ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาน้ำมันแพงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพลิกตลาดรถยนต์จากเครื่องสันดาปไปสู่เครื่องยนต์ไฟฟ้ากำลังจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้รถยนต์สันดาปทั้งหมดในปี 2573
………..แต่คำถามสำคัญตอนนี้ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาพลังงานในการคมนาคมได้หรือไม่?! เมื่อต้นกำเนิดของไฟฟ้ายังคงมาจากการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
เมื่อปี 2553-2558.. ขณะที่รถ EV (Electric Vehicle) เริ่มเป็นที่นิยม ยังมีเทคโนโลยีอีกประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนามาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิล นั่นคือ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ที่มีทั้งค่ายรถใหญ่อย่าง TOYOTA และคนไทยได้ผลิตขึ้นมา แต่ยังไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก เนื่องจากยังมีราคาสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์ ประกอบกับแหล่งเติมพลังงานยังมีน้อยและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเครื่องยนต์ จึงทำให้กระแสของรถยนต์ไฮโดรเจนเงียบไป
ในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม พลังงานไฮโดนเจนถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเครื่องยนต์ไฮโดนเจนนั้นทำงานโดยใช้ปฏิกิริยาระหว่างก๊าซไฮโดรเจน H2 (เชื้อเพลิง) กับก๊าซออกซิเจน O2 ทำให้เกิดกระแสฟ้าและความร้อนในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และปล่อยของเสียออกมาในรูปแบบของน้ำ H2O หรือเรียกได้ว่า ไม่มีของเสียหรือมลพิษเลยนั่นเอง
ความวิเศษของพลังงานไฮโดนเจนนั้นมาจาก ความเรียบง่ายของธาตุไฮโดรเจน ซึ่งถือเป็นธาตุที่เก่าแก่ที่สุดของจักรวาล การรวมตัวกันง่ายๆ ของ อิเล็กตรอน 1 ตัว ที่วิ่งเข้าหาโปรตรอนบริเวณนิวเคลียสของอะตอม ทำให้เกิดธาตุพื้นฐานที่เป็นส่วนประกอบกว่า 75% ในเอกภพ แม้แต่ในดวงอาทิตย์ก็ยังประกอบด้วยไฮโดรเจนที่อัดแน่นกันจนเกิดปฏิกิริยาฟิวชันและให้พลังงานมหาศาลออกมา จึงไม่แปลกที่มนุษย์จะมองหาแหล่งพลังงานจากสิ่งที่มีอยู่อย่างมากมายนี้ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อสร้างพลังงานที่ยั่งยืน
นั่นหมายความว่า รถยนต์ไฮโดนเจนจะมาแทนรถยนต์ไฟฟ้าในยุคต่อไป อย่างนั้นหรือ…? คำตอบคือ ไม่ใช่ ..แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ด้วยไฮโดนเจนที่มีความเบากว่าลิเทียม ซึ่งอยู่ในแบตเตอร์รี่ของรถไฟฟ้า แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ ยังต้องแข่งขันกันทางด้านราคาอีก การสกัดไฮโดรเจนจากน้ำและก๊าซธรรมชาติ ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ แต่จุดด้อยเหล่านี้จะถูกมองข้ามไป เมื่อตลาดให้ความสนใจรถยนต์ไฮโดนเจน
ไม่แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 20 ปีในการดึงดูดความสนใจให้ผู้คนทิ้งรถยนต์เครื่องสันดาปและหันมานิยมรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีคู่แข่งในการผลิตมากขึ้น ก็จะเกิดการคิดค้นการผลิตและลดต้นทุนลงเพื่อให้รถยนต์ไฮโดรเจนนั้นเข้าถึงได้ง่าย ดังที่ในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างเข้มข้น ในขณะที่ TOYOTA ผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดรายใหญ่ ได้วางภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ในการพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจน หรือรถยนต์ไฮบริดที่ใช้พลังงานหลายชนิดร่วมกันในการขับเคลื่อน
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอีกต่อไป จากการคาดการณ์ที่ว่าน้ำมันจะหมดไปภายใน 45 ปี แต่จากการแทนที่ของรถยนต์รูปแบบอื่น ทำให้การใช้น้ำมันลดลง นั่นหมายความว่า จะมีทรัพยากรฟอสซิลเหลือยาวนานขึ้น และพลังงานฟอสซิลนี้จะถูกนำไปใช้กับยานพาหนะที่เหมาะสม เพราะการคมนาคมยังคงมีหลายเส้นทาง เช่น การใช้รถไฟฟ้าส่วนบุคคลเหมาะกับการสัญจรในเมืองที่มีระยะทางสั้น ทำให้ได้รับผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่เข้าถึงได้ตามบ้านเรือนและพลังงานที่ถูกลง การใช้น้ำมันกับรถขนส่งระยะไกล การใช้รถไฮโดรเจนสำหรับการบริการเชิงพาณิชย์เพราะมีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าที่ประเมินจากต้นทุนของการผลิตรถยนต์ การใช้เชื้อเพลิง รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
…ดังนั้น การใช้พลังงานในอนาคตอาจจะไม่ใช่การทดแทนกัน แต่เป็นการเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะในวงการปิโตรเลียมเอง ก็ยังถูกใช้งานในหลายส่วน มากกว่าแค่ภาคการขนส่ง ทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในการถนอมอาหาร ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แต่ใช้อย่างสมดุลมากยิ่งขึ้น