แม้เกษตรกรรมจะไม่ใช่กิจกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ แต่การเกษตรยังคงมีความสำคัญต่อประเทศ เพราะอาหารมาจากภาคการเกษตรทั้งสิ้น รวมทั้งยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม การเกษตรจึงถูกผลักออกจากประเทศพัฒนาแล้วให้กับ “ประเทศที่กำลังพัฒนา” ให้รับบทเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าเกษตรให้ เพราะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำได้ง่าย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรหรือความเชี่ยวชาญที่ซับซ้อน จึงมีต้นทุนต่ำ…แต่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูง
หากมองการเกษตรเป็นแค่ส่วนของการเพาะปลูก อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของการทำเกษตรกรรมดูล้าหลัง ไม่มีการต่อยอดและโอกาสทางเศรษฐกิจสักเท่าไหร่ แต่หากพิจารณาระบบการผลิต การแปรรูปและการขายแล้ว ภาคการเกษตรจะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้มากมาย ทั้งส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ส่วน “ต้นน้ำ” ของการเกษตร หรือหัวใจหลักของกระบวนการนี้ คือ การเพาะปลูก ซึ่งปัญหาของเกษตรกรที่มีมานานหลายยุคสมัย คือ ราคาผลผลิตที่ไม่คงที่ ปรับขึ้นลงโดยพ่อค้าคนกลาง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่แปรปรวนจนทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่หากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองก็จะสามารถควบคุมความต้องการของตลาด และวางแผนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น จนสามารถเพาะปลูกได้ตรงกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมรูปแบบการปลูกที่ดีกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยกับผู้บริโภค “การวางแผน” ก็จะทำให้ผลผลิตได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศด้วย
…………ก่อนที่จะไปสู่การขายให้กับตลาด ส่วน “กลางน้ำ” ของการเกษตรมีส่วนสำคัญที่จะคงสภาพผลผลิตให้มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านกระบวนการตัดแต่ง การล้าง และการคัดเลือกผลผลิต ปัจจุบันการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรนั้น ทำให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตไปไม่ต่ำกว่า 50% ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบการขนส่ง ที่ใช้ระยะเวลาน้อยลง มีเทคโนโลยีอย่างตู้แช่ที่มีความเสถียรและใช้พลังงานต่ำ รวมถึงการแปรรูปผลผลิตเบื้องต้นเพื่อยืดอายุผลผลิตส่งให้กับผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการกลางน้ำจะสามารถลดต้นทุนของกระบวนการได้ ผลผลิตราคาถูกลงสามารถเข้าถึงได้ง่าย และลดอำนาจของพ่อค้าคนกลางลงอีกด้วย
ส่วน “ปลายน้ำ” เป็นส่วนที่จะสร้างรายได้กลับคืนสู่เกษตรกร นั่นคือตลาดหรือช่องทางการขายผลผลิตให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากมีช่องทางการจำหน่าย (Distribution Channel) มากเท่าไหร่ โอกาสการขายก็จะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายให้ตลาดสด ธุรกิจการท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม โรงเรียนที่มีความต้องการ (Order) คงที่ การส่งโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานแปรรูป หรือโรงงานสกัดที่เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต แม้เกษตรกรจะไม่ได้ส่วนแบ่งจากกำไรในการแปรรูปผลผลิต แต่เชื่อว่าโรงงานเหล่านี้เป็นโอกาสของเกษตรกร เพราะมีความต้องการผลผลิตปริมาณมากและชัดเจน เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยเฉพาะกับตลาดที่กว้างและมีมูลค่าสูง นั่นก็คือตลาดการส่งออก…ที่ต้องอาศัยการจัดการผลผลิตเพื่อการขนส่งในส่วนกลางน้ำ และคุณภาพของผลผลิตที่ดีพอที่จะสามารถเอาชนะการส่งออกจากประเทศคู่แข่งได้
………….จะเห็นได้ว่า เกษตรกรรมนั้นยังมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าขาย แต่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนจะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจภาคส่วนอื่น ๆ ไปได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ด้านปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ด้วย ทุกด้านเชื่อมโยงกันและเกี่ยวข้องกับสังคมของประเทศ ดังนั้น หากจะพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการมองภาพวงการเกษตรกรรมให้ครบวงจร เพื่อพัฒนากระบวนการทำเกษตรให้มีความแข็งแรง โดยเฉาะกับประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย