สถานการณ์ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งไต้หวันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์ในพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบทบาทของจีน และสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ บทความนี้จะเน้นวิเคราะห์ว่า แนวโน้มความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันจะเป็นอย่างไรต่อไปในปี 2567 เพราะน่าจะยังคงเป็นเรื่องท้าทายนโยบายของประเทศต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกับจีน ไต้หวันและสหรัฐอเมริกา
ทิศทางนโยบายของไต้หวันต่อเรื่องความมั่นคงในช่องแคบและความสัมพันธ์กับจีน มีแนวโน้มจะซับซ้อนและไม่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรค Democratic Progressive Party (DPP) ชนะ แต่ไม่ขาดลอย เพราะแม้ DPP จะได้ตั้งรัฐบาล แต่พรรคก๊งมินตั๋นก็ได้ตำแหน่งประธานสภาไปครอง รวมทั้งยังมีจำนวน สส.อิสระเพิ่มมากขึ้นในสภา สภาพดุลอำนาจทางการเมืองจึงไม่ได้อยู่ในมือและอำนาจตัดสินใจของ DPP แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับจีนแบบแข็งกร้าว หรือต่อต้านจีน อาจจะทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะ DPP ต้องอาศัยการสนับสนุนจากสมาชิกในสภาด้วย แต่เนื่องจาก DPP ยังได้เป็นผู้นำรัฐบาล จึงอาจคาดการณ์ได้ว่า ผู้นำคนใหม่ของไต้หวันจะยังคงสานต่อนโยบายเดิมส่วนใหญ่ต่อไป
………การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไต้หวันในลักษณะนี้ แม้ว่าทางจีน อาจจะสบายใจขึ้นได้มานิดหน่อย แต่ก็ยังไม่วางใจเพราะทันทีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง จีนยืนยันทันทีว่าจะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับเอกราชหรืออธิปไตยของไต้หวันจากพรรค DPP ซึ่งเป็นจุดยืนที่จีนเน้นย้ำมาโดยตลอด
จีนไม่เคยเปลี่ยนนโยบายมุ่งหน้ารวมชาติ หรือ reunification อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องคือ การเสริมขีดความสามารถทางการทหารของจีนรอบ ๆ ช่องแคบไต้หวัน ทั้งเพิ่มจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ และเพิ่มการลาดตระเวน จริง ๆ แล้วจีนไม่ได้เสริมความสามารถด้านนี้เพื่อปกป้องไต้หวันเท่านั้น แต่จีนขยายกองทัพเรือเพื่อให้กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล และน่าจะต้องการมีศักยภาพเท่าสหรัฐอเมริกา ความมุ่งหมายของจีนเรื่องนี้แม้จะทำให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้น …….แต่ท้ายที่สุด หลายฝ่ายเชื่อว่าจีนยังไม่พร้อมจะปฏิบัติการทางทหารหรือมีความขัดแย้งทางทหารโดยตรง เพราะแม้ว่าปริมาณเรือของจีนมีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ แต่มีศักยภาพที่ยังด้อยกว่า รวมถึงตอนนี้มีข่าวการทุจริตในกองทัพจีน ที่รัฐบาลกำลังปราบปราม
ดังนั้น ไม่ว่าจีนจะเพิ่มขีดความสามารถทางการทหาร รวมทั้งมุ่งมั่นจะรวมชาติ ….จนทำให้บรรยากาศความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันไม่น่าไว้วางใจ แต่จะยังไม่เกิดสงครามหรือการที่จีนจะบุกโจมตีไต้หวันในเร็ว ๆ นี้…หรืออย่างน้อย ๆ ก็ในปี 2567
อีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน คือ ท่าทีของสหรัฐฯ แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะยั่วแหย่จีนอยู่เรื่อย ๆ ด้วยการส่งสมาชิกในสภาสหรัฐฯ ไปเยือน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ความตึงเครียดขยับสูงขึ้นอยู่บ้าง เพราะไม่มีการส่งผู้แทนระดับสูงไปอีก เนื่องจากมีบทเรียนจากกรณีส่งประธานสภาสหรัฐฯ ไปเยือนในอดีต แล้วทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตกต่ำลงไปอย่างมาก และทำให้จีนยกระดับการลาดตระเวนทางทหารรอบเกาะไต้หวันด้วย
