พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ที่เทียบเท่ากับเฮอร์ริเคนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด เพิ่งสลายตัวลงไปได้ไม่นานมานี้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีทั้งความเสียหายทางด้านโครงสร้างและชีวิต…อาทิ ในประเทศเวียดนามมีผู้เสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 127 ราย ในฟิลิปปินส์ 20 ราย ยังไม่รวมผู้เสียชีวิตในประเทศอื่น ๆ พายุยางิยังส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะทางการจีนอ้างว่าหากไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อน จะทำให้เขื่อนแตกจากการรับน้ำมากเกินไปอันเป็นผลมาจากพายุ จึงทำให้ประชาชนคนทั่วไปตื่นตัวเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเฉพาะประเทศหรือภูมิภาคเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงกันและส่งผลต่อทั้งโลก เปรียบได้กับปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก ….ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกันว่าธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกคืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับพายุไต้ฝุ่น และทำไมเราจึงควรเร่งสร้างจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นกว่าเดิม
…………ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก มีชื่อจริงว่า “ธารน้ำแข็งทเวตส์” (Thwaites) เป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่และเปราะบางที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา โดยได้ชื่อที่น่ากลัวมาจากการที่หากมันละลาย มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่น่ากลัวยิ่งกว่าชื่อของมันก็คือการที่มันเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งที่มีอัตราการละลายเร็วที่สุดในโลก ยิ่งกระแสน้ำทะเลที่ไหลข้างใต้มันอุ่นขึ้น ก็จะยิ่งละลายไวขึ้นเพราะเป็นการละลายจากด้านล่าง ไม่ต่างจากการนำน้ำแข็งไปจ่อใต้น้ำอุ่นเลย
ที่ผ่านมานั้น ธารน้ำแข็งทเวตส์เป็นตัวการทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 4% ในแต่ละปี ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มันก็สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วกว่า 1,000 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 50 ล้านตัน และถ้าหากว่ามันละลายหมด ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 3.3 เมตรหรือมากกว่านั้น กลุ่มประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ประเทศที่เป็นเกาะ และประเทศที่มีชุมชนอยู่หนาแน่นใกล้ปากแม่น้ำ ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทะเลและน้ำท่วม เช่น ลุ่มแม่น้ำแม่โขงของเรา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งคู่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่น้ำทะเลสูงขึ้น
นอกจากระดับน้ำที่สูงขึ้น เราต้องอย่าลืมว่าธารน้ำแข็งนั้นเป็นน้ำจืด ดังนั้นการละลายของน้ำแข็งเป็นจำนวนมากจะทำให้ปริมาณน้ำจืดเข้ามาแทนที่น้ำเค็มในทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกระแสน้ำมหาสมุทร (Ocean Currents) หลัก ๆ ของโลกให้อ่อนกำลังลง เพราะกระแสน้ำต้องอาศัยแรงดันเกลือในการไหล หน้าที่ของมันคือการทำให้สภาพภูมิอากาศคงที่ ไม่รุนแรงหรือเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป และป้องกันไม่ให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีมากจนเกินไป โดยกระแสน้ำจะผลักน้ำที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงลงไปสู่ชั้นมหาสมุทรลึก
เมื่อไม่นานมานี้ นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาเตือนว่ากระแสน้ำ Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หรือสายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก อ่อนกำลังลงอย่างมากในรอบ 1000 ปี ซึ่งจะนำมาสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และบางส่วนของทวีปแอฟริกา และแม้แต่ในภูมิภาคอื่นอย่างเอเชียก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มหาสมุทรทั้งโลกก็มีความเชื่อมโยงกัน และยิ่งมหาสมุทรอ่อนกำลัง โลกก็ยิ่งร้อนตามไปด้วย
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกนี้จะละลายจนกระทั่งเกิดสภาพไม่เสถียรในปี 2575 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้านี้ ทำให้อัตราการละลายพุ่งสูงขึ้นไปอีกอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ ประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำ มีชายฝั่งยาว และอยู่ใกล้ลุ่มน้ำต่าง ๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น กรุงเทพฯ ที่ทรุดตัวลงอยู่แล้วก็จะยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมืองชายฝั่ง ที่ดินเพาะปลูกเกษตรกรรม และพื้นที่ท่องเที่ยวจะถูกน้ำท่วมจนกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งทำให้น้ำเค็มรุกคืบเข้ามาในประเทศผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมกับอ่าวไทยอีกด้วย นอกจากภัยน้ำทะเลท่วมเมืองหลวงแล้ว ผลจากการที่ไม่มีน้ำแข็งมาสะท้อนแสงแดดออกไปจากโลก ทำให้น้ำและแผ่นดินดูดซับความร้อน จะทำให้โลกมีอุณภูมิสูงขึ้น
………….ดังนั้นเราจะเจอกับภัยแล้งถี่ขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นก็จะทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนที่ถี่และรุนแรงมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือการที่พายุไต้ฝุ่นอาจจะเปลี่ยนทิศทางมาถล่มประเทศที่ไม่เคยเจอพายุไต้ฝุ่นมาก่อน ถือเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องคอยจับตามองและเตรียมรับมืออย่างแข็งขันทุกภาคส่วน