เมื่อคริสต์ศักราช 1898 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจักรวรรดิจีน ถือเป็นปีสำคัญที่ฮ่องเต้กวงสู จักรพรรดิของประเทศจีนได้เริ่มการปฏิรูปรื้อระบบและโครงสร้างของอำนาจการบริหารประเทศ ท่ามกลางสังคมที่มีระเบียบแบบแผนตามคติขงจื้ออันมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลของชนทุกชั้น ก่อนที่การปฏิรูปดังกล่าวจะถูกยกเลิกด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจจักรพรรดิโดยพระนางซูสีไทเฮา โดยมีช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปการปกครองรูปแบบใหม่เพียง 103 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน –21 กันยายน) จักรพรรดิกวงสูได้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การปฏิรูป พระองค์ขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีพระชนม์เพียง 3 พรรษา จึงมีพระนางซูสีและพระนางซูอันเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนภายหลังจากที่จักรพรรดิบรรลุนิติภาวะ ก็เริ่มดำเนินพระราชกรณียกิจด้วยตัวพระองค์เอง แต่กระนั้นพระนางซูสียังคงดึงอำนาจในการตัดสินพระทัยและดำเนินกรณีกิจแทนองค์จักรพรรดิอยู่เสมอ
พระองค์มีหัวสมัยใหม่และมีความสนใจใคร่รู้ ในช่วงที่มีการดำเนินการวางแผนการปฏิรูป จักรพรรดิกวงสูได้มีบรรดานักคิดคนสำคัญคอยช่วยเหลือเสนอแนวคิด ซึ่งได้แก่ คังโหย่วเว่ย เหลียงฉีเฉา ถานซื่อถง และนักคิดหลักอีก 4 ท่านที่ช่วยกันทำให้การปฏิรูปนี้เป็นรูปร่างขึ้นมาได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศจีนให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมอารยธรรมตะวันตกและต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเพื่อให้จีนรอดพ้นภัยที่ชาติมหาอำนาจคุกคาม ดังนั้นบทบาทของจักรพรรดิกวงสูจึงมีความสำคัญต่อประเทศจีนอย่างมาก และอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ปฏิรูปจีนคนแรก ๆ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จึงอยากจะแนะนำให้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และการพัฒนาของประเทศจีน เข้าใจบทบาทของอดีตผู้นำจีนคนนี้ และศึกษารูปแบบแนวคิดการปฏิรูปจากอดีตจักรพรรดิจีน ที่ทำให้เห็นพัฒนาการการปฏิรูปของประเทศจีน ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว
สำหรับเหตุผลที่ทำให้เกิดการปฏิรูป มีเบื้องหลังสำคัญหลายประการ …………..
ประการแรก การศึกษาได้จุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้จักรพรรดิ โดยจักรพรรดิกวงสูได้รับการศึกษาจากบุคคลที่มีความรู้สูงมากมาย นอกจากนี้มีคนรอบข้างเช่น มเหสีเจิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนใจและมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่างประเทศอยู่เสมอ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระองค์เริ่มหันมาสนใจในกิจกรรมของโลกตะวันตก จากความรู้และความสนใจทำให้พระองค์ตระหนักได้ว่าโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เพียงทางด้านวิทยาการ แต่ยังรวมถึงการปกครองที่ทันสมัยย่อมสร้างชาติให้เจริญ เวลาเดียวกันเมื่อมองย้อนไปที่การปกครองของจีน พระองค์เห็นความล้าสมัยหลายเรื่องที่ถือเป็นตัวถ่วงทำให้จีนไม่ทัดเทียมกับตะวันตกอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน…..