เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 หนึ่งในสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ “โครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งรวมถึงระบบการบินของประเทศด้วย แม้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะไม่รุนแรงเท่าประเทศในเขตวงแหวนไฟแปซิฟิกอย่างญี่ปุ่นหรือชิลี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งเป็นจุดที่มีสนามบินตั้งอยู่ด้วย การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณเหล่านี้จึงมีผลกระทบต่อการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำไมสนามบินและรันเวย์ ถึงต้องปลอดภัย สนามบินเป็นพื้นที่ที่ต้องมีความมั่นคงทางโครงสร้างสูง ทั้งตัวอาคารผู้โดยสาร หอบังคับการบิน และรันเวย์ ซึ่งต้องเรียบเสมอและไม่มีความเสียหายใด ๆ หากเกิดแผ่นดินไหว ระบบเซ็นเซอร์และมาตรการฉุกเฉินจะเริ่มทำงานทันที โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าโครงสร้างของรันเวย์และสิ่งปลูกสร้างสำคัญได้รับผลกระทบหรือไม่ หากพบความเสียหายแม้เพียงเล็กน้อย การขึ้นลงของเครื่องบินจะถูกระงับทันทีเพื่อความปลอดภัย ในกรณีของสนามบินเชียงราย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูดเมื่อปี 2557 ส่งผลให้เกิดรอยร้าวบนรันเวย์ ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารและการควบคุมการบิน หอบังคับการบินยังคือหัวใจสำคัญของการควบคุมเที่ยวบินทั้งหมด หากระบบสื่อสารขัดข้องในช่วงแผ่นดินไหว เช่น ไฟฟ้าดับ เสาสัญญาณเสียหาย หรือเครือข่ายล่ม จะทำให้ไม่สามารถควบคุมเครื่องบินที่กำลังขึ้นลงหรือบินผ่านน่านฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเกิดอันตรายอย่างมากเพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้วางระบบสำรองสื่อสารและไฟฟ้าไว้เสมอ รวมถึงการฝึกซ้อมแผนรับมือกับภัยพิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ภายในสนามบินทุกปี
เหตุการณ์แผ่นดินไหว หากรุนแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารและการจราจรทางอากาศ เมื่อสนามบินต้องปิดให้บริการหรือเที่ยวบินถูกเลื่อน ผู้โดยสารต้องเผชิญกับความล่าช้า การเลื่อนหรือยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงความไม่แน่นอนในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยด้วย สายการบินต่างๆ จะต้องเร่งปรับแผนการบิน รวมถึงจัดหาที่พักชั่วคราว อาหาร และการชดเชยแก่ผู้โดยสาร ซึ่งเป็นภาระทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในแง่การท่องเที่ยว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมาและส่งผลกระทบถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้สร้างความกังวลต่อภาคการท่องเที่ยวไทย แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานหรือสนามบิน แต่ผลกระทบทางจิตวิทยาและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติถือเป็นประเด็นสำคัญ
รายงานจาก SCB EIC ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในเมษายน 2568 ลดลงประมาณ ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับมีนาคม 2568 ก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการลดลงตามฤดูกาลที่อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 6 ในช่วงปี 2560–2562 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 อาจลดลงจากประมาณการเดิมราว 400,000 คน และสูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 21,000 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ยืนยันว่า หลังเกิดเหตุผ่านดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 ไม่มีนักท่องเที่ยวตกค้างในสนามบินหลักของประเทศ และได้ดำเนินการเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินไปยังเมียนมาและอินเดีย นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและยืนยันความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย
ประเทศไทยมีแผนรับมือภัยพิบัติในภาคการบินที่ครอบคลุม โดยกำหนดให้ทุกสนามบินมีแผนฉุกเฉินในกรณีเกิดแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น น้ำท่วมหรือไฟไหม้ ซึ่งรวมถึงแผนการอพยพ การประสานงานกับหน่วยงานกู้ภัย และแผนการฟื้นฟูระบบการบินหลังเกิดเหตุ ซึ่งหลังจากแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบสภาพโครงสร้างของสนามบินทันที ก่อนที่จะเปิดให้บริการอีกครั้ง รวมถึงการประเมินผลกระทบต่อเส้นทางการบินทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการบินในประเทศไทยจะกลับมาเป็นปกติอย่างปลอดภัย ซึ่งสะท้อนการวางระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสากล และความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ของระบบการบินประเทศไทยให้กลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็ว