……….จะมีก็เพียงเรื่องเดียวที่อาจทำให้จีนไม่พอใจ และทำให้บรรยากาศในช่องแคบไต้หวันไม่มั่นคงได้ ก็คือ กรณีสหรัฐฯ อนุมัติการขายอาวุธให้ไต้หวัน ที่จีนคัดค้านอย่างจริงจัง โดยบอกว่าการขายอาวุธนี้ขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียว และเป็นการบ่อนทำลายอธิปไตยของจีน ถึงอย่างนั้นก็เห็นได้ว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ และจีนพยายามหันมาสานสัมพันธ์กันมากขึ้น และมีการคุยกันเรื่องไต้หวันอยู่เรื่อย ๆ
สิ่งสำคัญที่อาจทำให้นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนและไต้หวันเปลี่ยนแปลง ก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปใน พฤศจิกายน 2567 ที่อาจทำให้เรื่องไต้หวันกลายเป็นประเด็นร้อนระหว่าง 2 มหาอำนาจได้อีกครั้ง เพราะไม่ว่าพรรคใดชนะการเลือกตั้ง เรื่องนโยบายต่อจีนและไต้หวันก็เป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับสถานะมหาอำนาจโลก และเศรษฐกิจของอเมริกา
สำหรับแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต หลังจากปี 2567 หากรัฐบาลชุดใหม่ของไต้หวันยอมประณีประนอมเข้าหาจีน หรือจีนสามารถรวมชาติกับไต้หวันได้โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง ก็น่าจะทำให้จีนมีภาพลักษณ์ที่ดี แข็งแกร่ง และเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลก เพราะจีนจะครอบครองทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและทรัพยากรจากไต้หวัน แต่ฉากทัศน์ หรือ scenario นี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะคนไต้หวันแม้ส่วนใหญ่จะไม่อยากมีปัญหากับจีน แต่ก็อยากให้คงสถานภาพแบบนี้ต่อไป (status quo) มากกว่ารวมชาติกับจีน ที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ ความเห็นของชาวไต้หวันที่เชื่อว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น และกิจกรรมทางทะเลของจีนที่เห็นก็เป็นเรื่องปกติที่จีนดำเนินการอยู่เป็นประจำทุกปี และชาวไต้หวันบางส่วนก็ยังสนับสนุนการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนอยู่ ดูได้จากการที่พรรคก๊งมินตั๋นได้ครองตำแหน่งหลายที่นั่งในสภา
………..อีก scenario หนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ ไต้หวันประกาศเอกราชอย่างไม่เป็นทางการ โดยพรรค DPP ซึ่งจะทำให้สถานะของไต้หวันเป็นเหมือนปัจจุบัน แต่ที่ต้องเน้นว่า “ประกาศเอกราชอย่างไม่เป็นทางการ” เพราะถ้าเป็นทางการ ก็จะเป็นเงื่อนไขให้จีนใช้กำลังทหารบุกไต้หวันทันที กลายเป็นสงคราม หรือการปะทะทางทหาร ซึ่งไม่น่ามีฝ่ายใดต้องการให้เกิดขึ้น รวมถึงว่าหากมีสงครามในตอนนี้ สหรัฐฯ ก็อาจจะมาช่วยไต้หวันไม่ทัน หรือไม่เต็มที่ เพราะยังต้องมีส่วนร่วมกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ส่วนจีนเองถ้าตัดสินใจทำสงคราม ก็ไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศเลย รวมทั้งอาเซียน
อาจสรุปได้ว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันหลังจากพรรค DPP ชนะการเลือกตั้ง ก็ทำให้จีนเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนและจำนวนอุปกรณ์ทางการทหารรอบช่องแคบไต้หวัน จนทำให้บรรยากาศความมั่นคงตึงเครียดขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยหลายอย่างแล้ว ยังไม่มีฝ่ายไหนพร้อมทำสงครามตามแบบ (traditional warfare) หรือการปะทะกันด้วยกำลังทหาร ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ ดังนั้นทุกฝ่ายจะคงสถานภาพปัจจุบันไว้ต่อไปเรื่อย ๆ ในปีนี้ …หรือจนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน