“ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน” เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการไม่แพร่กระจาย (nonproliferation) อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่มีประเทศมหาอำนาจและขั้วอำนาจสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน มาเกี่ยวข้องด้วย
ประเทศมหาอำนาจ 5 ชาติ ได้แก่ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร กับอิหร่านได้เจรจากันที่เวียนนา ออสเตรีย มากกว่า 8 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ เมษายน 2564 ครั้งล่าสุดเมื่อกลางกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) โดยมีสหรัฐฯ อดีตสมาชิก JCPOA เข้าร่วมด้วยอย่างไม่เป็นทางการ …การเจรจาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ประเทศที่เกี่ยวข้องพูดคุยกันในเรื่องการกลับไปใช้ JCPOA แบบเวอร์ชั่น 2015 หรือข้อตกลงก่อนที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจาก JCPOA เมื่อปี 2561 ด้วยเหตุผลเพราะต้องการ “ทำข้อตกลงใหม่” กับอิหร่าน (แต่ไม่สำเร็จ) นั่นเอง
การกลับไปใช้ JCPOA ฉบับ 2015 สร้างความยุ่งยากใจให้กับอิหร่าน เพราะกลายเป็นว่าอิหร่านต้องปฏิบัติตาม JCPOA อย่างเข้มงวด ทั้งที่ผ่านมาเป็นสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไปที่ทิ้งข้อตกลงนี้ไปดื้อ ๆ !! และพอประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนต้องการจะกลับมาเพื่อมีส่วนร่วมในการ “สนับสนุนการไม่แพร่กระจายอาวุธ” ก็มาสร้างข้อเรียกร้องให้อิหร่านต้องถูกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency-IAEA) ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่า อิหร่านไม่มีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และจะได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์…อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากใจและไม่พอใจนโยบายของสหรัฐฯ ที่ไม่ต่อเนื่องนี้ กลับกลายเป็นทำให้ในการเจรจาที่ผ่านมา อิหร่านเป็นฝ่ายได้เปรียบสหรัฐฯ (นิด ๆ) ไปได้…
เพราะอิหร่านกลายเป็นฝ่ายที่ยื่นข้อเสนอได้ว่า สหรัฐฯ ต้องยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหมดก่อน อิหร่านจึงจะยอมลดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมตามข้อตกลง นอกจากนี้ อิหร่านจะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อตกลงดังกล่าวทั้งนั้น โดยสหรัฐฯ ต้องยึดตามเวอร์ชั่น 2015 และต้องไม่ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้อีก ท่าทีดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของประธานาธิบดี Ebrahim Raisi ของอิหร่านที่เป็นสายอนุรักษ์นิยม และเขาได้ประกาศไว้แล้วว่าจะดำเนินนโยบายต่อข้อตกลง JCPOA ให้แข็งกร้าวกว่าผู้นำคนก่อน หรืออดีตประธานาธิบดี Hassan Rouhani ที่เป็นสายปฏิรูป โดยประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่นี้แต่งตั้งให้นาย Hossein Amirabdollahian นักการทูตสายแข็งเป็นผู้เจรจากับประเทศมหาอำนาจ
แม้ว่าอิหร่านจะดูมีข้อได้เปรียบในการเจรจากับสหรัฐฯ และสามารถใช้ข่าวสารเรื่อง “สหรัฐฯ ต้องการกลับเข้าข้อตกลง JCPOA และยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอิหร่าน” เพื่อยั่วแหย่ความรู้สึกกังวลของอิสราเอลและชาวอเมริกันจำนวนมากได้ …แต่การเจรจายังไม่จบ และเรายังต้องติดตามดูว่าสหรัฐฯ จะใช้เทคนิคอะไรในการยืนยันจุดยืนของสหรัฐฯ ที่จะให้อิหร่านยุติการพัฒนานิวเคลียร์ รวมทั้งยกเลิกการสนับสนุนกองกำลังที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ยอมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร แต่อิหร่านไม่สามารถกลับไปลดสมรรถนะยูเรเนียม หรือเปิดทางให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบได้…อิหร่านก็จะกลับไปถูกคว่ำบาตรได้อีกอยู่ดี เพราะฉะนั้น ทิศทางการเจรจา JCPOA ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะปล่อยข่าวดีมาเรื่อย ๆ ว่า “การเจรจาใกล้จะบรรลุผลภายในกุมภาพันธ์ 2565 นี้” แต่ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า สหรัฐฯ กับอิหร่านจะใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศต่อไปอย่างไร….
————————————–