เรื่องราวของเกาะกูดมาถึง EP 3 จาก EP 1 ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเชิญชวนไปเที่ยวเกาะกูด และใน EP 2 เป็นเรื่องว่า “ทำไมชาวเน็ตไทยต้อง #saveเกาะกูด ” ส่วน EP 3 แม้ค่อนข้างเป็นเชิงวิชาการไปบ้าง แต่ก็น่าจะทำให้รู้จักเกาะกูดในอีกมุมมองมากขึ้น
เกาะกูดของใคร ? : ไทย – กัมพูชา
สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา ระบุข้อความในข้อ 2 ว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม …” เมื่อพิจารณาหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงว่า เกาะกูดเป็นอธิปไตยของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450
การที่สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่ชายทะเลที่อยู่ตรงข้ามยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูด จากแนวพรมแดนจุดนี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ…” ทำให้บางฝ่ายตีความเอาเองว่า การเล็งจากหลักเขตแดนสุดท้ายระหว่างไทยกับกัมพูชาบริเวณ จ.ตราด และ จ.เกาะกง ไปยังจุดสูงสุดของเกาะกูด จะทำให้พื้นที่ 2 ใน 3 ของเกาะกูด ตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 เกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนทางบกเท่านั้น
ไทยและกัมพูชารักษาสภาพเขตแดนไว้จนกระทั่งการประกาศใช้กฎหมายทะเล หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UNCLOS) ปี พ.ศ. 2501 (UNCLOS 1958) ก่อนปรับปรุงเป็น UNCLOS 1982 ซึ่งให้สิทธิรัฐชายฝั่งกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขต (territorial sea) ไหล่ทวีป (continental shelf) และ
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone-EEZ) ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน แต่อ่าวไทยมีความกว้างน้อยกว่า 200 ไมล์ทะเล ประกอบกับไทยและกัมพูชาต่างใช้หลักการเรียกร้องสิทธิเหนือพื้นที่แบบสูงสุด (maximum claim) ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศใดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไทยและกัมพูชาไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ หากมีการคัดค้านจากอีกประเทศหนึ่ง
กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปตามอนุสัญญา UNCLOS เมื่อปี พ.ศ. 2515 ก่อนไทย (ไทยประกาศเมื่อ
ปี พ.ศ.2516) เริ่มจากหลักเขตแดนสุดท้ายระหว่างกัมพูชากับไทย เล็งตรงมาที่ยอดสูงสุดของเกาะกูด แต่หยุดที่ขอบเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านตะวันตกไปยังอ่าวไทย พร้อมอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า “Koh Kut (Siam)” เอกสารนี้แสดงว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูด ทั้งยังยอมรับว่าเกาะกูดอยู่ในดินแดนของไทย นอกจากนี้ ไทยมีหลักฐานการสร้างกระโจมไฟบนเกาะกูด และได้ส่งเอกสารการติดตั้งกระโจมไฟซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่เดินเรือของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
เกาะกูดที่เสมือนเป็นหมุดหมายสำคัญในการอ้างอิงการเจรจาจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) เพื่อสำรวจและใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทย (Overlapping Claim Area : OCA) กลับมาเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ จากการตีความโดยไม่ยึดโยงกับเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ นอกเหนือไปจากหลักกฎหมายทางทะเลที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเกาะกูดอยู่ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว เกาะกูดอยู่ภายใต้การปกครองและอธิปไตยของไทยโดยสมบูรณ์
การเจรจาในประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน
พื้นที่ OCA ในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตร.กม. คาดว่าจะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองมากกว่า 500 ล้านบาร์เรล ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดการเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนร่วมกัน โดยไทยและกัมพูชาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีปเมื่อปี 2544 (MoU 44) กรอบกำหนดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน หรือ JDA (เหมือนที่ไทยดำเนินการร่วมกับมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2522) และต้องดำเนินการทั้งสองส่วนควบคู่กัน มีคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไทย-กัมพูชา เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือกระทบสิทธิเรียกร้องของไทย
ทำไมต้องรื้อฟื้นการเจรจาเหนือพื้นที่ OCA
กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศนำเข้าปิโตรเลียมสุทธิ คาดหวังรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ และแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เช่นเดียวกับไทยที่ต้องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การเจรจาเพื่อพัฒนาเหนือพื้นที่ OCA ตามแนวทางของไทยในปัจจุบัน จะยังดำเนินการใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ หรือพื้นที่ใต้อ่าวไทยมากที่สุด และห่างไกลจากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ยังไม่ได้ปักปันร่วมกัน รวมถึงเกาะกูดของไทย
Solution ?
ก็เหมือนกับที่ได้เสนอไว้ในเกาะกูด EP 1 ก็คือ ทำความเข้าใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทย (OCA) และการเจรจาเหนือพื้นที่ OCA ให้ถ่องแท้ หากทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลหลักฐานร่วมกันแล้ว ความขัดแย้งที่จะลุกลามบานปลายไปถึงระดับประชาชนที่รักชาติอย่างแรงกล้าของทั้งสองประเทศ จะตอบโต้กัน จนเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็น่าจะผ่อนคลายลง