ไม่ว่าจะเป็น 1) การที่จีนต้องอยู่ในสถานะ “ถูกบังคับ” ให้ต้องทำสัญญาด้านการค้าที่เสียเปรียบชาติตะวันตก เช่น สนธิสัญญานานกิง เนื้อหาทำให้ระบบเศรษฐกิจของจีนกลับไปตกอยู่กับเฉพาะชนชั้นปกครองของจีนบางกลุ่มและต่างชาติ ส่งผลให้ชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงยากจนแร้นแค้น ความยากจนทำให้ประชาชนต่อต้านระบบราชการและราชวงศ์ ทำให้ประเทศขาดความเป็นเอกภาพจนเกิดเป็นกบฏไท่ผิง 2) การปราบกบฏในประเทศ ไม่เพียงทำให้ประเทศไม่มั่นคง แต่ยังทำให้ประเทศขาดเงินทองในการดำเนินการบริหารประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดกบฏไท่ผิงซึ่งเป็นเวลา 14 ปี (ปี ค.ศ. 1850 – 1864) ส่งผลให้รัฐบาลจีนหมดเงินทองไปจำนวนมหาศาลในการปราบกบฏจนแทบไม่มีเงินเหลือมาบำรุงประเทศ 3) การเก็บภาษีที่ขูดรีดและซ้ำซ้อน รวมไปถึงระบบราชการที่มีแต่ความทุจริตและไม่มีคุณภาพ จีนในยุคที่จักรพรรดิกวงสูขึ้นครองประเทศ มีนายทุนนายหน้าที่คอรัปชั่น รวมถึงการติดสินบนข้าราชการที่ไม่คิดทำงานจริงจัง และ 4) ปัญหาจากภัยธรรมชาติในหลายรูปแบบทำให้รัฐบาลจีนต้องนำเงินไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยเสมอ
ประการที่สอง การเรียนรู้จากตัวอย่าง คือ ประเทศญี่ปุ่น จักรพรรดิกวงสูได้สนใจกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่แนวทางการบริหารประเทศแนวใหม่ที่มีการออกกฎหมายแบบตะวันตก มีการบริหารงานภายใต้กองกำลังฝ่ายบริหารประเทศที่เรียกว่า “คณะปฏิรูปแผ่นดิน” ซึ่งทำให้ประเทศเจริญทันสมัยและพระจักรพรรดิทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย
ประการที่สาม ความคิดแบบตะวันตกเร่งให้เกิดการปฏิรูปเร็วขึ้น ความคิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจากนักวิชาการจีน ตลอดจนนักเรียนมาจากบรรดาหมอสอนศาสนา (มิชชันนารี) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถเข้าถึงชุมชนในทุกหย่อมหญ้าในจีน มีการตั้งโรงเรียน มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ตะวันตก และ……….
ประการที่สี่ ผลจากสงครามจีน-ญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นสงครามที่ชาวจีนรู้สึกเสียหน้ามากที่สุด เพราะจีนเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่ดู ‘ต่ำ’ กว่าตนเองมาตลอด ซึ่งเป็นผลจากความล้าหลังด้านกองทัพและวิทยาการต่างๆ ของจีน แม้ว่าจะมีขบวนการสร้างตนเองให้เข้มแข็ง แต่ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น นั้นได้ทำให้เห็นว่ากองทัพและวิทยาการต่างๆ ยังไม่ดีพอ และความพ่ายแพ้นำมาสู่การทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ที่ชาวจีนส่วนใหญ่ถือเป็นเรื่องยอมไม่ได้ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงราชสำนักชิงผู้เป็นผู้บริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้คนในจีนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เมื่อจักรพรรดิตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้ว จึงออกพระราชกฤษฎีกาฉบับแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1898 กล่าวได้ว่าการปฏิรูปประเทศจีนได้เกิดขึ้นแล้ว พระราชกฤษฎีกาที่ออกมากกว่า 200 ฉบับมีเนื้อหากล่าวถึงในหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ให้ล้มเลิกการสอบเข้าข้าราชการแบบเก่า ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง ด้านการบริหาร ล้มเลิกตำแหน่งงานต่างๆ ในอดีตที่อยู่ในรูปแบบของการไม่ทำงานแต่รับเงินเดือน เป็นต้น แต่การดำเนินการสามารถทำไปได้เพียง 103 วันเท่านั้น
และการปฏิรูปการปกครองครั้งแรกของชาติจีนไม่ได้ราบรื่น ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและประชาชน เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงนำมาใช้กับประชาชนชาวจีนถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่และไม่คุ้นเคยในสายตาของประชาชนทั้งสิ้น เป็นที่มาของการที่จักรพรรดิกวงสูต้องยุติการปฏิรูปแผ่นดินไปในที่สุด และผู้ที่ทำการหยุดยั้งการปฏิรูปนั้นก็คือพระนางซูสี ความล้มเหลวจากการปฏิรูปนี้มีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน
