“ไทยแลนด์ ดินแดนคอนเสิร์ต” ดูเหมือนจะไม่ใช่คำที่เกินจริงไปมากนัก ด้วยจำนวนการจัดงานอีเวนต์ของศิลปินชื่อดังมากมายจากทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี อาเซียน ยุโรป และสหรัฐฯ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยว ยกตัวอย่างปี 2567 – ต้นปี 2568 ศิลปินไทยและต่างประเทศ มีการจัดคอนเสิร์ตไปแล้วมากกว่า 900 งานในเวลาเพียง 1 ปี ทำให้มีการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าคอนเสิร์ตจะไปจัดที่ไหน ก็สร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าริมทาง ซึ่งธุรกิจเมืองคอนเสิร์ตนั้น ก็มีแนวคิด มาจาก “Eventful City”
Eventful City คือ แนวทางการพัฒนาเมืองโดยใช้ความน่าสนใจของตัวเมืองแห่งความบันเทิงเป็นศูนย์กลาง มุ่งการลงทุนที่เชื่อมโยงพัฒนาไปยังระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อกับผู้คนและชุมชน ซึ่งจะทำให้ส่งผลดีต่อความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดงานได้หลายรูปแบบเช่น การจัดงานประชุมสัมมนา โชว์แสดงคอนเสิร์ต เทศกาล กิจกรรมพบปะแฟนคลับ งานนิทรรศการระดับนานาชาติ งานแฟชั่นโชว์ เวทีประกวดหรือแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมืองมาผสมผสานเข้ากับการออกแบบกิจกรรม
เนื่องด้วยกลุ่มแฟนคลับศิลปิน ดารา จำนวนมากในการเข้าร่วมงานอีเวนต์ ที่มีสัดส่วนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงมากพอ การไปเข้าร่วมอีเวนต์แต่ละครั้งนั้น ไม่ได้มีแค่ค่าบัตรเข้างาน แต่จะมีทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันก็ได้รับผลประโยชน์ด้วย จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจด้วยการกระจายรายได้ กระจายความเจริญ อันมาจากพบปะของผู้คนทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การจ้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเมือง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขนส่งสาธารณะ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นตามไปด้วย
ดังเช่นการจัดงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ 2568 มีการเปิดเผยข้อมูลจาก น.ส. ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าประเทศไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวและร่วมสนุกกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 62,000 ล้านบาท โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ประเทศไทยเรามีสถานที่จัดงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ราชมังคลากีฬาสถาน ทรูไอคอนฮอลล์ ไอคอนสยาม พารากอน ฮอลล์ โครงการ One Bangkok เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต และหาดจอมเทียน เมืองพัทยา เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดงานอีเวนต์ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มาโดยตลอด ยกตัวอย่างอีเวนต์ดัง เช่น คอนเสิรต์ศิลปินฮอลลีวูด/จีน/เกาหลี/ญี่ปุ่น – “2024 BRUNO MARS LIVE IN BANGKOK” กิจกรรมแฟนมีตติ้งกับศิลปิน – “จ้าวลู่ซือ WeTV Always More 2024” การจัดการประกวดนางงามระดับแกรนด์สแลม – “Miss Grand International 2024” งานจัดแสดงสินค้า – “The 41st Thailand International Motor Expo 2024” การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ – “การแข่งขันชกมวย ONE Championship 2024” เทศกาลทางวัฒนธรรม – “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ฯลฯ ซึ่งนอกจากแฟนคลับจากทั่วโลกแล้ว ก็ยังมีเซเลบริตี้ชื่อดังระดับโลกเข้าร่วมหลายคน หลายงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของสื่อและคนจำนวนมากทั่วโลก
หากมีการเข้ามาสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยมีการจัดงานอีเวนต์ระดับโลกจึงถือเป็นเรื่องที่ดี ในการดึงคอนเสิร์ต อีเวนต์ใหญ่เข้ามา ถือว่าได้เปรียบในเรื่องของความคุ้มค่า ด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาร่วมงาน ที่พัก อาหาร เป็นต้น รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นเมืองเป้าหมายของกิจกรรมที่มีความสำคัญในภูมิภาคและระดับนานาชาติต่อไป และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการจัดงานใหญ่ระดับโลก (Global Destination)
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของไทยในเรื่องการเป็น Eventful City ก็ยังมีอยู่ เช่น เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.68 กรณี “หวังซิง” ศิลปินชาวจีนถูกมิจฉาชีพชาวจีนหลอกลวงจากในประเทศไทยข้ามฝั่งไปทำงานผิดกฎหมายยังประเทศเมียนมาร์ และมีรายงานว่าคอนเสิร์ตของ “Eason Chan” ศิลปินชาวฮ่องกง ที่กำลังจะจัดคอนเสิร์ต “2025 EASON CHAN FEAR and DREAMS WORLD TOUR IN BANGKOK” ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 22 ก.พ. 68 นี้ ศิลปินและผู้จัดงานแถลงการณ์ยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนชาวจีนและแฟนคลับที่เดินทางมาประเทศไทย ประเทศไทยอาจต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย