ผ่านไปแล้ว 2 ปีที่กลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองในประเทศ ด้วยการเคลื่อนกำลังเข้ายึดครองอำนาจทางการเมืองเมื่อ สิงหาคม 2564 และประกาศตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบริหาร “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน” (Islamic Emirate of Afghanistan) หรือชื่อใหม่ของประเทศอัฟกานิสถาน โดยมีกลุ่มสมาชิกระดับสูงและผู้ก่อตั้งกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานเป็นผู้นำ
…จนถึงตอนนี้ สถานการณ์ในอัฟกานิสถานเป็นอย่างไร มีประเทศใดรับรองสถานะรัฐบาลที่ชอบธรรมของกลุ่มตอลิบันหรือยัง หรือมีประเด็นอะไรบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ บทความนี้จะชวนไปสำรวจพร้อม ๆ กัน 2 เรื่อง เพื่อมาดูกันต่อถึงแนวโน้มสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน กับประเด็นกลุ่มตอลิบันสามารถพิสูจน์ตัวเองเพื่อขึ้นมาเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมได้หรือไม่? …หรือจะยังคงต้องสู้รบกับ “ขุนศึกติดอาวุธ” หรือ “กลุ่มก่อการร้าย” ที่มีความเห็นต่างกับกลุ่มตอลิบันต่อไปอย่างโดดเดี่ยว??
ขอเริ่มเรื่องแรก…ที่สถานการณ์ภายในอัฟกานิสถานในภาพรวม ไปสำรวจกันว่า ปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร …ในภาพรวม “การสู้รบ” เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มตอลิบันกับกลุ่มขุนศึกที่ครองอำนาจอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน มีจำนวนลดลง เพราะกลุ่มตอลิบันดำเนินมาตรการเด็ดขาดต่อการจัดการ ด้วยการสร้าง “เครือข่ายชาวอัฟกานิสถาน” ที่สนับสนุนกลุ่มตอลิบัน ขณะเดียวกันก็มีการรวบอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองและการทหารไว้ที่คนกลุ่มเดียว ทำให้การปกครองของกลุ่มตอลิบันค่อนข้างเข้มแข็ง และยังไม่มีกลุ่มต่อต้าน หรือการแทรกแซงใด ๆ ที่จะเปลี่ยนขั้วอำนาจของอัฟกานิสถานได้ แน่นอนว่ายังมีการสู้รบระหว่างกลุ่มตอลิบันกับกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ รวมทั้งกลุ่ม Islamic State-Khorasan Province หรือ IS-KP อยู่เรื่อย ๆ แต่จำนวนเหตุปะทะที่น้อยลงก็เป็นสัญญาณว่า กลุ่มตอลิบันยังพอที่จะปรับตัวเพื่อรักษาบรรยากาศความมั่นคงในประเทศได้ในระดับที่นักวิเคราะห์ต่างประเทศเรียกว่าเป็น “unfamiliar calm” หรือ…ความสงบที่โลกไม่ค่อยคุ้นเคย
ส่วนประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิสตรีที่หลายประเทศห่วงกังวลและต้องการให้กลุ่มตอลิบันให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องภายในประเทศที่ท้าทายความชอบธรรม (legitimacy) ของกลุ่มตอลิบันมากที่สุด เพราะแนวทางของกลุ่มฯ ไม่เป็นไปตามทิศทางที่หลาย ๆ ประเทศคาดหวังจะให้เป็น โดยเฉพาะสิทธิสตรี ซึ่งประเด็นนี้ละเอียดอ่อนและมีเหตุผลลึกซึ้งกันทุกฝ่าย แต่มีข้อสังเกตว่า แนวทางของกลุ่มตอลิบันต่อเรื่องการให้สิทธิและเสรีภาพต่อสตรีในประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ที่ขัดขวางความร่วมมือระหว่างกลุ่มตอลิบันกับต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะ “ค่านิยม” และแนวปฏิบัติของแต่ละฝ่ายยังแตกต่างกัน ทำให้ในมุมมองของนานาชาติ กลุ่มตอลิบันยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในมิติด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าตอลิบันจะให้ความสำคัญกับการปราบปรามการคอร์รัปชัน และการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจผ่านการเก็บภาษี แต่ดูเหมือนว่ายังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลประเทศอื่น ๆ แถมยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น ๆ ก็คือ “ความยากจน” กล่าวคือประชากรร้อยละ 90 ของอัฟกานิสถานอยู่ในสภาวะยากจน และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (humanitarian aid) แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวถูกชะลอไว้ เพราะกลุ่มตอลิบันยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั่นเอง!! นอกจากเรื่องการยอมรับในฐานะผู้ปกครองแล้ว การที่กลุ่มตอลิบันไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของนานาชาติเรื่องสิทธิสตรี ก็ยิ่งทำให้องค์กรระหว่างประเทศไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ เพราะการหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเข้าไปในตอนนี้ อาจเท่ากับการช่วยเหลือกลุ่มตอลิบันนั่นเอง สรุปได้ว่า เมื่ออัฟกานิสถานขาดความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยและเสี่ยงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มตอลิบันต่อไป
เรื่องที่สอง …เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงในประเทศไปแล้ว จะไม่พูดถึงเรื่องต่างประเทศ หรือ ปัจจัยภายนอก (external factors) ที่ส่งผลกระทบต่ออัฟกานิสถานเลย ก็ดูจะไม่ครบถ้วนเท่าไหร่ …ขอเริ่มที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอัฟกานิสถาน แม้ว่า…จนถึงตอนนี้ยังไม่มีประเทศใดรับรองสถานะของรัฐบาลตอลิบันอย่างเป็นทางการ แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา อัฟกานิสถานก็ยังมีการค้าระหว่างประเทศ และมีการเจรจาระดับผู้แทน เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับอัฟกานิสถาน
สาเหตุที่ทำให้อัฟกานิสถานยังเป็นประเทศที่ทั่วโลกสนใจ เพราะประเทศนี้มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียกลาง และยังถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นชาวมุสลิมขนาดใหญ่ของโลก ดังนั้น อัฟกานิสถานจึงมีความสำคัญในหลาย ๆ มิติ และไม่ได้ถูกเมินหรือทอดทิ้งโดยนานาชาติ ไม่ว่าจะถูกปกครองโดยกลุ่มใดก็ตาม …ที่สำคัญก็คือ อัฟกานิสถานถูกมองว่าเสี่ยงเผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย จึงทำให้หลายประเทศที่ยังห่วงกังวลกับเรื่องก่อการร้าย ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความอยู่รอดของอัฟกานิสถานไม่น้อยไปกว่าเดิม
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก ๆ ที่ทำให้ต้องเริ่มเขียนบทความเรื่องนี้ ก็คือ รายงานเมื่อ 1 สิงหาคม 2566 ที่ว่าสหรัฐอเมริกา หนึ่งในมหาอำนาจที่คัดค้านการยึดอำนาจของกลุ่มตอลิบันเมื่อ 2 ปีก่อน ได้ทำการส่งผู้แทนไปพบและพูดคุยกับผู้แทนของรัฐบาลกลุ่มตอลิบันเมื่อ 30-31 กรกฎาคม 2566 โดยการพบกันครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกว่าเป็นการพูดคุยในระดับเทคนิค เน้นประเด็นการสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน การพูดคุยครั้งนี้สหรัฐอเมริกาส่งผู้แทนไปอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ นาย Thomas West ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ด้านการดำเนินนโยบายต่ออัฟกานิสถาน นาง Rina Amiri ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ด้านสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน และนาย Karen Decker ผู้แทนสหรัฐฯ ด้านอัฟกานิสถานที่ประจำอยู่ที่กาตาร์ ขณะที่ผู้แทนของฝ่ายอัฟกานิสถาน ก็คือ Amir Khan Muttaqi ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอัฟกานิสถาน
