หลายภาคส่วนในไทยได้มีการหารือ และเสนอแนวทางการรับมือกับการประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ ว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มภาษี ได้แก่ 1) ลดการถูกเอาเปรียบจากการขาดดุลทางการค้า และสร้างสมดุลทางการค้าให้กับสหรัฐฯ 2) นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ไปลดภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ และ 3) ดึงผู้ประกอบการและกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งก่อนและหลังการการประกาศภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งขอหยิบยกข้อประเมินของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ที่ได้ระดมสมองหามาตรการรับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ซึ่งมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว คาดว่าประมาณ 800,000-900,000 ล้านบาท
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าไทยในสหรัฐฯ เสียเปรียบคู่แข่ง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ดีขึ้น
นายเกรียงไกร ประธาน ส.อ.ท.ได้เสนอมาตรการและหนทางที่จะหารือกับสหรัฐ เช่น 1) เจรจาสร้างความสมดุลการค้า ทั้งการนำเข้า และส่งออก เช่น นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูป และส่งออกให้มากขึ้น 2) แก้กฎหมาย และภาษีนำเข้าของไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด และปลาทูนา เป็นต้น 3) ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และแผงโซลาร์เซลล์ และ 4) ทบทวนภาษี และมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง
นายเกรียงไกร ประธาน ส.อ.ท. ยังระบุด้วยว่าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อให้ ส.อ.ท. เสนอแนวทางต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณารวมทั้งเห็นว่า ภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า ควบคู่ไปกับเร่งแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น นอกจากนี้ เปิดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสินค้าหนัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ และโดรน เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ
นายศุภวุฒิยังได้เปิดเผยถึงแนวทางที่ไทยได้เตรียมการไว้ คือ คณะทำงานได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว คือ นำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหาร เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก ด้วยการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ พร้อมดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศอื่น เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงาน รวมถึงการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย เช่น มาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และเงินทุนสำหรับใช้ในการให้ผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่ เป็นต้น