ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูง สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ถือครองที่ดินต่างคว้าโอกาสนี้พัฒนาที่ดินในแหล่งต่างๆ ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อน ค้างคืน หรือเป็น “โรงแรมและรีสอร์ท” นั่นเอง เพราะธุรกิจประเภทนี้มีโอกาสจะทำให้เจ้าของกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ หรือกำไรโดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากมาย ….แต่ธุรกิจนี้จะทำให้เจ้าของกิจการได้เป็น “เสือนอนกิน” จริงหรือไม่ กับการลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ ที่อาศัยวิวและบรรยากาศที่เป็นต้นทุนไร้ราคาจากแหล่งธรรมชาติหรือที่ตั้ง (Location) ที่เดินทางเข้าไปได้ง่าย ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงการให้บริการประสบการณ์แบบสุดหรูที่มอบแก่ผู้ที่จ่ายเงินเข้าพัก เพราะในตลาดการบริการนี้ จะไม่ได้มี “เสือนอนกิน” แค่เพียงตัวเดียว ผู้ประกอบการ หรือ “เสือ” ทั้งหลายจำเป็นต้องตื่นจากการนอนมาเข้าสู่สนามการแข่งขัน เพื่อหาพันธมิตรและสร้างกำไรสูงสุดจากการประกอบกิจการโรงแรมให้ได้
ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของห้องพักในไทยอยู่ที่ 1,500 บาทต่อห้อง ซึ่งเฉลี่ยจากห้องพักราคาถูกที่ 300 บาท จนถึงคืนละหลายแสนบาท แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงโควิด-19…แต่ภายหลังจากปี 2565 ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการเข้าพักของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ และยังมีช่องว่างในการเติบโตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวจากจีน รัสเซียและยุโรปอีกมาก ทำให้ภาพรวมของรายได้เป็นที่น่าพอใจของเจ้าของกิจการ
……..แต่สงครามของการแย่งชิงนักท่องเที่ยวกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหารที่จะต้องปรับปรุงสถานที่ เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้ใหม่เอี่ยมอยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ทำให้มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากคอนโดหรือหอพักที่ลงทุนเพียงแค่ก่อสร้างอาคาร และอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์บ่อยขนาดนั้น …ซึ่งการปรับปรุงสถานที่และการให้บริการอยู่เสมอก็เป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวติดใจกลับมาพักซ้ำที่เดิม
การให้บริการที่สะดวกสบายของโรงแรม กลายเป็นจุดแข็งของธุรกิจโรงแรมที่ผู้คนอยากได้รับ ดังนั้น การบริหารโรงแรมจะไม่สงวนการบริการต่างๆ เหล่านี้ไว้เพียงเฉพาะในโรงแรมเท่านั้น จนทำให้เกิดรูปแบบการขายสิทธิ์ขาดในการเข้าพักห้องพัก เพื่อให้เจ้าของห้องสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของโรงแรมได้เสมอ เสมือนการซื้อคอนโดหรือบ้านพักที่มีผู้ดูแลระดับเดียวกับโรงแรม 5 ดาว นอกจากนั้นยังสามารถปล่อยห้องพักให้เช่าสร้างรายได้ในช่วงที่ไม่ได้เข้าใช้ห้อง ทำให้แบรนด์โรงแรมดังหลายแห่งที่มีชื่อเสียงด้านการดูแลและให้บริการ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ควบคู่กับการสร้างโรงแรม เพื่อสร้างมูลค่าโครงการให้สูงมากยิ่งขึ้น
การก่อสร้างโรงแรมสุดหรูและการดูแลรักษา กลายเป็นอุปสรรคของโรงแรมที่จะกลับสู่ระยะคุ้มทุน แต่หากโครงการโรงแรมมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท สามารถนำลักษณะของผลตอบแทนที่แตกต่างกันมาใช้ในการพัฒนาโครงการได้ คือ ….การพัฒนาพื้นที่โครงการบางส่วนเป็นคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้าน จะสามารถสร้างรายได้จากการขายสิทธิ์ครอบครองขาดได้ และนำรายได้มาใช้ในการก่อสร้างและดูแลรักษาโรงแรมที่มีระยะคืนทุนที่ยาวกว่า ลดภาระการลงทุนในช่วงต้นด้วยจากการขายสินทรัพย์ และทำให้การเงินในการก่อสร้างโรงแรมสูงราบรื่นมากขึ้น…ปัจจุบันเราจึงได้เห็นโครงการย่อยมากมายที่เกิดขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการของโรงแรมชื่อดัง นั่นก็เพราะเป็นความพยายามของ “เสือในโรงแรม” ที่ตื่นขึ้นมาขยับขยายกิจการให้ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
สุดท้าย สิ่งที่มีมูลค่าสูงสุดของธุรกิจโรงแรม นั่นคือ “แบรนด์” ซึ่งเป็นสิ่งที่การันตีความเชื่อมั่นในการใช้บริการห้องพักที่ทำให้ลูกค้าพร้อมที่จะเลือกพัก ในการพัฒนาที่ดินที่อยู่ในที่ตั้งที่โดดเด่น เมื่อถูกพัฒนาเป็นโรงแรมที่มีแบรนด์ชื่อดัง จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างสม่ำเสมอ กลายเป็นเครื่องมือที่บ่งบอกมาตรฐานการบริการที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทใดก็ตาม และการสร้างแบรนด์สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอีกมหาศาล จนอาจสามารถเปลี่ยนบทบาทเจ้าของกิจการจาก “เสือนอนกิน” ให้เป็น “สิงห์ผงาด” ที่ยืนอยู่บนความสำเร็จของสนามการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมได้อย่างสง่างาม