Co-housing หมายถึง รูปแบบบการอยู่อาศัยของกลุ่มคนหรือชุมชน ประกอบกันด้วยหลายครัวเรือนที่อยู่อาศัยร่วมกันภายในบริเวณหนึ่ง มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิตอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องทำงาน โดยที่พื้นที่บางส่วนจะถูกรวมเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อใช้งานร่วมกันแบบสาธารณะ ทำให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการลดพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยถูกลง และส่งผลให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ด้วย
โครงการที่มีการใช้แนวคิดแบบ Co-housing จึงถูกนำมาใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านเอื้ออาทร” โดยบ้านแต่ละหลังจะมีพื้นที่สำหรับใช้ชีวิตส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพื้นที่บางส่วนจะถูกนำมาไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว เนื่องจากต้องทำให้ค่าก่อสร้างต่ำที่สุด ความเป็นส่วนตัวจะลดลง
แต่อสังหาริมทรัพย์บางโครงการก็มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่เป็นปัจจัยหลัก จึงทำให้เกิดกระบวนการแบบ Co-housing ไปโดยธรรมชาติ นั่นคือ อาคารชุดแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม ที่ยังคงรวมที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สระว่ายน้ำ พื้นที่ทำงาน (Co-working space) ห้องออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกลำดับที่ 2 ไว้ที่ส่วนกลาง แต่มีสิ่งที่จำเป็น ได้แก่ ห้องนอน ห้องครัว ที่ซักล้าง ไว้ในที่พักแต่ละยูนิต
นั่นคือ Co-housing ที่เกิดขึ้นตามบริบทของโครงการ แต่ความหมายของ Co-housing ที่แท้จริงนั้น ยังครอบคลุมถึง “พฤติกรรมและการใช้งาน” ในพื้นที่สาธารณะร่วมกันของแต่ละชุมชน ซึ่งมีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป เพราะบางชุมชน ไม่มีครัวหรือพื้นที่ซักล้างแยกแต่ละยูนิต แต่ถูกรวมเอาไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด หรืออาจจะเป็น “ชุมชนในอุดมคติ” ที่ไร้ความเป็นเจ้าของ ทุกพื้นที่ล้วนเป็นสาธารณะทั้งหมด ใกล้เคียงแนวคิดสังคมนิยม ดังนั้น Co-housing จะมีความเข้มข้นมาก-น้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และความต้องการของโครงการที่กำหนดโดยคนในชุมชนที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกัน
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้น ยิ่งโครงการมีการใช้แนวคิด Co-housing สูงเท่าไหร่ ย่อมต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น เพื่อที่จะร่วมกันออกกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกัน และบริหารชุมชนได้ โดยมีความขัดแย้งน้อยที่สุด
….ดังนั้น การดำเนินโครงการแบบ Co-housing จึงมักจะมีกระบวนการการระดมความคิดเห็นจากผู้ร่วมชุมชน เพื่อที่จะออกแบบโครงการให้เหมาะสม เลือกพื้นที่ใช้สอยที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ สร้างข้อตกลงของการใช้สอยและดูแลพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะกับการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีระยะเวลาครอบคลุมช่วงชีวิตคนตั้งแต่ 30-50 ปี หรือคาบเกี่ยวหลายรุ่น หากไม่สามารถสร้างความร่วมมือกันได้ จะทำให้การอยู่ร่วมกันแบบ Co-housing พังทลายลง กลายเป็นการใช้ชีวิตต่างกันต่างอยู่แบบหมู่บ้านจัดสรรในสังคมเมือง
แม้จะมีการผลักดันหรือสนับสนุนแนวคิด Co-housing ค่อนข้างมาก แต่ความห่างเหินของคนในชุมชนในสังคมเมือง ทำให้การใช้ชีวิตแบบ Co-housing เป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนไม่น้อยล้วนต้องการความเป็นส่วนตัว อยู่กับตัวเองมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง แตกต่างจากสังคมไทยในอดีตที่เป็นครอบครัวขยาย บ้านใกล้เรือนเคียงต่างเป็นเครือญาติหรือเพื่อนบ้างที่ยินดีที่จะแบ่งปันพื้นที่ใช้สอยร่วมกันได้ นั่นเพราะความเรียบง่ายของการใช้ชีวิต ฐานะที่ไม่แตกต่างกันมาก อาชีพไม่หลากหลายเนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ง่ายที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน ทำให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน
……..ดังนั้น ความหลากหลายจึงอาจจะเป็นความท้าทายในการสร้างความรู้สึกแบ่งปันก็เป็นไปได้และท้ายที่สุด ความเหมือนกันหรือจุดร่วมบ้างอย่างของชุมชนจะทำให้ชุมชนแบบ Co-housing ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า
โครงการที่พักอาศัยแบบ Co-housing หลายโครงการเกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ของคนในชุมชนร่วมกัน เช่น อาคารชุด 4 ชั้นของครอบครัวขยาย ที่พักของพนักงานที่เป็นสวัสดิการของบริษัท ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ชุมชนนิเวศวิถี (Ecovillage) บ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อย หอพักนักศึกษา เป็นต้น การรวมตัวของผู้มีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตร่วมกัน หรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน จะทำให้ความขัดแย้งในชุมชนลดลง ทำให้ชุมชนดำรงอยู่ได้อย่างใกล้ชิดและยั่งยืน
ไม่ใช่แค่เฉพาะ “การรวมกลุ่ม-ก่อนก่อสร้าง” เท่านั้น ที่จะก่อให้เกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ Co-housing เพราะชุมชนแบบที่มีการใช้ของสาธารณะร่วมกันนั้น…สามารถสร้างขึ้นได้ และดึงดูดผู้ที่มีความสนใจเข้ามาอยู่ร่วมกันได้
ทั้งนี้..ของสาธารณะ อาจไม่ได้จำกัดความอยู่แค่พื้นที่ใช้สอย แต่หมายถึง “การบริการสาธารณะ” ด้วย โดยเฉพาะการบริการทางด้านสุขภาพ กับชุมชน Co-housing ของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลจากผู้ให้บริการร่วมกัน มีอายุที่ใกล้เคียงกัน มีพฤติกรรมใกล้เคียงกัน จนทำให้เกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลก กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศที่มีความพร้อมรองรับการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้น