ภายใต้ภูเขาอันหนาวเย็นและห่างไกลจากผู้คนของประเทศนอร์เวย์ ในเมืองลองเยียร์เบียน (Longyearbyen) หมู่เกาะสวาลบาร์ด ทางเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารใต้ดินขนาดใหญ่ ชื่อว่า “Svalbard Global Seed Vault” มีหน้าที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 1,000,000 สายพันธุ์ให้รอดพ้นจากภาวะความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งสงคราม หรือความแปรปรวนทางอากาศ หมายถึงว่าประเทศนอร์เวย์ช่วยรับประกันว่า มนุษย์จะยังคงมีพืชที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ ในปัจจุบัน แนวคิดการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เกิดขึ้น เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันมั่นใจว่าจะสามารถกู้วิกฤตของโลกที่เสื่อมโทรมลงในอนาคตได้ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเจริญงอกงาม แพร่พันธุ์และขยายสายพันธุ์ จนเกิดเป็นภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
กระบวนการสืบเผ่าพันธุ์ของเหล่าเมล็ดพืชนี้จะเป็นไปได้จริงหรือไม่!? เพราะวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์เหล่านี้อาจไม่เป็นตามวิถีธรรมชาติ !!
คำตอบคือ…เป็นไปได้ เพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ไม่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิต ที่ต้องมีกลไกการดำรงเผ่าพันธุ์ ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม กระบวนนั้นรู้จักกันดีในชื่อที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” เมล็ดพันธุ์พืชสามารถพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองจากแบบดั้งเดิม จนเกิดลักษณะของสายพันธุ์ที่สามารถเอาตัวรอดได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งจากปัจจัยธรรมชาติ และปัจจัยผู้ล่า และไม่ว่าโลกจะผ่านการสูญพันธุ์ใหญ่มาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง สังเกตไหมว่า “พืช” จะมีโอกาสรอดพ้นจากการสูญพันธุ์มากกว่าสัตว์ แม้จะดูอ่อนแอกว่า และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่มีเทคนิคการเอาตัวรอดและการขยายพันธุ์ที่น่าทึ่งอย่างมาก
บทความนี้จะชวนไปสำรวจความสามารถในการเอาตัวรอดของเมล็ดพืชเหล่านี้กัน…
ลองสังเกตเมล็ดพันธุ์หรือพืชใกล้ ๆ ตัวจะพบว่า …พืชบางสายพันธุ์มีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งแรงทนต่อแรงอัด บางสายพันธุ์สืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ หรือมีความสามารถในการตาย โดยทิ้งเมล็ดไว้เพื่อรอเวลางอกใหม่ในฤดูกาลหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พืชจึงมีอยู่ทุกที่ ทั้งในดินแดนทะเลทรายที่แห้งแล้ง ขั้วโลกอันหนาวเหน็บ และในถ้ำที่มืดมิด ทั้งหมดนี้ นับว่าเป็นการปรับตัวของสายพันธุ์พืชตามธรรมชาติ เพื่อเอาตัวรอด
แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันรวดเร็วและรุนแรง ประกอบกับมีภัยพิบัติของฝีมือของมนุษย์ เป็นภัยคุกคามและสร้างอุปสรรคต่อการวิวัฒนาการของพืช จนนักวิจัยเริ่มไม่มั่นใจว่า …การวิวัฒนาการตามธรรมชาติของพืช จะเอาชนะอุปสรรคใหม่มากมายได้หรือไม่!? การค้นคว่าและวิจัย จึงเริ่มขึ้น ไปจนถึงนวัตกรรมในการขยายพันธุ์พืชด้วยกระบวนการ “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” หรือ Plant tissue culture ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปฏิเสธการสืบพันธุ์ด้วยเมล็ดของพืช แต่ใช้เนื้อเยื่อ หรือส่วนประกอบของพืชที่สมบูรณ์มาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ… เสมือนการโคลนนิ่ง เพื่อเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดี แข็งแรงต่อสภาพแวดล้อม อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งได้ ทนต่อแมลงศัตรูพืช ให้ผลผลิตที่มีรสชาติดีและปริมาณมาก จนถึงตอนนี้ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นกระบวนการรักษาพันธุ์พืชที่ต้องอาศัยมนุษย์ พืชยังไม่สามารถโคลนนิ่งตัวเองได้ แต่ในที่สุด…กระบวนการนี้ก็ได้ผลจนกลายเป็นแนวทางการรักษาพันธุ์พืชเอาไว้สำหรับโลกยุคอนาคต
เป้าหมายเบื้องต้นของ Plant tissue culture ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีมากขึ้นตามจำนวนประชากร จึงไม่ใช่การอนุรักษ์ และยังมีผลให้เกิดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้พื้นที่ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกลดน้อยลงไป เนื่องจากเกษตรกรเน้นทำรายได้จากการปลูกพืช เพื่อป้อนสู่ตลาดผู้บริโภค ความพยายามนี้ อาจรวมไปถึงเทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically modified Organisms-GMOs) ที่ทำให้เมล็ดพืชไม่สามารถใช้ในการเพาะพันธุ์ได้อีก เพื่อประโยชน์ทางการค้า และลดความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์เมื่อนำเมล็ดไปเพาะปลูก
คำถามใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากนวัตกรรม“เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”ว่า ด้วยฝีมือของมนุษย์ จะเป็นสายพันธุ์ที่คงทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนในอนาคตได้หรือไม่!? เพราะผลกระทบข้างเคียงก็คือ ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ทางธรรมชาติยุติลงไป
เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว เมื่อสภาพแวดล้อมของโลกไม่เหมือนเดิม สายพันธุ์ของพืชหยุดวิวัฒนาการไปตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะด้วยการเพาะพันธุ์ซ้ำ ๆ หรือการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตได้เฉพาะในสิ่งแวดล้อมที่ดีในอดีต หากนำไปเพาะปลูกในอนาคตที่ความแห้งแล้งรุนแรง… เมล็ดเหล่านั้นจะไม่สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ แต่จะเติบโตได้ในเฉพาะห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมเท่านั้น
แม้ว่าเราอาจจะสบายใจได้ว่าวิทยาศาสตร์ ทำให้เรายังคงมีพืชพันธุ์ที่แข็งแรงต่อไปได้อีกหลายปี แต่หากการยื้อสายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเนื้อเยื่อพันธุ์พืช เพื่อใช้ในอนาคตนั้น เป็นการแทรกแซงวิวัฒนาการ หรือเป็นปัจจัยเร่งการหยุดวิวัฒนาการ…ก็อาจทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะไม่ใช่ทางรอดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ของความมั่นคงทางอาหาร หรือช่วยให้มนุษย์สามารถกอบกู้ชั้นบรรยายกาศได้เหมือนในอดีต ที่ธรรมชาติในโลกของเราปรับตัวและวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอดได้เองตามธรรมชาติด้วยการผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้หลายล้านปีนั่นเอง…