ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการสำรวจอวกาศได้นำไปสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือและการแข่งขันระหว่างประเทศ ดังที่ได้เห็นจากโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station -ILRS) ของจีน และข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการพยายามแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจของโลก แต่ยังแสดงถึงมิติใหม่ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย
…….ที่ว่าเป็นมิติใหม่นี้ ก็เพราะว่าทั้งสองโครงการนำโดยสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน ที่สร้างกรอบความรวมมือระหว่างประเทศเรื่องอวกาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาสมาชิกหรือมิตรประเทศเข้าร่วม โดย ILRS เริ่มมาจากความร่วมมือของจีนและรัสเซียเมื่อปี 2564 เป้าหมายเพื่อการวางแผนสร้างสถานีอวกาศในบริเวณดวงจันทร์ ขณะที่ Artemis Accords นำโดยสหรัฐอเมริกา เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อนหน้าโครงการของจีนแค่ 1 ปี ข้อตกลงขอสหรัฐฯ นี้เสนอโครงการร่วมเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ พร้อมแผนการ Artemis ที่จะส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ในปี 2569 ข้อตกลงของสหรัฐฯ มีประเทศต่างๆ ให้ความสนใจและลงนามเป็นภาคีด้วยแล้ว 43 ประเทศ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแค่สิงคโปร์ที่เข้าร่วม
ส่วนไทยเรา แม้จะยังไม่เป็นภาคีใน Artemis Accords แต่ไทยได้ลงนามในการมีส่วนร่วมกับ ILRS เมื่อ 5 เมษายน 2567 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในนโยบายอวกาศของไทย และยังอาจสะท้อนเจตนาเชิงยุทธศาสตร์ของไทยเราในการสร้างสมดุลระหว่างอิทธิพลของมหาอำนาจทั้งสองด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไทยมีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด อันเป็นผลจากความสัมพันธ์ด้านการทูตและการทหารที่ยาวนาน แต่เมื่อขั้วอำนาจโลกกำลังขยับเขยื้อน การที่ไทยจะแสดงบทบาทพร้อมร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ไม่พึ่งพามหาอำนาจประเทศเดียว น่าจะทำให้ไทยรักษาผลประโยชน์ได้ในระยะยาวมากกว่า แม้จะต้องยอมรับกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันระหว่าวประเทศ ที่ปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ตาม
บทความนี้ขอทบทวนบทบาทและมองโอกาสของไทยในการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจด้านความร่วมมืออวกาศ เพื่อวิเคราะห์แนวทางของไทยที่จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือต่าง ๆ ต่อไป
ก่อนที่จะกล่าวถึงบทบาทของประเทศไทยในเกมส์การแข่งขันนี้ คงต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์และบริบทกิจการในอวกาศของสหรัฐฯและจีนเสียก่อน เพื่อประเมินแนวโน้มการแข่งขันในมิติใหม่นี้….เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ มีพื้นฐานและประสบการณ์ด้านอวกาศมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นโครงการอวกาศเมื่อปี 2501 พร้อมการก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration – NASA) ทีโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ แข่งขันกับสหภาพโซเวียตในกิจการอวกาศ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อปี 2512 ด้วยยาน Apollo 11 อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2541 อาจสรุปได้ว่า สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจด้านอวกาศมาอย่างยาวนาน มีความสำเร็จก้าวนำหลายประเทศ แม้จะมีคู่แข่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรืออินเดีย แต่เพราะสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาบทบาทผู้นำโลกด้านอวกาศอยุูเสมอ ทุ่มเททั้งการวิจัยและทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ยังสามารถรักษาความได้เปรียบในการวิจัยและดำเนินกิจกรรมในอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของจีนนั้นเริ่มต้นโครงการอวกาศในช่วงปี 2503 ซึ่งต้องพึ่งพารัสเซีย เพื่อถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความร่วมมือกับรัสเซีย แต่ในระยะหลัง ๆ จีนมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเอง จนมีผลงานสำคัญ คือ การส่งดาวเทียมดวงแรกเมื่อปี 2513 และต่อมาปี 2546 ก็ได้ส่งนักบินอวกาศจีนคนแรกสำเร็จโดยใช้ยาน Shenzhou 5 ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหมายความสำเร็จที่ทำให้ภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นก้าวกระโดด ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และเริ่มมีบทบาทนำประเทศหนึ่งเมื่อกล่าวถึงความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศ นอกจากนี้ จีนยังมีการส่งดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์หลายภารกิจ เช่น Chang’e เพื่อสำรวจดวงจันทร์ด้วย
สำหรับโครงการและความร่วมมืออวกาศสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ …ขอเลือกเอามาประเทศละ 1 ความร่วมมือที่ยังทันสมัย โดยเริ่มจากความร่วมมือของสหรัฐฯ ที่ชื่อ Artemis Accords ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ผูกพันทางกฎหมายระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ เพื่อกำหนดบรรทัดฐานความร่วมมือและการดำเนินกิจกรรมด้านพลเรือนในอวกาศ ข้อตกลงนี้เปิดตัวเมื่อ 13 ตุลาคม 2563 โดยเริ่มต้นจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ปัจจุบันมีประเทศที่ลงนามแล้ว 43 ประเทศ โดย Artemis Accords มุ่งเน้นที่การทำงานร่วมกัน และการแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้กิจกรรมในอวกาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ส่วนกรอบความร่วมมือที่ไทยเข้าไปมีส่วนร่วม คือ ILRS ซึ่งริเริ่มโดยจีนและรัสเซียเมื่อปี 2564 เป็นกรอบที่เน้นการทำงานร่วมกันแบบพหุภาคี เป้าหมายเพื่อเป็นฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนพื้นผิวดวงจันทร์หรือในวงโคจรของดวงจันทร์ มีสมาชิก 11 ประเทศ รวมถึงไทย ปัจจุบันโครงการ ILRS อยู่ในระยะที่ 1 มุ่งเน้นภารกิจ “ดวงจันทร์” หรือการลาดตระเวนและตรวจสอบดวงจันทร์ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้างสถานีบนดวงจันทร์ในระยะที่ 2….การที่ทั้งโครงการ ILRS และ Artemis เป็นกรอบความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยมีมหาอำนาจเป็นผู้นำ และมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน คือ การสำรวจอวกาศเพื่อภารกิจที่ไม่ใช่ด้านการทหาร จึงอาจสรุปได้ว่า ความร่วมมือทั้ง 2 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันด้านอวกาศของสองมหาอำนาจ ที่จะมีการสร้างพันธมิตรผ่านการร่วมมือด้านอวกาศในอนาคตต่อไป
แล้วไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันอวกาศนี้อย่างไร?….ประเทศไทยเองมีบทบาทในกิจการอวกาศที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีโครงการและการดำเนินกิจกรรมในอวกาศ เช่น การส่งดาวเทียม THEOS ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และดาวเทียมขนาดเล็ก KNACKSAT ที่พัฒนาโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2561 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีองค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency- GISTDA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency- NIA) ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ไทยเองก็มีศักยภาพในการมีส่วนร่วมกับกิจการอวกาศนานาชาติได้
…..การที่ไทยเข้าร่วมกับกรอบความร่วมมือ ILRS ของจีน จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะอาจแสดงถึงเจตนาเชิงยุทธศาสตร์ของไทยที่จะสร้างสมดุลระหว่างอิทธิพลทางภูมิศาสตร์และการเมือง เพื่อกระจายความร่วมมือด้านอวกาศกับต่างประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น นอกจากนี้ ไทยยังได้ประโยชน์ด้านการวิจัยด้วย เนื่องจากการเข้าร่วม ILRS จะเพิ่มการเข้าถึงการวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงเกี่ยวกับดวงจันทร์ เพราะไทยได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคบนยานอวกาศของจีน ที่จะช่วยให้มีความรู้เรื่องการพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ Space Weather ด้วย เท่ากับว่าไทยได้แสดงบทบาทไปแล้ว อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ไทยแสดงความสามารถทางวิทยาศาสตร์อวกาศร่วมกับสมาชิกของ ILRS ปัจจุบันความร่วมมือในกรอบนี้มีสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย เวเนซุเอลา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน เบลารุส อียิปต์ และไทย
การเข้าร่วม ILRS ของไทยจะส่งผลอย่างไรบ้าง? …อันดับแรก ไทยได้ขยายความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับโครงการอวกาศของมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างจีน แม้ปัจจุบัน กิจการการศึกษาและสำรวจอวกาศยังไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับการเมืองภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน การเข้าร่วมกับ ILRS อาจเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการมีส่วนร่วมกับกิจการอวกาศกับจีนและรัสเซียได้ในระยะยาว….ในแง่บวก การเข้าร่วมนี้เปิดโอกาสให้ไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศที่ทันสมัยและช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทยและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ หากโครงการ ILRS ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ การแสดงบทบาทของไทยยังอาจช่วยเสริมสร้างบทบาทของในอาเซียนในฐานะผู้สนับสนุนกิจการอวกาศ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตที่มิติความร่วมมือและการแข่งขันในอวกาศระหว่างประเทศต่าง ๆ จะเข้มข้นขึ้น เพราะเป็นผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ดังนั้นไทยไม่ควรยึดติดกับความร่วมมือกับกลุ่ม ILRS อย่างเดียว เพราะต้องคำนึงถึงโครงการอวกาศอื่น ๆ ในอนาคต ที่จะเป็นโอกาสของไทยด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหนที่เข้าร่วมกับทั้ง ILRS และ Artemis แต่ไทยอาจพิจารณาทำเช่นนั้นได้ เพราะไม่มีข้อห้าม และการเข้าร่วมกับทั้ง 2 โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลาย การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรไทย กับทั้งอาจจะช่วยให้ไทยรักษาความสมดุลในด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะต้องศึกษาข้อปฏิบัติอย่างละเอียด รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ความร่วมมือของไทยเป็นประโยชน์ทั้งต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งประชาชนที่ต้องเข้าใจแนวทางและโอกาสของตัวเองเมื่อไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันระหว่างประเทศ…. ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้