ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของโครงสร้างประชากรทั้งหมด ทำให้เกิดความหวาดวิตกของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานจะต้องรับภาระในการเลี้ยงดูวัยชรา ส่งผลต่อการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ไทยได้กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) โดยมียุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ สร้างระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดไว้และได้ดำเนินการด้วยการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีอาชีพ สามารถหารายได้ วางแผนการเงินเพื่อการพึ่งพาตนเองได้ มีสุขภาพที่แข็งแรง และได้ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. 2564 ตามแผนที่วางไว้….
คำถามสำคัญก็คือ แล้วหลังจากนี้คืออะไร? เมื่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุอยู่ในช่วง 60 ปีขึ้นไปในไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 28 ของประชากร ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 58 รวมถึงประชากรที่เกิดใหม่ก็กำลังลดลงเหลือร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2575 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า
เมื่อปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่ได้รับการแก้ไข โครงสร้างประชากรยังอยู่ในความเสี่ยงที่มีความเปลี่ยนแปลงไป อะไรจะเข้ามาเติมศักยภาพให้กับวัยแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แน่นอนว่าด้วยระบบสาธารณสุขในปัจจุบันทำให้คนมีอายุยาวขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นในวัยชรา เกษียณช้าลง แต่กระนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
ทางออก…จึงมุ่งไปที่การนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งการใช้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ก็ทยอยเปลี่ยนถ่ายมาอย่างต่อเนื่อง และการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นก็ทำให้ทักษะของวัยแรงงานจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ ใครที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงาน “ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี” จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีทักษะเป็นผู้ประมวล วิเคราะห์ ผู้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทั้งหลาย โรงงานไร้คนงาน หุ่นยนต์ผู้ให้บริการ ระบบเศรษฐกิจออนไลน์ การเกษตรในห้องแลป และการท่องเที่ยวในโลกเสมือน
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่า อาชีพ ที่จะเกิดขึ้นนั้นกำลังจะเปลี่ยนไป มนุษย์จะต้องให้ทักษะในการควบคุม ดูแล และตัดสินใจ ซึ่งเกิดจากการใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ สวนทางกับสถานการณ์โลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอุปสรรคที่ท้าทายต่อการจัดการศึกษาให้ตามทันสถานการณ์โลก ในยุคที่ข้อมูลมีมากมายและมีมูลค่าสูง
แต่ความท้าทายด้านการเข้าถึงเทคโนโลยียังไม่ใช่ความท้าทายเพียงอย่างเดียว สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและโรคระบาด ก็กลายเป็นความท้าทายที่สร้างความเสียหายให้กับมนุษย์ทุกวัยเช่นกัน เมื่อทรัพยากรมนุษย์ได้รับความเสียหายจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร ฐานะและอำนาจ ยังเป็นปัจจัยเร่งสร้างความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น
จากโครงสร้างทางรายได้ของประชากรในไทยที่คนรวยระดับมหาเศรษฐี 52 คน และคนจน 4.8 ล้านคน จะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นคนจนที่เสียงต่อการเผชิญโรคและภัยพิบัติ นั่นหมายความว่า นอกจากประชากรจะลดลงจากการเกิดที่ลดลงแล้ว “ความจนและความเหลื่อมล้ำ” ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการสูญเสียประชากรลงไปได้อีกด้วย
การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบหลายด้าน และไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยที่เผชิญปัญหานี้ แต่ในญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน และมีนโยบายรับมือกับภาวะจำนวนแรงงานที่ลดลง เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปต่อได้ ในทางกลับกันสภาวะดังกล่าวกลับเป็นโอกาสของประเทศที่มีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก เพราะจะเกิดการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศในฐานะผู้ผลิตได้ จนกลายเป็นสงครามการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์วัยแรงงาน รวมถึงการดึงดูดประชากรสูงวัยที่มีฐานะเข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ
ซึ่งแนวโน้มการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างประเทศที่จะทวีความรุนแรง คงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของประชากรจึงเป็นประเด็นความมั่นคงที่สำคัญและไม่ควรถูกละเลย
——————————————–