หากไม่นับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงมาเลเซียที่มักมีข่าวสารเกี่ยวกับการก่อการร้ายทั้งกลุ่มก่อเหตุ การก่อเหตุ และการมีคอนเนคชั่นกับกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคอื่นให้ได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งมากกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศที่มีความตื่นตัวในการเตรียมการรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ หรือจากพลเมืองสิงคโปร์ที่รับแนวคิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายผ่านสื่อออนไลน์
รายงานประเมินภัยคุกคามการก่อการร้ายประจำปี 2567 ของสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายกรกฎาคม 2567 สะท้อนถึงความระมัดระวังภัยจากการก่อการร้ายของสิงคโปร์ด้วยการประเมินว่า… ภัยจากการก่อการร้ายต่อสิงคโปร์ยังมีอยู่สูง แม้ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน โดยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความหวาดวิตกให้สิงคโปร์ ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่กังวลว่าการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันระหว่างอิสราเอลกับฮะมาสจะไม่จำกัดวงแค่นั้น เนื่องจากมีอีกหลายตัวแสดงเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งระดับรัฐและที่ไม่ใช่รัฐ อีกทั้งในสิงคโปร์มีกระแสต่อต้านท่าทีของทางการต่อความขัดแย้งดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์ โดยชาวเน็ตบางกลุ่มมองว่าสิงคโปร์มีนโยบายเข้าข้างอิสราเอล
ขณะที่กลุ่ม Islamic State (IS) ยังเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ถือเป็นภัยคุกคามหลักทั้งของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในอิรักและซีเรีย เพราะยังเป็นแรงบันดาลใจและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาค แม้ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์มีมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งขันจนทำให้กลุ่มก่อการร้ายในทั้งสองประเทศอ่อนกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Abu Sayyaf ที่สูญเสียสมาชิกระดับนำและมีประสบการณ์ หรือในอินโดนีเซียที่กลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) ประกาศยุบกลุ่มไปเมื่อต้นกรกฎาคม 2567
ประเด็นที่น่าสนใจในรายงานของสิงคโปร์คือ ปัญหาการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงด้วยตัวเอง (Self-Radicalization) ผ่านสื่อออนไลน์ของพลเมืองไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ในสิงคโปร์ แม้มีจำนวนไม่มาก แต่ก็มีการตรวจพบผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นระยะ โดยตั้งแต่ปี 2558 พบว่ามีจำนวน 52 คน เป็นชาวสิงคโปร์ 40 คน และชาวต่างชาติ 12 คน ที่น่าห่วงกังวลคือในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่มีอายุ 20 ปีหรือน้อยกว่า 13 คน และสำหรับปี 2566 มีการตรวจพบการบ่มเพาะแนวคิดนิยมความรุนแรงด้วยตัวเอง 3 เหตุการณ์ เป็นเด็กชายชาวสิงคโปร์อายุ 14 และ 16 ปี และสตรีชาวสิงคโปร์วัย 33 ปี
…………ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ การบ่มเพาะแนวคิดด้วยตนเองที่สิงคโปร์ตรวจพบไม่ได้จำกัดเฉพาะแนวคิดการก่อการร้าย แต่ยังเกี่ยวข้องกับการมีอุดมการณ์สุดโต่งขวาจัด (Far-right Extremism) ซึ่งผู้ที่รับแนวคิดดังกล่าวเป็นเด็กชายวัย 16 ปีที่มีเชื้อสายจีน แต่ถือว่าตนเองเป็นพวก White Supremacist โดยรับแนวคิดผ่านคลิปของ Paul Nicholas Miller ชาวอเมริกันที่มีแนวคิดขวาจัดและยกย่องคนผิวขาว (White Supremacy) ขณะที่เด็กชายวัย 14 ปี และสตรีวัย 33 ปีมีแนวคิดหัวรุนแรงจากการเปิดรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอิสราเอล-ฮะมาส
การประเมินภัยจากการก่อการร้าย รวมถึงความห่วงกังวลปัญหาจากการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงของสิงคโปร์ อาจไม่ต่างจากประเทศอื่น รวมถึงไทย มากนัก ที่ต่างยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาจากกลุ่ม IS และปัจจัยกระตุ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส และฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง…. แต่สิ่งที่น่าคิดที่ได้จากรายงานฉบับนี้คือ ทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเพศใดวัยไหนตระหนักรู้ถึงภัยที่แฝงมากับการเปิดรับข่าวสารข้อมูลในสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง ชุมชน และสังคมให้มีความมั่นคงปลอดภัย และภัยที่ว่าก็ไม่ได้มีเพียงแค่การรับแนวคิดการก่อการร้ายเท่านั้น ที่หลายฝ่ายประเมินว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นปัญหามากขึ้นตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น แต่ยังรวมถึงการมีแนวคิดสุดโต่งขวาจัดที่มีสัญญาณว่า….อาจกลายเป็น emerging threat โดยไม่จำกัดเฉพาะในประเทศตะวันตก ตลอดจนการใช้ความรุนแรงเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ
สำหรับไทย แม้ยังไม่มีข่าวสารว่าประสบปัญหาจากการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือการมีอุดมการณ์ขวาจัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางของคนทุกเพศทุกวัยในไทยเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงด้วยตัวเองเพื่อการก่อเหตุไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด ซึ่งยากจะป้องกันและต้องใช้เวลาในการสังเกตเห็น แกะรอย และพิสูจน์ทราบพฤติกรรมต้องสงสัย และความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นจากการเปิดรับชาวต่างชาติทั้ง คนที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยว ที่ทำให้มีชาวต่างชาติมากหน้าหลายตาเดินทางเข้า-ออกทุกวัน…. ปัญหาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้นมีแนวความคิดแบบใด หรือระหว่างที่ใช้เวลาที่อยู่ในไทยมีการเปิดรับแนวคิดอะไรผ่านเรื่องเล่าจากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเขาหรือเธออาจได้รับผลกระทบหรือเกิดความเห็นอกเห็นใจจากข่าวสารที่ได้รับ และจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น หากเขาหรือเธอเหล่านั้นใช้ไทยเป็นที่ปฏิบัติการทั้งการก่อเหตุ หรือเป็นแหล่งระดมทุน หรือเผยแพร่อุดมการณ์
…………ความกังวลดังกล่าวจะว่ามากไปก็อาจจะใช่ แต่การที่ยังไม่เกิดหรือไม่เคยเกิดก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิด ดังนั้นการสอดส่อง สังเกต และตรวจตราความเป็นไปในสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งผู้คน สถานที่ และสิ่งใกล้ตัวอื่น ๆ โดยไม่ละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของสมาชิกทุกคนในสังคม จึงมีความสำคัญควบคู่กับการมีมาตรการเตรียมป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในภาวะปกติและเข้มขึ้นขึ้นในภาวะฉุกเฉิน กับทั้งแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) ข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ทุกคนตื่นตัว (Alert) ระแวดระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากหัวใจของความสำเร็จในการป้องกัน ยับยั้ง หรือสกัดกั้นการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่จำกัดเฉพาะการก่อการร้ายหรือการมีอุดมการณ์ขวาจัดคือ การทำให้ไม่เกิดและไม่มี เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากทุกเหตุไม่คาดฝันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในลักษณะ “หงส์ดำ”ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด หรือ “แรดเทา”ที่เกิดขึ้นแต่ไม่สนใจและละเลยจะแก้ไขกัน….
———————————————–