สำหรับผลการหารือดูเหมือนว่าจะไม่มีผลลัพธ์หรือข้อตกลงใหม่ ๆ ที่เป็นรูปธรรม เพราะอเมริกาก็เป็นฝ่ายเน้นแสดงความกังวลต่อประเด็นสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน ทั้งการให้สิทธิด้านการศึกษาและการปฏิบัติตามพิธีทางศาสนา และการที่อเมริกาเน้นย้ำให้อัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ที่น่าสนใจไม่น้อย!!…คือทั้ง 2 ฝ่ายได้คุยกันเรื่องการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด (counternarcotics) ที่อเมริกาอาจจะแบกความหวังของทั้งโลก เพราะดูเหมือนตอนนี้ การที่รัฐบาลตอลิบันแบนการปลูกฝิ่นอย่างจริงจัง ก็เป็นเรื่องที่นานาชาติสนับสนุนอย่างมาก และที่สำคัญคือ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ย้ำต่อกันและกันว่า “จะไม่ยอมให้ดินแดนอัฟกานิสถานตกเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มที่มุ่งทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร”
…….ว่ากันว่าแท้จริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพบกับผู้แทนของกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานมาโดยตลอด เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ภารกิจแรก ๆ ของประเทศตะวันตกหลังจากเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในอัฟกานิสถาน คือการเร่งอพยพพลเมืองของตัวเอง และผู้ที่เคยช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ออกจากพื้นที่ ดังนั้น ภารกิจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดีไม่ได้เลย หากกลุ่มตอลิบันที่ครองอำนาจในตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้อเมริกาช่วยเหลือคนของตัวเอง ….อย่างไรก็ตาม การไปพบกันและประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจคล้ายเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายท่าทีของสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลตอลิบันในอัฟกานิสถาน เพราะอเมริกาทิ้งท้ายไว้ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยครั้งต่อไป โดยเฉพาะประเด็นต่อต้านยาเสพติด และการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอัฟกานิสถาน
การที่อเมริกาผ่อนคลายท่าทีครั้งนี้อย่างเปิดเผย อาจจะเป็นไปเพื่อแสดงให้ทั่วโลก โดยเฉพาะ “จีน” เห็นว่า สหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลและเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอัฟกานิสถานที่ดูเหมือนว่าจีนเองก็เล็ง ๆ อยู่ว่าจะสนใจเข้าไปสร้างบทบาทและลงหลักปักฐานให้เป็นส่วนหนึ่งของ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีนในเอเชียกลาง ต่อยอดจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor – CPEC) ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปากีสถานซะเลย
เมื่อดูทั้ง 2 มิติทั้งความมั่นคงภายใน และสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วรอบ ๆ อัฟกานิสถาน จะเห็นได้ว่า …ผ่านไปแล้ว 2 ปี อัฟกานิสถานยังคงเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นความมั่นคงมนุษย์และเศรษฐกิจที่น่าห่วงกังวล แต่ขณะเดียวกัน แม้ว่าไม่มีประเทศใดรับรองสถานะของกลุ่มตอลิลันเป็นรัฐบาลของประเทศ แต่เนื่องจากอัฟกานิสถานไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวและยังถือว่าเป็น “hot spot” ของความมั่นคงระหว่างประเทศ ทำให้เริ่มมีนักวิเคราะห์ต่างประเทศประเมินว่าอาจจะถึงเวลาที่ทั้งนานาชาติและกลุ่มตอลิบันต้องทบทวนการดำเนินนโยบายต่อกันและกัน เพื่อให้ประชาชนในประเทศอัฟกานิสถานพ้นจากภัยคุกคามต่าง ๆ และมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่กลับไปเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเอเชียกลางอย่างแน่นอน