ระหว่างนี้ทั่วโลกกำลังสนใจนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับไปใช้แนวทางบริหารและวางนโยบายเหมือนเดิมหรือไม่!? และที่สำคัญคือจะส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ … แต่!!..บทความนี้อยากชวนมองบทบาทที่เหลืออยู่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ที่จะต้องลงจากตำแหน่งเร็ว ๆ นี้ แถมกำลังเป็นรัฐบาลที่อยู่ในสภาพ “เป็ดง่อย” หรือ lame duck เพราะการออกนโยบายก็จะไม่ได้รับการตอบรับอะไรอีกแล้ว คนส่วนใหญ่สนใจแต่รัฐบาลชุดใหม่ แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาลมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกอยู่ไปอีกหลายสัปดาห์ ดังนั้น การตัดสินใจในแต่ละครั้งยังคงสำคัญ รวมทั้งจะส่งผลต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
เหตุการณ์ล่าสุดที่ประธานาธิบดีไบเดนตัดสินใจ และกลายเป็นประเด็นใหญ่ส่งผลต่อบรรยากาศความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศ คือ การอนุมัติเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567 ให้ยูเครน ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล หรือ ขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Army Tactical Missile System- ATACMS) ที่ได้รับสนับสนุนจากสหรัฐ ในการโจมตีเข้าไปในรัสเซีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเคิร์ส ของรัสเซีย ที่มีกองทัพยูเครนเข้าไปปฏิบัติการ และกำลังเผชิญการสู้รบกับกองทัพรัสเซียและเกาหลีเหนืออย่างดุเดือด …แต่การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดนมีเหตุผลที่ต้องการช่วยเหลือยูเครนที่เผชิญการต่อสู้อันยากลำบาก เพราะเผชิญกับทั้งทหารรัสเซียและทหารเกาหลีเหนือกว่า 12,000 คนในภูมิภาคเคิร์ส และเชื่อว่ายูเครนพร้อมใช้ขีปนาวุธแล้ว เพราะสหรัฐฯ ได้ส่งไปให้ล่วงหน้าตั้งแต่ มีนาคม 2567 และที่ผ่านมา ยูเครนก็ใช้อาวุธ ATACMS สกัดกั้นทหารรัสเซียในยูเครนอย่างต่อเนื่อง
แต่เรื่องที่จะเกิดตามมาจากการอนุมัติให้ใช้โจมตีมาตุภูมิรัสเซีย นับว่าเป็นคนละเรื่อง!! เพราะ ATACMS ที่มีขีดความสามารถยิงได้ไกล 300 กิโลเมตร มีความเร็วสูง อาจเป็น “จุดเริ่มต้น” ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียครั้งสำคัญและตึงเครียดที่สุดตั้งแต่สมัยวิกฤตการณ์คิวบาก็เป็นไปได้! การเปลี่ยนท่าทีเท่ากับเปลี่ยนแปลงจุดยืนของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ จะไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธดังกล่าว เพราะเสี่ยงต่อการยั่วยุรัสเซียที่ขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หากประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล…
อธิบายง่าย ๆ หากประเทศ 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ปากีสถาน อินเดีย อิสราเอล และเกาหลีเหนือ สนับสนุนอาวุธให้ยูเครนใช้โจมตีมาตุภูมิของรัสเซียเมื่อไหร่ …เมื่อนั้น ….รัสเซียพร้อมจะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทันที!! นี่เป็นการข่มขู่ที่เขย่าขวัญคนทั่วโลกเมื่อกันยายน 2567 และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ
แน่นอนว่า.. เราอาจมองได้ว่าเรื่องนี้กลับย้อนกลับมาเป็นเรื่องการเมืองภายในของสหรัฐฯ ก็ได้ การตัดสินใจในช่วงเวลาท้าย ๆ ของประธานาธิบดีไบเดนที่ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียตึงเครียดมากขึ้น น่าจะเป็นการท้าทาย และวางยาให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขปัญหา เพราะรัฐบาลว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ดูจะใกล้ชิดกับรัสเซีย รวมทั้งประกาศแล้วว่าจะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่ก็มีอีกกระแสว่า กลุ่มผู้มีอิทธิพลในสหรัฐฯ ที่อยู่เบื้องหลังพรรคเดโมแครตและประธานาธิบดีไบเดน กำลังดิ้นรนอย่างเต็มที่ เพื่อใช้สถานการณ์ในยูเครนให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและความร่ำรวย!! โดยไม่สนใจว่าจะสร้างสงครามโลกครั้งใหม่
…ความเห็นข้างต้นนี้สอดคล้องกับทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ที่บางส่วนเชื่อว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมอาวุธ เป็นหนึ่งใน “ผู้ชักใย” และอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดน จึงเป็นเหตุให้ ไม่แสดงบทบาทผู้นำโลก เพื่อยุติความขัดแย้งและสงครามที่ไหนเลย แถมมีแต่จะสนับสนุนสงครามและความรุนแรงในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ยืดเยื้อด้วย เพราะต้องการขายอาวุธนั่นเอง… ทฤษฎีนี้หลายคนเชื่อ รวมทั้งชาวอเมริกัน เพราะอัตราการขายอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี และสหรัฐฯ มีบริษัทขายอาวุธชั้นนำถึง 4 บริษัท คือ Boeing, Lockheed Martin, Northrup Grumman และ Raytheon
หากสรุปว่า ประธานาธิบดีไบเดนต้องการทิ้งท้ายผลงานก่อนออกจากตำแหน่ง “ผลงาน” นี้อาจจะดูไม่ใช่เรื่องดีสำหรับความมั่นคงโลก รวมทั้งราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น เพราะกังวลกับการที่สงครามจะยกระดับความตึงเครียดเข้าสู่ “สภาวะใหม่” ที่รัสเซียนับว่าสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องเต็มตัว แต่การ “ยอมเสี่ยงช่วยเหลือ” ยูเครนก่อนอำลาตำแหน่งครั้งนี้ ในครั้งนี้ อาจส่งสัญญาณให้พันธมิตรทั่วโลกเห็นว่า สหรัฐฯ จะไม่ละทิ้งพันธมิตรและประเทศที่กำลังต่อกรกับมหาอำนาจ… ไม่ว่ายูเครนที่สู้กับรัสเซีย หรือไต้หวันที่สู้กับจีน
แต่ทำไมต้องส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศหรือดินแดนเหล่านี้ในตอนนี้?? ซึ่งใกล้กับช่วงครบ 1,000 วันที่รัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางการทหารในยูเครน หรือ 20 พฤศจิกายน 2567 คำตอบ คือ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มจะลดความช่วยเหลือด้านการทหารในต่างประเทศ เพื่อกลับไปโฟกัสที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศนั่นเอง…ประธานาธิบดีไบเดนอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้สหรัฐฯ ได้ทันเวลา แต่อย่างน้อย เขาทำให้นานาประเทศยังเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ คือผู้กำหนดทิศทางความมั่นคงของโลก และพร้อมจะร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกันต่อไป แน่นอนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายครั้งนี้ แต่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงบรรยากาศความสัมพันธ์สหรัฐฯ -รัสเซียได้ทันเวลาหรือไม่ ต้องคอยติดตามกันต่อไป