เมื่อต้นกันยายน 2567 กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ วานูอาตู ฟิจิ และซามัว ร่วมมือกันยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC) ให้รับรอง “การฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม” หรือ Ecocide เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้บุคคล ประเทศ หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศอย่างรุนแรง หรือการสร้างความเสียหายต่อธรรมชาติในระดับที่รุนแรง ต้องถูกสอบสวนหรือลงโทษ รวมทั้งต้องรับผิดชอบต่อการซ้ำเติมวิกฤตด้านสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนอย่างหนักในปัจจุบันนี้ โดยทั้ง 3 ประเทศเห็นพ้องกันว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นควรมีความผิดเท่ากับการก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายตามกฎหมายระหว่างประเทศ (Atrocity Crime) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 ฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงที่อยู่ในเขตอำนาจของ ICC ได้แก่ อาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมรุกราน (Crime of Aggression)
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกครั้งนี้ อาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับในทันที เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการผลักดันจากประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องดิ้นรนเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนมากกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ผลลัพธ์หาก ICC รับรองให้ “การฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม” หรือ Ecocide เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ อาจทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องเดือดร้อน แต่เราเชื่อว่า การผลักดันให้เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก และจะมีความคืบหน้าอยู่เรื่อย ๆ เพราะหลายประเทศเริ่มตื่นตัวและสนับสนุนการลงโทษผู้กระทำผิดในฐานทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศที่ดูว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่ตระหนักถึงความสำคัญด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการใช้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย
…………ก่อนหน้านี้ ประเทศเบลเยียมได้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรุนแรง เช่น การปล่อยน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ซึ่งผู้ที่ทำผิดกฎหมายอาจต้องโทษจำคุกนานถึง 20 ปี หรือเสียค่าปรับประมาณ 1.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศอื่น ๆ ที่เพิ่มกฎหมายเรื่องนี้ ได้แก่ เปรู บราซิล อิตาลี และเม็กซิโก นอกจากนี้ สหภาพยุโรปหรือ EU (European Union) ก็ได้จัดทำเอกสาร Environmental Crime Directive เพื่อประเมินการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
ศาลอาญาระหว่างประเทศเองก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ทั้งตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการยกระดับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษและรับผิดชอบอยู่เหมือนกัน โดยเมื่อกุมภาพันธ์ 2567 ทางICC ได้เริ่มทำโครงการสำรวจความเห็นของสาธารณะเกี่ยวกับแนวทางที่ควรทำเพื่อทำให้เรื่องอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม กลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น ภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ Rome Statute ที่กำหนดขอบเขตอำนาจของ ICC เอาไว้นั่นเอง ….การตื่นตัวของ ICC ทำให้กลุ่มภาคประชาสังคมและ NGO ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมโลกพอใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Stop Ecocide Foundation ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักเรื่องนี้ เพราะการเดินหน้าเพื่อรับรองเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศจะช่วยปกป้องความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษย์เอง
…………ถ้าการผลักดันนี้สำเร็จ จะเป็นผลงานสำคัญของประเทศวานูอาตู ประเทศเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องสำคัญระดับโลก โดยมีกลุ่ม NGO ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคอยสนับสนุน วานูอาตูเป็นประเทศแรกที่ยื่นขอให้ ICC ให้ความสำคัญกับเรื่องอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ส่วนเหตุการณ์การทำลายสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจำเป็นต้องเคลื่อนไหว คือ การทำลายปะการังในแถบ Great Barrier Reef การปล่อยก๊าซมีเทนในระดับสูง มลพิษ และขยะพลาสติกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมากในระดับวิกฤต
แม้ว่าการทำให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศจะใช้เวลาอีกหลายปี และต้องต่อสู้กับแรงคัดค้านจากหลายประเทศ ที่จะงัดทั้งงานวิจัยและข้อมูลมากมายมายืนยัน พร้อมกับล็อบบี้ว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ควรจะเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีประเทศใหญ่ ๆ เข้าข่ายว่าทำลายล้างสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมี Agent Orange หรือฝนเหลืองของอเมริกาในสงครามเวียดนาม การทำสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซีย และการทำน้ำมันรั่วไหลในหลายพื้นที่
กระนั้นก็ตามเราเชื่อว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน รวมทั้งเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจากระดับมลภาวะที่สูงขึ้น จะเห็นด้วยกับการผลักดันให้การทำลายสิ่งแวดล้อม = การกระทำผิดกฎหมาย เพราะการกระทำผิดนี้ส่งผลร้ายแรงมากกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน หรือความปลอดภัยของประชากรมนุษย์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมหนึ่งครั้ง อาจมีผลกระทบในระยะยาวต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ส่งผลเสียต่อมนุษย์ในทุกระดับและเชื้อชาติศาสนา
การทำให้เรื่องนี้เป็นกฎหมายอย่างจริงจังในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ว่าจะเป็นแรงกดดันหรือเพิ่มภาระให้กับประเทศอุตสาหกรรม หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น อยากให้มองเรื่องนี้ว่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจและบริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน เพราะจนถึงตอนนี้ ไม่น่าจะมีใครหลีกหนีกระแสโลกที่หมุนเข้าสู่ช่วงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกแล้ว การเร่งปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคต เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนากับการปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันทั่วโลก…… เพราะเมื่อ Ecocide เป็นความผิดทางอาญาระดับโลก เท่ากับว่าทุกประเทศต้องขยับตัวไปพร้อมกันอย่างจริงจัง ซึ่งเราได้แต่หวังเช่นกันว่า เมื่อ ICC กำหนดให้ Ecocide เป็นความผิดทางอาญาระหว่างประเทศแล้ว จะบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่มีหลายมาตรฐาน และไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วย เพื่อทำให้ “กลไกกฎหมายระหว่างประเทศ” ยังคงมีความหมายมากพอ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมโลกได้จริง