ในฤดูร้อนของทุก ๆ ปี ประเด็นทุเรียนมักได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่เพราะมีรอบการผลิดอกออกผลของผลไม้เมืองร้อนจากไร่ใน จ.จันทบุรี และภาคตะวันออกเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่ไทยเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลก มีผลผลิตต่อปีมากกว่า 1,300,000 ตัน ทั้งยังมีมูลค่าที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้เล่นรายสำคัญในตลาดโลกอีก โดยในปี 2564 ไทยสามารถส่งออกทุเรียนไปยังคู่ค้าในจีน ตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา คิดรวมเป็นเงินกว่า 3,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย (150,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และมาเลเซีย (30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เกิน 100 เท่าตัว
หากพิจารณาเอาจากภาพรวมที่ปรากฏขณะนี้ หลายคนคงอาจจะเชื่อว่าตลาดทุเรียนไทยยังคงแข็งแกร่ง เพราะมีมูลค่าและปริมาณการผลิตทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งไปค่อนข้างไกลหลายเท่าตัว แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปกว่าระยะพื้นผิว
……..ข้อคิดดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงเลย เพราะสิ่งที่มักถูกละเลยไปในประเด็นทุเรียนไทยและต่างประเทศ คือ ต้นทุนการผลิต และมูลค่าของสินค้าที่ถูกขายออกไปในตลาดโลก ทุเรียนมาเลเซีย มีการเพาะปลูกในปริมาณน้อยกว่า หรือประมาณ 400,000 ตันต่อปี แต่กลับสามารถตั้งราคาขายในตลาดได้ถึง 600-700 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ทุเรียนไทยซึ่งครองสถานะเป็นเจ้าตลาด มีอัตราการเพาะปลูกกันมากกว่าพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านเกือบ 3 เท่าตัว แต่กลับมีราคาขายในตลาดเพียง 130-150 บาทต่อกิโลกรัม
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลและภาคธุรกิจในมาเลเซียมีความตื่นตัวด้านการค้าทุเรียนมากกว่าไทย และตระหนักถึงความเป็นเจ้าตลาดของไทยมาตลอด จึงพยายามไม่ผลักดันการเพาะปลูกทุเรียนโดยเน้นปริมาณแบบไทย (mass market) แต่จะเน้นการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุเรียนให้สามารถแปรรูปต่อยอดไปได้หลากหลายรูปแบบแทน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าแต่ละชิ้นให้มากขึ้น และคาดหวังให้ผลไม้ดังกล่าวกลายเป็นสินค้าในตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ไป ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้ทุเรียนมาเลเซียมีภูมิต้านทานต่อการแข่งขันและสร้างจุดเด่นของตนเองในตลาดได้ในระยะยาวพอสมควร
อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงเลยมิได้ คือ มาเลเซียมีจุดเด่นที่การเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปมากกว่าการค้าขายทุเรียนสด/ดิบโดยตรง ทำให้ทุเรียนมาเลเซียมีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าทุเรียนไทยที่มักใช้วิธีการตัดผลทุเรียนออกจากต้นก่อนที่จะสุกงอม แล้วคัดเลือกส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยคาดหวังให้ผลทุเรียนไปสุกยังด่านชายแดนลาว-จีน หรือท่าเรือทางตะวันออกของจีนเป็นหลัก จุดนี้ทำให้ทุเรียนไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาดอย่างรุนแรงระหว่างปี 2563-2564 การคาดคะเนของพ่อค้าทุเรียนไทยจำนวนมากมักละเลยปัจจัยด้านความเข้มงวดในด่านตรวจสินค้าชายแดนของจีนที่ยึดมั่นในนโยบาย Zero-Covid รถบรรทุกหลายคันต้องจอดรอคิวด่านตรวจนานกว่าปกติ ทำให้มีปรากฏการณ์ทุเรียนเน่าเสียคาตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากเกิดขึ้น
สุดท้าย คือ ผู้ประกอบการทุเรียนไทยจำนวนมากยังไม่ปรับตัวเข้าสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบูรณาการแบบมาเลเซีย และยังต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว บรรจุลงภาชนะสำหรับการขนส่ง และที่สำคัญ คือ การตรวจสอบคุณภาพภายในทุเรียนที่ยังต้องมีการใช้ไม้เคาะผลทุเรียนเป็นรายชิ้นกันอยู่ ทำให้ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานยังคงอยู่ในสัดส่วนที่สูง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ประกอบการเหล่านั้นมีสถานะเป็นรายย่อยในตลาด ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงทุนในการจัดหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีได้เท่ากับผู้ประกอบการในมาเลเซียที่ส่วนมากเป็นรายใหญ่อยู่แล้ว
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าทุเรียนไทยจะยังครองสถานะผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาด แต่ในระยะยาว สถานะดังกล่าวจะไม่มีวันมั่นคงได้ หากไทยไม่พิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องปัจจัยที่ควบคุมได้ยากรูปแบบต่างๆ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของทุเรียนไทย ที่ปัจจุบันลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่าทุเรียนมาเลเซียแล้ว ไทยอาจจะสูญเสียสถานะดังกล่าวไปภายในไม่เกิน 2 ทศวรรษ เพราะมาเลเซียได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการปลูกในปริมาณน้อย แต่ตั้งราคาสินค้าในตลาดให้สูง..สามารถปฏิบัติได้จริง และมีลูกค้าจากจีนพร้อมจะรอรับซื้อ แม้ราคาจะพุ่งขึ้นไปถึงกว่า 700 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม