การแยกโลกเป็นสองข้าง (The Great Decoupling) เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กับจีนแข่งขันและขัดแย้งกันจนยกระดับเป็นสงครามการค้า สงครามดังกล่าวขัดแย้งกับความคิดความเชื่อของนักวิชาการสายเสรีนิยม ที่เชื่อว่ายิ่งโลกผูกกันพันเกี่ยวยิ่งขึ้น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งแบบไม่เผาผีก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากันและกันในทางเศรษฐกิจ การแตกหักกันรังแต่จะสร้างผลเสียให้กับทุกฝ่าย สู้ร่วมมือกันเพื่อร่ำรวยไปด้วยกันจะดีกว่า แต่เอาเข้าจริงแล้วการตัดสินใจเชิงนโยบายไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีเหตุมีผลเสมอไป บางครั้งก็เป็นเรื่องอารมณ์หรืออุดมการณ์ล้วน ๆ หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องของปัจจัยจากมิติอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่กำลังต้องตัดสินใจ
ยิ่งเป็นเรื่องที่มี “การเมือง” มาเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งเป็นไปได้มากที่ผู้กำหนดนโยบายจะให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ
สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มคิดถึงการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การเอาตัวไปผูกติดอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลกนำมาสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ระดับโลกก็จริง แต่เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระดับโลกที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นมา ก็จะทำให้เศรษฐกิจพังไปตามเศรษฐกิจโลกโดยไม่รู้จะแก้ไขยังไง และอีกทางหนึ่งก็เป็นการเอาอนาคตตนเองไปฝากไว้ในมือคนอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งจะกลายเป็นศัตรูกันหรือไม่
ในสหรัฐฯ จึงเริ่มมีการพูดถึงแนวทาง economic decoupling ที่เรียกร้องให้แยกระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกจากจีนโดยสิ้นเชิง ส่วนในจีนที่มีนโยบาย dual circulation ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างวงจรเศรษฐกิจภายในที่พึ่งพาตนเองได้ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออก ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของตนเอง ฯลฯ ควบคู่ไปกับวงจรเศรษฐกิจกับต่างประเทศที่จีนก็จะยังไม่ทิ้ง
วิกฤตโรค COVID-19 ที่ทำให้ทั่วโลกห่างเหินกันเชิงกายภาพ และทำให้ห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกชะงักงัน ยิ่งทำให้ความสำคัญของการพึ่งพาตนเองให้ได้ยิ่งมากขึ้นไปอีก ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างไทยต้องเริ่มขึ้นถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการหารายได้ ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก (เช่นไทยอีกเช่นเดิม) ต้องรีบเร่งหาตลาดใหม่ และตั้งคำถามถึงแนวทางการพึ่งพาตนเองหากเกิดเหตุการณ์ระดับโลกที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจเช่นนี้อีก
นอกจากมิติเศรษฐกิจ ก็มีมิติเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าโลกจะแบ่งเป็นสองข้าง การทะยานขึ้นมาของจีนด้านเทคโนโลยีเป็นผลจากนโยบายต่อเนื่องยาวนานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ขึ้นมามีอำนาจปกครองจีน ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดีคือนโยบายสี่ทันสมัย (Four Modernizations) ของท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ที่กำหนดให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น 1 ใน 4 มิติสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา ร่วมกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการป้องกันประเทศ ส่วนในยุคปัจจุบันก็คงคุ้นเคยกันดีกับยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จีนมุ่งจะยกระดับระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยี
การทะยานขึ้นทางเทคโนโลยีของจีน ตามมาด้วยการพยายามสกัดกั้นการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีนโดยสหรัฐฯ มาตรการหลายอย่างที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามการค้ากับจีน มีเป้าหมายในอีกทางหนึ่งเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ภาคเทคโนโลยีจีนเจริญก้าวหน้า นอกจากนั้น การแข่งขันดุเดือดทางเทคโนโลยีระหว่างทั้งสองฝ่าย ยิ่งจะเร่งให้โลกแตกเป็นสองข้างเร็วยิ่งขึ้น จากการที่แต่ละฝ่ายเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและส่งออก พร้อมกับกีดกันไม่ให้อีกฝ่ายใช้เทคโนโลยีของตน และกดดันไม่ให้ประเทศที่สามผู้รับเทคโนโลยีใช้เทคโนโลยีของอีกฝ่าย ตัวอย่างคือการแบนไม่ให้โทรศัพท์หัวเว่ยของจีนใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของสหรัฐฯ หรือการกำหนดว่าหากซื้ออาวุธจากประเทศตน จะไม่สามารถนำไปติดตั้งระบบของประเทศตรงข้ามได้
แนวโน้มของการแตกเป็นข้างของโลก ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปได้อีกว่าไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพของโลก ตามความเชื่อที่ว่าสันติภาพของโลกจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เสมือนหนึ่งว่าเพื่อนบ้านที่เห็นหน้าเห็นตาร่วมงานบุญร่วมวงเหล้ากันบ่อย ๆ ก็มีแนวโน้มจะเข้าอกเข้าใจให้อภัยกันกันมากกว่าเพื่อนบ้านที่ไม่เคยคุยกันเลย
การเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมในระดับโลก ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบเป็นตลาดขนาดใหญ่ขนาดเดียว เป็นปัจจัยหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งสันติภาพ เพราะการที่รัฐใดจะตัดสินใจทำสงคราม ก็เหมือนกับการทุบทำลายตลาดซึ่งเป็นหม้อข้าวขนาดใหญ่ของตัวเองด้วย
ย้อนกลับไปสักยี่สิบปีในยุครุ่งเรืองของกระแสโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีหลายอย่างโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตยังเพิ่งเริ่มต้น ในตอนนั้นรัฐต่าง ๆ ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกแบบเต็มตัวแล้วอาจจะมองไม่ออกว่าจะแยกตัวออกจากระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร แต่ในยุคสมัยนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นมามาก หนทางของการอยู่ได้ด้วยตนเองก็เปิดกว้างขึ้นมามาก
เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ช่วยลดต้นทุนด้านกำลังคน ซึ่งทำให้ระบบการแบ่งงานกันทำอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ประเทศมหาอำนาจไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดต้นทุน แต่สามารถตั้งโรงงานที่บ้านตัวเองได้เลย
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ฟินเทค ฯลฯ ทำให้การค้าระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องมีการพบปะหน้าตา ไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนจำหน่าย ผู้ผลิตในประเทศหนึ่งสามารถขายสินค้าให้ผู้บริโภคในอีกซีกโลกหนึ่งได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง
เทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ทำให้ระบบการเงินโลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ต้องมีตัวกลาง การทำธุรกรรมระหว่างประเทศวิ่งผ่านระบบบล็อกเชนได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารของต่างประเทศ รวมทั้งไม่สามารถมีประเทศใดคว่ำบาตรได้ด้วย
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้แต่ละประเทศพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพาต่างประเทศน้อยลง ในยุคของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ เราจึงเห็นการที่แต่ละประเทศเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตัวเองขนานใหญ่ คำถามสำคัญก็คือ การแตกออกเป็นเสี่ยงเช่นนี้ จะลดทอนปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และเป็นความเสี่ยงต่อสันติภาพของโลกในระยะยาวหรือไม่
———————————————