ข่าวกรณี Ismail Haniyeh ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮะมาสเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ระหว่างการเดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ที่กรุงเตหะราน เมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 กลายเป็นเหตุเพิ่มความตึงเครียด ขัดแย้ง และโกรธแค้นระหว่างกลุ่มฮะมาสกับอิสราเอล แม้ว่าอิสราเอลจะยังไม่ยืนยันหรือยอมรับว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว
แต่เมื่อไม่มีการปฏิเสธ กลุ่มฮะมาส รวมทั้งอิหร่านก็ถือว่าอิสราเอลเป็นผู้สั่งการและปฏิบัติการโจมตีนี้ ซึ่งเป็นการยั่วยุทั้งกลุ่มฮะมาส อิหร่าน และกองกำลังที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เพราะการสังหารบุคคลสำคัญคนนี้ ที่เป็นนักการเมืองสายปฏิบัติและเป็นผู้สนับสนุนการเจรจาหยุดยิง เท่ากับทำลายบรรยากาศการเจรจา ที่ทั่วโลกกำลังคาดหวังให้เกิดขึ้นและบรรลุผล เพื่อจะได้ยับยั้งวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในฉนวนกาซา …แต่ความหวังนั้นกำลังถูกดับทิ้งไป เพราะการโจมตีของอิสราเอล
นอกจากนี้ ในเวลาใกล้ ๆ กัน อิสราเอลยังประกาศว่าได้สังหาร Mohammed Deif ผู้นำกลุ่มฮะมาสฝ่ายการทหารไปแล้วด้วย ตั้งแต่ช่วง 13 กรกฎาคม 2567 ระหว่างการปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มฮะมาสในพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซา …เรื่องนี้กลุ่มฮะมาสไม่ได้ยืนยันในทันที แต่ 2 เหตุการณ์ข้างต้นทำให้เราได้เห็นขีดความสามารถของอิสราเอลในการปฏิบัติการสังหารหรือโจมตีบุคคลสำคัญของศัตรู ที่ค่อนข้างสร้างผลกระทบได้มาก และอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง
………..อะไรคือปัจจัยหรือเหตุผลที่ทำให้อิสราเอลมีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายสูงมาก และมั่นใจในการเตรียมพร้อมรับมือกับ “การตอบโต้” และ “การร่วมกันแก้แค้น” ของฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ?! เพราะถ้าดูจากสภาพภูมิศาสตร์ของอิสราเอลที่มีคู่ขัดแย้งอยู่ล้อมรอบ ไม่น่าจะ “เอาตัวรอด” จากอันตรายได้ง่าย ๆ เลย รวมทั้งเมื่อดูจากเหตุการณ์ล่าสุด อิสราเอลยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันความปลอดภัยต่อประชาชนทั้งในประเทศ และในต่างประเทศทันที เพราะมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายโจมตีโดยกลุ่มฮะมาสและผู้สนับสนุนของกลุ่ม เฉพาะอย่างยิ่งประเทศอิหร่าน ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะแก้แค้นอิสราเอลจากเหตุการณ์นี้
ปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลมีขีดความสามารถสูง เพราะงานข่าวกรองและความสามารถทางการทหาร ประกอบกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายของอิสราเอล (Counterterrorism Strategy) ตลอดระยะ 40 ปีที่ผ่านมาที่เน้นการลอบสังหารผู้นำฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มติดอาวุธฮะมาส ฮิซบุลลอฮ์ กองกำลังพิทักษ์อิสลามของอิหร่าน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอียิปต์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้มีบันทึกในประวัติศาสตร์มากมายว่า..อิสราเอลเน้นใช้การรวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่แม่นยำของหน่วยงานที่มีชื่อว่า “Mossad” และหน่วย “Shin Bet”การมีเครือข่ายสายลับที่กว้างขวาง การมีหลักคิดในการปกป้องตัวเองที่เรียกว่า “Rise and Kill First” หรือการปกป้องตัวเองด้วยมาตรการสูงสุดก่อน (…แม้ว่าอาจหมายถึงการต้องสังหารฝ่ายตรงข้ามก็ตาม) ซึ่งเป็นหลักคิดที่สำคัญของกองทัพอิสราเอล นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีอาวุธพร้อมต่อการปฏิบัติการ เฉพาะอย่างยิ่งเฮลิคอปเตอร์ AH-64 Apache เครื่องบินรบ F-16 รวมทั้งระบบขีปนาวุธที่แม่นยำ แล้วก็ยังมีโดรน สไนเปอร์หรือนักแม่นปืน ตลอดจนผู้นำมีระบบการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว และปฏิบัติการทางทหารที่เฉียบขาดในการจัดการทำลายภัยคุกคาม ส่วนมากจะดำเนินการในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลาง…
เหตุผลที่ทำให้อิสราเอลต้องเด็ดขาดและปราบปรามกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ด้วยการลอบสังหาร อาจเป็นเพราะ “ความเจ็บปวด” จากเหตุก่อการร้ายที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เยอรมนีเมื่อปี 2515 ที่มุ่งโจมตีชาวอิสราเอล จากเหตุการณ์นั้น อิสราเอลทำปฏิบัติการ Operation Wrath of God ที่หมายถึงการทำลายศัตรูของอิสราเอลโดยไม่ให้รู้ตัว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เป็นปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรอง Mossad ที่ตอนนั้นมุ่งทำลายสมาชิกกลุ่ม PLO และ Black September ของปาเลสไตน์ โดยเฉพาะนาย Abu Daoud เจ้าแผนการที่ควบคุมเหตุก่อการร้ายที่เยอรมนี (แต่อิสราเอลยังไม่สามารถลอบสังหารได้!?) และยังกำหนดให้การสังหารอย่างมีเป้าหมายชัดเจน หรือ targeted killings เป็นเรื่องที่อิสราเอลเสนอเมื่อปี 2543 และทำให้เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายที่ศาลสูงสุดของอิสราเอลเห็นชอบเมื่อปี 2549 โดยย้ำว่า….การปกป้องตนเองไม่ใช่การลอบสังหาร ดังนั้นอิสราเอลจึงมีสิทธิจะปกป้องตนเองจากกลุ่มก่อการร้ายหรือภัยคุกคาม
…….ซึ่งเรื่อง targeted killings นี้ไม่ว่าจะถูกองค์กรนานาชาติวิจารณ์เชิงลบหรือคัดค้านมากแค่ไหน เพราะไม่มีนิยามตามกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ อิสราเอลก็ยังยึดมั่นแนวทางตอบโต้แบบเด็ดขาดนี้เพื่อลบล้างศัตรู ล่าสุดสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความเห็นเมื่อ 4 สิงหาคม 2567 เชื่อว่าหลักการนี้ไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน
แม้ว่าอิสราเอลจะมีทั้งขีดความสามารถทางงานข่าวกรอง การทหาร และมีกฎหมายในประเทศที่ปกป้อง “ปฏิบัติการลอบสังหาร” ของตัวเองในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ล่าสุดนี้อาจเสี่ยงอันตรายมากกว่าที่อิสราเอลเคยเผชิญ เพราะทุกครั้งที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธ ไม่ได้ทำให้กลุ่มเหล่านั้นอ่อนแอลงเลย ส่วนมากผลลัพธ์จะเป็นทางตรงข้าม คือ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านอิสราเอลมีแนวโน้มจะเข้มแข็งและแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ที่มีแนวคิดแข็งกร้าวมากขึ้น ใช้ความโกรธแค้นชักชวนสมาชิกและการสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตอนนี้ผลประโยชน์ของอิสราเอลในต่างประเทศ รวมทั้งชาวอิสราเอล ก็ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีและเสี่ยงเผชิญอันตรายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือร้านอาหารของชาวอิสราเอลต่างก็ได้รับการแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง เฝ้าระวังการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอย่างใกล้ชิด …เท่ากับว่าการลอบสังหารหลายครั้งของอิสราเอล อาจจะกำจัดภัยคุกคามของประเทศได้ แต่ไม่ใช่ในระยะยาว เพราะท้ายที่สุดแล้วการใช้ความรุนแรงก็คงไม่ใช่แนวทางป้องกันอันตรายต่อประเทศและประชาชนได้