โลกเราในยุคเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ติดขัด หรือไร้รอยต่อ (seamless) สถานที่ใดเป็นการศูนย์กลางการเงินโลกก็จะควบคุมทิศทางการเงิน และเศรษฐกิจของโลกได้ รวมทั้งจะเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนของโลกได้ดีเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบันก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นว่าศูนย์กลางการเงินโลกส่วนใหญ่จะอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจในทุกด้านอันดับ 1 ของโลก แต่ฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนและเป็นประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ก็มาแรงทีเดียวโดยอยู่ในรายงานการจัดอันดับดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (Global Financial Centers Index-GFCI) ฉบับที่ 37 ที่เผยแพร่เมื่อ 20 มีนาคม 2568
ฮ่องกงยังรักษาตำแหน่งอันดับ 3 ได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็สลับอันดับ 3 และอันดับ 4 กับ สิงคโปร์ รายงานจัดอันดับฉบับที่ 37 ดังกล่าวข้างต้น จัดทำโดย Z/Yen Group สถาบันคลังสมองของสหราชอาณาจักร และสถาบันพัฒนาจีน (China Development Institute) สถาบันคลังสมองของจีนในเซิ้นเจิ้น โดยผลการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก 4,946 ราย ซึ่งรายงานนี้ปกติจะเผยแพร่การจัดอันดับในเรื่องนี้ทุก ๆ 6 เดือน โดยจะเผยแพร่เดือนมีนาคม และกันยายนของแต่ละปี
การก้าวขึ้นมาถึงอันดับ 3 ของฮ่องกงอีกครั้ง โฆษกรัฐบาลฮ่องกงมีมุมมองว่า นอกจากจะสะท้อนว่าฮ่องกงมีความเข้มแข็งและสถานะผู้นำการเป็นศูนย์กลางการเงินในระดับโลกแล้ว ฮ่องกงได้ใช้ประโยชน์จากหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ พร้อมทั้งบูรณาการฮ่องกงให้เข้ากับการพัฒนาประเทศ กระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เพื่อตอบรับบทบาทของฮ่องกงในการเป็นผู้เชื่อมโยงและผู้สร้างมูลค่าเพิ่มที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ในการปฏิรูประบบตลาดหุ้นด้วย
หากไล่ชื่ออันดับ 1 ถึง 10 ในรายงานฉบับที่ 37แล้ว ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกก็โดดเด่นในการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกเลยทีเดียว เพราะติดถึง 5 อันดับเลยทีเดียว และน่าจับตามองมากว่าอยู่ในจีนถึง 3 แห่ง ทั้งนี้ จะขอเรียงอันดับ 1 -10 ได้แก่ นครนิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์ ซานฟราสซิสโก ชิคาโก ลอสแองเจลลิส เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และกรุงโซล ซึ่งกรุงโซลทำได้ดีทีเดียว โดยสามารถแซงตลาดแฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี) ที่ตกไปอยู่อันดับที่ 11
ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนที่ถูกจัดอันดับในดัชนีศูนย์กลางการเงินโลกในฉบับที่ 37 ที่มีทั้งหมด 119 อันดับ มีเพียง 6 ประเทศใน 10 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งกรุงเทพฯ โดยสิงคโปร์เป็นอันดับที่ดีที่สุด เรียงอันดับ ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 4) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (อันดับที่ 51) กรุงเทพฯ (อันดับที่ 96) จาการ์ตา อินโดนีเซีย (อันดับที่ 97) โฮจิมินห์ เวียดนาม (อันดับที่ 98) และมะนิลา ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 103)
รายงานการจัดอันดับดัชนีศูนย์กลางการเงินโลกไม่เพียงแต่จัดอันดับศูนย์กลางการเงินของโลกเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งท้าทายที่ศูนย์กลางการเงินโลกจะต้องเผชิญ เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมทั้งการแข่งขันการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลกด้วยกันเอง อย่างไรก็ดี การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินชั้นนำไม่ว่าระดับภูมิภาค หรือระดับโลกก็ต้องมีการแข่งขันกันในหลาย ๆ ด้าน เพื่อดึงดูดการลงทุน หรือการเข้าไปทำธุรกิจ เช่น การมีสิ่งแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการเงิน การปราศจากการฉ้อโกง และมีความโปร่งใส เป็นต้น สำหรับทักษะแรงงานที่น่าสนใจ หากต้องการก้าวสู่ธุรกิจในเรื่องนี้ เช่น ทักษะ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง การเป็นนักวิเคราะห์นักการเงิน และการเป็นนักขับเคลื่อนนวัตกรรม เป็นต้น