ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านชิดใกล้ของไทย อย่างกัมพูชาเป็นกระแสที่ร้อนแรงในโลกอินเทอร์เน็ตของไทยอีกครั้ง ชาวเน็ตไทยต่างพูดถึงและถกเถียง ทั้งกระแสเรียกร้อง #Saveเกาะกูด
การยกเลิก MOU44 การห้ามเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในอ่าวไทย และหนีไม่พ้นวาทะการเคลมวัฒนธรรม กระแสเหล่านี้เกิดขึ้นในเพียงโลกเสมือน แต่โลกของความเป็นจริง ไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 75 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันที่กำลังจะถึงในปี 2568 นี้
ความใกล้ชิดและคล้ายคลึงระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมบางอย่าง รวมทั้งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ก็มีบ้างที่จะกระทบกระทั่งกัน แต่ความสัมพันธ์เชิงการทูตที่ยาวนานที่กล่าวข้างต้น ทำให้อยากจะมาชวนทำความเข้าใจ และร่วมกันมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในยุคสมัยของผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งมีจุดเหมือนกันที่เป็นทายาททางการเมืองของอดีตผู้นำด้วยกันทั้ง นรม.แพทองธาร ชินวัตร และสมเด็จฯ ฮุน มาแนต นรม.กัมพูชา ซึ่งได้พบหารือทวิภาคีกันอย่างเป็นทางครั้งแรก ในห้วงที่ทั้งสองเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ สปป.ลาว เมื่อ 9 ตุลาคม 2567
ประชาชนได้อะไรจากความใกล้ชิดที่ยาวนานระหว่างไทยกับกัมพูชา ?
ความใกล้ชิดระหว่างกันของผู้นำ และความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยาวนานและกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 75 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในปี 2568 นั้น ได้เป็นช่องทางที่ผู้นำทั้งสองประเทศกำลังใช้เสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศ ทั้งการพัฒนาการค้าชายแดน และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ผู้นำทั้งสองประเทศได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวนี้ ขึ้นหารือในห้วงที่พบหน้ากัน ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีไทยได้เยือน สปป.ลาว เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อต้นตุลาคม 2567
เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้พื้นที่ชายแดนทั้งไทยและกัมพูชาเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา ประชาชนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศตกลงร่วมกัน ก็คือ ขจัดขบวนการหลอกหลวงออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ระบาดอยู่ทั้งในกัมพูชาและไทยให้หมดไป เพื่อไม่ให้ประชาชนทั้งสองประเทศตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงและสูญเสียทรัพย์ที่สะสมมา หรือถูกหลอกเข้าไปทำงาน และกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข
นอกเหนือจากความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เสมือนเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไทยเราเองก็ผลักดันแนวคิด “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) ที่สร้างสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวในภูมิภาคดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวครั้งเดียวได้ทั้งภูมิภาค ในส่วนของเศรษฐกิจ ไทยเราจะส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟกับกัมพูชา และปรับปรุงการเชื่อมด้านไทยกับกัมพูชา และเวียดนาม ตามแผนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้
ภาพตรงนี้ถูกตอกย้ำให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาให้ชัดเจน เมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เยือนกัมพูชา เมื่อ 24 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งสองประเทศย้ำว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ อาชญากรรม ยาเสพติด ลักลอบตัดไม้ รวมทั้งเพิ่มการส่งเสริมการค้าชายแดนและการเชื่อมโยงการขนส่ง และผลักดันการเปิดจุดผ่านแดน รวมถึงร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ด่านหนองเอี่ยน-สตึงบท จ.สระแก้ว ให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดประโยชน์โดยแท้จริงกับประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย
ผลของความร่วมมือที่กล่าวถึงข้างต้นจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาการจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้กำลังรอกำหนดการ คงจะเห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 75 ในปี 2568 หากมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความร่วมมือด้านชายแดนให้เข้มแข็ง ทั้งการพัฒนาการค้าบริเวณชายแดน และความร่วมมือขจัดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งยังเสริมเพิ่มเติมด้วยการท่องเที่ยว ความกินดีอยู่ดีของทั้งประชาชนทั้งสองประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนทั้งสองประเทศจะไปไหนเสีย…. เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ทั้งไทยและกัมพูชาต้องการมากที่สุด……