ประการแรก การปฏิรูปเพียงทฤษฎีเท่านั้น เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาการปฏิรูปไม่ได้มีการนำเอามาปฏิบัติจริง
ประการต่อมา มีการต่อต้านการปฏิรูปทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม (หัวเก่า) ที่รู้สึกว่าการปกครองแบบดั้งเดิมกำลังถูกสั่นคลอนและถูกลดอำนาจลง ด้านพวกเชื้อสายแมนจูเชื่อว่าการออกกฎหมายเป็นการเล่นงานพวกเขาโดยตรง เนื่องจากมีข้าราชการแมนจูจำนวนมากถูกให้ออกจากตำแหน่งสำคัญและพวกกลุ่มปฏิรูปการปกครองล้วนแต่เป็นคนจีนฮั่น
ประการที่สาม ฝ่ายปฏิรูปไม่มีพันธมิตรด้านอื่นๆ
ประการที่สี่ กลุ่มนักปฏิรูปไม่มีประสบการณ์ ฝ่ายที่ปรึกษาของจักรพรรดิทั้งคังโหย่วเว่ย และเหลียงฉีเฉาต่างก็ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงานมาก่อน
ประการสุดท้ายคือการไม่มีอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง จักรพรรดินั้นไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจแท้จริงที่จะสามารถทำให้การปฏิรูปสามารถดำเนินไปได้ แม้ว่าพระนางซูสีจะวางมือบริหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 แต่ยังคงอำนาจในการตัดสินพระทัยและดำเนินกรณีกิจแทนองค์จักรพรรดิอยู่เสมอ ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้การปฏิรูปไม่ได้ดำเนินการอย่างราบรื่น
ผลที่ตามมาหลังเหตุการณ์ปฏิรูป 100 วัน คือเรื่องที่เคยถูกมองว่าไม่ชอบมาพากลในยุคปฏิรูป 100 วันกลับวนมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งเช่น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคืนสู่อำนาจอีกครั้ง พระนางซูสีหวนกลับมาครองอำนาจในราชสำนักชิงและการกลับมาคราวนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งขุนนางแมนจู พร้อมกับนำนโยบายการกีดกันชาวจีนฮั่นในทางการเมืองมาใช้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวแมนจูในหมู่คนจีนฮั่นทั่วประเทศทันที และเรื่องนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในปีค.ศ. 1911
ประการต่อมา ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากโค่นล้มราชวงศ์ชิงในหมู่ประชาชน เพราะการปฏิรูปร้อยวันได้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าเป็นเรื่องป่วยการที่จะเริ่มแก้ไขจากตำแหน่งสูงสุด ชาวจีนฮั่นจำนวนมากกระตือรือร้นจะโค่นล้มราชวงศ์แมนจูให้ได้และแนวคิดที่ว่าการปฏิวัติจะต้องเริ่มจากรากหญ้าก่อนได้ถูกนำมาใช้เป็นที่มาของการปฏิวัติโดยซุนยัดเซ็น
ประการสุดท้ายมีการนำเอาข้อดีของการปฏิรูปร้อยวันมาปรับใช้ แม้ว่าพระนางซูสีจะต่อต้านการปฏิรูป แต่พระราชกฤษฎีกาบางข้อกลายเป็นสิ่งที่ประทับใจพระนาง ในช่วงที่กบฏนักมวยจบสิ้นปี ค.ศ. 1901 พระนางซูสีมีแถลงการณ์โดยนำหัวข้อการปฏิรูปบางอย่างมาใช้และนั่นชี้ให้เห็นว่าความจริงแล้วพระนางซูสีไทเฮามีความชื่นชอบบางเรื่องของการปฏิรูปเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ ประวัติศาสตร์จีนในช่วงจักรพรรดิคนนี้ทำให้เราเห็นถึงบริบทสังคมช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ได้พบเจอกับปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากมาย ซึ่งจักรพรรดิกวงสูผู้เป็นผู้นำประเทศก็ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย แม้สุดท้ายจะไม่ประสบความสำเร็จจากปัจจัยต่างๆดังกล่าว แต่ก็ได้สะท้อนถึงอุดมการณ์ของจักรพรรดิที่แตกต่างจากค่านิยมจีนยุคเก่า นับว่าเป็นจุดตัดสำคัญอีกจุดในม่านประวัติศาสตร์จีนจนเป็นประเทศที่เราเห็นในปัจจุบัน
รายการอ้างอิง