ประเทศไทยประกาศนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เพื่อเป็นศูนย์กลางการแพทย์ด้านการรักษาสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุก อุตสาหกรรมนี้น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศ…… แต่!!…ไม่ใช่มีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ตั้งเป้าหมายนี้ ยังมีประเทศแคนาดา อังกฤษ สเปน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่เร่งพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ เพื่อให้ได้เป็น….. Medical Hub ของภูมิภาค หรือที่ 1 ของโลก ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องสร้างความโดดเด่นของการเป็น Medical Hub ให้ประสบความสำเร็จเพื่อดึงดูดผู้คนทั่วโลกเข้ามาใช้บริการ
การให้บริการดังกล่าว หมายถึงทั้งการทำศัลยกรรมความงาม การรักษาโรคทั่วไป จนถึงระดับที่ยากหรือซับซ้อน “การให้บริการที่ครอบคลุม” เป็นเป้าหมายของกลุ่มประเทศที่ต้องการเป็น Medical Hub แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ ซึ่งมีประชาชนภายในประเทศเป็นผู้รับการรักษาหลัก ก่อนที่จะเพิ่มความเชี่ยวชาญจนมีชื่อเสียงในการรักษา เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ป่วยต่างประเทศให้กลายเป็น “ลูกค้าคุณภาพ” ที่มองเห็นศักยภาพในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีสิทธิพิเศษแตกต่างจากการรับการรักษาด้วยสวัสดิการจากภาครัฐของประเทศตนเอง ดังนั้น การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ก็ไม่แตกต่างจากการท่องเที่ยว ที่ต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ไปใช้ทรัพยากรในต่างประเทศเท่าเทียมกัน แต่มีส่วนต่างในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนซึ่งถือว่ามีทรัพยากรที่ต้องเสียไป โดยที่ทุกอย่างมีมูลค่า
สำหรับประเทศไทย แม้ยังมีจุดอ่อนเรื่อง “เครื่องมือทางการแพทย์” ที่จำเป็นต้องนำเข้า ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่ไทยมีจุดแข็งที่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ซึ่งได้รับการยอมรับ ผนวกกับการพักฟื้นในเชิงการท่องเที่ยว ที่ให้ผู้ป่วยสามารถพักฟื้นได้ในสถานที่ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ ค่าครองชีพเป็นมิตร และวัฒนธรรมการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถตอบโจทย์การพักฟื้นหลังจากการผ่าตัด การทำศัลยกรรม รวมถึงการฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยยังโดดเด่นด้านการรักษาแบบ “แพทย์ทางเลือก” เนื่องจากมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมองค์ความรู้ด้านสุขภาพทั้งในเชิงรุก จากตำรับยาและอาหารจากวัตถุดิบทางธรรมชาติมากมาย เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมที่จะเลือกใช้สมุนไพรในการรักษามากกว่าการใช้ยาจากการสังเคราะห์ทางเคมี ที่สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้ป่วยต่อภาวะตกค้างของสารเคมีในร่างกายที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ
แม้ระยะเวลาในการรักษาด้วยธรรมชาติ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจจะเห็นผลช้ากว่า แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมในปัจจุบัน หากมีการรักษาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการแพทย์ระดับสูงที่สามารถวัดผลเชิงสุขภาพได้อย่างชัดเจน สร้างความมั่นใจต่อผู้ป่วยว่าจะหายจากโรคได้ จากกระบวนการรักษากับการพักฟื้น “อย่างสบายตาสบายใจ” ในแหล่งธรรมชาติที่หลากหลาย เปลี่ยน “ผู้ป่วย” ให้กลายเป็น “นักท่องเที่ยว” กลุ่มใหม่ที่เข้ามารับบริการในประเทศและสร้างรายได้ต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ การท่องเที่ยวและชุมชน ทำให้เกิดทางเลือกและความน่าสนใจที่จะเลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายในการรักษาและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนเกิดเป็นประสบการณ์ที่ดีและกลับมาพักผ่อนอีกเรื่อย ๆ
รัฐบาลไทยสนับสนุนนโยบายการเป็น Medical Hub เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์ให้ประเทศไทยมีโอกาสการแข่งขันในการรักษาโรคยาก และโรคที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าในการบริการทางการแพทย์ได้สูงขึ้น แต่เพื่อให้การเป็น Medical Hub ตอบโจทย์การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้จริง ๆ ……จำเป็นจะต้องมีบูรณาการภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อกระจายรายได้สู่นอกอุตสาหกรรมทางการแพทย์ได้ด้วย และกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น เปลี่ยนรูปแบบการรักษาที่ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาสุขภาพ แต่เป็นการมอบประสบการณ์การพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ Medical Hub ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในโลก…ที่หาได้…..ที่ประเทศไทย