ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นจากการตัดสินใจใช้กำลังทางทหารโจมตีตอบโต้กันระหว่างคู่ขัดแย้งในหลายภูมิภาค ….การปรากฏตัวของตัวแสดงที่เป็นประเทศเล็กในฐานะคนกลางการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อคลี่คลายปัญหาในหลายพื้นที่ กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ได้อย่างดีแทนที่ประเทศใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในเวทีโลก เช่น สหรัฐฯ หรือองค์การระหว่างประเทศ เช่นสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในบางเหตุการณ์
ที่ผ่านมาประเทศเล็กที่มีบทบาทเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างประเทศส่วนใหญ่ เป็นประเทศที่มีจุดยืนเป็นกลาง เช่น ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและได้รับการยอมรับในเวทีโลกในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มปรากฏภาพคนกลางการเจรจาไกล่เกลี่ยที่เป็นประเทศเล็กในภูมิภาคอื่น ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ดังกล่าวเช่นกัน โดยประเทศเล็กที่เป็นคนกลางหลายประเทศถือเป็นประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาคและเวทีโลกเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ
……ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ หลายประเทศเป็นประเทศมุสลิม ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคและประเทศข้างเคียง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates – UAE) และกาตาร์ ขณะที่จีน ซึ่งไม่ใช่ประเทศเล็ก แต่ยึดถือนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นแนวทางหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ก็เริ่มมีบทบาทในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่จีนมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว
UAE ซึ่งเป็นประเทศเล็กที่ไม่ธรรมดา จนอาจเรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” เนื่องจากมีบทบาทในระดับระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจ การพัฒนา ความทันสมัย รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และอวกาศ ร่วมเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศหลายครั้ง เช่น กรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานจากกรณีพิพาทแคชเมียร์จนนำไปสู่การทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2546 หรือการผลักดันการทำความตกลงสันติภาพระหว่างเอริเตรียกับเอธิโอเปียร่วมกับซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2561 รวมถึงการจัดทำ Abraham Accords ระหว่างอิสราเอลกับ UAE และบาห์เรน เมื่อปี 2563 ที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติระหว่างกัน นอกจากนี้ UAE ยังมีส่วนร่วมในการผลักดันกระบวนการทางการทูตเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในหลายพื้นที่ในตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย ลิเบีย และเยเมน
กาตาร์เป็นอีกประเทศเล็กเมื่อดูจากขนาดและจำนวนประชากร ที่มีบทบาทโดดเด่นในการเป็นคนกลางแก้ไขปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยกาตาร์มีประสบการณ์การเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยและแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติผ่านกระบวนการเจรจาและการทูตมานาน เฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาค เช่นการมีส่วนร่วมในการคลี่คลายวิกฤติเลบานอนเมื่อปี 2551 ซึ่งกาตาร์ในฐานะคนกลางผลักดันให้รัฐบาลเลบานอนและกลุ่ม Hezbollah บรรลุความตกลงจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2552 จนนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมือง หรือวิกฤติในอัฟกานิสถานหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัญหาที่กาตาร์มีส่วนร่วมในการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มตอลิบัน จนนำไปสู่การหยุดยิงและสหรัฐฯ ถอนทหารจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2563
นอกจากนี้ กาตาร์ยังอนุญาตให้กลุ่มตอลิบันเปิดสำนักงานในโดฮาเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศแห่งแรกของกลุ่มตอลิบันหลังปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน รวมทั้งบริจาคเงินให้กลุ่มตอลิบันหลังจากที่ขึ้นบริหารประเทศครั้งใหม่เมื่อช่วงสิงหาคม 2564 จัดสรรอาหารและเวชภัณฑ์ และส่งทีมเทคนิคช่วยฟื้นฟูบูรณะท่าอากาศยานนานาชาติคาบูล เพื่อเปิดทางสำหรับการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการเดินทางของประชาชน
สำหรับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยืดเยื้อตั้งแต่ต้นตุลาคม 2566 กาตาร์ ที่มีความได้เปรียบจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มฮามาส ก็คงบทบาทการเป็นคนกลางการเจรจาทั้งการแลกเปลี่ยนตัวประกันและการขยายเวลาหยุดยิง พร้อมกับให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งในกาซาและเวสต์แบงก์ ซึ่งก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติปัจจุบัน กาตาร์ก็ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ยากไร้ในกาซาหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่จีนเริ่มมีบทบาทในฐานะการเป็นคนกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือความขัดแย้งในประเทศที่จีนมีผลประโยชน์หลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา และน่าจะมากขึ้นตามระดับผลประโยชน์และความเกี่ยวโยงกับประเทศต่าง ๆ แม้จีนยังยึดมั่นหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้จีนเข้ามามีบทบาทในการเป็นคนกลางโน้มน้าวและกดดันคู่ขัดแย้งให้เปิดการเจรจาเพื่อยุติการเป็นปรปักษ์ต่อกันหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะประเทศที่จีนมีความใกล้ชิด เช่น รัสเซีย-ยูเครน หรือบางครั้งจีนก็จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนในการเจรจาแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบและปกป้องผลประโยชน์ของจีน เช่น อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ซีเรีย และเมียนมา โดยมีรายงานว่าเมื่อปี 2560 จีนมีส่วนร่วมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเหตุความขัดแย้ง 9 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีเพียง 3 เหตุการณ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากที่จีนผลักดัน Belt and Road Initiative (BRI) เมื่อปี 2556 ทั้งในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก ซึ่งล้วนอยู่ตามแนวเส้นทาง BRI ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน นอกจากนั้น จีนยังเข้าไปมีส่วนไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งลงทุนของจีน เช่น ซูดาน หรือประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับจีน เช่น เกาหลีเหนือ และเมียนมา ซึ่งจีนต้องการให้มีเสถียรภาพ เพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีน
การแสดงบทบาทดังกล่าวของจีนตอบโจทย์การแสดงความเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีเป้าหมายจะนำพาจีนเป็นมหาอำนาจของโลกภายในปี 2593 ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของจีนในการรักษาอิทธิพลในประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีความใกล้ชิดกับจีน เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดี Bashar al-Assad ของซีเรีย หรือรัฐบาลทหารของเมียนมา
การเป็นคนกลางในการเจรจาเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของหลายประเทศที่ต้องการมีบทบาทและได้รับการยอมรับในเวทีโลก เช่น กาตาร์ ที่เน้นย้ำบทบาทดังกล่าวว่าเป็นความรับผิดชอบ และเป็นปัจจัยผลักดันให้กาตาร์เสริมสร้างบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การไกล่เกลี่ยและแก้ไขความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง การอำนวยความสะดวกและสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายต่างประเทศของกาตาร์ แม้การใช้แนวทางสันติวิธีต้องใช้เวลานานและยากลำบากกว่าจะบรรลุผล
หากมองในมุมธุรกิจ การแสดงบทบาทผ่านความพยายามผลักดันการเจรจาเพื่อสันติภาพ ถือเป็นการสร้างแบรนด์ที่ชัดเจนของกาตาร์ โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน ร่วมด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในภูมิภาคทั้งรัฐอ่าวอาหรับ อิหร่าน หรือแม้แต่อิสราเอล รวมถึงมหาอำนาจนอกภูมิภาคทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้กาตาร์ที่เป็นประเทศเล็ก เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นในการใช้การทูตเชิงป้องกัน การไกล่เกลี่ย และการเป็นสื่อกลางการเจรจา เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่ไม่อาจมองข้าม