดันแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดประเทศตามแนวคิดของตนเองด้วยการผลักดันนโยบาย “พย็องจิน” (การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนานิวเคลียร์) ให้มีการผ่อนคลายการควบคุมเศรษฐกิจ การปรับระบบปันส่วนอาหาร และให้ชาวเกาหลีเหนือสามารถเก็บผลผลิตไว้เพื่อการบริโภคและจำหน่ายได้มากขึ้นก่อนจัดส่งให้ส่วนกลาง
ในการประชุมสมัชชาพรรคคนงานเกาหลี ครั้งที่ 8 เมื่อ ม.ค.2564 นายคิม จ็อง-อึน ยอมรับว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือระหว่างปี 2559-2563 ไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด และจะแก้ไขโดยใช้หลักพึ่งพาตนเองมากขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ โดยเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองคือ อุตสาหกรรมเหล็กและเคมี ซึ่งจะต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ไฟฟ้า ถ่านหิน เครื่องจักร ระบบขนส่งทางรถไฟ และระบบข้อมูลและการสื่อสาร ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเบาเพื่อให้สินค้าบริโภคมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้น พร้อมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และเพิ่มผลผลิตทั้งภาคการเกษตรและการประมง รวมทั้งเสริมสร้างภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เศรษฐกิจเกาหลีเหนือได้รับผลกระทบอย่างมากจากภัยธรรมชาติ การปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติและสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารในปี 2564 อย่างไรก็ดี การรื้อฟื้นการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางเดินรถไฟระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนและรัสเซียตั้งแต่ต้นปี 2565 ช่วยบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนอาหาร และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการค้าต่างประเทศปี 2565 อยู่ที่ 15,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 122.3% จากปี 2564 ที่มูลค่า 710 ล้านดอลล่าสหรัฐ
สกุลเงิน : อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลวอนเกาหลีเหนือต่อดอลลาร์สหรัฐไม่แน่นอน โดยอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 900 วอนเกาหลีเหนือ แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินวอน เกาหลีเหนืออย่างไม่เป็นทางการอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 5,200 วอนเกาหลีเหนือ (ปี 2564) ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลวอน เกาหลีเหนือต่อเงินหยวนของจีนอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 1 หยวน : 127 วอนเกาหลีเหนือ ขณะที่ข้าวกิโลกรัมละประมาณ 6,100 วอนเกาหลีเหนือ (ก.ย.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 24,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -0.2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,116 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 17.16 ล้านคน (ที่มา : CIA Factbook ปี 2564)
มูลค่าการค้าต่างประเทศ : 15,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เกาหลีเหนือยังทำการค้ากับเกาหลีใต้ ซึ่งหลายหน่วยงานไม่นำมานับรวมเป็นการค้าต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ การค้าระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นการค้าที่นิคมอุตสาหกรรมแคซ็อง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อปี 2558 มีมูลค่าการค้า 2,714.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนเกาหลีใต้ประกาศยุติการดำเนินการที่นิคมอุตสาหกรรมแคซ็องเมื่อ 10 ก.พ.2559 เพื่อตอบโต้เกาหลีเหนือกรณีทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองเกาหลีลดลงอย่างมาก โดยปี 2565 อยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าต่างประเทศ : ขาดดุล 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับปี 2564)
สินค้าส่งออก : แร่ธรรมชาติ ไฟเบอร์ ชิ้นส่วนนาฬิกา ผมปลอม ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ แร่โลหะทังสเตน (Tungsten) และพิมพ์เขียว (Instructional models)
มูลค่าการนำเข้า : 1,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 126% เมื่อเทียบกับปี 2564)
สินค้านำเข้า : แร่ธรรมชาติ พลาสติก ยาง เสื้อผ้าและสิ่งทอ น้ำมันถั่วเหลือง ข้าว ธัญพืช นาฬิกาและนาฬิกาข้อมือ
คู่ค้าสำคัญ : จีน โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์
* ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea)
การทหาร
กองทัพเกาหลีเหนือ หรือ กองทัพประชาชนเกาหลี (Korean People’s Army-KPA) ก่อตั้งเมื่อ 8 ก.พ.2491 มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันตนเองและรวมชาติเกาหลี แต่ถูกใช้เป็นฐานค้ำจุนอำนาจการปกครองของผู้นำประเทศ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับวันก่อตั้งกองทัพปฏิวัติประชาชนเกาหลี (Korean People’s Revolutionary Army-KPRA) ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ยึดครองเกาหลี KPRA ก่อตั้งเมื่อ 25 เม.ย.2475 ก่อนนายคิม อิล-ซ็อง ปรับเป็นกองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ในปัจจุบัน
กำลังพล 1.28 ล้านนาย แบ่งเป็น ทบ.ประมาณ 1.1 ล้านนาย ทร.ประมาณ 60,000 นาย ทอ.ประมาณ 110,000 นาย กกล.ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Forces) ประมาณ 10,000 นาย และ กกล.สำรอง 600,000 นาย ระยะเวลาเกณฑ์ทหาร ทบ. 5-12 ปี ทร. 5-10 ปี ทอ. 3-4 ปี เกาหลีเหนือค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ อาวุธเคมีและชีวภาพ และกองทัพผลิตอาวุธเพื่อการส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ขณะที่ กกล.รบพิเศษ (Special Purpose Forces Command) ประมาณ 88,000 นาย มีขีดความสามารถแทรกซึมเพื่อสร้างความเสียหายหลังแนวรบของเกาหลีใต้
เกาหลีเหนือมีศักยภาพในการทำสงครามไซเบอร์ (cyber warfare) ที่สามารถสร้างความเสียหายให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพื่อจารกรรมข้อมูลและการเงินมาสนับสนุนโครงการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำสงครามไซเบอร์ อาทิ 1) State Security Agency ทำหน้าที่เฝ้าติดตามเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขึ้นตรงกับ Korea Computer Center 2) Unit 121 จัดตั้งเมื่อปี 2541 อยู่ภายใต้การกำกับของ Reconnaissance General Bureau (RGB) ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิบัติการและเทคนิค ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารเกาหลีเหนือ มีเป้าหมายต่อหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชนเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เกาหลีเหนือให้การฝึกอบรมผู้มีความสามารถพิเศษหรืออัจฉริยะให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ และมีบุคลากรในหน่วยงานด้านการทำสงครามทางคอมพิวเตอร์ประมาณ 7,000 นาย กลุ่มจารกรรมทางไซเบอร์ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม Lazarus กลุ่ม Kimsuky กลุ่ม Thallium กลุ่ม APT43
กลุ่ม Velvet Chollima และกลุ่ม Black Banshee
การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนืออาจครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 40-70 ลูก และตั้งเป้าหมายพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กสำหรับติดตั้งที่ขีปนาวุธ ซึ่งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ประเมินตั้งแต่ พ.ค.2565 ว่า เกาหลีเหนือมีความพร้อมทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 สำหรับพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ หลังจากเกาหลีเหนือบูรณะอุโมงค์ที่ 3 ที่เขตพุงกเย เมืองกิลจู จ.ฮัมเกียงเหนือ ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือปิดอุโมงค์ 4 แห่ง ในเขตพุงกเยตั้งแต่ปี 2561 หลังจากทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน 6 ครั้ง เมื่อ 9 ต.ค.2549 25 พ.ค.2552 12 ก.พ.2556 6 ม.ค.2559 9 ก.ย.2559 และ 3 ก.ย.2560 โดยการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 แมกนิจูด เกาหลีเหนืออ้างว่า เป็นการทดลองระเบิดไฮโดรเจน
การพัฒนาขีปนาวุธ เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missiles) รวมกว่า 1,000 ลูก โดยเป็นขีปนาวุธแบบ Scud (ประมาณ 600 ลูก) มีพิสัยการยิงครอบคลุมเกาหลีใต้ ขณะที่ขีปนาวุธแบบโนดอง (Rodong-ออกเสียงเป็น Nodong) มีพิสัยการยิงถึงญี่ปุ่น ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง-ไกล (Intermediate Range Ballistic Missile-IRBM) แบบ Musudan รุ่น Hwasong-10 และ Hwasong-12 มีพิสัยทำการ 3,000-4,500 กม. ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือพัฒนาและยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile-ICBM) รุ่น Hwasong-18 ใช้ระบบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งเมื่อ เม.ย.และ ก.ค.2566 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธประเมินว่า ขีปนาวุธ ICBM รุ่นใหม่ของเกาหลีเหนือ อาจมีพิสัยทำการไกลกว่า 15,000 กม. สามารถโจมตีถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ
เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาวุธอย่างต่อเนื่อง อาทิ จรวดหลายลำกล้อง (Multiple-Launch Rocket System-MLRS) รวมถึงอาวุธความแม่นยำสูง ขีปนาวุธแบบยิงจากเรือดำน้ำ (Submarine-Launch Ballistic Missile-SLBM) ขีปนาวุธพิสัยไกล และขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile-ICBM) โดยเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธรุ่นใหม่หลายชนิดเมื่อห้วงปี 2564-2565 อาทิ จรวดร่อนพิสัยไกล (Long-Range Cruise Missile) ขีปนาวุธนำวิถีจากรถไฟ (Railway Mobile Missile Regiment) ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Missile) และขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน (Anti-Aircraft Missile) ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย.2565 เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธมากกว่า 80 ลูก รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป และขีปนาวุธพิสัยกลางและไกลข้ามญี่ปุ่น นับเป็นการยิงขีปนาวุธมากที่สุดในรอบ 1 ปี
เกาหลีเหนือมีเรือดำน้ำกว่า 70 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า (Diesel-Electric Submarines) ชั้น Romeo ในสมัยสหภาพโซเวียตซึ่งค่อนข้างล้าสมัย อย่างไรก็ดี กรณีที่เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เชื่อว่าเรือดำน้ำขนาดเล็ก (ขนาด 90-370 ตัน) ของเกาหลีเหนือใช้ตอร์ปิโดจมเรือรบชอนันของเกาหลีใต้เมื่อ 26 มี.ค.2553 สะท้อนว่า เรือดำน้ำขนาดเล็กซึ่งเดิมเน้นใช้ในภารกิจแทรกซึมมีขีดความสามารถและความเงียบ (ยากต่อการตรวจจับ) จนอาจเป็นภัยคุกคามต่อเรือผิวน้ำได้โดยเฉพาะการปฏิบัติการในเขตน่านน้ำตื้น
เกาหลีเหนือมีขีดความสามารถผลิตอาวุธเบา ยานยนต์หุ้มเกราะ และระบบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ แต่ไม่สามารถส่งออกอาวุธ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) ข้อมติที่ 1718 1874 2087 และ 2270 อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือยังคงลักลอบส่งออก-นำเข้าอาวุธอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครือข่ายการขนส่งที่ซับซ้อน ใช้การขนส่งหลายทอด และอาศัยช่องว่างของข้อมติโดยให้ประเทศที่สามเป็นตัวกลาง ตลอดจนการใช้บริษัทบังหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของนานาชาติ ทำให้ยากต่อการตรวจพบ นอกจากนี้ รูปแบบการค้ายังเปลี่ยนไปจากเดิมที่ชำระเงินเมื่อรับสินค้า เป็นการให้ลูกค้าชำระเงินสดที่เกาหลีเหนือ จากนั้น ลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดส่งสินค้า อาวุธที่เกาหลีเหนือส่งออก ส่วนใหญ่เป็นเรือรบ ขีปนาวุธ อาวุธตามแบบ (เครื่องกระสุนปืนเล็ก ปืนใหญ่) เทคโนโลยีการผลิตอาวุธและชิ้นส่วนอาวุธ นอกจากนี้ กห.สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เชื่อว่า เกาหลีเหนือส่งออกกระสุนปืนใหญ่และยุทโธปกรณ์ให้รัสเซียใช้ทำสงครามกับยูเครนผ่านการขนส่งทางเรือ แลกเปลี่ยนกับรัสเซียให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีพัฒนาดาวเทียม
เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศ โดยเฉพาะการพัฒนาจรวดดาวเทียมที่ใช้เทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote sensing) และดาวเทียมขนาดเล็ก โดยเกาหลีเหนือส่งดาวเทียมลาดตระเวน (Reconnaissance satellite) ขึ้นสู่วงโคจรโลกสำเร็จเป็นดวงแรกของประเทศเมื่อ 21 พ.ย.2566 หลังประสบความล้มเหลวในภารกิจดังกล่าว 2 ครั้ง เมื่อ พ.ค.และ ส.ค.2566 โดยมีสำนักบริหารด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติของเกาหลีเหนือ (National Aerospace Technology Administration-NATA) ดูแลโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีฐานอวกาศที่สำคัญคือ ฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ (Sohae Satellite Launching Ground) เมืองช็อลซัน จ.พย็องอันเหนือ ทางตะวันตกของประเทศ
ปัญหาด้านความมั่นคง
การเมืองภายในของเกาหลีเหนือยังคงมีเสถียรภาพ หลังจากนายคิม จ็อง-อึน ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการเมื่อปี 2555 แม้เกิดข้อขัดแย้งภายในจนทำให้มีการประหารชีวิตนายชัง ซ็อง-แท็ก อาเขยของนายคิม จ็อง-อึน ผู้นำสูงสุด และถือเป็นผู้มีอำนาจลำดับ 2 ของเกาหลีเหนือ เมื่อ ธ.ค.2556 โดยนายคิม จ็อง-อึน ดำเนินการกระชับอำนาจอย่างเด็ดขาดด้วยการกวาดล้างฐานอำนาจเก่าของนายชัง ซ็อง-แท็ก และแต่งตั้งโยกย้าย จนท.ระดับสูงที่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 มีรายงานของสื่อมวลชนต่างประเทศว่า นายคิม จ็อง-อึน มีอาการป่วยขั้นวิกฤตในห้วงที่ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะเมื่อ เม.ย.2563 และห้วง ส.ค.2563 มีรายงานว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมอบอำนาจการบริหารประเทศบางส่วนให้กับนางสาวคิม ยอ-จ็อง น้องสาวและบุคคลใกล้ชิด ผู้มีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ทั้งนี้ นางสาวคิม ยอ-จ็อง ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ของพรรคคนงานเกาหลี (Vice Director of the party’s information and instruction department) และเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแห่งรัฐ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เกาหลีเหนือเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือหลายแห่ง อาทิ ARF การประชุมองค์การอาหารโลก G-77, NAM, UN, ICAO, IFAD, IMO และ IOC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายคิม จ็อง-อึน ให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเบา นอกเหนือจากการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของกองทัพ ทั้งโครงการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ โครงการพัฒนา การสำรวจอวกาศ และการทำสงครามไซเบอร์ โดยตั้งแต่ปี 2555 เกาหลีเหนือนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและการพัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรกล การผลิตปุ๋ย การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การกำจัดศัตรูพืช และการลดต้นทุนต่อหน่วย
การขนส่งและโทรคมนาคม เกาหลีเหนือมีท่าอากาศยาน 82 แห่ง ลานจอด ฮ. 23 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติซุนอัน (Sunan International Airport) สายการบินประจำชาติ คือ สายการบินแอร์โคเรียว (Air Koryo) เส้นทางการบินที่ยังทำการบิน ได้แก่ ปักกิ่ง และวลาดิวอสต๊อก
ถนนในเกาหลีเหนือมีระยะทางประมาณ 25,554 กม. เป็นทางหลวงระยะทาง 724 กม. และถนนในชนบท 24,830 กม. ส่วนใหญ่เป็นทางลูกรัง เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางรถไฟมากกว่าทางรถยนต์ โดยมีเส้นทางรถไฟระยะทาง 7,435 กม. ส่วนใหญ่เป็นการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า ที่เหลือเป็นระบบดีเซลและไอน้ำ มีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถรางในเปียงยางและเมืองใหญ่ และทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีน และรัสเซีย โดยเมื่อ ก.ย.2558 จีนเริ่มเปิดการเดินรถไฟความเร็วสูงกว่า 250 กม. ต่อ ชม. จากเมืองเสิ่นหยางไปยังเมืองต้านต่งติดกับชายแดนเกาหลีเหนือระยะทาง 207 กม. และเส้นทางฉางชุน-หันชุน เชื่อมไปยังเมืองราจินซอนบองของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือและรัสเซียร่วมกันพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองราจินในเกาหลีเหนือกับเมืองคาซานในรัสเซีย ซึ่งบริษัท KORAIL รัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้สนใจเข้าร่วมทุนเพื่อพัฒนาเส้นทางดังกล่าว โดยระยะยาวเกาหลีใต้ต้องการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ-รัสเซีย เนื่องจากหวังให้เป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยุโรป แต่โครงการดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีตกต่ำ
การคมนาคมทางน้ำ 2,250 กม. ท่าเรือที่สำคัญที่สุด คือ ท่าเรือชองจิน เฮจู ฮุงนาม (ฮัมฮุง) คิมเช็ก โควอง ราจิน นามโป ชินึยจู ซองนิม ซอนบอง อึงซัง และวอนซาน
การสื่อสาร เกาหลีเหนือมีโทรศัพท์บ้าน 1.2 ล้านคู่สาย และผู้ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 6 ล้านคู่สาย ที่สามารถติดต่อได้ทั่วประเทศ โดยบริษัท Orascom Techonology ของอียิปต์เข้าไปลงทุนร่วมกับเกาหลีเหนือ เพื่อติดตั้งและให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในเครือข่าย Koryolink ตั้งแต่ 15 ธ.ค.2551 ในกรุงเปียงยาง และ 15 เมืองหลักทั่วประเทศ ส่วนเครือข่าย Kang Song ซึ่งเกาหลีเหนือเปิดให้บริการเมื่อปี 2556 ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่อยู่นอกกรุงเปียงยาง ซึ่งการบริการเครือข่ายมือถือยังเป็นความเร็วสูงสุด 3G และทางการเกาหลีเหนือควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาจากต่างประเทศบนเครือข่ายภายในของประเทศ รหัสโทรศัพท์ +850 รหัสอินเทอร์เน็ต .kp
สื่อสารมวลชน สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) เป็นสำนักข่าวของรัฐบาล และพรรคคนงานเกาหลีเหนือ ทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่ข่าว เมื่อปี 2554 KCNA บรรลุความตกลงกับสำนักข่าว AP และ Reuters ให้จัดตั้งสำนักงาน และนำภาพในเกาหลีเหนือเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลในเกาหลีเหนือได้มากขึ้น สำหรับสื่อต่างประเทศที่ติดตามความเคลื่อนไหวในเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ ได้แก่ NK News Open Radio for North Korea (ORNK) Radio Free Asia The Daily NK และ Radio Free Chosun
การเดินทาง สายการบินไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปเปียงยาง การเดินทางไปเกาหลีเหนือต้องบินจากกรุงเทพฯ ไปปักกิ่ง เพื่อเดินทางต่อไปเปียงยาง ก่อนหน้านี้ สายการบินแอร์โคเรียวมีข้อตกลงทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยว หรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งไม่มีความแน่นอน ระยะทางการบิน 3,737 กม. ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชม. อย่างไรก็ดี เมื่อ 28 เม.ย.2559 สายการบินแอร์โคเรียวยุติการบินในไทย นักท่องเที่ยวไทย ที่ต้องการเดินทางไปเกาหลีเหนือจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยหากเดินทางเป็นหมู่คณะหรือคณะของทางราชการต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงเทพฯ แต่หากเดินทางท่องเที่ยวส่วนตัวต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราที่จีนแทน
ความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 8 พ.ค.2518 โดย ออท.เกาหลีเหนือประจำเมียนมา (ในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่ง ออท.ประจำประเทศไทย และ ออท.ไทย/ปักกิ่ง ดำรงตำแหน่ง ออท.ไทย/เปียงยาง เมื่อ 15 มี.ค.2534 เกาหลีเหนือได้ยกระดับสำนักงานของเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ (ตั้งเมื่อ 25 ธ.ค.2522) เป็นสถานเอกอัครราชทูต ส่วนไทยยังคงให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมเกาหลีเหนือ
ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission-JTC) รมว.กระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน
การลงทุนของไทยในเกาหลีเหนือ บริษัทล็อกซเลย์จำกัด โดยบริษัท LOXPAC ลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคมกับกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมเกาหลีเหนือเมื่อปี 2539 โดยตั้งเป็นบริษัท Northeast Asia Telephone and Telecommunication เพื่อพัฒนาระบบโทรศัพท์มือถือ (GSM) ในเกาหลีเหนือ เฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษราจิน-ซอนบอง (ราซอน) อย่างไรก็ตาม บริษัท LOXPAC ยุติการดำเนินกิจการในไทยและขายกิจการให้แก่บริษัทของฮ่องกง พร้อมย้ายบริษัทไปอยู่ที่ฮ่องกงเมื่อปี 2560
การค้าไทยกับเกาหลีเหนือ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เมื่อปี 2562 มูลค่าการค้ารวม 5.17 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้ามูลค่าประมาณ 290,000 บาท และส่งออกมูลค่า 4.88 ล้านบาท ลดลง 80% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าการค้า 26 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 2563 (กระทรวงพาณิชย์)
เกาหลีเหนือยังคงค้างชำระหนี้ค่าข้าวไทย หลังจากการสั่งซื้อข้าวจากไทยเมื่อปี 2536 ด้วยระบบการให้สินเชื่อโดยการผ่อนชำระค่าข้าว โดยเกาหลีเหนือค้างชำระค่าข้าว (รวมดอกเบี้ย) ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อปี 2562)
ด้านวัฒนธรรม ไทยและเกาหลีเหนือแลกเปลี่ยนการติดต่อและการดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมในสาขาต่าง ๆ ที่มีการลงนามความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างกันเมื่อ 1 มี.ค. 2545
กรณีนางสาวอโนชา ปันจ้อย หญิงไทยที่คาดว่าถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือเมื่อปี 2521 ทางการเกาหลีเหนือตรวจสอบแล้วในเบื้องต้นไม่พบหลักฐานว่ามีบุคคลชื่อนางสาวอโนชาอยู่ในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ขอความร่วมมือกับทางการเกาหลีเหนือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี
นางสาวอโนชาเป็นระยะ โดยขอให้คำนึงถึงความสนใจของสาธารณชนและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องเวลาของการดำเนินการตรวจสอบ ปัจจุบัน สถานภาพของนางสาวอโนชาเป็นบุคคลหายสาบสูญ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
2) เสถียรภาพทางการเมืองภายในของเกาหลีเหนือ
3) ความก้าวหน้าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกล และดาวเทียม
4) การดำเนินนโยบายพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจ
5) ความพยายามรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ การเจรจาสองเกาหลี เพื่อให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์
6) ปัญหาชาวเกาหลีเหนือหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่เกาหลีใต้รับตัวไปลดลงอย่างมาก เนื่องจากเกาหลีเหนือเพิ่มความเข้มงวดตามแนวพรมแดน ทั้งนี้ ไทยไม่มีนโยบายผลักดันชาวเกาหลีเหนือกลับประเทศ ประกอบกับเกาหลีใต้มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ และเพิ่มงบประมาณในการดูแล ทำให้ชาวเกาหลีเหนือยังคงนิยมใช้ไทยเป็นทางผ่านที่สะดวกที่สุด เพื่อขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม