………..บนพื้นที่ราบเกลืออันกว้างใหญ่ในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี จะมีบ่อน้ำสีฟ้าขนาดใหญ่จำนวนมาก นั่นคือแหล่งสกัดลิเทียม(Lithium)ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคละตินอเมริกา ในบ่อน้ำเหล่านี้จะมีลิเทียมในรูปแบบของเกลือซึ่งถูกสกัดมาจากการระเหยของน้ำด้วยลักษณะที่เป็นผงสีขาว ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็นทองคำขาวในโลกปัจจุบัน…ที่ถูกเรียกเช่นนี้เพราะลิเทียมเป็นทรัพยากรที่ตลาดโลกกำลังต้องการอย่างมาก ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญปัญหาภาวะโลกร้อนและ หลายประเทศพยายามจะลดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษอย่างมหาศาล ด้วยการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ความต้องการลิเทียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจึงพุ่งสูงขึ้น
ในปี 2564 มีการผลิตลิเทียมทั่วโลกเกิน 100,000 ตัน เพิ่มถึง 4 เท่า จากปีก่อนหน้านั้น ปัจจุบันลิเทียมราวร้อยละ 70 มาจากเกลือ ส่วนอีกร้อยละ 30 สกัดมาจากแร่ แหล่งสกัดลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดคือสามเหลี่ยมลิเทียมในพื้นที่ราบเกลือภูมิภาคละตินอเมริกา ได้แก่ ชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา ..ราว 2 ใน 3 ของแร่ลิเทียมทั้งหมดอยู่ที่นี่ โดยชิลีเป็นผู้ส่งออกลิเทียมมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากออสเตรเลีย ส่วนอาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เติบโตเร็วที่สุด ขณะที่โบลิเวียหลายคนเชื่อว่ามีแหล่งทรัพยากรลิเทียมมากที่สุด
อย่างไรก็ตามแม้ว่าลิเทียมถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานเชื้อเพลิงเป็นพลังงานสะอาดในประเทศต่างๆ และเป็นปัจจัยสำคัญในการจะช่วยให้บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ แต่การสกัดลิเทียมหรือทำเหมืองแร่ลิเทียมกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาใต้เนื่องจากการสกัดลิเทียมด้วยการระเหยของเกลือจำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมาก แค่การผลิตลิเทียม 1 ตัน ก็จำเป็นต้องใช้น้ำถึง 2.2 ล้านลิตร ส่งผลให้ระดับน้ำหลายแหล่งลดลง จึงพบปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำก็ตามมา นำไปสู่ผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง หลายครัวเรือนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ขณะที่หลายคนต้องหาแหล่งน้ำที่ไกลออกไปจากชุมชน ชาวพื้นเมืองอาร์เจนตินาที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณแหล่งสกัดลิเทียมกล่าวว่าไม่ต้องการลิเทียม แต่ต้องการน้ำเพื่อดำรงชีวิตมากกว่า นอกจากนี้การสกัดลิเทียมยังทำให้แหล่งน้ำและดินเกิดการปนเปื้อน ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ หากผู้คนหายใจเอาสารเคมีที่อยู่ในลิเทียมเข้าไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมของเหลวในปอดหรือภาวะปอดบวมน้ำ อีกทั้งยังทำให้เกิดการผิดปกติของระบบประสาทอีกด้วย
…………นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคนแล้ว สัตว์ก็ยังได้รับผลกระทบเช่นกัน มีการศึกษาจำนวนนกฟลามิงโกในทะเลทรายอาตากามา ที่ระบุว่าประชากรของนกฟลามิงโก 2 สายพันธุ์ลดลงกว่าร้อยละ 10 โดยการวิเคราะห์นี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการลดลงของนกเหล่านั้น มีการเชื่อมโยงกับการลดลงของแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากการทำเหมืองลิเทียม ……และอีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำพื้นที่เหมืองลิเทียม ทำให้การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เนื่องจากต้นไม้สีเขียวที่จะช่วยดูดซับสารพิษออกจากชั้นบรรยากาศได้ถูกทำลายไปแล้ว ขณะเดียวกันการถลุงแร่ทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตามแม้ว่าลิเทียมจะส่งผลกระทบต่อคนหรือสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีคนจำนวนหนึ่งที่คาดหวังว่าอุตสาหกรรมลิเทียมจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ เช่น ชุมชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยในทุกๆวันผู้คนในชุมชนจะออกมาขุดหาแร่ในเหมืองดีบุกเก่าเพื่อนำไปขาย แต่ละวันพวกเขาจะสามารถขายแร่ได้ราวๆ 15,000 – 18,000 ฟรังก์คองโก (ประมาณ 200 – 300 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยในพื้นที่แห่งนี้เคยรุ่งเรืองจากอุตสาหกรรมเหมืองดีบุกก่อนที่จะตกต่ำลงจากปัญหาการเมือง และกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนยากจน ต่อมามีบริษัทแห่งหนึ่งของออสเตรเลียได้ค้นพบแร่ลิเทียมในบริเวณชุมชนดังกล่าวประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนมากเกินพอที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตชั้นนำของประเทศอื่นๆ อย่างจีนหรือชิลี บริษัทดังกล่าวได้วางแผนจะเปิดเหมืองแร่ลิเทียม โดยจะมีการลงทุนในโรงงานลิเทียมยังบริเวณชุมชนแห่งนี้ ผู้คนในชุมชนจึงเกิดการคาดหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขามีงานและมีเงินหาเลี้ยงชีพได้
ลิเทียมเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด สร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชนในหลายพื้นที่ และมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้โลกก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมลิเทียมก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายเช่นกัน จึงเกิดคำถามตามมาว่า…. ลิเทียมจะสามารถทำให้โลกก้าวไปสู่อนาคตที่มีแต่พลังงานสะอาดหรือเป็นเพียงอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาทำลายโลกภายใต้ฉากหน้าของการพัฒนาพลังงานสะอาด