ขณะที่สถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) ยังเป็นที่หวาดระแวงของหลายประเทศ เนื่องจากความกังวลว่าจะเป็นช่องทางขยายอิทธิพลทางความคิดตามแนวทางของจีน จนทำให้สถาบันขงจื่อหลายแห่งปิดตัวลง เฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกดังกล่าวของต่างชาติไม่ได้บั่นทอนความพยายามเผยแพร่วิทยาการความรู้ของจีนในต่างประเทศ ดังนั้น ในวันนี้ เราจึงเห็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับต่างชาติของจีนในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีกับจีน รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับบุคคล โดยเฉพาะเยาวชน เพื่อรองรับการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต….. ความร่วมมือด้านการศึกษาที่ว่าคือ โครงการศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน หรือ Luban Workshop ที่เกิดขึ้น และน่าจะดำเนินการตามรอยสถาบันขงจื่อ
Luban Workshop เป็นโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านอาชีวศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งจีนเปิดตัวโครงการดังกล่าวมาได้เกือบ 10 ปี กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่อยู่ตามแนวเส้นทาง Belt & Road Initiative (BRI) และกลุ่ม Global South โดยไทยเป็นประเทศแรกที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคโป๋ไห่แห่งนครเทียนจินเข้าไปจัดตั้ง Luban Workshop ที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เมื่อมีนาคม 2559
……….ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับชื่อโครงการกันก่อน Luban เป็นชื่อของช่างไม้ชาวจีนในสมัยโบราณ ซึ่งประดิษฐ์เครื่องมือช่างหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเลื่อย ไม้บรรทัดโค้ง หรือกบไสไม้ ผลงานการสร้างสรรค์ดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญาช่างฝีมือของจีน และมีการนำชื่อ Luban ไปตั้งเป็นรางวัลเกียรติยศ “Luban Prize” สําหรับวิศวกรรมการก่อสร้างคุณภาพดีเยี่ยม
Luban Workshop ซึ่งเน้นทักษะความสามารถในการเป็นช่างฝีมือคุณภาพ ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมความสามารถในการปฏิบัติของผู้เรียน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศตามแนว BRI เรียนรู้เทคโนโลยีด้านอาชีวศึกษา ตามแนวทางการเรียนการสอนของจีน มุ่งผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาให้มีความรู้ด้านวิศวกรรม (Engineering) การปฏิบัติ (Practice) นวัตกรรม (Innovation) และโครงการ (Project) เน้นการปฏิบัติและการประยุกต์ การเรียนการสอนแบ่งเป็น อาชีวศึกษาระดับมัธยมต้น ระดับมัธยมปลาย ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ เมคคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการควบคุมดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี IoTs (Internet of Things) นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจินที่เข้าร่วมโครงการ Luban Workshop ในไทย ยังเปิดหลักสูตรนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบํารุงรักษารถไฟความเร็วสูง และการควบคุมสัญญาณรถไฟความเร็วสูงอัตโนมัติ
ปัจจุบันมี Luban Workshop มากกว่า 20 แห่งในเกือบ 30 ประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร อินเดีย มาเลเซียอินโดนีเซีย ปากีสถาน กัมพูชา เวียดนาม เฉพาะในแอฟริกามีมากกว่า 10 แห่ง และได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศเหล่านั้นทั้งผู้เรียนและผู้สอน เนื่องจากต่างมองว่าเป็นการให้โอกาสนักเรียนระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาตนเองทั้งความรู้ทางวิชาการตามสายอาชีพ และการเสริมทักษะการปฏิบัติ (Upskilled) เพื่อรองรับความต้องการแรงงานทักษะสูงในตลาดแรงงานของแต่ละประเทศ โดยมีความรู้ด้านภาษาจีนเป็นผลพลอยได้
จีนใช้แนวทางส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายใต้โครงการ Luban Workshop ด้วยการจัดการศึกษาในระบบทวิวุฒิ โดยจับคู่กับสถาบันการศึกษาของต่างประเทศ เช่น กรณีไทยมีการจับคู่ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยากับวิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย และการศึกษาร่วมระหว่างวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยากับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องปฏิบัติการ และทุนการศึกษา พร้อมกับใช้จุดเด่นของจีนที่มีความพร้อมและประสบการณ์ด้านการก่อสร้าง วิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ ระบบดิจิทัล รถไฟความเร็วสูง โดรน และปัญญาประดิษฐ์ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งไม่เพียงได้ใจประเทศผู้รับ ที่ได้พัฒนาเยาวชนในสายอาชีวะที่ยังต้องการการพัฒนาทักษะอีกมาก แต่ยังเป็นโอกาสของจีนในการพัฒนาแรงงานฝีมือท้องถิ่น เพื่อรองรับการลงทุนในต่างประเทศของจีนเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การให้ความรู้ผ่านการเรียนการสอนในโครงการ Luban Workshop ยังเป็นโอกาสในการสอดแทรกแนวคิดแบบจีน เช่น การออกแบบ การวางโครงสร้างทางวิศวกรรม ระบบเทคโนโลยี และการส่งออกเทคโนโลยีจีน รวมทั้งสร้างความรู้สึกที่ดี ให้ผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษา ที่มีโอกาสน้อยกว่าผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการได้ทุนการศึกษาหรือการฝึกอบรมในต่างประเทศ ขณะเดียวกันเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายเยาวชน เสริมความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี ภาคการผลิต และอุตสาหกรรม สร้างการยอมรับสินค้า เทคโนโลยี รวมถึงระบบการศึกษาของจีน ซึ่งผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง และที่สำคัญคือ การเสนอตัวเป็นทางเลือกสำหรับโมเดลการศึกษาด้านอาชีวศึกษาสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ดังนั้นจึงน่าจะกล่าวได้ว่า กระแสตอบรับในประเทศต่าง ๆ ที่มองว่า Luban Workshop ช่วยยกระดับการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างช่างฝีมือที่มีมาตรฐานสากล จะเป็นอีก Soft Approach ของจีนในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูต และย้ำแนวทางการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศผ่านความพร้อม ในการเป็นประเทศผู้ให้โดยปราศจากเงื่อนไข หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกห้องเรียนและชั้นเรียนสถาบันขงจื่อที่ปัจจุบันมีประมาณ 500 แห่งในกว่า 160 ประเทศและภูมิภาค จนสร้างความหวาดระแวงให้บรรดาประเทศตะวันตกถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ควบคู่กับอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง
—————————————————————-