ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความก้าวหน้าของการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการใช้อินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย ซึ่งจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ภูมิภาคนี้สามารถกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการถูกโจมตีทางไซเบอร์… และอินโดนีเซียก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่ 4 รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา การเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในขณะเดียวกันภัยคุกคามและความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอินโดนีเซียก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ปัจจัยที่ส่งผลให้อินโดนีเซียเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ของประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียมีพื้นที่ขนาดใหญ่และเป็นหมู่เกาะ ส่งผลให้การบริหารจัดการต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละพื้นที่สำหรับรัฐบาลเป็นเรื่องยาก (2) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีนำมาซึ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่ในสังคม เพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งหากตามไม่ทันการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ การจัดการหรือการรับมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามก็จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น และ (3) ปัจจัยด้านประชาชน ประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความตระหนักรู้ของประชาชนคือหลักการสำคัญในการป้องกันการเกิดภัยคุกคาม หากประชาชนมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ความเสี่ยงในการเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็จะลดน้อยลง
อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียยังมีความเสี่ยงในการเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์ ก็อาจเป็นเพราะมาตรการหรือนโยบายในการรับมือของภัยคุกคามทางไซเบอร์ของอินโดนีเซียในปัจจุบันนั้นยังไม่มีความแน่ชัด เนื่องจากลักษณะของมาตรการหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของอินโดนีเซีย…. เรียกได้ว่า “แก้ตามเกิด” กล่าวคือ เมื่อมีภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น มาตรการหรือนโยบายที่เข้ามารับมือกับภัยนั้น ๆ จะเป็นในลักษณะที่แก้ไขเฉพาะเหตุการณ์นั้นโดยเฉพาะ จึงทำให้การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบอื่น ๆ ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นจุดอ่อนของอินโดนีเซียสำหรับการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้นิ่งเฉย ในปัจจุบันอินโดนีเซียยังศึกษาแนวทางการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับแก้มาตรการหรือนโยบายสำหรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้มีความเหมาะสมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ของตน แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ โดยเพียงสามารถรับมือเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น และยังไม่มีแนวทางการรับมือสำหรับภัยรูปแบบอื่น ๆ หรือภัยรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้ารัฐบาลมีพัฒนาการในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน น่าจะทำให้การป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคตของอินโดนีเซีย คาดว่าภัยคุกคามจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และภัยคุกคามทางไซเบอร์จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมและยากที่จะจัดการได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากในปัจจุบันนี้สังคมแห่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ความท้าทาย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตก็มีมากด้วยเช่นกัน สิ่งจำเป็นสำหรับการรับมือกับภัยคุกคามเช่นนี้คือการเท่าทันเทคโนโลยี และคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของภัยที่จะเกิดขึ้น เพื่อสามารถรับมือกับภัยได้อย่างทันเวลาและแม่นยำ
…………ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ? หากอินโดนีเซียรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ดีพอ แน่นอนว่าข้อมูลของคนไทยหรือความร่วมมือระหว่างไทยกับอินโดนีเซียก็มีความเสี่ยงจะรั่วไหล พิจารณาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์การโจมตีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของอินโดนีเซียเมื่อ 20 มิถุนายน 2567 ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของอินโดนีเซียถูกโจมตีด้วย Ransomware พร้อมถูกเรียกค่าไถ่มูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากการโจมตีในครั้งนี้ส่งผลต่อหน่วยงานอย่างน้อย 210 แห่ง และบริการบางส่วนของอินโดนีเซียหยุดชะงัก ปัญหาของเหตุการณ์นี้คือการที่ทางการของอินโดนีเซียไม่ได้สำรองข้อมูลต่าง ๆ ไว้ ทำให้ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในคลังข้อมูลได้รับความเสียหายทั้งหมด ดังนั้นเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อไทยในเรื่องของข้อมูลชาวไทยในอินโดนีเซีย เช่น นักท่องเที่ยว นักเรียนแลกเปลี่ยน ข้าราชการ แรงงาน หรืออื่น ๆ ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้สามารถสร้างความวุ่นวายต่อการดำเนินการต่าง ๆ ของคนไทย เช่น การเข้า-ออกประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
…………จะเห็นได้ว่าภัยคุกคามหรือการโจมตีทางไซเบอร์สามารถสร้างอันตรายได้มากกว่าประเทศเดียว ดังนั้นไม่ว่าประเทศใดรวมทั้งไทยก็ต้องตระหนักถึงการกำหนดทิศทางการรับมือและร่วมมือกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์เมื่อเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์ โดยอาจเริ่มจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แชร์ประสบการณ์ภัยคุกคาม และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงต้องส่งเสริมการใช้อาเซียนเป็นกลไกในการประสานความร่วมมือในเรื่องไซเบอร์ต่อไปในระยะยาว
อ้างอิง
https://www.atlantis-press.com/proceedings/ijcah-23/125995563