ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากคิดถึง เพราะเมื่อเกิดขึ้นย่อมหมายถึงความสูญเสีย พลัดพราก และการจากลาอย่างถาวร รวมถึงเงินก้อนโตในกระเป๋าที่ต้องใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่ายดาย รวดเร็ว ทั้งยังสวยงามตามความสามารถในการดีไซน์และทุนทรัพย์ของเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ พวงหรีด และของชำร่วยเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้วายชนม์ จึงไม่แปลกที่บริการจัดงานศพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะเฟื่องฟู …และจะยิ่งเติบโตในห้วงที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในราวปี 2573 เนื่องจากเมื่อคิดเผิน ๆ ตามช่วงอายุก็อาจตีความได้ว่าอายุที่มากขึ้น..ย่อมหมายถึงมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิต
ไม่เพียงโครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนไปจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจการจัดงานศพครบวงจรขยายตัว แต่ธุรกิจดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (Micro, Small and Medium Enterprise – MSME) ยังน่าจะได้รับผลพลอยได้จากจำนวนคนต่างชาติที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นตามนโยบายดึงดูดคนต่างชาติของรัฐบาล ทั้งผู้ที่เข้ามาอยู่ในระยะสั้นเพื่อท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ หรือทำงาน โดยได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราที่สามารถพำนักในไทยได้ไม่เกิน 60 วัน หรือผู้ที่ประสงค์จะพำนักในไทยระยะยาว เพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (Workcation) ทั้งกลุ่มที่มีทักษะสูง (High-skilled/Talent Labors) กลุ่มทำงานทางไกลและกลุ่มอาชีพอิสระ (Digital Nomads/Freelancers) หรือเข้ามาทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนผู้สูงอายุที่เข้ามาพำนักระยะยาวหลังเกษียณ (Long-stay) เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่คนเหล่านี้จะเป็นผู้รับบริการ ทั้งในฐานะผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เจ็บป่วย หรือตามอายุขัย รวมทั้งการเป็นผู้จัดการศพ
การดึงดูดชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาระยะสั้นหรือระยะยาว นอกจากมีจุดขายที่การท่องเที่ยว และการลงทุน สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีส่วนดึงดูดชาวต่างชาติเช่นกัน นั่นคือ ศักยภาพด้านการแพทย์ของไทยที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง จนทำให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นหนึ่งในตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทย ด้วยจุดเด่นด้านความสามารถของบุคลากร สถานพยาบาลที่ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล และการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ ๆ แต่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับชาวต่างชาติที่รักสุขภาพและเป็นตัวเลือกในลำดับต้น ๆ สำหรับผู้ที่มีฐานะทางการเงินในการเข้ามารับการรักษาพยาบาล หรือต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการรักษาตัวเมื่อมีการเจ็บป่วยในภาวะฉุกเฉินหรือป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตลอดจนการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Care) เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี จะเป็นโอกาสของเศรษฐกิจไทย ที่เกิดจากคนเป็น (คนที่ยังมีชีวิต) มีสิ่งหนึ่งที่ชวนให้คิดคือ โอกาสทางเศรษฐกิจจากชีวิตหลังความตายของชาวต่างชาติในไทย เนื่องจากความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนกับทุกคน การจัดงานศพเพื่อคนตายของคนเป็นจึงเป็นอีกช่องทางธุรกิจที่น่าจับตามองในห้วงที่ชาวต่างชาติวัยหลังเกษียณจะเข้ามาอยู่ในไทยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่มีปัจจัยส่งเสริมหลักจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย
ปัจจุบันการจัดงานศพในไทยดำเนินการได้รวดเร็วและสะดวกสบาย เฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้มีกำลังทรัพย์ที่สามารถใช้บริการจากผู้ประกอบการที่มีให้เลือกหลากหลายเจ้า ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรตามศาสนสถาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจบริการจัดงานศพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือ Death Care จะพัฒนาและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในลักษณะธุรกิจที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว และสวยงาม เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าภาพที่ต้องการแสดงความอาลัย เคารพรัก และให้เกียรติต่อผู้วายชนม์ครั้งสุดท้าย ต้องแลกมาด้วยราคาการบริการจัดงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ผู้ประกอบการได้ไม่น้อย และส่วนใหญ่ทำเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีการเสนอแพ็กเกจครบวงจรสำหรับบริการที่เกี่ยวเนื่อง แทบจะเรียกได้ว่าเป็น one-stop service เลยทีเดียว
….ซึ่งหากการขายสินค้าและบริการตามพิธีกรรมทางศาสนาเป็นไปในราคาที่ยุติธรรม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจผู้สูญเสีย ไม่ซ้ำเติมหรือเอาเปรียบผู้รับบริการให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในราคาเกินจริง ท่ามกลางความโศกเศร้าจากการสูญเสียอยู่แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า บริการดังกล่าวจะเป็นอีกธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการได้ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะลูกค้าไทยหรือเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ต้องการเข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายในไทย
….และในยุคปัจจุบันที่กระแสรักษ์โลกมาแรงและหลายฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผลกระทบที่เกิดจากความตาย การจัดการกับความตายในเชิงรักษาสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีการพัฒนามากขึ้นด้วย ไม่จำกัดเฉพาะการฌาปนกิจด้วยเตาไร้ควันเท่านั้น โดยอาจนำนวัตกรรมมาให้บริการย่อยสลายร่างผู้เสียชีวิต เพื่อให้กระบวนการจัดการกับศพไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะตอบโจทย์กลุ่มรักษ์โลก รวมทั้งอาจได้รับการตอบรับจากคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมหรือไม่นับถือศาสนา
นอกจากนี้ ไม่เพียงในแง่มุมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพลอยได้จากการจัดการกับชีวิตหลังความตาย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับการจัดการกับชีวิตช่วงสุดท้ายก่อนที่ความตายจะมาถึง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุขทั้งทางกายและใจก่อนที่ผู้ป่วยจะจากไปอย่างสงบ ก็น่าจะเป็นอีกบริการในลักษณะ Long Term Care ที่น่าจะมีการส่งเสริมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริการด้านสาธารณสุข…ในวันที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และต่างชาติเริ่มจะล้นเมือง…เป็นการให้บริการจัดการชีวิตหลังความตายและการดูแลแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยก่อนถึงวาระสุดท้าย