สังคมทั้งตื่นเต้นและวิตกกังวล เมื่อรู้ว่าหุ่นยนต์ได้รับพัฒนามากขึ้น จนมีการคาดการณ์ว่าหุ่นยนต์อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์หลายล้านตำแหน่ง เพราะหุ่นยนต์ที่มีระบบการปฏิบัติการเอไอ (Artificial Intelligence-AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ จะสามารถเรียนรู้คำสั่งจากมนุษย์ได้ และยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตราบใดที่ยังมีการป้อนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างเถรตรง!!
ความสามารถของเทคโนโลยีเอไอ ทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงยุคสมัยที่มนุษย์เราคิดค้นและผลิตเครื่องยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมได้ยุคแรก ๆ ต่อมา เทคโนโลยีก็เข้าไปแทนที่แรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรมต่าง ๆ นำเครื่องจักรเข้าไปแทนที่แรงงานมนุษย์ ทั้งในโรงงานผลิตสินค้า รวมทั้งในภาคเกษตรกรรม… ความเปลี่ยนแปลงในตอนนั้นยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์มาสร้างความตระหนักรู้ให้มนุษย์เราตื่นตัวเรื่องความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ความกังวลของมนุษย์ในยุคนั้นสะท้อนผ่านการรวมกลุ่มแรงงานเป็นสหภาพปกป้องสิทธิแรงงาน แนวคิดความมั่นคงมนุษย์ที่เติบโตขึ้นในวงการวิชาการความมั่นคง และภาพยนตร์แนวไซไฟ (Sci-fi) ที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรจะเข้าไปแทนที่มนุษย์ได้ แต่ในภายหลัง…มนุษย์เราเคยชินกับการอยู่กับเครื่องจักรเหล่านั้น และยังสามารถควบคุมความสามารถส่วนใหญ่ของเครื่องจักรเหล่านั้นได้ จึงเกิดความสบายใจและยุคสมัยของการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
แต่สถานการณ์ในตอนนี้ได้เปลี่ยนไป …ความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสามารถมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการเรียนรู้ ทำให้ “เอไอ” กลายเป็นทั้งเรื่องสนุกและเรื่องท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม
ความน่าสนใจของเอไอและหุ่นยนต์มีมากกว่าเรื่องความสามารถ เพราะหน้าตา หรือ design ที่เป็นได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาเหมือนมนุษย์ เดิน 2 ขา เปล่งเสียงจากปากเพื่อการเจรจา หรือเฝ้ามองมนุษย์ด้วยดวงตา ซึ่งเสมือนการรวมลำโพง กล้อง และคอมพิวเตอร์มาอยู่ในร่างเดียว ลองคิดดูดี ๆ ….ในความเป็นจริงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ถูกใช้งานและทดแทนการทำงานของร่างกายมนุษย์มานานแล้ว!! มองไปรอบตัวจะเจอเครื่องวิทยุ โทรศัพท์ และกล้อง แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มประสิทธิภาพสมองกลของเอไอเข้าไป เพื่อให้ทำงานได้ดีมากขึ้น ตัวอย่างใกล้ตัวที่เห็นพัฒนาการได้อย่างมาก คือ กล้องวงจรปิด หรือ CCTV ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย แถมหน้าตารูปร่างก็มีมากมาย ให้เลือกตามความต้องการ อิสระมากกว่าโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำไป!! เพราะโทรศัพท์มือถือยังมีข้อจำกัดเรื่องการพกพาสะดวก ทำให้รูปแบบโทรศัพท์มือถือยุคนี้แทบจะคล้ายกันไปทั้งหมด เราจึงมองว่ากล้องวงจรปิดคือ ตัวอย่างที่ชัดเจนว่า มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น และมีการใช้ “เอไอ” เข้าไปทำงานด้วยอย่างน่าสนใจ เพราะว่ากันว่า “ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์” นี้ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการตรวจจับ นับและตรวจสอบเรื่องจำเป็นแทนแรงงานมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพ
“ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์” ที่มีความสามารถในการประมวลผลอย่างฉลาดด้วยเอไอเหล่านี้ จำเป็นอย่างมากต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart city) เพราะนอกจาก Smart City จะต้องระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทั่วถึงแล้ว จะต้องอาศัยการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของคนจำนวนมาก เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของเมือง ที่มีความซับซ้อนมากตามความหนาแน่นของประชากร และข้อมูลของผู้คนดังกล่าว ก็จะได้รับการเฝ้ามองและบันทึกผ่าน “กล้องวงจรปิด” นั่นเอง โดยทำหน้าที่นับจำนวน ตรวจจับและบันทึกสิ่งปกติ สำรวจสีหน้าท่าทาง เพื่อส่งให้กับสมองส่วนกลางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพและอย่างรวดเร็ว ให้สมฐานะ “เมืองอัจฉริยะ” ดังนั้น กล้องวงจรปิดจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะพบเห็นได้มากขึ้นในทุกมุมเมือง แม้กระทั่งในสำนักงานและบ้าน ที่จะทำให้เมืองปลอดภัย สะดวกสบายน่าอยู่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในเมื่อแนวคิดการสร้าง Smart City เป็นวาระสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เราเชื่อว่า “ดวงตาเอไอ” หลายล้านดวงกำลังได้รับการพัฒนาและติดตั้งไว้ ผสานเข้ากับสมองอัจฉริยะ เพื่อให้กล้องวงจรปิดธรรมดา ที่ทำหน้าที่บันทึกภาพ ได้กลายเป็น “ผู้ตรวจสอบและตรวจตราชั้นเยี่ยม” ที่สามารถทำงานได้ละเอียดและช่วยลดข้อผิดพลาดจากอาการเหนื่อยล้าของดวงตาชีวภาพของมนุษย์ได้ ลองจินตนาการภาพ ในอดีตการคัดแยกสินค้าที่เสียหายหรือมีการปลอมปน ต้องทำการสุ่มตัวอย่างหรือต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบจึงจะทำได้ แต่เมื่อมีกล้องและเซ็นเซอร์ ก็สามารถตรวจจับความผิดพลาดเหล่านั้นได้ หน้าที่การตรวจสอบนี้จึงเป็นของหุ่นยนต์ไปโดยปริยาย
…ในด้านเกษตรกรรม ผลผลิตตามปกตินั้นมีหลากหลายขนาดและคุณภาพ จะถูกคัดแยกเพื่อจำหน่ายให้กับความต้องการของผู้บริโภคในราคาที่แตกต่างกัน แต่ผลผลิตปริมาณกว่าหลายร้อยตันนั้นเป็นอุปสรรคต่อการคัดเลือกเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเอไอได้เรียนรู้ว่าลักษณะแบบไหนคือสินค้าที่ดีหรือไม่ดี การคัดแยกที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดความเสียหายระหว่างการคัดแยก ถือเป็นการลด Food waste ระหว่างกระบวนการขนส่งก่อนถึงมือผู้บริโภคได้ด้วย มากไปกว่านั้น “ดวงตาเอไอ” สามารถช่วยตรวจจับแมลงศัตรูพืช การตรวจนับจำนวนต้นไม้ในป่า เป็นการช่วยลดต้นทุนจากการรับผลผลิตที่เสียหายและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจจับด้วยกล้องเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยประสิทธิภาพของเอไอจะช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน หรือความเสียหายจากการตรวจสอบที่ผิดพลาด …ทิศทางการใช้เอไอเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต้องสอนเอไอให้มีการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ยิ่งเอไอเก่งมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำงานได้แม่นยำ ส่งผลให้มีส่วนต่างมากยิ่งขึ้น จนสร้างกำไรมหาศาลให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่พัฒนาเอไออัจฉริยะ ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ …เพราะวงการพัฒนาเอไอจะกลายเป็นหัวข้อการศึกษาและแหล่งงานใหม่ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะท้ายที่สุดแล้วเราเชื่อว่า นานาชาติจะไม่ปล่อยให้เอไอพัฒนาตัวเองได้จนอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ เพราะมีตัวอย่างและการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีที่ปราศจากการควบคุมดูแลโดยมนุษย์ก็ยังมีโอกาสผิดพลาด เพราะยังขาด “การตัดสินใจ” ที่อ้างอิงกับหลักมนุษยธรรมนั่นเอง
มนุษย์เราสร้างเทคโนโลยีมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ไม่ใช่เพื่อให้อยู่เหนือมนุษย์ เราจึงเห็นควรว่าการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเข้าใจและระมัดระวังความปลอดภัย ประกอบกับสนับสนุนให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมพัฒนาเอไอได้ในระยะยาว ตลอดจนมีแนวทางส่งเสริมผู้ให้บริการเอไอของไทยที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยมีรัฐให้การสนับสนุนและต่อยอด มีสถาบันศึกษาพร้อมพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า น่าจะเป็นผลดีต่อการปรับตัวเข้ากับการขยายตัวของเทคโนโลยีของประเทศไทยให้พึ่งพาตัวเองได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต