วลี “โลกหมุนเร็วขึ้น” ไม่ได้หมายถึงการโคจรรอบตัวเองที่เร็วขึ้น เพราะโลกยังคงโคจรรอบตนเอง 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ทำให้เกิดวัฏจักรต่าง ๆ แต่วลีดังกล่าวนั้นหมายถึง “กระแสสังคม” ต่างหากที่วนลูปเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์แฟชั่น การขึ้นลงของหุ้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจในการเมืองการปกครอง โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งลูปเหล่านี้ให้เร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ค่านิยมทางความคิดของสังคม (social trend) เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และทำให้หลายคนให้ความสำคัญกับการ “เกาะกระแสนิยม” ให้ทัน เพื่อที่จะเอาตัวรอด และพ้นจากสมาวะไม่รู้เท่าทันการณ์
กระแสนิยมอย่างหนึ่งที่เราอยากจะนำเสนอในวันนี้ เป็นกระแสที่เกิดขึ้นตามหลังปัญหา “ภาวะโลกรวน” ที่ทำให้กระแสสีเขียว (Green ที่เป็นสีเขียวเพราะเป็นสีที่สื่อถึงธรรมชาติ) หรือ การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกระแสที่ค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนจากแนวคิด ให้กลายเป็นนโยบาย จนกลายเป็นข้อบังคับหรือกฎหมายที่จริงจังมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระแส Green เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเปลี่ยนสภาพจากอุดมการณ์กลายเป็นข้อบังคับ ให้นานาประเทศต้องออกมาประกาศเป้าหมายในการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่การประชุม COP 26 ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยต้องมีระยะในการดำเนินการอย่างจริงจังภายในประเทศและจะเห็นผลชัดเจนในช่วงปี 2030
เราอยากจะชวนตั้งคำถามว่า “กระแสสีเขียว” นี้ จะทันกับสถานการณ์ความแปรปรวนของโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ !? และหากสังคมโลกทั้งหมด วิ่งไปไม่ทันกระแสนี้ จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่หรือเปล่า !?
กระแสรักษ์โลกอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งคำถามเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่มนุษย์ให้ความสนใจมานานหลายปี แต่เรื่องรักษ์โลกเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปี 1997 จากการที่นานาชาติลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่ว่าด้วยความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก …ซึ่งแม้ 192 ประเทศจะร่วมลงนามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว แต่เพียงการประกาศความร่วมมือนั้น ก็ไม่เพียงพอที่จะชะลอสภาวะโลกร้อนได้ เพราะนานาชาติยังคงพัฒนาประเทศด้วยการขยายโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยังต้องดำเนินต่อไป การสร้างเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ยังจำเป็นอย่างมากเพื่อเตรียมพร้อมให้ประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเพื่อสร้างอาหารให้เพียงพอก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มนุษย์ทั่วโลกรู้ปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่สามารถหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดได้
แต่ในที่สุด มนุษย์ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง เมื่อมีการรายงานข้อมูลสถิติเมื่อปี 2016 ว่าเป็นปีที่ร้อนมากที่สุด โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยมากกว่ายุคอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1760-1825) เกือบ 1 องศาเซลเซียส เราจึงเหลืออีก 0.5 องศาเซลเซียส ก่อนที่โลกจะเข้าสู่จุดวิกฤต ที่การฟื้นฟูตามธรรมชาติไม่สามารถลดอุณหภูมิของโลกได้อีกต่อไป นั่นหมายความว่า Green trend หรือ Environment trend ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน อาจจะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพราะนี่เป็นครั้งแรก ที่กระแสสังคมไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวโยงถึงทรัพยากรและสภาพแวดล้อมโลก
สรุปได้ว่า จากข้อมูลที่เรามี ดูเหมือนว่า…จะสายเกินไปเสียแล้ว ที่จะแก้ไขสถาวะโลกรวน เพราะการปรับพฤติกรรมมนุษย์จำนวนมากในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นไปได้ยาก ยิ่งถ้าวิกฤตหรืออันตรายนั้นเป็นสิ่งที่เราเข้าใจอยู่แล้ว…ยิ่งมีโอกาสที่มนุษย์จะเพิกเฉย ไม่เหมือนกับตอนช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เป็นวิกฤตที่มนุษย์ไม่รู้จักมาก่อน จึงยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้รวดเร็ว เพื่อความอยู่รอดนั่นเอง …และแม้ว่ายังไม่มีอะไรมาชะลอปัญหาโลกร้อนได้ แต่นี่อาจเป็นจังหวะที่เหมาะสม สำหรับใครก็ตามที่ยังต้องการเกาะกระแส Green เพื่อช่วยเหลือโลกใบเดียวของเรา เราลองสนับสนุนสตาร์ตอัปหรือธุรกิจหลายรายที่เริ่มหารายได้จากการอนุรักษ์ป่า การปลูกต้นไม้ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนในอากาศ เพื่อช่วยเหลือ “ป่าชายเลน” ที่เป็นระบบนิเวศที่ดูดคาร์บอนได้มากที่สุด แต่ถูกกัดเซาะและรุกล้ำอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเครื่องแมมมอธ ในประเทศไอซ์แลนด์ ที่ดักจับคาร์บอนได้ 3,6000 ตันต่อปี ธรรมชาติและนวัตกรรมนี้จะช่วยบรรเทาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น
เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า…กระแส Green จะเพียงพอต่อการทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น มีการคิดค้นเทคโนโลยีการดูดซับคาร์บอน รวมถึงลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อให้โลกยังน่าอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน แต่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Green ได้ และสามารถช่วยเร่งให้กระแสนี้ มีพลังจนอาจชะลอการผันเปลี่ยนของสภาพอากาศโลกได้ในอนาคต หากทุกคนร่วมมือกัน แม้ว่าจะเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