เมื่อต้นปี 2567 เกิดการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งสำคัญ เมื่อกลุ่มประเทศ BRICS หรือกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ต้อนรับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 5 ประเทศ ทำให้เดิมที่กลุ่ม BRICS ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้เป็นสมาชิก ได้มีเพื่อนร่วมกลุ่มเพิ่มเป็น 10 ประเทศ สำหรับสมาชิกใหม่ของ BRICS ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ความคืบหน้านี้ถือว่าเป็นความสำเร็จในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ในยุคที่ทั่วโลกเผชิญปัญหาและความขัดแย้ง แต่กลุ่ม BRICS …ซึ่งต่อไปนี้อาจจะต้องเรียกว่า BRICS พลัส (BRICS+) กลับมีความคืบหน้าที่สำคัญ เพราะการขยายสมาชิก แปลว่า สมาชิกเดิมพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ ขณะที่สมาชิกใหม่ก็พร้อมเพิ่มความร่วมมือตามแนวทางของสมาชิกเดิมด้วย
…..สำหรับการเพิ่มสมาชิกกลุ่ม BRICS ครั้งล่าสุด คือ การรับแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกเมื่อปี 2553
การเพิ่มสมาชิกของกลุ่ม BRICS ครั้งนี้มีผลทันที และทั่วโลกก็สนใจความร่วมมือของกลุ่มนี้ที่กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และอาจกลายเป็น “ความหวัง” สำหรับประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS ว่ากันไปถึงว่ากลุ่มนี้จะกลายเป็นคู่แข่งของกลุ่ม G20 หรือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมทั้ง BRICS+ อาจกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินหลักของโลก จากดอลลาร์สหรัฐของอเมริกา ไปเป็นสกุลเงินอื่น ๆ รวมทั้งอาจหมายถึงการสร้างสกุลเงินใหม่ของกลุ่ม เพื่อใช้ในการค้าระหว่างสมาชิก และประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม
การขยายกลุ่ม BRICS+ อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจโลก เพราะจะทำให้ประเทศสมาชิก BRICS+ มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมหาอำนาจขั้วโลกตะวันตก และที่สำคัญ การที่ BRICS ขยายสมาชิก แปลว่าไทยเองก็มีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกในอนาคต หลังจากที่ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกไปเมื่อต้นปี 2566 และกำลังอยู่ระหว่างรอพิจารณา …ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไทยและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างสมัครเข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกันก็เป็นการเน้นย้ำให้ทั่วโลกเห็นว่า กรอบความร่วมมือที่มีจีนเป็นสมาชิกรายใหญ่ มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ BRICS+ ในปีนี้ บทความนี้ขอนำเสนออย่างน้อย ๆ 2 เรื่อง
เรื่องแรก …สมาชิกใหม่ โดยเฉพาะอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
ก่อนหน้านี้ อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเหมือนคู่แข่งขันและคู่ขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีเรื่องกันมาทุกรูปแบบ แต่เมื่อผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศสอดคล้องกันเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่สามารถเป็นตัวกลางสานความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาความขัดแย้งและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยมีทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องติดตามดูว่าความขัดแย้งในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการแสดงบทบาทในกลุ่ม BRICS+ ของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียหรือไม่ โดยเฉพาะด้านการเพิ่มการลงทุนในตะวันออกกลาง และประเทศซีกโลกใต้ นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านจะทำให้ความร่วมมือในกรอบ BRICS+ เกิดปัญหาหรือเปล่า เพราะความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกในระดับที่มี “ประวัติศาสตร์” มาเกี่ยวข้อง อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ BRICS ไม่เคยเจอ
เรื่องที่สอง …อนาคตการเพิ่มสมาชิกของกลุ่ม BRICS+ จะเป็นอย่างไร? โดยเจ้าภาพจัดการประชุม BRICS+ ใน ตุลาคมปี 2567 คือ รัสเซีย ที่ประกาศแล้วเมื่อต้นปี 2567 ว่ารัสเซียจะให้ความสำคัญกับคำว่า “พหุภาคี” และดำเนินการทุกความร่วมมือโดยให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานของกลุ่ม คือ การเคารพอธิปไคย คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วม และสร้างระบบการค้า รวมทั้งการเงินที่ยุติธรรม ซึ่งปีนี้ BRICS+ มีคำขวัญ คือ “เสริมสร้างระบบพหุภาคี เพื่อการพัฒนาและความมั่นคงโลกอย่างเท่าเทียม” และคาดว่า รัสเซียจะเน้นความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารเป็นอันดับแรก
สำหรับรัสเซีย ที่ผ่านมากลุ่ม BRICS ทำให้โลกเห็นแล้วว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนไม่ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่ม BIRCS เพราะมีการเชิญผู้แทนและผู้นำรัสเซียเข้าร่วมการประชุมอยู่เรื่อย ๆ สะท้อนการยอมรับบทบาทของรัสเซียในกลุ่มประเทศมหาอำนาจขนาดกลาง หรือ middle power …ดังนั้น บทบาทของรัสเซียน่าจะเข้มข้นในเวทีโลกมากขึ้นในปี 2567
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียเตรียมพร้อมจะประกาศรับสมาชิกกลุ่ม BRICS ใหม่เพิ่มอีก 30 ประเทศ ตามจำนวนประเทศที่แสดงความจำนงจะเข้าร่วมกลุ่ม เพื่อให้กลุ่ม BRICS กลายเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีประเทศสมาชิกถึง 40 ประเทศ กลายเป็นกรอบความร่วมมือที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเนื่องจาก BRICS เป็นกรอบที่มีความร่วมมือหลายด้าน จึงมีโอกาสเป็นเวทีให้ประเทศมหาอำนาจขนาดกลางผลักดันวาระสำคัญ ๆ รวมทั้งกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลกต่อไป คาดว่าเรื่องนี้ จีนน่าจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะตรงกับเป้าหมายการส่งเสริมบทบาทของประเทศซีกโลกใต้ให้เท่าเทียม มีอำนาจต่อรองกับประเทศตะวันตกมากขึ้น