อยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับปราสาทตาเมือนธมกันสักหน่อยค่ะ จากที่เมื่อห้วงกุมภาพันธ์ 2568 ประเด็นขัดแย้งปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชากลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ของไทยอีกครั้ง จากที่มีภาพคลิปวิดีโอที่กลุ่มชาวกัมพูชาร่วมร้องเพลงปลุกใจในพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม ในจังหวัดสุรินทร์ของไทย ซึ่งอยู่ข้ามกับจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ทำให้ทหารของไทยที่ตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ต้องเข้าห้ามปราม และขัดขวางก่อนจะเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันกับกองกำลังของกัมพูชา
…….แต่ท้ายที่สุด ทั้งสองฝ่ายออกมาบอกว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิดระหว่างกันเล็กน้อย และก็จัดการไปได้เรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่า กองกำลังของทั้งสองฝ่ายยังร่วมมือกันได้และไม่มีปัญหากันในพื้นที่ แต่หลายฝ่ายยังไม่ไว้วางใจกลัวปัญหาจะลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างกัน
แต่วันนี้เราขอไม่พูดคุยกันถึงประเด็นเส้นเขตแดนที่ค่อนข้างจะซับซ้อน แต่มารู้จักปราสาทที่ขึ้นต้นด้วยปราสาทตาเมือน…. กันดีกว่า
ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (ช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทหิน 1 ใน 3 แห่งของกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลังเรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน
ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุด (ธม ภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สร้างโดยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 กษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ตัวปราสาทสร้างบนเนินเขาคร่อมโขดหินธรรมศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม ตัวปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ รับกับเส้นทาง “ราชมรรคา” ภายในบริเวณประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง คือ ปราสาทประธาน ขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม และภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ และปราสาทอีก 2 หลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ ปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนเขมรมากที่สุด การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก
ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 750 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือ โดยเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล หรือสถานรักษาพยาบาลของชุมชนตามเส้นทางราชมรรคา ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปราสาทตาเมือน (บายกรีม) อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง ซึ่งเป็น 1 ใน 18 แห่งที่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้สร้างขึ้นเป็นเส้นทางราชมรรคาผ่านช่องเขาจากเมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนคร (นครวัด) เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณ ไปยัง เมืองพิมายปุระ (เมืองพิมาย นครราชสีมา)
คำถามสำคัญที่ทุกคนอยากรู้ก็คงจะเป็น แล้วปราสาทตาเมือนธมเป็นของใคร ??
คำตอบของคำถามนี้อาจจะยังตอบไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะบริเวณปราสาทตาเมือนธมเป็นพื้นที่ที่เขตแดน
ไม่ชัดเจน เนื่องจากหลักเขตแดนที่ 23 สูญหาย ทางการไทยและกัมพูชาต่างสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนสมมติ ที่ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 750 เมตร ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์เหนือปราสาทตาเมือนธมทั้งหมด และสื่อมวลชนไทยพยายามยืนยันว่าปราสาทตาเมือนธมเป็นโบราณสถานของไทย โดยอ้างกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ปี 2487 และบูรณะปราสาทโดยทางการกัมพูชารับรู้มาตลอด โดยโบราณวัตถุบางส่วน ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค
สุดท้ายสิ่งสำคัญ คือ ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนร่วมทำความรู้จักทำความเข้าใจกับตัวโบราณสถานแห่งนี้ ทำความเข้าใจและร่วมกันจัดการปัญหาเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง
และไม่หยิบยกประเด็นเขตแดนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการเมือง