ต้นสัก ต้นตะเคียน ต้นพะยูง มะฮอกกะนี ต้นมะค่า ชื่อไม้ยืนต้นเหล่านี้เป็นที่นิยมในการเพาะปลูกเป็น “ไม้เกษียณ” หรือหมายถึง ต้นไม้ที่ปลูกเพื่อเตรียมขายซุง เป็นรายได้หลังเกษียณ เสมือนการลงทุนในระยะยาวบนที่ดิน ดีกว่าปล่อยให้ที่ดินว่าง…… เป็นการสร้างมูลค่าที่ดินไปด้วย ไม่แตกต่างจากการขายบ้านพร้อมที่ดิน แต่เป็นการขายบ้านพร้อมสวนที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น “การปลูกป่า” จึงเป็นกิจกรรมที่นิยมกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ปัจจุบันการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้สามารถทำได้หลายทาง ทั้งจากผลผลิตโดยตรงจากการขายเนื้อไม้ การเพาะกล้าไม้จากเมล็ดหรือกิ่งชำ ทำปุ๋ยจากเศษใบไม้ รวมถึงการขายคาร์บอนด์เครดิต (carbon credit) ซึ่งมีแนวโน้มอุปสงค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะธุรกิจทุกประเภทต้องให้ความร่วมมือในการลดคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีป่าทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไว้ จากกระบวนการสังเคราะห์แสงตามธรรมชาติ ทำให้มีแนวคิดในการปลูกป่าคาร์บอนตั้งแต่ปี 2537 ในพิธีสารโตเกียว สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าของไทยให้ได้ 55% ของพื้นที่ประเทศในปี 2580 ซึ่งต้องปลูกป่าเพิ่มขึ้นอีก 360,000 ไร่ จึงจะได้ตามเป้าหมาย
…………การเพิ่มพื้นที่ป่าในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การประกาศเขตอนุรักษ์หรือเขตอุทยาน แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่มีที่ดินอยู่ 57.5% ของที่ดินในประเทศ กับความต้องการซื้อคาร์บอนจากภาคเอกชนที่จะเป็นงบประมาณสนับสนุนการปลูกและดูแลรักษาป่า ให้สามารถเป็น “ป่าคาร์บอน” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่ต้นไม้จะเติบใหญ่
แม้จะเป็นเทรนด์ของโลกที่จะลดคาร์บอน จนทำให้คนสนใจการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น แต่การสร้างรายได้จากป่าก็ยังน้อยเกินไป หากเทียบกับการลงทุนอื่น ๆ เพราะว่าการปลูกป่าต้องอาศัยการลงทุนที่ดิน หาต้นพันธุ์ ต้องมีงบประมาณการดูแลรักษา พัฒนาระบบน้ำและปุ๋ย ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 20 ปีในการคืนทุน โดยยังไม่มีอะไรการันตีรายได้ในอนาคตอีก 20 ปี ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?! ราคาตลาดในปัจจุบันจะเหมือนกับในอนาคตอีก 20 ปีหรือเปล่า?! ไม้ที่ปลูกในสภาวะอากาศแปรปรวนในปัจจุบันจะเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีพอที่จะขายได้ราคาหรือ…. ความท้าทายและความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้การปลูกป่าคาร์บอนเพื่อค้าไม้ดูเป็นการลงทุนที่เสี่ยงและมีระยะคืนทุนช้ากว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่หากปรับรูปแบบการปลูกป่านี้เป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อทำเกษตรผสมผสานก็จะแก้ไขจุดอ่อนนี้ลงได้
………….“การทำเกษตรผสมผสาน” เกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผัวนของราคาผลผลิตในตลาด เน้นปลูกพืชที่ให้ผลผลิตที่สามารถค้าขายได้ และแน่นอนว่าการปลูกพืชที่มีความหลากหลายเป็นผลตีต่อระบบนิเวศ ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์จากการใช้แร่ธาตุในดิน และช่วยป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช เมื่อไม่มีศัตรูพืชก็ไม่จำเป็นต้องใช้ย่าฆ่าแมลงที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและเกษตรกรเอง ความสำคัญของการทำเกษตรกับการปลูกป่า คือ การสร้างรายได้หมุนเวียน ผักปัญญาอ่อน หรือพืชล้มลุก ส่วนมากใช้เวลา 45 วันในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว สำหรับพืชยืนต้นเช่น พริก มะเขือ มะนาว ตะไคร้ สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน และผลไม้ก็จะออกตามฤดูกาล 1-2 ครั้งต่อปี นั่นหมายถึงการสร้างรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน จนถึงรายปี และเมื่อผนวกกับการปลูกป่า ก็จะมีเงินก้อนในระยะยาวเพิ่มขึ้นอีก
การทำเกษตรกรรมผสมผสาน จึงเสมือนการวางแผนการเงิน และการปลูกพืชทั้งการเกษตรและการป่าก็จะไม่ใช่รายได้เพื่อการเกษียณเพียงอย่างเดียว แต่จะสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องจนเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน
………….เหลือเพียงแค่ลงมือเท่านั้น เมื่อปัญหาการสร้างรายได้ของรูปแบบการพัฒนาที่ดินด้วยป่าคาร์บอนและเกษตรผสมผสานสามารถสร้างรายได้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็อยู่ที่การจัดสรรส่วนแบ่งของที่ดินให้เหมาะสมกับความสามารถในการดูแลรักษาพืชหรือเงินลงทุนด้วย เพราะการเพาะพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน เช่น ผักปัญญาอ่อนต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด ผลไม้ต้องการการดูแลเป็นช่วง ป่าต้องการการดูแลในเฉพาะช่วงกล้าหากโตพ้น 1-2 ปีแล้วสามารถเจริญเติบโตต่อได้เอง เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนการเพาะปลูกโดยอาศัยการคำนึงถึงรายได้จะช่วยดึงดูดเงินทุนให้มาลงที่การปลูกพืชมากขึ้น กลายเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกได้อีกด้วย